คณิตศาสตร์ ม.ต้น เรียนเรื่องอะไรบ้าง?

คณิตศาสตร์ ม.ต้น เรียนอะไรบ้าง ตามหลักสูตร สสวท.

รวมเนื้อหา คณิตศาสตร์ ม.ต้น เรียนอะไรบ้าง ตามหลักสูตร สสวท. หลักสูตรใหม่ รวมทุกชั้น ม.1 ม.2 ม.3 ทั้งหลักและเสริม เรียนอะไรกันบ้าง มาดู

เนื้อหา คณิตศาสตร์ ม.ต้น หลักสูตรใหม่ (ตามหลักสูตร สสวท.) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 

1. จำนวนและพีชคณิต (การบวก ลบ คูณ หาร ยกกำลังของจำนวนและตัวแปร การแก้สมการ อสมการ) 

2. การวัดและเรขาคณิต (รูปสองมิติ รูปสามมิติ) 

3. สถิติและความน่าจะเป็น 

โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้ก็จะกระจายอยู่ใน คณิตศาสตร์ ม.ต้น แต่ละเทอม พวกเราจะได้ไม่ลืมกัน (ไม่ลืมใช่ไหมนะ ต้องไม่ลืมสิ)

คณิตศาสตร์ ม.1 เรียนเรื่องอะไรบ้าง ?

คณิต ม.1 เทอม 1

เนื้อหาคณิต ม.1 เทอม 1 ประกอบด้วย 

  • จำนวนเต็ม
  • การสร้างทางเรขาคณิต
  • เลขยกกำลัง
  • ทศนิยมและเศษส่วน 
  • รูปเรขาคณิตสองมิติและสามมิติ

บทที่ 1 จำนวนเต็ม

1, 2, 3, 4 จำนวนพวกนี้เราพูดกันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่เราจะมารู้จักพวกเขาให้มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงเลข 0 และครั้งนี้เราจะมาเจอเพื่อนใหม่ คือ “จำนวนเต็มลบ” ด้วยนะ เป็นบทแรกที่ใครที่เข้าใจบทนี้จะเรียน คณิตศาสตร์ ม.ต้น ได้ไม่ลำบากเลย

บทที่ 2 การสร้างทางเรขาคณิต

ได้เวลาทบทวนเรื่อง จุด เส้นตรง ส่วนของเส้นตรง รังสี มุมกันหน่อย แต่คราวนี้ในคณิตศาสตร์ ม.ต้น เราจะได้เรียนรู้การสร้างเส้นและมุมทั้งหลาย รวมถึงสร้างรูปสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยม โดยทั้งหมดใช้แค่วงเวียนและไม้บรรทัดแบบไม่มีตัวเลขด้วยนะ

บทที่ 3 เลขยกกำลัง

บางคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง “2 กำลัง 3” แต่จริงๆ มันคืออะไรนะ แล้วจะหาค่าได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการคูณ การหารเลขยกกำลัง จะมีวิธีทำเป็นอย่างไร และเราใช้เลขยกกำลังกับตัวเลขที่มีค่าเยอะมากๆ หรือน้อยๆ ได้อย่างไรบ้าง บทนี้จะช่วยตอบให้

บทที่ 4 ทศนิยมและเศษส่วน

บทที่ใครหลายๆ คนสะดุ้งกันมาตอนประถม แต่ก็จะได้กลับมาเจออีกครั้ง ใน คณิตศาสตร์ ม.ต้น และแน่นอน คราวนี้เขามี “ทศนิยมและเศษส่วนที่มีค่าเป็นลบ” มาด้วย แต่หลักการทั้งหลายยังคงเหมือนเดิม บวก ลบ คูณ หารที่ไม่ต่างกับทศนิยมและเศษส่วนที่เราเคยทำ แต่ถ้าลืมแล้วไม่เป็นไรนะ เราจะมาเรียนรู้กันใหม่ที่บทนี้ไปพร้อมกัน

