
เศรษฐศาสตร์ เป็นหนึ่งในคณะที่น้องๆ ให้ความสนใจและสอบถามกันเข้ามาเยอะมากว่า คณะเศรษฐศาสตร์ เรียนอะไรบ้าง ? ต้องเก่งเลขไหมถึงจะเรียนได้ ? จบมาทำงานอะไรได้บ้าง ?
วันนี้พี่ๆ ก็เลยรวบรวมข้อมูลมาตอบคำถามให้ทุกคนแล้วน้าา แถมยังมีรุ่นพี่จากคณะเศรษฐศาสตร์มารีวิวการเรียนและการเตรียมตัวสอบท้ายบทความด้วย แต่ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับคณะเศรษฐศาสตร์ให้มากขึ้นกันก่อนดีกว่า > <
คณะเศรษฐศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับอะไร ?
เศรษฐศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ การวิเคราะห์ตลาด ไปจนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ซึ่งจะมีกราฟหรือตัวเลขเป็นเครื่องมือสำหรับบอกค่าต่างๆ ว่า แต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะอะไร และจะส่งกระทบอย่างไรต่อใครบ้าง ทุกอย่างจะเป็นเหตุเป็นผลกัน และเป็นไปตามกลไกทั้งหมดอย่างไรบ้าง
พี่ๆ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้นนะ เช่น มีช่วงหนึ่งที่ชาบูขายดีมากในประเทศไทย คนก็แห่ไปเปิดร้านชาบูกันเยอะมากเลยทำให้ร้านชาบูในตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันราคาขายชาบูที่ตั้งไว้ก็จะต้องลดลงด้วยเพราะใครๆ ก็หาซื้อได้ มีตัวเลือกให้เลือกหลากหลายร้าน และไม่ได้เป็นของที่หายากหรือจำเป็นในชีวิตประจำวันซึ่งพอน้องๆ ได้เข้าไปเรียนจริงๆ แล้ว ก็จะมีรายละเอียดเนื้อหาการเรียนอีกเยอะแยะมากมายเลยนะคะ
เศรษฐศาสตร์เรียนกี่ปี ?
คณะเศรษฐศาสตร์จะเรียน 4 ปี
ปี 1-2 จะเน้นเรียนพวกพื้นฐานวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ หรือไม่ก็เกี่ยวกับสาขาการเรียน เช่น เศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหาภาค การตลาด บัญชี การเงิน ประมง เกษตร ปศุสัตว์ กฎหมายธุรกิจ มาให้ได้เรียนหมดเลย แต่จะไม่ได้ลงลึกมากเท่าคณะหลัก แล้วก็จะมีวิชาตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนดด้วย
ปี 3-4 เรียนเฉพาะเจาะจงตามสาขาที่เลือกมากยิ่งขึ้น มีเนื้อหาที่ลึกและละเอียดมากกว่าเดิม และเริ่มเรียนส่วนของการวิเคราะห์และหาข้อมูล เช่น จำนวนสินค้าแต่ประเภทที่นำเข้า-ส่งออกแต่ละปี เรื่องของกฎหมาย การศึกษาระบบห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิตจนไปถึงผู้บริโภค และนำข้อมูลส่วนนั้นมาอธิบายในรูปแบบของกราฟ หรือคำตอบต่างๆ ตามหลักเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์มีสาขาอะไรบ้าง ?
คณะเศรษฐศาสตร์จะเรียนแตกต่างกันไปแล้วแต่หลักสูตรของมหาลัยฯ ทำให้มีสาขาไม่เหมือนกัน ซึ่งพี่จะขอยกตัวอย่างมา 5 สาขา ให้ดูกันก่อนว่ามีสาขาอะไรบ้าง และแต่ละสาขาเรียนเกี่ยวกับอะไร
สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นสาขาที่เรียนเนื้อหาด้านเศรษฐศาสตร์ลึกกว่าสาขาอื่นๆ เช่น การคิดเชิงเศรษฐศาสตร์์ ประวัติความคิดทางเศรษฐศาสตร์ และวิธีวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ สาขานี้จะเป็นเรียนเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ เพื่อใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปจัดการในองค์กรต่างๆๆ อย่าง สหกรณ์หรือเศรษฐกิจชุมชน
สาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ สาขานี้จะเป็นการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไป เพื่อเอาไปประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจในเรื่องของการค้า การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศ
สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ สาขานี้จะเป็นการประยุกต์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ให้เข้ากับหลักการบริหาร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ
สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง สาขานี้จะศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองเพื่อหาความเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและเอาไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ หรือจะเอาไปต่อยอดด้านอื่นๆ อย่างด้านสังคมศาสตร์ก็ได้ด้วย
เรียนเศรษฐศาสตร์ที่ไหนดี ?
