
ใกล้ช่วงสอบของ Dek67 แล้ว แต่น้องๆ คนไหนที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มเตรียมตัวยังไง ควรอ่านบทความนี้ !! เพราะนอกจากพี่จะบอกวิธีค้นหาตัวเอง วิธีเตรียมตัวสอบแล้ว ยังมีแจกทริคอ่านหนังสือให้มีประสิทธิภาพที่เป็นทริคง่ายๆ ใครก็ทำตามได้ และสุดท้าย มาดูคลิปเตรียมตัวสอบติดไปพร้อมกันกับเหล่าติวเตอร์หลากหลายวิชา อ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ก็อย่ารอช้า รีบไปอ่านบทความตอนนี้เลยยยย
1. ค้นหาตัวเองว่าอยากเรียนคณะ / มหาลัยฯ อะไร
วิธีค้นหาตัวเองมีหลากหลายวิธี ซึ่งวิธีเหล่านี้ อาจช่วยให้น้องๆ ค้นหาตัวเองได้เร็วมากขึ้น !
- สังเกตตัวเองว่าตัวเองมีความชอบและความถนัดอะไรบ้าง
- ลองออกไปทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำ
- ร่วมกิจกรรมที่มหาลัยฯ จัดขึ้นเพื่อคุยกับรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ เช่น Open House หรือเข้าค่ายคณะต่างๆ
- ทำแบบทดสอบต่างๆ ทั้งทางด้านจิตวิทยา หรือแบบทดสอบเกี่ยวกับอาชีพ






2. ศึกษาหลักสูตรของคณะที่น้องๆ อยากเข้า
เมื่อรู้แล้วว่าอยากเข้าคณะอะไร ให้น้องๆ ลองดูว่าคณะนี้ มีมหาลัยฯ ไหนบ้างที่เปิดสอนและเข้าไปดูหลักสูตร หรือสอบถามรีวิวเรื่องเรียนจากรุ่นพี่ เพราะแต่ละมหาลัยฯ จะมีหลักสูตรที่เปิดสอนไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะชื่อคณะเหมือนกันก็ตาม
เช่น คณะนิเทศของมหาลัยฯ A เน้นสอนการแสดงเป็นหลัก แต่คณะนิเทศของมหาลัยฯ B เน้นสอนโฆษณา ซึ่งการศึกษาหลักสูตรของคณะเอาไว้ จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าน้องอยากเรียนอะไร หรือเข้ามหาลัยฯ ไหนกันแน่
3. ศึกษาระบบ TCAS67 และวางแผนต่อ
หลังจากที่น้องๆ เลือกได้แล้วว่าอยากเข้าคณะ / มหาลัยฯ อะไร น้องๆ ก็ควรมาศึกษาระบบ TCAS67 ต่อ เพื่อวางแผนว่าคณะที่น้องๆ อยากเข้า สามารถสอบรอบไหนได้บ้าง ถ้าจะสอบเข้ารอบ 1 และ 3 ก็ควรเริ่มเก็บผลงานต่างๆ ใส่ Portfolio ตั้งแต่เนิ่นๆ ควบคู่กับการอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบและเก็บเกรดที่โรงเรียนไปด้วย
เหตุผลที่ต้องศึกษาระบบ TCAS เอาไว้ด้วยก็เพราะว่าระบบนี้มีหลายรอบ / ขั้นตอน ไม่ใช่แค่การสมัครสอบ ยื่นแล้วจบ
แต่น้องๆ จะควรรู้เรื่องการยืนยันสิทธิ์ สละสิทธิ์ และอื่น ๆ เอาไว้ด้วยน้าา (ถ้าใครกลัวพลาดข่าวสาร TCAS สามารถเข้าไปตาม IG SmartMathPro ได้ เดี๋ยวพี่ๆ ทีม SMP จะสรุปเป็นภาพคอนเทนต์ให้น้องๆ ได้อ่านกันน)
4. หาข้อมูล ค่าสมัครสอบ TCAS67
สำหรับข้อมูล TCAS67 นั้น การสมัครสอบทั้งรอบ 1 Portfolio, รอบ 2 Quota, รอบ 4 Direct Admission ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับมหาลัยฯ กำหนด แต่ค่าสมัครสำหรับรอบ 3 จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการเลือกอันดับ น้องๆ จะได้จ่ายค่าแค่สมัครสอบ A-Level, TGAT, TPAT, วิชาเฉพาะของแต่ละคณะ ซึ่งก็จะเริ่มตั้งแต่ 100 บาท (สูงสุดที่เคยเห็นก็คือวิชากสพท 800 บาทนี่แหละ !)