บทที่ 5 รูปเรขาคณิตสองมิติและสามมิติ

เรียนรู้รูปสามมิติว่ามีรูปอะไรบ้าง รวมถึงการคลี่รูปสามมิติออกมา หรือการตัดรูปสามมิติ แล้วดูว่ารอยตัดกลายเป็นรูปอะไร นอกจากนี้ยังมีการฝึกมองภาพสามมิติจากมุมมองต่างๆ ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ด้านบนด้วย หลายคนที่ไม่ได้เก่งบทอื่นๆ มาก อาจจะเป็นเซียนบทนี้ก็ได้นะ

ติวฟรี การบวก ลบ คูณ หาร จำนวนเต็ม (คณิต ม.1) คลิกเลย

คณิต ม.1 เทอม 2

เนื้อหาคณิต ม.1 เทอม 2 ประกอบด้วย 

  • สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว
  • อัตราส่วน สัดส่วนและร้อยละ
  • กราฟและความสัมพันธ์เชิงเส้น
  • สถิติ (1)

บทที่ 1 สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว

หลายคนอาจจะจำได้จากตอนประถม แต่เราก็จะมาย้ำกันอีกครั้ง ว่าสมการคืออะไร น้องๆ จะได้รู้จักวิธีการแก้สมการเพื่อหาค่าของตัวแปรที่แต่เดิมยังไม่ทราบค่า และสามารถหาคำตอบของโจทย์ปัญหาด้วยการสร้างสมการเพื่อหาคำตอบออกมาให้ได้

บทที่ 2 อัตราส่วน สัดส่วนและร้อยละ

ทำความคุ้นเคยกับอัตราส่วน ที่มีขึ้นเพื่อใช้เปรียบเทียบปริมาณ 2 ปริมาณขึ้นไปที่มีความเกี่ยวข้องกัน รู้จักกับสัดส่วน และทบทวนเรื่องร้อยละ (หรือเปอร์เซ็นต์) เพื่อพวกเราจะได้นำความรู้ของทั้งอัตราส่วน สัดส่วน ร้อยละมาใช้เพื่อแก้โจทย์ปัญหาต่างๆ บอกเลยว่าบทนี้ ใช้ในชีวิตประจำวันเยอะมากเลยนะ

บทที่ 3 กราฟและความสัมพันธ์เชิงเส้น

บทนี้จะพาเราไปเจอสิ่งใหม่ที่ชื่อว่า “คู่อันดับ” ระบบพิกัดฉาก แกน X แกน Y รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า “กราฟ” ว่าคืออะไรบ้าง ได้รู้ว่าความสัมพันธ์ของค่า X และค่า Y ที่กำหนดให้ จะสามารถสร้างเป็นจุดหรือเส้นได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการอ่านค่าจากกราฟที่กำหนดให้เพื่อหาคำตอบหรือแปลความหมายจากกราฟนั้นได้อย่างถูกต้อง

บทที่ 4 สถิติ (1) 

ในการเรียน คณิตศาสตร์ ม.ต้น นั้น น้องๆ จะได้เรียนเรื่องสถิติด้วย แต่จะเป็นการทำความรู้จักว่าสถิติคืออะไร คำถามทางสถิติคืออะไร การเก็บรวบรวมข้อมูล การอ่านและแปลความหมายของแผนภูมิประเภทต่างๆ ทั้งแผนภูมิรูปภาพ แผนภูมิแท่ง กราฟเส้น แผนภูมิรูปวงกลม ฝึกการสร้างแผนภูมิรูปวงกลมด้วยตัวเอง และลองเลือกใช้ความรู้ทางสถิติในการนำเสนอข้อมูลให้เหมาะสม

ติวฟรี การบวก ลบ คูณ หาร เศษส่วน (คณิต ม.1) คลิกเลย

คณิต ม.2 เรียนเรื่องอะไรบ้าง ?

