
ดูรีวิวคณะสายวิทย์กันมาเยอะแล้ว รอบนี้พี่ๆ ทีมงาน SMP ขอจัดเต็ม เอาใจน้องๆ ด้วยคณะสายศิลป์อย่างคณะรัฐศาสตร์กันบ้าง โดยวันนี้มีรุ่นพี่ 2 คนจากคณะรัฐศาสตร์ มธ. และรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะมาแชร์ประสบการณ์การเตรียมสอบตัวเข้ามหาลัยฯ และชีวิตในการเรียนตลอด 4 ปี ซึ่งเป็นคณะยอดฮิตและอยู่ในกลุ่มสาขาวิชาที่มีคนสมัครมากที่สุดของ TCAS66 ด้วย แต่พี่ๆ ทั้ง 2 คนจะมาเล่าอะไรเกี่ยวกับคณะรัฐศาสตร์บ้าง มาอ่านบทความไปพร้อมๆ กันเลย !!
สวัสดีเด็กๆ ทุกคนน้าา พี่ชื่อแพร เป็น Dek66 จบจากสายการเรียนวิทย์คณิต เพิ่งสอบติดรอบ 3 คณะรัฐศาสตร์
สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่า
มีวิธีค้นหาตัวเองยังไงบ้าง ?
แนะนำว่าให้น้องๆ ดูเป้าหมายว่าอยากทำอะไรต่อ ซึ่งมันช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นมากๆ เพราะแพรเองก็เคยเป็นคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไรมาก่อนเหมือนกัน แต่การตัดสินใจครั้งสุดท้าย คือ แพรอยากเป็นนักข่าว หลังจากนั้นเลยเอาอาชีพเป็นที่ตั้งแล้วมาลิสต์ว่ามีคณะไหนบ้างที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายได้ หลังจากคิดมาแล้ว ก็ได้คำตอบว่าเป็นคณะรัฐศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพราะเป็นคณะที่เหมาะกับตัวแพรเองและส่งเสริมอาชีพในอนาคตของแพรด้วย
ทำไมถึงคิดว่าการเป็นนักข่าวต้องเรียนรัฐศาสตร์ ?
จริงๆ แล้วหลายคนอาจจะคิดว่า ถ้าอยากเป็นนักข่าว ทำไมไม่เรียนคณะนิเทศศาสตร์ ? ซึ่งส่วนตัวของแพรเอง คิดว่าแพรไม่ถนัดวิชาของสายนิเทศ และอยากทำข่าวการเมืองให้คนเข้าใจง่ายมากขึ้น เลยเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์แทนคณะนิเทศศาสตร์ (ถ้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์จริงๆ อาจจะต้องเรียนเบื้องหลังของการทำข่าวด้วย ซึ่งมันมากกว่าการทำข่าวเฉยๆ T_T)
อีกสาเหตุ คือ แพรสนใจเรื่องการเมืองการปกครอง เลยเลือกเรียนสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพราะการเรียนสาขานี้จะช่วยให้เข้าใจคนและเข้าใจสังคมมากขึ้นได้ อีกทั้งเรื่องการเมืองบางเรื่องก็ซับซ้อนเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ถ้าแพรสามารถเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องต่างๆ ได้ แพรก็จะสามารถสื่อสารออกไปในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนรับรู้และเข้าใจการเมืองมากขึ้น

อยากให้แพรเล่าเพิ่มเติมว่าทำไมถึงเลือกเรียนสาขานี้ ?