หลังจากที่ได้รู้ว่าเศรษฐศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไร มีสาขาไหนบ้างไปแล้ว น้อง ๆ ก็คงจะสงสัยกันไม่น้อยเลยว่า แล้วคณะเศรษฐศาสตร์ มีที่ไหนบ้าง ? ถ้าจะเรียนเศรษฐศาสตร์ ควรเรียนที่ไหนดี ?
จริง ๆ แล้วมีมหาลัยฯ หลายแห่งมากเลยน้า ตัวอย่างมหาลัยฯ ที่มีคณะเศรษฐศาสตร์ก็ตามด้านล่างนี้เลย
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยบูรพา
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาแม่ฟ้าหลวง
เศรษฐศาสตร์บางมหาลัยฯ จะเป็นสาขาที่อยู่ในคณะอื่นอีกที ดังนั้นพี่แนะนำให้น้องๆ ลองค้นหาข้อมูลของคณะ สาขา หรือมหาลัยฯ ที่สนใจเพิ่มเติมนะว่ามีเปิดสอนไหม หรือ ใช้ชื่อคณะ สาขา หรือหลักสูตรว่าอะไร จะได้ไม่สับสนนะคะ
คณะเศรษฐศาสตร์ ใช้คะแนนอะไรบ้าง ?
ส่วนใหญ่คะแนนที่กำหนดจะเป็น TGAT, A-Level คณิต 1, สังคม, ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ แต่เกณฑ์ต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับมหาลัยฯ ด้วยน้าว่าจะกำหนดเกณฑ์ยังไง เพราะแต่ละที่ก็ใช้คะแนนไม่เหมือนกัน พี่ยกตัวอย่างมาให้น้องๆ ลองดูกันแล้ว ด้านล่างนี้เลย




จะสอบคณิต 1 แต่มีเวลาน้อย ทำยังไงดี ?
คอร์สนี้เหมาะกับน้องๆ ที่จะสอบคณิต 1 แต่มีเวลาเตรียมตัวน้อย เพราะว่าพี่จับเนื้อหาคณิต 10 บทน่าเก็บมาทำให้กระชับขึ้น แถมในคอร์สยังมีโจทย์ให้ซ้อมมืออีกเพียบ เรียนจบก็พร้อมรับคะแนนปังๆ กันได้เลย !
สมัครคอร์ส คลิกเลยเศรษฐศาสตร์ เหมาะกับใคร ?
นอกจากตัวเลขแล้ว จะต้องเป็นคนที่ชอบคิดวิเคราะห์ ชอบวางแผน เพราะการเรียนเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่การเรียนแบบคำนวณตามสูตรไปเรื่อยๆ แต่ต้องเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจและสามารถวิเคราะห์ออกมาได้ ถ้าน้องๆ คนไหนมีความชอบที่ตรงตามนี้พอดีล่ะก็ พี่ว่าเหมาะกับการเรียนเศรษฐศาสตร์มากๆ เลย
จบเศรษฐศาสตร์ ทำงานอะไร ?
ทำงานได้หลากหลายมากๆ เลยนะคะ ทั้งแบบตรงสาย และไม่ตรงสาย ถ้าตรงสายก็จะเป็นกลุ่มพนักงานธนาคาร
นักวิเคราะห์สินเชื่อ นักลงทุน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักวิจัย ที่ปรึกษาการเงิน/การลงทุน อาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ถ้าไม่ตรงสายก็จะมีทั้ง นักการตลาด นักธุรกิจ นักการเงิน แอร์โฮสเตส เป็นต้น
รีวิว คณะเศรษฐศาสตร์ จากรุ่นพี่ตัวจริง !