คณิต ม.2 เทอม 1

เนื้อหาคณิต ม.2 เทอม 1 ประกอบด้วย 

  • ทฤษฎีบทพีทาโกรัส
  • ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง
  •  ปริซึมและทรงกระบอก
  • การแปลงทางเรขาคณิต
  • สมบัติของเลขยกกำลัง
  •  พหุนาม

บทที่ 1 ทฤษฎีบทพีทาโกรัส

บทนี้ใน คณิตศาสตร์ ม.ต้น หลายคนเห็นชื่อแล้วก็อาจจะตกใจว่านี่คือภาษาอะไรกัน จริงๆ แล้ว พีทาโกรัส เป็นชื่อของนักคณิตศาสตร์ชาวกรีก เราจะมาค้นพบกันว่า แล้วทฤษฎีบทของนักคณิตศาสตร์ท่านนี้เป็นอย่างไร บอกใบ้ให้ว่าเกี่ยวกับความยาวด้านของรูปสามเหลี่ยมมุมฉากนะ และทฤษฎีบทนี้น่ารักกว่าตอนเห็นชื่อเยอะเลย

บทที่ 2 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง

จาก ม.1 ที่เราได้รู้จักกับจำนวนเต็ม ทศนิยมและเศษส่วนมาแล้ว คราวนี้เราจะมารู้กันว่า จำนวนทั้งหมดทั้งปวงที่เราเรียกว่าจำนวนจริง แบ่งเป็นจำนวนประเภทไหนบ้าง และเราสามารถหาค่าของจำนวนทั้งหลาย หรือเปรียบเทียบค่าของจำนวนเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง

บทที่ 3 ปริซึมและทรงกระบอก

รูปสามมิติสองแบบแรกที่เราได้แบ่งมาให้รู้จักกันรูปอื่นๆ จะได้เห็นว่ารูปสามมิติเหล่านี้มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ก่อนที่จะนำไปสู่การหาพื้นที่ผิวของรูปทั้งสองประเภทนี้ และการหาปริมาตรของรูปสามมิติทั้งสองด้วย

บทที่ 4 การแปลงทางเรขาคณิต

ถ้าเรามีรูปเรขาคณิตต้นแบบ ไปทำอะไรบางอย่างให้เกิดภาพใหม่ แต่เราสนใจว่าภาพใหม่ที่ได้นั้นยังคงมีขนาดและลักษณะต่างๆ ที่ไม่ต่างจากรูปต้นแบบ บทนี้จะอธิบายกับเราว่า มีวิธีใดบ้างในการทำเช่นนั้น แต่ละวิธีทำได้อย่างไรโดยใช้การสร้างทางเรขาคณิต แล้ววิธีเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทาง คณิตศาสตร์ ได้อย่างไรบ้าง 

บทที่ 5 สมบัติของเลขยกกำลัง

หลังจากที่เราได้เรียนเลขยกกำลังมาในชั้น ม.1 คราวนี้เราจะได้รู้จักกับสมบัติของเลขยกกำลังที่มากขึ้นกว่าเดิม เห็นภาพของเลขยกกำลังที่ทำอะไรได้มากกว่าเดิม โดยบทนี้ น้องๆ จะได้เห็นว่าเลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนเต็มลบ หรือเป็นเศษส่วนจะมีผลอย่างไรบ้าง รวมถึงโจทย์เลขยกกำลังที่มีความหลายหลากยิ่งกว่าเดิมแน่นอน

บทที่ 6 พหุนาม

รู้จักกับพหุนาม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ แต่เป็นบทที่เกี่ยวข้องกับหลายๆ บทที่ได้เรียนไปแล้ว บอกก่อนเลยว่า ใครที่ทำคณิตศาสตร์ก่อนหน้านี้ได้ดี ก็จะทำบทนี้ได้ดีด้วย และบทนี้เป็นบทที่สำคัญมากๆ สำหรับการเรียนคณิตศาสตร์ ม.ต้น ซึ่งจะช่วยในการต่อยอด คณิตศาสตร์ ม.ปลาย ด้วย 

คณิต ม.2 เทอม 2

เนื้อหาคณิต ม.2 เทอม 2 ประกอบด้วย 

  • สถิติ (2)
  • ความเท่ากันทุกประการ
  • เส้นขนาน
  • การให้เหตุผลทางเรขาคณิต
  • การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง

บทที่ 1 สถิติ (2)