แพรเลือกเรียนสาขานี้ เพราะส่วนหนึ่งมาจากความชอบและแพรเชื่อว่าสิ่งที่แพรจะได้เรียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอาชีพนักข่าวได้เยอะมากๆ โดยจุดประสงค์ของการทำข่าว คือ การเล่าเรื่องราวให้กับคนในสังคมฟังว่าในตอนนี้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง
แพรคิดว่าการทำข่าวบางข่าวอาจจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าแพรไม่เข้าใจสังคม ไม่เข้าใจมนุษย์ เพราะการทำข่าว คือ ธุรกิจอย่างหนึ่งที่มีคนทำข่าวและคนเสพข่าว แต่คนเหล่านี้ชอบเสพข่าวประเภทไหนกันบ้างล่ะ ? ถ้าแพรทำข่าวที่ไม่มีคนสนใจ สิ่งที่แพรต้องการสื่อออกไปก็ไม่มีความหมายเพราะแพรไม่ไ่ด้ทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการหรือข่าวที่นำเสนอเข้าถึงได้ยาก ก็จะไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร
ซึ่งวิชาที่สอนในสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นอกจากจะสอนให้เข้าใจสังคมมนุษย์แล้ว วิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองการบริหารหรือการเจรจาทางกฎหมาย และอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งสามารถนำมาทำข่าวได้ทั้งหมดเพราะแพรคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ที่มีสิทธิ์รู้ว่ารัฐบาลทำอะไรบ้าง ? แล้วปัญหาที่เจอในสังคมเกี่ยวโยงกับอะไรบ้าง ? ยิ่งกว่านั้นการเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะสอนทั้งเรื่องรัฐศาสตร์และสังคมวิทยา ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ จะได้เรียนแค่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ไม่มีเนื้อหารัฐศาสตร์มาเกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่ตรงกับความต้องการของแพรมากพอ แพรเลยตัดสินใจเลือกที่นี่
นอกจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาปัจจุบันแล้ว ได้เลือกคณะ/สาขาอื่น ไว้ด้วยไหม ?
แพรเลือกไว้แค่คณะรัฐศาตร์แต่เป็นสาขาอื่นๆ แทน อย่างคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครองหรือบริหารทั่วไปค่ะ
Section 2 : เตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยฯ

เริ่มเตรียมตัวอ่านหนังสือตอนไหน ? มีสิ่งไหนที่ทำให้รู้สึกว่าต้องเริ่มอ่านหนังสือตอนนี้
แพรเริ่มอ่านตอนปิดเทอมขึ้น ม.6 ค่ะ แต่มาเริ่มจริงจังตอนเดือน มิ.ย. เพราะที่ผ่านมาแพรเรียนแบบเรื่อยๆ มาตลอด อย่างตอนเรียนม.ปลาย แพรเรียนแบบเท่าที่ได้ เน้นอ่านให้สอบผ่าน จนมาถึงจุดที่แพรบอกกับตัวเองว่าที่ผ่านมาต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ ก็เลยไม่ค่อยพยายามอะไร ถ้าวันนี้จะพาตัวเองไปอยู่กับสิ่งที่ชอบแล้ว จะไม่พยายามจริงๆ เพื่อสิ่งนี้สักครั้งเหรอ จากนั้นแพรก็เลยมีแรงฮึดเพื่อที่จะอ่านหนังสือสอบตั้งแต่ช่วงนั้นเลย
แล้วแบ่งเวลาอ่านหนังสือสอบที่โรงเรียนกับสอบเข้ามหาลัยฯ อย่างไร ?
แพรใช้วิธีอ่านหนังสือสำหรับสอบเข้ามหาลัยฯ ประมาณ 1 ชั่วโมงให้เข้าใจและจะได้ไม่ต้องรู้สึกผิดกับตัวเองว่ายังไม่ได้เริ่มอ่านหนังสือ จากนั้นค่อยไปอ่านหนังสือสอบของโรงเรียน แต่ก็เอาเท่าที่ไหว และอยากแนะนำน้องๆ ทุกคนว่าอย่าเทสอบที่โรงเรียนน้า T_T เพราะถ้าน้องเท แล้วต้องสอบซ่อมมันจะกลายเป็นลำบากน้องๆ ขึ้นไปอีก
และอยากแนะนำเพิ่มว่าถ้าวิชาไหนมีสอบที่โรงเรียนและต้องใช้วิชานั้นสอบเข้ามหาลัยฯ ด้วย อยากให้ตั้งใจมากๆ แล้วก็สอบที่โรงเรียนให้ผ่านไปด้วยเลย เพราะจะช่วยลดเวลาในการอ่านหนังสือได้เยอะ (อ่านหนังสือรอบเดียวแต่ใช้สอบได้ตั้ง 2 สนามเลย !!) ที่สำคัญอย่าลืมทำงานส่งอาจารย์ด้วยน้าา จะได้ช่วยดันเกรดขึ้นไปอีกก
มีเทคนิคการอ่านหนังสือสอบเข้ามหาลัยฯ ยังไงบ้าง ?
