
กลับมาอีกครั้งกับบทความคณะไหนยังไงเล่า ! สำหรับคณะที่พี่จะพาไปเจาะลึกในวันนี้คือ “คณะครุศาสตร์ / คณะศึกษาศาสตร์” นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์รีวิวคณะจากรุ่นพี่คณะครุศาสตร์ตัวจริงที่จะมาแชร์ประสบการณ์อีกด้วย แบบนี้พลาดไม่ได้แล้วน้า เราไปทำความรู้จักกับคณะครุศาสตร์/คณะศึกษาศาสตร์กันก่อนเลยดีกว่า
ครุศาสตร์ เรียนอะไรบ้าง ?
คณะครุศาสตร์ จะเรียนเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน รวมถึงการควบคุมชั้นเรียน การวัดและประเมินผลทางการศึกษา การจัดทำสื่อประกอบการสอนตามกลุ่มเป้าหมายในแต่ละสาขา ตัวอย่างวิชาที่เรียนก็จะประมาณนี้เลยยย
ปี 1 : การเรียนในชั้นปี 1 จะได้เริ่มเรียนเกี่ยวกับวิชาชีพครูและวิชาพื้นฐานที่มหาลัยฯ หรือของสาขานั้นๆ สมมติ ถ้าน้องๆ เลือกเรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ สาขามัธยมศึกษา เอกคณิตศาสตร์ นอกจากวิชาทั่วไปที่มหาลัยฯ กำหนดแล้ววิชาพื้นฐานที่จะได้เรียน
- หลักคณิตศาสตร์
- ทฤษฎีสมการเบื้องต้น
- แคลคูลัส ซึ่งเป็นวิชาที่เรียนต่อยอดมาจาก คณิต ม.ปลาย แต่เนื้อหามีความเข้มข้นขึ้นนั่นเอง
ปี 2 : เมื่อขึ้นปี 2 เนื้อหาจะเข้มข้มกว่าตอนปี 1 ซึ่งในชั้นปีนี้ น้องๆ จะได้เรียนเจาะลึกเกี่ยวกับวิชาเฉพาะของสาขาที่เลือกมากขึ้น เช่น เลือกเรียนมัธยมศึกษา เอกคณิตศาสตร์ ก็จะได้เรียน
- พีชคณิตเชิงเส้น
- เรขาคณิต
- ความน่าจะเป็นและสถิติ
หรือเลือกเรียนสาขาปฐมวัย ก็จะได้เรียน
- การส่งเสริมภาษาและการรู้หนังสือขั้นต้นสำหรับเด็กปฐมวัย
- การส่งเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัย
ปี 3 : ชั้นปี 3 จะค่อนข้างเรียนเยอะขึ้นจากปีที่ผ่านมาหน่อยน้า เพราะว่าในปีนี้น้องๆ จะได้เรียนวิชาเกี่ยวกับการสอนและวิชาเฉพาะมากขึ้น ตัวอย่างเช่น วิชาของปี 3 สาขาปฐมวัย ก็จะเรียนเกี่ยวกับ
- นวัตกรรมการสอนและการเลี้ยงดูเด็กประถม
ปี 4 : หลังจากที่ได้มีการปรับหลักสูตรใหม่ให้เป็น 4 ปี ทำให้จากเดิมที่คนเรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ต้องฝึกงาน 2 เทอม เหลือแค่เทอมเดียว ส่วนอีกเทอมก็แล้วแต่ว่ามหาลัยฯ กำหนด ซึ่งบางที่ น้องๆ ก็อาจจะได้เรียนเป็นวิชาเสรี
ครุศาสตร์ มีสาขาอะไรบ้าง ?