สวัสดีค่ะน้องๆ พี่ชื่อ “ฟ้า” นะคะ พึ่งจะเรียนจบจาก คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาธุรกิจการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาได้ไม่กี่เดือนเองค่ะ ตอนมัธยมปลายพี่เรียนสายศิลป์คำนวณ ปัจจุบันพี่ทำงานด้าน marketing อยู่บริษัทหนึ่งนะคะ
รู้ได้ยังไงว่าอยากเรียนเศรษฐศาสตร์ ?
เริ่มแรกด้วยความที่เราเรียนศิลป์คำนวณมา เราก็ต้องหาข้อมูลก่อนว่า สายนี้สามารถเข้าคณะอะไรได้บ้าง มีคณะ/สาขาไหนที่เหมาะกับเราบ้าง ลองทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาต่างๆ รวมถึงปรึกษารุ่นพี่ คนรู้จัก แล้วก็เสิร์ชข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพื่อทำการบ้านก่อนว่า คณะนั้นๆ เรียนเกี่ยวกับอะไร เราจะเรียนไหวไหม ใช่อย่างที่เราคิดหรือเปล่า
สุดท้ายได้มารู้ว่าเราอยากเข้าสายบริหาร เพราะเป็นสายที่ไม่ได้เรียนคำนวณเยอะๆ เหมือนบัญชี เรียนจบมาก็สามารถทำได้หลายอย่าง ค่อนข้างกว้างด้วย จนวันหนึ่งเพื่อนสนิทของเราไปเข้าค่ายของคณะเศรษฐศาสตร์มา แล้วมาเล่าให้ฟังว่าคณะนี้ดียังไง เป็นคณะที่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ควบคู่ไปกับบริหารด้วยนะ ฟังแล้วเราก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี เราก็เลยตั้งเป้าหมายว่าอยากเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ตอนนั้นเลย
เตรียมตัวสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ยังไงบ้าง ?
เราเป็นคนที่รู้เป้าหมายของตัวเองช้ามาก เพิ่งมารู้ตัวตอนม.6 ก็เลยทำให้เราเริ่ม เตรียมตัวช้ากว่าคนอื่น พอเราตัดสินใจได้แล้วว่าอยากเข้าสายบริหาร เราก็จะเริ่มจากการดูข้อมูลก่อนว่า เกณฑ์คะแนนเท่าไหร่ ต้องใช้คะแนนวิชาอะไรบ้าง แต่ละวิชาควรได้คะแนนประมาณเท่าไหร่ คณะนี้มีมหาวิทยาลัยไหนที่น่าสนใจบ้าง หลังจากนั้นก็จะนำข้อมูลต่างๆ มาวางแพลนการอ่านหนังสือต่อ
น้องๆ คนไหนที่อยากเรียนเศรษฐศาสตร์เป็นเด็ก econ แบบพี่ฟ้าก็ไปดูรายละเอียดกันด้วยนะว่าต้องสอบวิชาอะไรบ้าง เพราะแต่ละมหาลัยฯ ก็กำหนดวิชาและสัดส่วนคะแนนไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคืออย่าลืมเช็กปฏิทิน TCAS67 กับตารางสอบ a-level เพื่อดูกำหนดการต่างๆ กันด้วยน้า จะได้ไม่พลาดยังไงล้าาา~
มีเทคนิคในการอ่านหนังสือยังไง ?
ด้วยความที่เราเริ่มช้ากว่าคนอื่น และตอนม.6 เทอม 1 เรายังโฟกัสกับเกรดที่โรงเรียนมากกว่า ก็เลยยังไม่จริงจังอะไรมาก มาเริ่มจริงจัง ตอนเทอม 2 โดยที่เราก็เริ่มอ่านจากวิชาที่ตัวเองชอบก่อน อย่างของเราจะเริ่มจากวิชาภาษาอังกฤษ เพราะเรารู้สึกสนุกกับวิชานี้มากที่สุด เวลาทำแล้วไม่เครียด เลยทำให้เรามีไฟอ่านวิชาอื่นๆ ต่อ
ซึ่งแต่ละวันเราก็จะมีแพลนว่าวันหนึ่งต้องทำอะไรบ้าง ต้องอ่านวิชาอะไร จบบทไหนบ้าง แต่เราจะไม่กดดันตัวเองว่า ต้องอ่านให้ได้เท่านั้นเท่านี้เป๊ะๆ นะ มียืดหยุ่นบ้าง วันไหนที่รู้สึกเหนื่อยจริงๆ ก็จะพักแล้วไปอ่านทบพรุ่งนี้แทน ขอแค่ทุกครั้งที่อ่าน เราตั้งใจและโฟกัสกับมันจริงๆ โฟกัสของเราคือไม่เล่นโซเชียล โทรศัพท์มือถือก็จะปิดการแจ้งเตือนไปเลย
ส่วนตัวแล้วเราถนัดวิชาเน้นจำมากกว่า ก็จะอ่านพร้อมกับการท่องจำไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 2-3 ครั้ง/วัน จนกว่าจะเข้าใจ และจำได้ ส่วนวิชาคำนวณก็จะเน้นเก็บแค่บางบท บทไหนยากๆ เราจะฝึกทำแค่พอเข้าใจคอนเซ็ปต์ แต่ไม่ได้ลงลึกมากเอาเท่าที่ตัวเองไหวก่อน เพราะเราอยากเอาเวลาไปเก็บวิชาอื่นๆ มากกว่า ยิ่งเราเริ่มช้ากว่าคนอื่นๆ ด้วย
เวลาที่เครียด จัดการยังไง ?