เทคนิคการอ่านหนังสือ คือ อ่านแบบที่ไม่ฝืนตัวเอง เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ อีกเทคนิคที่อยากแนะนำ คือ เวลาดูคลิปเรียนก็พูดตามติวเตอร์ไปเลย เพราะยิ่งพูดตามมากเท่าไหร่ สมองก็จะคิดตามง่ายขึ้น เช่น ถ้าแพรเรียนเลขของพี่ปั้นจบ แพรจะลองนั่งอธิบายใหม่ในแบบของตัวเองให้ตัวแพรเองฟัง แพรคิดว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้เข้าใจได้กระชับขึ้นและจำได้ง่ายขึ้นด้วย ไม่ใช่เฉพาะวิชาเลขนะใช้ได้กับทุกวิชาเลย
ส่วนเทคนิคอื่นๆ อย่างการจำศัพท์ แพรก็จะนั่งดูว่างานที่ครูให้มีคำศัพท์ไหนที่ยังไม่รู้ไหม ถ้าไม่รู้ก็จดใส่สมุดคำศัพท์ไว้เพื่อให้อ่านผ่านตาบ้าง ไม่ก็นั่งทายศัพท์เล่นกับเพื่อน ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีประโยชน์มากๆ ส่วนวิชาสังคมเป็นวิชาที่มีเนื้อหาเยอะมาก แพรเน้นอ่านเฉพาะเรื่องที่แพรชอบ จากนั้นใช้วิธีฝึกทำข้อสอบให้เยอะๆ
ส่วนวิชา TGAT2, TGAT3 แพรทำแบบฝึกหัดจากหนังสือที่มีขายทั่วไปเลยรวมกับดูคลิปในยูทูปที่สอนฟรี ส่วน TGAT1 ภาษาอังกฤษ แนะนำว่าให้ใช้ภาษาอังกฤษเยอะๆ จะเป็นการฟังเพลง, พูดกับเพื่อนหรือพูดคนเดียวไปเลยทำตัวเองให้ชินกับภาษาอังกฤษด้วยการฟังเยอะๆ ก่อนแล้วค่อยลงคอร์สเรียนอังกฤษเพราะแพรคิดว่าวิธีนี้มันช่วยให้แพรเรียนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แอบกระซิบบอกน้องๆ คนไหนที่อยากจะอัพคะแนนให้ปัง ตอนนี้พี่ปั้นเพิ่งเปิดคอร์สติว TGAT2, TGAT3 สอนร่วมกับอ.ขลุ่ย (Aj KLUI) ด้วย ใครเตรียมสอบวิชานี้อยู่ห้ามพลาดเลยน้า เพราะคะแนน TGAT วิชาเดียว สามารถยื่นสมัคร TCAS ได้ครบทั้ง 4 รอบ ที่สำคัญ คือ ยื่นได้เกือบทุกคณะ/มหาลัยฯ ด้วยนะ ถ้าอยากพิชิตคะแนนปัง ไม่ควรพลาดคอร์สนีเลย พี่และอ.ขลุ่ย จะพาปูพื้นฐานพร้อมพาลุยข้อสอบแบบจัดเต็ม สมัครคอร์สกันเลยตอนนี้ พร้อมรับสิทธิพิเศษและโปรโมชันดีๆ อีกเพียบ !! คลิกเล้ย
ช่วงอ่านหนังสือ เคยรู้สึกท้อหรือเหนื่อยบ้างไหม ? จัดการกับความรู้สึกนั้นยังไง ?