จาก ม.1 ที่เราได้ทบทวนแผนภูมิทั้งหลาย คราวนี้เราจะได้เจอการนำเสนอข้อมูลผ่านแผนภาพหน้าตาใหม่ๆ นอกจากนี้แล้ว ยังได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “ค่ากลางของข้อมูล” ซึ่งน้องๆ จะได้รู้จักกับวิธีการหาค่ากลางของข้อมูลในแต่ละตัว รวมถึงการเลือกใช้ค่ากลางที่เหมาะสมกับข้อมูลที่แตกต่างกัน

บทที่ 2 ความเท่ากันทุกประการ

รูปเรขาคณิตสองมิติสองรูปที่มีลักษณะเหมือนกันทุกอย่าง จะอาศัยการมองแล้วคิดเองว่าน่าจะเหมือนกันคงไม่พอ น้องๆ จะได้รู้จักกับวิธีให้เหตุผลว่าทำไมรูปสองมิติ 2 รูป (โดยเฉพาะรูปสามเหลี่ยม) จึงเท่ากันทุกประการ โดยบทนี้จะแปลกไปกว่าคณิตศาสตร์ ม.ต้น ที่ผ่านมาตรงที่มีการเขียนพิสูจน์ข้อความมาเกี่ยวข้อง ซึ่งต่างจากแต่ละบทที่ผ่านๆ มาที่เน้นการคำนวณเป็นส่วนใหญ่

บทที่ 3 เส้นขนาน

ความรู้เกี่ยวกับมุมภายในและภายนอกของเส้นขนานที่หลายคนอาจเคยเจอในชั้นประถมจะกลับมาอีกครั้ง การคำนวณหาค่ามุมต่างๆ จะกลับมา แต่ในขณะเดียวกัน รูปแบบใหม่ๆ เช่น การเขียนพิสูจน์จากบทที่แล้วก็จะได้นำมาใช้ในบทนี้ด้วย น้องๆ อาจได้ค้นพบข้อความรู้หรือทฤษฎีบทใหม่ๆ จากการเขียนพิสูจน์โดยใช้สมบัติของเส้นขนานมาอธิบาย

บทที่ 4 การให้เหตุผลทางเรขาคณิต

บทนี้จะเป็นการนำความรู้เรื่องการสร้างตอน ม.1 กับการพิสูจน์มารวมตัวกัน ทำให้การสร้างรูปเรขาคณิตทั้งหลายที่ซับซ้อนขึ้นสามารถทำได้ โดยอาศัยการให้เหตุผลเพื่อหาลำดับขั้นตอนว่าการจะสร้างรูปเรขาคณิตตามที่กำหนด จะต้องเริ่มจากจุดไหนและจะนำไปยังขั้นตอนใดต่อไป

บทที่ 5 การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง

ขณะที่จำนวนนับมีการแยกตัวประกอบ เช่น 20 = 2x2x5 พหุนามก็มีการแยกตัวประกอบเช่นกัน บทนี้ในคณิตศาสตร์ ม.ต้น จะช่วยให้เราได้พบว่าพหุนามจะแยกตัวประกอบได้อย่างไร โดยเริ่มต้นจากพหุนามดีกรีสอง ซึ่งบอกก่อนว่าบทนี้เป็นอีกบทที่เป็นพื้นฐานในการเรียนต่อคณิตศาสตร์ ม.ปลาย ที่สำคัญมากๆ

เนื้อหาคณิต ม.3 คณิตศาสตร์ ม.ต้น ปีสุดท้ายเรียนอะไร

คณิต ม.3 เทอม 1

เนื้อหาคณิต ม.3 เทอม 1 ประกอบด้วย 

  • อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว
  • การแยกตัวประกอบของพหุนามที่มีดีกรีสูงกว่าสอง
  • สมการกำลังสองตัวแปรเดียว
  • ความคล้าย
  • กราฟของฟังก์ชันกำลังสอง
  • สถิติ (3)