สาขาของคณะครุศาสตร์ / คณะศึกษาศาสตร์ จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับมหาลัยฯ จะตั้งชื่อยังไงหรือเปิดสอนหลักสูตรไหนบ้าง ซึ่งสาขาที่พี่เอามาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักในวันนี้ พี่รวบรวมมาให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้นน้า
ครุศาสตร์ สาขาปฐมวัย จะเน้นการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับเด็กอนุบาล และเนื่องจากเป็นการสอนเด็กเล็ก ทำให้คนที่เลือกเรียนสาขานี้จะไม่ได้เน้นเรียนเนื้อหาวิชาการเท่าไหร่ แต่จะเน้นในเรื่องของการพัฒนาการเด็กเล็กในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์, ศิลปะสำหรับเด็กเล็ก เป็นต้น
ครุศาสตร์ สาขาประถมศึกษา จะเป็นสาขาที่ต้องสอนเด็กโตกว่าปฐมวัยคือระดับป.1-ป.6 ดังนั้นนอกจากจะต้องเรียนวิชาการสอน การจัดหลักสูตร ที่เป็นวิชาชีพครู น้องๆ ที่เลือกสาขานี้ก็จะยังต้องเรียนทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษาและพลศึกษา เพื่อปูพื้นฐานให้กับเด็กๆ ชั้นประถมก่อนที่จะไปลงลึกในระดับชั้นมัธยมนั่นเอง
ครุศาสตร์ สาขามัธยมศึกษา จะแตกต่างกับประถมศึกษาตรงที่คนที่เลือกสาขานี้จะไม่ต้องเรียนทุกวิชาเหมือนสาขาประถมศึกษา แต่น้องๆ จะต้องเลือกเอกที่สนใจว่าอยากจะเป็นครูสอนวิชาอะไร เพราะน้องๆ จะต้องสอนเนื้อหาที่ลึกมากขึ้นสำหรับเด็กมัธยมเลยไม่สามารถเรียนทุกวิชาแบบพื้นฐานได้
ครุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา จะเป็นสาขาที่เน้นสอนให้เป็นครูศิลปะตามชื่อเลย นั่นหมายความว่านอกจากน้องๆ จะต้องเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปวิจารณ์ สุนทรียศาสตร์ ศิลปะปฏิบัติ และยังต้องเรียนวิชาชีพครู อย่างเช่น การสอนศิลปะสำหรับครู เพื่อที่จะได้นำความรู้ทั้งหมดไปถ่ายทอดให้กับเด็กๆ อีกทีนึงไงล้า
ครุศาสตร์ สาขาดนตรีศึกษา บางมหาลัยฯ จะเป็นสาขาดนตรีศึกษาเฉยๆ แต่บางที่อย่างจุฬาฯ จะมีแยกเอกเป็น ดนตรีศึกษา, การสอนดนตรีไทย, การสอนดนตรีสากล ซึ่งเนื้อหาวิชาเรียนก็จะเกี่ยวกับวิชาดนตรีและวิชาชีพครูควบคู่กันไปด้วย
สำหรับสาขานี้ในคณะครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์ บางมหาวิทยาลัยจะแยกเป็นเอกเดี่ยว คือมีแค่สาขาพลศึกษา แต่บางที่ก็จะเป็นเอกคู่ที่มีวิชาสุขศึกษาด้วย แต่โดยรวมแล้วคนที่เลือกเรียนสาขานี้ก็จะได้เรียนเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพให้กับเด็กนักเรียน และน้องๆ ก็ยังต้องเรียนวิชาชีพครูอย่างเช่น จิตวิทยาสำหรับครู การพัฒนาหลักสูตร หรือ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้วยนะ
ศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยาการปรึกษา ถ้าจบไปเป็นครู ก็จะเป็นครูแนะแนว น้องๆ จะไม่ได้สอนวิชาการเหมือนครูวิชาอื่นๆ แต่เป็นคนที่จะคอยแนะนำและให้คำปรึกษา ตัวอย่างวิชาที่เรียนก็อย่างเช่น สุขภาพจิตในโรงเรียน,จิตวิทยาการจูงใจในการเรียนการสอน, การปรับพฤติกรรมผู้เรียน เป็นต้น
คณะครุศาสตร์ มีที่ไหนบ้าง ?