แพรรู้สึกท้อในทุกๆ เดือนเลยค่ะ ถ้างานที่โรงเรียนเยอะ จะยิ่งท้อเลย แต่วิธีจัดการกับความเครียด คือ ทำกิจกรรมอย่างอื่นให้หายเครียดที่ไม่ใช่การเรียนไปเลยจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้นถึงจะกลับมาอ่านหนังสือ แต่ก็ต้องยอมแลกกับเวลาที่จะใช้อ่านหนังสือด้วย แพรยอมเสียเวลาในการอ่านเพราะอยากให้เชื่อในตัวเองจนวินาทีสุดท้ายที่เราจะพยายามได้ การเชื่อมั่นในตัวเองมีผลมากๆ ถ้าเรายังไม่เชื่อมั่นในตัวเองเวลาทำอะไรมันก็จะรู้สึกมีคำถามมาตลอดเลยว่าจะเป็นไปได้หรอ
อย่างตอนที่แพรสอบ TGAT เสร็จ แพรก็เลิกอ่านหนังสือไปเลยเกือบสองเดือนเพราะช่วงนั้นสอบเสร็จแล้วก็ต่อด้วยการสอบกลางภาคบวกกับครูที่โรงเรียนสั่งงานเยอะสุดๆ แพรเลยเคลียร์ของที่โรงเรียนให้จบแล้วมาลุยกับการสอบเข้ามหาลัยฯ ทีเดียวแบบไม่มีห่วงเรื่องที่โรงเรียนเลย
Section 3 : บรรยากาศตอนเรียนคณะรัฐศาสตร์
จบไปแล้วสำหรับพาร์ทการเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยฯ ของพี่แพร ต่อมาพี่ๆ ทีมงานจะพาทุกคนมาดู
พาร์ทของพี่ณัทที่จะมาเล่าบรรยากาศตอนเรียนคณะรัฐศาสตร์โดยเฉพาะ (เนื่องจากว่าพี่แพรจะเข้าเรียนปีนี้เป็น
ปีแรก เลยขอให้พี่แพรแชร์พาร์ทการสอบเข้าของปี 66 แต่ถ้าใครอยากอ่านคำตอบของพี่แพรอีก สามารถเลื่อนลงไปดู รวมคำถามที่น้องๆ หลายคนมักสงสัย ได้น้าา) ส่วนตอนนี้มาดูกันว่าการเรียนของคณะนี้จะเป็นยังไง ?
อ่านหนังสือหนักมั้ย ? สอบเยอะหรือเปล่า ?

สวัสดีครับน้องๆ ทุกคน พี่ณัทขอเล่าเรื่องราวแบบคร่าวๆ ก่อนน้าา พี่ชื่อณัทพัฒน เกียรติไชยากร ชื่อเล่น “ณัท” เป็นบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น DEK62 พี่จบจากสายศิลป์คำนวณ และสอบติดรอบ 3 วิชาเฉพาะคะแนนความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ 100% ครับผม
วิธีค้นหาตัวเองของณัท คือ ณัทชอบวิชาสังคมมาตั้งแต่ช่วงประถมศึกษา เลยค่อยๆ อ่านหนังสือการ์ตูนพวกประวัติศาสตร์บุคคล ประวัติศาสตร์ยุคนั้นยุคนี้มาเรื่อยๆ พอมาถึงช่วงมัธยมมีโอกาสได้เป็น Open House ของจุฬาฯ ก็เดินไปร่วมกิจกรรมในหลายคณะแต่มีคณะรัฐศาสตร์นี่แหละที่มีกิจกรรมเหมือนการโต้วาทีผสมกับสภาจำลองเล็กๆ ที่เปิดให้แลกเปลี่ยนความเห็น โน้มน้าวคนอื่น ทำให้ณัทรู้สึกชอบ จากนั้นก็มีคุยกับรุ่นพี่ในคณะและไปค่าย ติดตามข่าวสารบ้านเมือง สุดท้ายเลยตัดสินใจเลือกรัฐศาสตร์ครับผม
ส่วนการเตรียมตัวอ่านหนังสือ จริงๆ แล้ว ณัทมีโอกาสไปแข่งตอบปัญหา แข่งโต้วาที ก็เลยเก็บเกี่ยวความรู้มาเรื่อยๆ เลยครับ แต่ก็มาอ่านจริงจังตอนช่วง ม.6 เทอม 2 โดยมีเทคนิคอ่านหนังสือหลักๆ คือ
– การหาคนนำทางที่ดี ณัทคิดว่าถ้าเราไปเที่ยวแล้วมีไกด์ที่ดี ณัทจะไม่หลงทางแน่ๆ และจะรู้ว่าจุดไหนควรแวะชม จุดไหนไม่ควรแวะชม โดยเฉพาะในช่วงที่เวลามันกระชั้นซึ่งอันนี้ทำให้ตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไปได้เยอะมาก
– การอ่านผ่านตาแล้วก็สร้าง Pattern ในการจดจำให้ตัวเองครับ คือ การจำเป็นลำดับซึ่งมาจากการที่จดใส่สมุดหลังอ่านหนังสือจบเช่น เวลาต้องจำปี พ.ศ. ของรัฐธรรมนูญซึ่งมีตั้ง 20 ฉบับ ณัทจะแบ่งเป็น 5 ฉบับ 4 บรรทัด แล้วก็แบ่งจำไปทีละบรรทัดครับ ทำแบบนี้กับทุกหัวข้อที่ต้องจำแล้วค่อยเอามาเรียงกันในหัวของตัวเองอีกที
อาจจะน้อยไปหน่อยสำหรับพาร์ทนี้ แต่น้องๆ ไม่ต้องเสียใจไปน้าา เพราะพี่ปั้นมีคลิปสัมภาษณ์พี่ณัทให้รีวิวคณะรัฐศาสตร์แบบครบทุกมุม ถ้าใครอยากรู้เพิ่มเติมว่าพี่ณัทเตรียมตัวตอนไหน ? เตรียมตัวเยอะไหม ? สามารถเลื่อนลงไปดูคลิปด้านล่างของบทความนี้ได้เลยย ส่วนตอนนี้พวกเราไปต่อกับหัวข้อ บรรยากาศตอนเรียน
คณะรัฐศาสตร์กันน !!
คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ?
สำหรับคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ธรรมศาสตร์ จะเรียนหลากหลายเรื่องมากโดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อเข้าใจปรากฎการณ์ทางการเมือง และสังคมที่กำลังเป็นไปครับ ซึ่งเรียนครอบคลุมตั้งแต่ปรัชญาการเมืองที่เป็นจุดเกิดของพวกอุดมการณ์การเมือง, ความคิดทางการเมืองต่างๆ ไปจนถึงเรื่องของสถาบันการเมือง, การเมืองการปกครองท้องถิ่น, กลุ่มธุรกิจกับการเมือง
โดยที่หลายๆ วิชาจะเรียนผ่านการเปรียบเทียบกรณีศึกษาในหลายประเทศเพื่อจับจุดสังเกต แล้วมาสร้างความเข้าใจถึงปัจจัยที่แตกต่างว่ามันส่งผลยังไงกับการเมืองประเทศนั้นๆ ซึ่งช่วงปี 4 พอเริ่มเรียนวิชาพวกสัมมนา จะสามารถเลือกตามความสนใจได้ว่าอยากเรียนอะไรเพิ่มเติม และณัทเลือกเป็นศาสนากับการเมือง การเมืองกับนวนิยาย แล้วก็การจัดการแคมเปญหาเสียงครับผม
บรรยากาศในการเรียนคณะรัฐศาสตร์เป็นยังไงบ้าง ?
บรรยากาศการเรียนสำหรับณัทถือว่าเรื่อยๆ ชิวๆ ด้วยความที่เป็นสาขาการเมืองการปกครอง จะเน้นเรียนผ่านการเลคเชอร์โดยอาจารย์ – วิทยากร มีนำเสนอไอเดียบ้าง แล้วก็ทำรายงานซะส่วนใหญ่ แต่อาจจะมีกดดันบ้างเป็นบางคลาสที่ต้องเรียนร่วมกับรุ่นพี่หรือเพื่อนๆ ที่มีความรู้ในเรื่องๆ นั้นแน่นกว่า แต่การเรียนการสอนของรัฐศาสตร์จะมี Course Syllabus ที่ระบุว่ามีหนังสือหรือแหล่งข้อมูลไหนบ้างที่จะต้องอ่านก่อนเข้าไปเรียน หรือใช้อ่านสอบ ซึ่งก็ช่วยเราได้มากในระดับหนึ่งครับ

คณะรัฐศาสตร์ มีสาขาอื่นๆ อีกมั้ย ? แต่ละสาขาแตกต่างกันยังไง ? และเรียนกี่ปี ?
รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์จะมีทั้งหมด 4 สาขาครับ คือ การเมืองการปกครอง, บริหารรัฐกิจ, การระหว่างประเทศ และสาขาการเมืองและการระหว่างประเทศ ภาคภาษาอังกฤษ (BIR) ทั้งหมดนี้เรียน 4 ปี หรือถ้าเรียนไวหน่อย เก็บหน่วยกิตได้ไวก็สามารถจบ 3 ปีครึ่งก่อนหลักสูตรได้ครับ
ความแตกต่างของ 4 สาขา คือ สาขาการปกครองเน้นเรียนด้านการปกครองท้องถิ่น สถาบันการเมือง ทฤษฎีการเมือง สาขาบริหารรัฐกิจจะออกแนวบริหารหน่อยๆ แต่ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับรัฐอย่างการคลังงบประมาณ การบริหารบุคคล เป็นต้น สาขาการระหว่างประเทศจะเน้นระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พิธีการทูต หรือประวัติศาสตร์การทูต สุดท้าย คือ BIR ก็จะเรียนคล้ายกับการระหว่างประเทศแต่เป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็ยังสามาารถเลือกวิชาโทที่สนใจเรียนได้
ข้อสอบของคณะรัฐศาสตร์เป็นแบบไหน ?
ตั้งแต่เรียนรัฐศาสตร์มา 4 ปี มีวิชาสอบปรนัยแค่ 1 วิชาถ้วนเลยครับ นอกนั้นเป็นอัตนัย ทำรายงาน หรือนำเสนอไอเดียล้วนๆ และวันสอบของมหาลัย จะเป็นการสอบแบบมีวันเว้นวัน ณัทจะเน้นเคลียร์วิชาที่สอบก่อนให้เสร็จก่อน ซึ่งเวลาอ่านก็จะเน้นอ่านบทสำคัญ แล้วก็อ่านอ้างอิงเพิ่มเติม แต่ถ้าเป็นรายงานจะเน้นอ่านเก็บแล้วทำสรุปไว้ เวลาทำรายงานค่อยเอามาประกอบกันทีเดียว
เล่าสิ่งที่น้องณัทชอบเกี่ยวกับคณะรัฐศาสตร์ มธ. ให้ฟังหน่อย
สิ่งที่ณัทชอบอย่างหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์ คือ การแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในประเด็นที่เกิดขึ้นกับสังคมทั้งประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกวันหลังเลิกเรียนที่โต๊ะหน้าคณะ พอมีใครโยนประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาคนก็จะเริ่มแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน ทำให้เราได้มุมมองในหลายด้านมากๆ
แล้วที่พีคกว่านั้นคือในแต่ละประเด็นก็จะมีเพื่อน พี่น้อง หรืออาจารย์ที่มีความชำนาญด้านนั้นๆ อยู่ด้วย ซึ่งเป็น Culture Shock อย่างหนึ่งเหมือนกันที่เพื่อนคนหนึ่งสนใจเรื่องนี้มากๆ รู้ลึกแบบไปแข่งแฟนพันธุ์แท้น่าจะติด Top 3 ซึ่งมีคนลักษณะแบบนี้ในคณะมากพอสมควร
อีกสิ่งหนึ่งที่ณัทชอบ คือ เวลาไป Hangout จะเล่นเกมที่มีเรื่องการเมืองปะปนอยู่ เช่น ไล่ชื่อนายก ไล่ชื่อจังหวัด การต่อไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งเป็นสิ่งเนิร์ดๆ ที่เป็นเสน่ห์หนึ่งของคณะรัฐศาสตร์นี้เลย
ถ้าเรียนจบแล้ว ทำงานอะไรได้บ้าง ? ทำอาชีพอื่นที่ไม่ใช่สายงานรัฐศาสตร์ได้มั้ย ?
พอคนได้ยินว่าเรียนรัฐศาสตร์ หลายคนคือเดาเลยว่าจบมาทำราชการ ไม่ก็นักการเมือง แต่พอณัทมาเรียนถึงได้รู้ว่าการเรียนรัฐศาสตร์มันให้มุมมองที่กว้าง และให้ความรู้ที่เป็น Generalist ดังนั้นสายงานของรัฐศาสตร์เรียกได้ว่ากว้างพอสมควร แน่นอนว่าจะกระโดดไปทำงานสายงานที่อาศัยความถนัดเฉพาะอย่างวิศวกรรม บัญชี หรือทนายความ ที่ต้องใช้ใบประกอบไม่ได้ แต่ว่าสามารถทำสายงานอย่างนักข่าว, Content Creator, นักวิเคราะห์ NGO ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์, นักนโยบายสาธารณะ คือทำได้หลายอย่าง จนไปที่ไหนก็เจอแต่ศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์อยู่แทบทุกที่ ยกเว้นทำเนียบรัฐบาล เพราะยังไม่มีนายกรัฐมนตรีจากคณะรัฐศาสตร์เลย

Section 4 : รวมคำถามที่น้องๆ หลายคนมักสงสัย
อยากเรียนรัฐศาสตร์ ต้องเก่งวิชาอะไรเป็นพิเศษมั้ย ?