บทที่ 1 อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว

เราคุ้นเคยกับการแก้สมการมามากแล้ว แต่อสมการกลับยังไม่เคยทำเลยว่า แล้วการแก้อสมการจะทำอย่างไร รวมถึงลักษณะคำตอบของอสมการที่แตกต่างไปจากคำตอบของสมการด้วย บทนี้นอกจากการแก้อสมการแล้ว ยังรวมถึงการฝึกเขียนอสมการจากโจทย์ปัญหาที่กำหนด ที่ต้องระวังเรื่องสัญลักษณ์ให้ดี เป็นบทที่ต้องมีความพิถีพิถันในการทำมาก แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปนะ เราทำได้

บทที่ 2 การแยกตัวประกอบของพหุนามที่มีดีกรีสูงกว่าสอง

จาก ม.2 เทอม 2 ที่เราเริ่มต้นแยกตัวประกอบพหุนามดีกรีสองไปแล้ว ซึ่ง การเรียนคราวนี้เราจะเริ่มเพิ่มระดับไปที่พหุนามดีกรีที่สูงขึ้น โดยจะมีทั้งวิธีการและรูปแบบบางอย่างที่จะช่วยให้การแยกตัวประกอบพหุนามดีกรีสูงขึ้นสามารถทำได้ เป็นอีกบทในคณิตศาสตร์ ม.ต้น ที่อาจจะมีตัวเลขและตัวแปรเยอะสักหน่อย แต่ฝึกทำบ่อยๆ จะคล่องมากทีเดียว

บทที่ 3 สมการกำลังสองตัวแปรเดียว

น้องๆ ผ่านการแก้สมการกันมาแล้ว แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่ตัวแปรมีการยกกำลังสอง บทนี้จะอธิบายว่าแล้วจะใช้วิธีไหนในการแก้สมการ บอกใบ้ว่าการแยกตัวประกอบของพหุนามคือส่วนสำคัญในการทำบทนี้นะ เตรียมพร้อมมาให้ดี

บทที่ 4 ความคล้าย

เมื่อสามเหลี่ยมสองรูปมีลักษณะที่เหมือนกันมากๆ แต่ต่างกันที่ขนาดเล็กใหญ่ แม้สามเหลี่ยมสองรูปนั้นจะไม่เท่ากันทุกประการ แต่ “ความคล้าย” ของสามเหลี่ยมสองรูปนี้ ก็มีสมบัติสำคัญที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความยาวด้านของรูปสามเหลี่ยมและโจทย์เรขาคณิตอื่นๆ ในคณิตศาสตร์ ม.ต้น ได้ด้วย

บทที่ 5 กราฟของฟังก์ชันกำลังสอง

ก่อนอื่น น้องๆ จะได้รู้จักว่าฟังก์ชันคืออะไร นำไปสู่ฟังก์ชันเชิงเส้น และฟังก์ชันกำลังสอง ซึ่งจะพูดถึงกราฟของฟังก์ชันเหล่านี้บนระบบพิกัดฉาก น้องๆ จะได้รู้จักกับหน้าตาของกราฟฟังก์ชันกำลังสอง และองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งจะนำไปประยุกต์ใช้หาค่าต่ำสุดหรือค่าสูงสุดของโจทย์คณิตศาสตร์ ม.ต้น บางข้อ

บทที่ 6 สถิติ (3)

สถิติส่วนสุดท้ายของคณิตศาสตร์ ม.ต้น ว่าด้วยเรื่องของการนำเสนอข้อมูลโดยใช้แผนภาพกล่อง ซึ่งเป็นแผนภาพที่อธิบายค่าทางสถิติหลายค่า น้องๆ จะได้รู้จักกับค่าใหม่ๆ ทางสถิติ เช่น ค่าวัดตำแหน่งของข้อมูล ค่านอกเกณฑ์ เป็นต้น

คณิต ม.3 เทอม 2

เนื้อหาคณิต ม.3 เทอม 2 ประกอบด้วย 

  • ระบบสมการเชิงเส้นสองตัวแปร
  • วงกลม
  • พีระมิด กรวย และทรงกลม
  • ความน่าจะเป็น
  • อัตราส่วนตรีโกณมิติ