5. เตรียมตัวอ่านหนังสือ
น้องๆ Dek67 มักจะถามว่าเริ่มอ่านหนังสือตอนไหนดี พี่บอกเลยว่า เริ่มตอนนี้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอกำหนดการออกแล้วค่อยเริ่มอ่านหนังสือ ยิ่งน้องๆ เริ่มเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเวลาการทบทวนและปิดจุดอ่อนตัวเองได้มากขึ้นเท่านั้น
พี่เชื่อเสมอว่าการเตรียมตัวก่อนใคร ทำให้เรามีชัยกว่าครึ่ง !!
ในช่วงแรกนี้ น้องๆ ควรเริ่มจากการเช็ก Test Blueprint ว่าวิชาที่น้องต้องสอบ มีออกหัวข้ออะไรบ้าง แล้วทยอยเก็บเนื้อหาให้แม่นและทำแบบฝึกหัดควบคู่กันไป ถ้าใครต้องสอบหลายวิชา แนะนำว่าให้อ่านสลับกันเพื่อที่จะได้เก็บเนื้อหาได้เร็วขึ้น เช่น วันนี้ท่องศัพท์ 1 ชม. แล้วก็แวะไปอ่านชีวะอีก 1 ชั่วโมง อาจจะปิดท้ายด้วยทำโจทย์คณิต 5 ข้อก็ได้น้า
แจกทริค 4 วิธีที่จะช่วย Dek67 อ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพ
1. เขียนแพลนเนอร์
ถ้าน้องๆ ได้ติดตามเหล่า studygram จะเห็นว่าแต่ละคนมีการใช้สมุดแพลนเนอร์ช่วยวางแผนกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการอ่านหนังสือ เพราะการเขียนแพลนเนอร์จะทำให้น้องๆ เห็นกิจกรรมที่ต้องทำทั้งหมดใน 1 วัน ซึ่งจะช่วยให้กำหนดเป้าหมายในแต่ละวัน และฝึกบริหารเวลาให้เก่งขึ้นด้วย
โดยประเภทของแพลนเนอร์นอกเหนือจากแพลนเนอร์รายวัน ก็มีหลากหลายให้น้องๆ ได้เลือก เช่น แพลนเนอร์รายสัปดาห์ แพลนเนอร์รายเดือน น้องๆ อาจจะลองใช้หลายๆ รูปแบบเพื่อให้รู้ว่าแบบไหนเหมาะกับการจดเลคเชอร์ของน้องที่สุด

แต่การจดเลคเชอร์จะสนุกขึ้น !! ถ้าน้องๆ มีสมุดแพลนเนอร์ที่น่ารัก จนน้องๆ อยากหยิบมาเขียนทุกวัน > <
พี่ขอแนะนำ “สมุดแพลนเนอร์ SMP” ที่ไม่ได้มีความน่ารักอย่างเดียว แต่ยังมี Goal Planner เอาไว้วางแผนเตรียมตัวสอบ TCAS67 พร้อมแจกวิธีคิดและการแก้ปัญหาทุกเรื่องเกี่ยวกับการสอบเข้า ที่เด็ดเลย คือ มีคำให้กำลังใจดีๆ จากพี่ปั้นอีกด้วย
ถ้าอยากได้ล่ะก็ คลิกเลย !!