พี่แพร : แพรแนะนำเป็นวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านแล้ววิเคราะห์จับใจความได้ชัดเจนแล้วกันค่ะ เพราะนอกจากจะต้องวิเคราะห์เยอะแล้วก็ต้องอ่านความคิดของคนอื่นหลายๆ ด้านเหมือนกัน แพรมองว่าไม่จำเป็นต้องเก่งในเรื่องการเรียนมากก็ได้ แต่อยากให้เก่งในเรื่องการสังเกตสิ่งรอบตัวว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ประเด็นทางสังคมต่างๆ
พี่ณัท : ณัทมองว่าถ้าอยากเรียนรัฐศาสตร์ไม่ต้องเก่งวิชาไหนเป็นพิเศษก็ได้ครับ พอทุกคนเข้ามาเรียนก็จะมีรายวิชาที่ปูพื้นฐานใหม่ทั้งหมด ซึ่งพอปรับพื้นฐานแล้วส่วนที่เหลือก็อาศัยความสนใจของเราล้วนๆ เลย แต่ถ้าเก่งวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ หรือการเขียนเรียงความ จะสามารถเป็นแต้มต่อได้ประมาณหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะต้องอาศัยความสนใจ และทุ่มเทในการอ่านหนังสือ หรือหาประเด็นที่อยากจะค้นคว้าแล้วหาคำตอบมาส่งอาจารย์อยู่ดีครับ
รัฐศาสตร์ กับ รัฐประศาสนศาสตร์ เหมือนกันไหม ? ถ้าไม่เหมือน แล้วแตกต่างยังไง ?
พี่แพร : ของจุฬาฯ รัฐประศาสนศาสตร์คือสาขาย่อยในคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งชื่อในมหาลัยอื่นๆ ก็จะมีชื่อไม่เหมือนกัน เช่น บริหารการคลังหรือว่าบริหารรัฐกิจ โดยจะเรียนเกี่ยวกับการจัดสรรและบริหารภายในคลังของประเทศค่ะ
พี่ณัท : สองคำนี้มีความหมายไม่เหมือนกันครับ ในความเข้าใจของณัทคือถ้าอยากรู้ว่าแตกต่างกันอย่างอาจจะต้องดูคำทั้ง 2 ในภาษาอังกฤษครับก็คือ Politcal Science กับ Public Admisnistration ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่เหมือนกันเลย ในขณะที่ภาษาไทยจะมีความคล้ายกัน ซึ่งรัฐประศาสนศาสตร์ (Public Admisnistration) จะสื่อไปทาง การบริหารรัฐกิจพวกระบบราชการ การบริหารจัดการ การทำงานของภาครัฐ ซึ่งก็คือการศึกษาในสาขาบริหารรัฐกิจ ส่วนรัฐศาสตร์ (Politcal Science) มีความหมายถึงการศึกษาการเมือง รัฐ การปกครอง อำนาจ หรือทฤษฎีการเมืองครับผม
น้องๆ หลายคนอยากเรียนคณะนี้แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกสาขายังไงดี มีคำแนะนำเพิ่มมั้ย ?