บทที่ 1 ระบบสมการเชิงเส้นสองตัวแปร

หลังจากแก้สมการเชิงเส้นแล้ว รวมถึงสมการกำลังสองแล้ว แต่ครั้งนี้จะเป็นการแก้สมการที่มีตัวแปร 2 ตัวที่แตกต่างกัน ซึ่งจะไม่ได้มีเพียงสมการเดียวในการหาคำตอบ อย่างไรก็ตาม บทนี้จะสนใจเพียงขั้นเริ่มต้น คือตัวแปรจะยังเป็นดีกรีหนึ่งเท่านั้น แต่ก็เพียงพอที่จะแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ ม.ต้น ได้หลายเรื่อง

บทที่ 2 วงกลม

ในชั้นประถม น้องๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับรัศมี เส้นผ่านศูนย์กลาง เส้นรอบวง และพื้นที่ของวงกลม รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ แต่ในคณิตศาสตร์ ม.ต้น จะพูดถึงทฤษฎีบทที่เกี่ยวข้องกับวงกลม ซึ่งจะมีองค์ประกอบใหม่ๆ เช่น คอร์ด เส้นสัมผัสวงกลม ส่วนโค้ง มุมในส่วนโค้ง มุมที่จุดศูนย์กลาง เป็นต้น เป็นอีกบทที่มีทฤษฎีบทมากมาย ท้าทายความสามารถของน้องๆ บทหนึ่งเลย

บทที่ 3 พีระมิด กรวย และทรงกลม

ภาคต่อจากปริซึมและทรงกระบอก ว่าด้วยรูปสามมิติประเภทที่เหลือที่มีความซับซ้อนมากกว่า 2 รูปเดิม อาจต้องใช้ความรู้บทอื่นๆ ของคณิตศาสตร์ ม.ต้น เข้ามาช่วยในการหาค่าพื้นที่ผิวและปริมาตร อย่างเช่น ทฤษฎีบทพีทาโกรัส ซึ่งน้องๆ จะต้องทบทวนบทเก่าเกี่ยวกับเรขาคณิตมาบ้างนะ จะได้ต่อติด

บทที่ 4 ความน่าจะเป็น

โอกาสในการสุ่มหยิบลูกบอล โยนเหรียญ ทอดลูกเต๋า จะมากหรือน้อย บทนี้จะกล่าวถึงวิธีการในการหาโอกาสดังกล่าว รวมถึงวิธีการในการใช้หาจำนวนวิธีของผลลัพธ์ทั้งหมดที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการการสุ่มที่มีเงื่อนไขตามที่กำหนด และการหาจำนวนวิธีของผลลัพธ์เฉพาะที่อยากให้เกิดขึ้น

บทที่ 5 อัตราส่วนตรีโกณมิติ

บทสุดท้ายของคณิตศาสตร์ ม.ต้น ว่าด้วยอัตราส่วนความยาวด้านของรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก มารู้จักกับชื่อของอัตราส่วนด้านต่างๆ (ใช่แล้ว อัตราส่วนของด้าน 2 ด้านของสามเหลี่ยมมุมฉากมีชื่อเฉพาะตัวด้วย ไม่ธรรมดาใช่ไหมล่ะ !) มีค่าของอัตราส่วนของสามเหลี่ยมมุมฉากบางรูปที่น่าสนใจ รวมถึงการนำอัตราส่วนดังกล่าวไปแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์เกี่ยวกับความยาวด้านของรูปสามเหลี่ยมมุมฉากด้วย

ติวฟรี การดึงตัวร่วมและกำลังสองสมบูรณ์ (คณิต ม.3) คลิกเลย

สิ้นสุดการรอคอย พี่ปั้นเปิดคอร์สใหม่ “คณิต ม.3”

สอนเนื้อหา และลุยโจทย์จัดเต็ม เก็บครบทุกประเด็น ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้ไม่ว่าจะเก็บเนื้อหาล่วงหน้าช่วงปิดเทอม หรือเก็บควบคู่พร้อมกับที่โรงเรียน ! ก็ทำคะแนนปัง พิชิตเกรด 4 ได้แน่ !

เข้าร่วมกลุ่ม Line Openchat คลิกเลย !!
แก๊งเด็ก ม.ต้น
สมาคม ผู้ปกครอง