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะครุศาสตร์

ตัวอย่างสาขา
- สาขาการศึกษาปฐมวัย
- สาขาประถมศึกษา
- สาขาวิชามัธยมศึกษา
- สาขาศิลปศึกษา
- สาขาดนตรีศึกษา
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คณะศึกษาศาสตร์

ตัวอย่างสาขา
- การศึกษาบัณฑิต
- การศึกษาปฐมวัย
- การประถมศึกษา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะศึกษาศาสตร์

ตัวอย่างสาขา
- สาขาวิชาประถมศึกษา
- สาขาวิชาภาษาไทย
- สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
- สาขาวิชาสังคมศึกษา
- สาขาวิชาคณิตศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คณะศึกษาศาสตร์

แบ่งออกเป็นวิชาเอกเดี่ยวและวิชาเอกคู่
ตัวอย่างวิชาเอกเดี่ยว
- วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย
- วิชาเอกการประถมศึกษา
วิชาเอกคู่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
ตัวอย่างกลุ่มวิชาเอกที่ 1
- วิชาเอกการประถมศึกษา
- วิชาเอกอุตสาหกรรมศึกษา
- วิชาเอกเทคโนโลยีการศึกษา
- วิชาเอกจิตวิทยาและการแนะแนว
- วิชาเอกการวัด ประเมินและวิจัยการศึกษา
ตัวอย่างกลุ่มวิชาเอกที่ 2
- วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย
- วิชาเอกการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย
- วิชาเอกการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
- วิชาเอกการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษา
- วิชาเอกการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์
สำหรับน้องๆ คนไหนที่งงน้า การเลือกเรียนวิชาเอกของคณะศึกษาศาสตร์ มศว ถ้าเป็นเอกเดี่ยว ก็หมายถึงเลือกเรียนสาขาเดียว แต่ถ้าเป็นเอกคู่ จะต้องเลือกเรียน 2 เอก ควบคู่กันไป
โดยเวลายื่นคะแนนในรอบต่างๆ ของ TCAS67 น้องๆ จะต้องเลือกวิชาเอกในกลุ่มที่ 1 ก่อน เมื่อเข้ามาเรียนแล้วถึงจะได้ไปสอบเลือกวิชาเอกในกลุ่มที่ 2 นั่นเอง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะศึกษาศาสตร์

ตัวอย่างสาขา
- สาขาศึกษาศาสตร์
- สาขาพลศึกษา
- สาขาสุขศึกษา
คณะครุศาสตร์ เรียนกี่ปี ? เรียนครู 4 ปี กับ 5 ปี ต่างกันยังไง ?
ปัจจุบัน คณะครุศาสตร์ จะต้องเรียน 4 ปี เพราะหลักสูตรเพิ่งถูกเปลี่ยนจาก 5 ปีมาเป็น 4 ปี ไม่นานนี้เอง ! (ถึงแม้ว่าจะถูกเปลี่ยนเป็นหลักสูตรใหม่กันเกือบหมดแล้ว แต่ยังมีบางมหาลัยฯ ที่ใช้หลักสูตรเก่าอยู่เหมือนกันน้า) โดยความแตกต่างหลักๆ ของการเรียนครู 4 ปีกับ 5 ปี ก็จะมีตามนี้เลย
- การฝึกงาน – หลักสูตร 5 ปี จะได้เรียน 4 ปีเต็มแล้วไปฝึกสอน 2 เทอม ในขณะที่หลักสูตร 4 ปีจะเรียนแค่ 3 ปี แล้วออกไปฝึกงาน 1 เทอม
- การสอบใบประกอบ – หลักสูตร 5 ปี ไม่ต้องสอบใบประกอบ แต่หลักสูตร 4 ปี ต้องไปสอบใบประกอบวิชาชีพครู
- วิชาเรียน – เพราะการปรับหลักสูตรทำให้วิชาบางวิชาถูกลด หรือถูกรวมกับวิชาอื่น ทำให้เนื้อหาในการเรียนถูกบีบ น้องๆ เลยต้องเรียนหนักขึ้นนั่นเอง
คณะครุศาสตร์ ใช้คะแนนอะไรบ้าง ?