เทคนิคการใช้สีให้หลากหลายใน 1 หน้ากระดาษจะช่วยให้น้องๆ Dek67 จำเนื้อหาได้ง่ายขึ้น เช่น
- ต้องการจดเนื้อหา แนะนำให้ใช้สีโทนเย็นอย่างสีน้ำเงินหรือสีฟ้า เพราะเป็นสีที่ทำให้น้องสบายตา
- ต้องการจะเขียนคำนิยามหรือความหมายของคำนั้นๆ ควรเลือกใช้สีเขียว
- ต้องการเตือนความจำ เพื่อย้ำว่าห้ามลืมหรือห้ามพลาดตรงจุดนี้ แนะนำให้ใช้สีม่วง
- ต้องการย้ำว่าคำนี้สำคัญสุดๆ ให้ใช้สีที่มีความร้อนแรงอย่างสีแดง
เพราะเวลากลับมาทบทวน น้องๆ จะได้เห็นอย่างชัดเจน (ปล. น้องๆ สามารถนำเทคนิคนี้ไปประยุกต์ใช้ หรือปรับเปลี่ยนสี ตามที่ตัวเองชอบได้เลยน้าา)
3. เลือกช่วงเวลาอ่านหนังสือให้เหมาะสม
การอ่านหนังสือในช่วงเวลาที่สมองปลอดโปร่งและตื่นตัว ถือเป็นเวลาที่ดีที่สุดเพราะมันจะทำให้น้องๆ อ่านหนังสือแล้วจำได้เยอะขึ้น แต่ช่วงเวลาของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน บางคนสะดวกช่วงเช้า (ช่วงเวลาก่อนไปโรงเรียน) เช่น ตี 5 – 7 โมง ส่วนบางคนชอบอ่านหนังสือตอนกลางคืน หรือหลายคนโต้รุ่งไปเลยก็มี (แต่อันนี้ไม่ดีต่อร่างกายน้าา ไม่ควรทำบ่อยๆ)
สำหรับน้องๆ ที่กำลังจะเริ่มเตรียมตัวอ่านหนังสือ แต่ยังไม่แน่ใจว่าควรจะอ่านหนังสือช่วงเวลาไหนดี พี่ๆ SMP แนะนำให้แบ่งวันใน 1 อาทิตย์ เพื่อได้ลองอ่านหนังสือทั้ง 2 เวลา เช่น อ่านตอนเช้า 4 วัน อีก 3 วันอ่านตอนกลางคืน หรือปรับเวลาตามที่น้องๆ สะดวกได้เลยย
4. เทคนิคมะเขือเทศ (Pomodoro) ใครไม่ค่อยมีสมาธิ แนะนำวิธีนี้ !
Dek67 หลายคนยังไม่เริ่มอ่านหนังสือ เพราะรู้สึกว่ายังไม่มีสมาธิมากพอที่จะอ่านนานๆ เป็นชั่วโมง ซึ่งจริงๆ แล้ว สามารถแบ่งเวลาสั้นๆ สัก 20-25 นาทีเพื่ออ่านหนังสือแล้วค่อยพักเบรก 5 นาทีตามแบบเทคนิคมะเขือเทศได้ แต่ช่วงเวลาที่อ่านนั้น น้องๆ จะต้องโฟกัสกับสิ่งที่อ่านแบบ 100% ทำวนแบบนี้ไป 4 รอบ แล้วก็จะรู้ว่าเห้ยย อ่านได้ตั้ง 1 ชั่วโมงแบบที่สมาธิไม่หลุดเลย เหมาะมากๆ สำหรับคนที่โฟกัสกับการอ่านหนังสือได้ไม่นาน สามารถเอาวิธีไปลองไปใช้ดูได้น้าา
อยากสอบติด … ต้องคิดแบบนี้
จริงๆ แล้วการอ่านหนังสือสอบเข้ามหาลัยฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย น้องๆ ทุ่มเททั้งพลังกาย และพลังใจ ทำให้มีบางครั้งที่รู้สึกท้อ เครียด และหมดไฟ ดังนั้นพี่จะขอเติมกำลังใจให้น้องโดยยกข้อชวนคิดว่าเด็กสอบติดเขาคิดยังไงกัน มาให้น้องๆ ได้อ่านและนำไปปรับให้เข้ากับตัวเองกัน
1. ไม่จำเป็นต้องเก็บเนื้อหาครบทุกบท หรือทำข้อสอบได้ทุกข้อ