พี่แพร : แพรแนะนำเหมือนตอนเลือกคณะเลย ให้ดูเป้าหมายว่าอยากทำอะไรต่อไปมันช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นมากๆ หรือถ้าตัดสินใจไม่ได้จริงๆ ลองดูคลิปใน Youtube หรือ Google จะมีรีวิวเกี่ยวกับคณะจากรุ่นพี่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งการฟังรีวิวก็ช่วยให้น้องๆ เห็นภาพตามได้ง่ายขึ้น
พี่ณัท : อยากแนะนำให้ลองเข้าร่วมค่ายหรือกิจกรรมของคณะรัฐศาสตร์ในมหาลัยฯ นั้นๆ ครับ เพราะว่าการแนะแนวแต่ละสาขาเนี่ยค่อนข้างจะเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่มีในทุกค่ายของคณะเลย ยกตัวอย่างเป็นกิจกรรมของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ก็จะมีตั้งแต่ Open House ทั้งนิทรรศการ เสวนา แข่งขันตอบปัญหา แล้วก็กิจกรรมแนะแนว และมีการติว การสอนรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับรัฐศาสตร์ โดยพี่ๆ โครงการสิงห์แดงสัญจร เรียกได้ว่าเป็น Polsci 101 สำหรับคนที่สนใจได้เลยครับ
ถ้าน้องๆ ที่อาจจะไม่สะดวกมาที่คณะฯ ก็จะมีสิงห์แดงสัญจรที่เด็กรัฐศาสตร์จะยกคณะไปทำกิจกรรมในภูมิภาคต่างๆ อีกค่ายจะเป็นค่าย YPSC ค่ายแนะแนวรัฐศาสตร์แบบที่ได้ทั้งความรู้ และความสนุก ซึ่งจุดเด่นจะเป็นการพาไปรู้จักรัฐศาสตร์ในรูปแบบที่ไม่ใช่การเรียนการสอนแต่เป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมกิจกรรม ซึ่งในทุกค่ายเราจะได้รู้จักกับพี่ๆ ที่เรียนอยู่ซึ่งอาจจะทำให้เราเจอไกด์ที่จะทำให้เราไม่หลงทาง แล้วไปสู่จุดหมายที่ต้องการก็ได้ครับ
1 ประโยคแบบคมๆ เพื่อเป็นกำลังใจกับ Dek67 ที่อยากเข้าคณะรัฐศาสตร์หน่อยย
พี่แพร : เชื่อมั่น มั่นใจ ทำได้ ไม่ผิดหวัง สู้ๆ น้า Dek67 ทุกคนน
พี่ณัท : ขอยกเป็นคำพูดจากอับลาฮัม ลินคอร์น ประธานาธิบดีสหรัฐที่กล่าวไว้ว่า “I am a slow walker,
but I never walk back” สำหรับณัท คือ อย่ากังวลหรือกดดันที่เห็นคนอื่นวิ่งไปได้เร็ว ไปได้ไกล สิ่งที่สำคัญ คือ ก้าวให้มั่นคงและมั่นใจ จะช้า จะอ้อม จะเลี้ยว ซ้ายขวา จะเดินเบี้ยวก็ไม่สำคัญ สำคัญคืออย่าหยุดที่จะเดินต่อไปครับ
เปิดมากับบทความคณะสายศิลป์เป็นบทความแรก ก็จัดเต็มแบบสุดๆ เพราะมีพี่ๆ จากคณะรัฐศาสตร์มาแนะแนวให้น้องๆ ถึง 2 คน 2 มหาลัยฯ ด้วยกัน ขอแนะนำเพิ่มว่าใครที่จะนำเทคนิคการเรียน, การสอบ, การค้นหาตัวเองของพี่ๆ คนไหนไปใช้ ควรจะนำไปปรับให้เป็นเวย์ของน้องๆ เองน้าา ไม่จำเป็นต้องทำตามแบบพี่ๆ ทั้ง 2 คนทั้งหมด หยิบเทคนิคบางอย่างที่น่าสนใจไปใช้ก็ได้ เพราะแต่ละคนก็จะมีวิธีถนัดที่แตกต่างกันไป สุดท้ายนี้ อย่าลืมแวะไปฟังบทสัมภาษณ์สนุกๆ ของพี่ณัทกับพี่แพรที่ YouTube : SmartMathPro ด้วยน้าา (ลงคลิปใน YouTube วันที่ 30 ก.ค. 66 ) อยากให้พี่ๆ ทีมงานรีวิวคณะไหนเพิ่มเติม ก็เข้าไปคอมเมนต์กันได้เลยย แล้วเจอกันน้าา
ดูคลิปรีวิวการเรียนคณะรัฐศาสตร์
ดูคลิปรีวิวคณะอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube : SmartMathPro
สำหรับน้องๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Line : @smartmathpronews
รวมถึงข่าวสารต่างๆ อัปเดตอย่างเรียลไทม์
IG : pan_smartmathpro
Twitter : @PanSmartMathPro