TGAT 20% + TPAT5 30% + คณิต1 25% + วิทย์ประยุกต์ 25%
TGAT 20% + TPAT5 30% + สังคม 25% + ภาษาไทย 25%
TGAT 20% + TPAT5 30% + ภาษาอังกฤษ 25% + คณิต 2 25%
มาซ้อมมือก่อนสอบจริงในคอร์ส TGAT 2,3 !!
ใครต้องใช้คะแนน TGAT 2, TGAT 3 ไม่ควรพลาดคอร์สนี้เลย เริ่มสอนปูพื้นฐานจนตะลุยโจทย์แบบจัดเต็ม สมัครเลยตอนนี้พร้อมสิทธิพิเศษดีๆ อีกมากมาย
สมัครคอร์ส คลิกเลยอยากเรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เรียนสายไหน
ส่วนใหญ่จะไม่ได้กำหนด ยกเว้นบางสาขาหรือบางเอกที่เป็นวิชาวิทย์-คณิต ซึ่งน้องๆ ที่เรียนสายศิลป์-ภาษาก็อาจจะสมัครไม่ได้ ดังนั้นอย่าลืมเช็กคุณสมบัติของคณะ/สาขาที่จะยื่นกันด้วยน้าว่ามีคุณสมบัติตามที่มหาลัยฯ กำหนดรึเปล่า
หลังเรียนจบต้องสอบใบประกอบวิชาชีพครูเลยไหม สอบวิชาอะไรบ้าง ?
ถ้าเป็นหลักสูตรเดิมที่เรียน 5 ปีจะไม่ต้องสอบใบประกอบ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นหลักสูตร 4 ปีแล้ว ทำให้ถ้าคนที่เรียนครู 4 ปี ต้องสอบใบประกอบด้วยน้า ซึ่งจะสอบเลยหรือหาเวลาเตรียมตัวก่อนก็ได้ ซึ่งปกติจะเปิดให้สอบปีละ 2 ครั้ง ส่วนวิชาที่ต้องสอบนั้นก็จะมีตามนี้เลย
- วิชาชีพครู
- วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
- วิชาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
- วิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา
สำหรับบางมหาลัยฯ ที่ยังมีหลักสูตร 5 ปีอยู่ ก็ยังไม่ต้องสอบใบประกอบเหมือนเดิม แค่ดูว่าหลักสูตรที่เรียนนั้นผ่านการรับรองโดยคุรุสภารึเปล่านั่นเองง
คณะครุศาสตร์ จบมาทำงานอะไรได้บ้าง ?
หลายคนก็คงจะตอบคำถามนี้ได้ทันทีว่า จบครุศาสตร์ ก็ต้องไปเป็นครูสิ ! แต่น้องๆ รู้กันรึเปล่าว่าถ้าเราเรียนจบแล้วแต่ไม่อยากเป็นครูประจำโรงเรียนต่างๆ ก็สามารถเลือกเส้นทางอื่นให้กับตัวเองได้ เช่น เป็นติวเตอร์ หรือทำอาชีพที่เกี่ยวกับการศึกษาอื่นๆ อีกมากมาย
แต่ถ้าใครไม่อยากทำงานเกี่ยวกับด้านการศึกษาเลย ก็สามารถต่อยอดไปทำอาชีพสายอื่นๆ ได้อีกมากมายเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ทำธุรกิจส่วนตัว ทำงานสายบันเทิงต่างๆ อย่างเช่นเป็น พิธีกร ก็ได้ด้วย !
สัมภาษณ์ รุ่นพี่
คณะครุศาสตร์ !
พอได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ไปแล้ว น้องๆ หลายคนก็คงจะอยากรู้เพิ่มแล้วใช่ม้า ว่าถ้าเข้าไปเรียนในคณะจริงๆ จะเป็นยังไงบ้าง ต้องเตรียมตัวสอบยังไง ฝึกงานปีไหน และคนที่จะมาตอบทุกข้อสงสัยให้กับน้องๆ ในวันนี้ก็คือ “พี่อิงกี้” รุ่นพี่คนเก่งจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ไปดูกันเลยว่าพี่อิงกี้จะมาแชร์ประสบการณ์การเรียนและไขข้อข้องใจเกี่ยวกับคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ยังไงบ้าง !