ถ้าอิงตาม Test Blueprint ของแต่ละวิชา จะเห็นว่าบางบทก็ถูกตัดออก เช่น การให้เหตุผล (ไม่ใช่การอ้างเหตุผลในตรรกศาสตร์) หรือทฤษฎีกราฟเบื้องต้น ของ A-Level คณิต 1 ซึ่งน้องๆ ไม่จำเป็นต้องอ่าน (แต่ถ้าอยากทบทวนความรู้ก็สามารถอ่านได้นะ !!) และเลือกเก็บบทอื่นๆ ที่ออกสอบแทน
2. เด็กสอบติดจะรู้ว่า … เก็บเนื้อหายังไงก็จะเข้าใจไม่เกิน 50% จนกว่าจะทำโจทย์
การอ่านหนังสือทำให้น้องๆ ได้เรียนทฤษฎี แต่ถ้าอยากรู้ว่าเมื่อลงสนามสอบจริงแล้ว จะทำโจทย์ประยุกต์ได้มั้ย หรือใช้สูตรเป็นหรือเปล่า ก็ต้องลองทำโจทย์หรือแบบฝึกหัดก่อน (แนะนำว่าควรเลือกโจทย์ที่เป็นแนวข้อสอบเก่าน้า เพราะจะได้ฝึกโจทย์ที่มีความยากใกล้เคียงกับระดับของข้อสอบจริง)
3. เจอข้อที่ทำไม่ได้ แค่เปิดดูเฉลยและทำความเข้าใจ
ถ้าน้องทำโจทย์แล้วเจอข้อที่ทำไม่ได้ สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการเปิดเฉลย และดูวิธีทำ ไม่จำเป็นต้องนั่งเครียดกับข้อนั้นๆ เป็นเวลานาน เพราะน้องอาจจะเจอข้อที่ทำไม่ได้บ่อยๆ ดังนั้นอย่าจม อ่านเฉลยให้เข้าใจก่อนแล้วค่อยนั่งทำใหม่นะ !!
4. เรียนแล้วลืม อ่านแล้วลืม เป็นเรื่องปกติ
ถ้าไม่ได้ทบทวนอยู่บ่อยๆ เนื้อหาที่เคยเรียนมาจะค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ดังนั้นแนะนำว่าหลังจากเรียนพิเศษแล้ว ให้น้องๆ อ่านทบทวนเลยทันที ถ้ายังจำไม่ได้ ก็แค่ทวนซ้ำใหม่จนกว่าจะเข้าใจและทำได้
5. เด็กสอบติดก็คือ “คนธรรมดา” ที่น้องเองก็เป็นได้
ข้อนี้สำคัญมาก จงจำไว้เสมอว่าเด็กสอบติดก็คือ “คนธรรมดา” ที่น้องเองก็เป็นได้ ไม่ว่าระหว่างทางจะยากหรือมีอุปสรรคมากมายแค่ไหน อาจจะมีปาดเหงื่อ ปาดน้ำตากันบ้าง แต่พี่ขอให้น้องสู้ให้เต็มที่ พี่เองก็จะอยู่สู้ไปกับน้องเช่นกัน !!
ดูคลิปแนะแนวเตรียมตัวสอบ TCAS67
ติดตามคลิปติวฟรีอื่นๆ จากพี่ปั้น ได้ทาง YouTube Channel : SmartMathPro
เห็นหลายคนถามกันเข้ามาเยอะว่า “เตรียมตัวสอบตอนไหนดี ?” หรือ “เริ่มอ่านหนังสือเวลาไหนดี ?” ขอสรุปเลยว่า “เริ่มตอนนี้ดีที่สุด” ไม่ว่าน้องๆ จะเห็นบทความนี้ตอนไหน เหลือเวลาเตรียมสอบอีกเท่าไหร่ก็ตาม แต่ถ้าทุกคนลงมือทำอย่างเต็มที่ตอนนี้ พี่เชื่อว่ายังไงก็เป็นผลดีแน่นอน ลองดูกันสักตั้ง สู้ให้เต็มที่นะเด็กๆ !!
สำหรับน้องๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Line : @smartmathpronews
รวมถึงข่าวสารต่างๆ อัปเดตอย่างเรียลไทม์
IG : pan_smartmathpro
Twitter : @PanSmartMathPro