สวัสดีน้าทุกคน พี่ชื่ออิงกี้ อิงตะวัน ทองมโนกูร เรียนอยู่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 เป็น Dek64 จบจากสายการเรียนศิลป์-ภาษาจีนครับ
วิธีเตรียมตัวเข้ามหาลัยและค้นหาตัวเอง
มีวิธีการค้นหาตัวเองยังไงบ้าง ? รู้ตัวตอนไหนว่าอยากเรียนคณะครุศาสตร์ ?
ตั้งแต่ตอนประถมเลย เพราะเราเห็นครูยืนอยู่หน้าชั้นเรียนแล้วรู้สึกว่าเท่ดี พอโตขึ้นมีโอกาสได้ไปเรียนพิเศษ ก็เห็นสไตล์การสอนของติวเตอร์ที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนสามารถสอนให้เราเข้าใจได้ในเวลาสั้นๆ ทำให้เราประทับใจ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจ อยากจะทำให้ได้อย่างนั้นบ้าง เราเลยตั้งเป้าหมายการเรียนว่า ถ้าเรียนจบไปต้องทำงานในแวดวงการศึกษานี่แหละ ก็เลยเลือกคณะครุศาสตร์
แล้วทำไมถึงเลือกเรียนครุศาสตร์ สาขาประถมศึกษา ?
เริ่มแรกเลยเราอยากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นวิชาที่เชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ได้เยอะ เลยอยากจะถ่ายทอดสิ่งนี้ให้กับเด็ก ซึ่งตอนแรกเราก็ชอบการสอนเด็กมัธยมเหมือนกัน แต่พอมีโอกาสได้ลองสอนเด็กประถมก็ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งท้าทายเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่สอนหนังสืออย่างเดียว แต่เราจะต้องรู้วิธีดูแลเด็กๆ ด้วย
ซึ่งเรามองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการต่อยอดกับอาชีพครูในอนาคต ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือเรารู้สึกว่าเด็กประถมมันเป็นช่วงรอยต่อก่อนจะโตไปเป็นวัยรุ่น เราเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้และดูแลเด็กๆ ตั้งแต่ตอนนี้
ตอนเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยฯ อ่านหนังสือเยอะมั้ย ?
มีเรียนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษและความถนัดทางวิชาชีพครู เพราะข้อสอบ PAT5 (หรือ TPAT5) เน้นแสดงความคิดเห็นแล้วก็เดาทางยาก อาจส่งผลต่อเวลาในการทำข้อสอบ ดังนั้นเลยต้องหาเทคนิคเพื่อให้สามารถทำความเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ไม่เสียเวลาเวลาเจอข้อสอบจริง
นอกเหนือจากการเรียนพิเศษแล้ว ก็จะเน้นดูคลิปเฉลยข้อสอบ ทำความเข้าใจทีละข้อ และลองทำข้อสอบจริงซะเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะวิชาสังคมศึกษาและภาษาอังกฤษ
ส่วน GAT (หรือ TGAT) เน้นการทำข้อสอบแล้วเช็กคะแนน เพื่อดูว่าเราพลาดตรงไหนมากที่สุด แล้วเราก็จะแก้เฉพาะจุดไปเลย เช่น การอ่าน เพราะตอนนั้นเราไม่เก่งการสรุปความมากๆ เราจะพยายามแก้โดยการอ่านและตีความบทความนั้นๆ ซ้ำอีกรอบ
แบ่งเวลาอ่านหนังสือสอบที่โรงเรียนกับสอบเข้ามหาลัยฯ ยังไง ?
เราว่าการอ่านหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ต้องสะสมมาเรื่อยๆ ส่วนตัวเราไม่ได้ทำตารางอ่านหนังสือ แต่เมื่อถึงช่วงสอบก็จะให้ความสำคัญกับการสอบที่โรงเรียนก่อน เพราะมันมีผลต่อเกรดด้วย โดยเฉพาะถ้าใช้เกรดในการยื่นคะแนนด้วยแล้ว พอสอบที่โรงเรียนเสร็จก็ค่อยกลับมาอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาลัยฯ ต่อไป
ช่วงที่อ่านหนังสือหนักๆ เคยรู้สึกหมดไฟบ้างไหม ? แล้วมีวิธีการแก้ไขยังไง ?
มีครับ จริงอยู่ที่เราควรมีวินัยกับตัวเอง แต่ก็เราก็ควรแบ่งเวลาเพื่อพักผ่อนบ้าง ออกไปทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา หรืออีก 1 วิธีที่เราทำบ่อยๆ คือ อยู่กับเพื่อน เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว อย่างน้อยก็มีเพื่อนอ่านหนังสือและทำข้อสอบไปด้วยกัน
การเรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในมหาลัย
คณะครุศาสตร์ สาขาประถมศึกษา เรียนเกี่ยวกับอะไร ?
สำหรับการเรียนเป็นครูประถม เราก็จะเน้นเรียนวิธีการทำและออกแบบสื่อการสอน เราจะได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์สื่อต่างๆ ที่จะเอาไว้ใช้สอนเด็ก
ส่วนวิชาของคณะที่จะต้องเจอตั้งแต่ปีแรก คือวิชาชีพครู เราต้องเรียนเพื่อให้รู้ว่าครูควรจะมีทักษะอะไร ควรมีทัศนคติกับเด็กยังไง หรือควรจะปลูกฝังคุณธรรมให้เด็กยังไง เรื่องนี้สำคัญมากเลย เพราะเด็กในช่วงวัยนี้จะยังแยกแยะสิ่งที่ถูกผิดไม่ได้ ต้องมีครูคอยช่วย
และวิชาของคณะ หลักๆ จะเป็นคณะที่เกี่ยวกับจิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาการสอน จะได้เรียนกันตั้งแต่ช่วงปี 1 เลย เป็นวิชาที่สำคัญสำหรับการเป็นครูเหมือนกัน เพราะครูจะต้องรู้ความต้องการของเด็กๆ รู้ว่าจะสอนเด็กด้วยวิธีไหน และอีกวิชาที่คิดว่าคนที่เรียนครูต้องได้เรียนกันหมดคือวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา เพราะจะเป็นวิชาที่ใช้ประเมินด็กๆ ที่เราสอน

รีวิวบรรยากาศการเรียนครุศาสตร์
วิชาของคณะบางตัวอาจเกินความสามารถของเราจนทำให้หมดกำลังใจในการเรียนบางครั้ง ส่วนที่เราเรียนแล้วรู้สึกทำไมมันจำเยอะจังเลย คือ วิชาจิตวิทยาการศึกษาฯ แต่ในความเป็นจริง วิชานี้มันทำให้เราเข้าใจในตัวเด็กมากขึ้น
ส่วนสังคมในมหาวิทยาลัย เรามองว่าโอเคมาก ด้วยความที่เราไม่เคยรู้จักกัน แต่หลาย ๆ คนยินดีที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ให้โอกาสและพื้นที่ในการแสดงความสามารถของคนออกมาจริง ๆ ถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจและขอบคุณตัวเองที่เลือกเข้ามาเรียนในคณะนี้อย่างมาก
ฝึกสอนปีไหน ต้องทำอะไรบ้าง ?
จะเริ่มฝึกสอบตั้งแต่ ปี 4 ช่วงที่ฝึกสอนก็จะตรงกับการเปิด-ปิดภาคการศึกษาของเด็กเลย แต่เราอาจจะต้องไปเตรียมก่อนประมาณสัก 1 อาทิตย์เพื่อเตรียมตัวก่อนสอนจริง หน้าที่ของเราที่จะได้ทำก็เหมือนครูทั่วไปเลย คือเป็นครูประจำชั้น ครูประจำวิชา ครูยืนเวร แล้วแต่ว่าโรงเรียนจะมอบหมายงานอะไรให้
ใน Part ของการสอน เขาจะมีให้เลือกตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าตอนนี้โรงเรียนต้องการนิสิตฝึกสอนวิชาอะไร ถ้าไม่มีวิชาที่เราอยากสอนก็อาจจะต้องย้ายโรงเรียน แต่ที่เราจะเลือกไม่ได้คือระดับชั้น เพราะการเรียนเป็นครูประถม ต้องสอนให้ได้หมดตั้งแต่ ป.1-ป.6
เมื่อถึงช่วงที่เด็กปิดเทอม หน้าที่ของเราก็ยังไม่หมด เพราะเราต้องตรวจข้อสอบที่เราเป็นคนออกเอง และสุดท้ายคือเราจะต้องทำวิจัยเป็นผลปฏิบัติการด้วยว่าที่เราไปฝึกสอนมาเป็นยังไงบ้าง เราทำอะไรบ้างขณะที่ฝึกสอน
Q&A รวมคำถามเกี่ยวกับครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
คณะครุศาสตร์แตกต่างจากคณะศึกษาศาสตร์ยังไง ?
อาจจะต่างกันเฉพาะชื่อ แต่เนื้อหาภายในมีความคล้ายกัน เพราะสุดท้ายผลลัพธ์ของคณะก็คือต้องการผลิตครูที่มีคุณภาพไปมอบความรู้ให้กับเด็กๆ เหมือนกันเลยย
ถ้าเลือกเรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต้องเก่งวิชาอะไรเป็นพิเศษ
ไม่จำเป็นเลย ขอแค่รักที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้วก็สามารถถ่ายทอดความรู้ของตัวเองให้คนอื่นรู้ด้วยได้ ที่สำคัญคือต้องเข้าใจเด็กๆ
ถ้าไม่ได้เรียนจบจากคณะครุศาสตร์ สามารถเป็นครูได้ไหม ?
ถ้าอยากเป็นครู จบครูจะเวิร์คมากกว่าในมุมมองของเรา แต่ถ้าใครที่ไม่ได้จบครู แล้วอยากทำ เราว่าทำได้นะ แต่อาจจะต้องเรียนเพิ่ม เพราะการเป็นครูไม่ได้รู้แค่วิชาการอย่างเดียว แต่ยังมีวิชาชีพครูที่ต้องเรียนรู้ด้วย เพื่อให้เข้าใจการสอนและเข้าใจเด็ก
ให้กำลังใจน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้าคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
สำหรับใครที่เล็งๆ คณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ทั้งหลายนะฮะ พี่อิงกี้เป็นอีกหนึ่งกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ให้น้องได้เดินทางตามความฝันอย่างเต็มที่ ถ้าน้องเต็มใจที่จะมอบความรักความรู้ให้ผู้เรียน พี่ก็ต้อนรับสู่คณะครุศาสตร์เลยครับ
รีวิวคณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ที่พี่เอามาฝากน้องๆ ทุกคนวันนี้ถูกใจกันไหมเอ่ย สำหรับใครที่รู้ตัวแล้วฝันอยากจะเป็นคุณครูคงจะได้ข้อมูลในการเลือกสาขาและการเตรียมตัวสอบไป ส่วนใครที่ยังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง ไม่แน่ใจว่าจะเลือกเรียนคณะไหนต่อดี พี่ก็มีบทความรีวิว/แนะนำคณะจากรุ่นพี่อีกเยอะแยะเลย
พี่หวังว่าบทความพวกนี้จะช่วยให้น้องๆ มีตัวเลือกในใจเพิ่มมากขึ้น แล้วเจอกันบทความหน้าน้าทุกคนน
สำหรับน้องๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Line : @smartmathpronews
รวมถึงข่าวสารต่างๆ อัปเดตอย่างเรียลไทม์
IG : pan_smartmathpro
Twitter : @PanSmartMathPro