ส่วนตัวเวลาเครียด เราจะพยายามให้กำลังใจตัวเองว่า “ฮึ้บอีกนิดนึงน้า จะเสร็จแล้ว สู้ๆ” หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็พักเลย จะพยายามไม่จมอยู่กับความเครียดนานๆ เราก็จะเริ่มไปหาอะไรที่ทำให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย เช่น กินขนม ดูหนัง ดูซีรีส์
พอตัวเองเริ่มรู้สึกโอเคก็จะกลับมาลุยต่อ แต่ถ้าเป็นช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว เราจะไม่กดดันตัวเองว่า เราต้องเก็บมันให้ได้หมดนะ ขอแค่เก็บให้ได้มากที่สุดก็พอ เก็บในพาร์ทที่ตัวเองมั่นใจและพอจะทำได้ และสิ่งสุดท้ายที่เราทำก็คือ สวดมนต์ ขอพรก่อนนอนทุกครั้ง เวลาไปสอบจะได้รู้สึกอุ่นใจมากขึ้น

คำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาตร์ เรียนยากไหม ?
ส่วนตัวเราคิดว่าทุกคณะมีความยาก-ง่ายในแบบของตัวเองนะ แต่ละคณะ/สาขาก็จะเรียนยากกันคนละแบบ ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์จะยากตรงที่พาร์ท “การวิเคราะห์” เช่น อาจารย์ยกตัวอย่างสถานการณ์หนึ่งมา ให้เราวิเคราะห์ต่อว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลอย่างไรบ้าง และจะต้องคำนวณค่าออกมาด้วย สำหรับเราคิดว่า ถ้าสามารถเข้าใจคอนเซ็ปต์ได้ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป เพราะเราจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอย่างอื่นได้อย่างหลากหลายเลย
คนเรียนคณิตไม่เก่งเรียนเศรษฐศาสตร์ได้ไหม ?
ต้องบอกก่อนว่าคณะนี้เราจะเจอ เลขทั้งหมด 2 แบบหลักๆ คือ
- กลุ่มคณิตม. ปลาย เช่น สถิติ แคลคูลัส โดยจะเน้นการคำนวณเป็นหลัก เนื้อหาที่เรียนก็จะเหมือนตอนมัธยมปลายเลยแต่รูปแบบของโจทย์ก็จะแอดวานซ์มากกว่า
- กลุ่มตัวเลขทางด้านเศรษฐศาสตร์ เน้นการประยุกต์และวิเคราะห์เป็นหลัก ในการเรียนก็จะมีสูตรคำนวณแต่ละบทมาให้ โดยเราต้องนำมาวิเคราะห์ต่อว่าจะใช้สูตรไหนกับเหตุการณ์ไหน เพราะอะไร และนำมาวาดกราฟอธิบายค่าต่างๆ เป็นต้น
สุดท้ายแล้วการเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเก่งเลขก็ได้ ขอแค่เปิดใจ และถ้าเรารู้สึกมั่นใจ ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวลแล้ว ซึ่งเวลาสอบเขาก็จะอนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลขได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบธรรมดา หรือว่าแบบวิทยาศาสตร์ ขอแค่ตอนเรียนเราพยายามทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ และตอนทำข้อสอบไม่กดเครื่องคิดเลขผิดก็พอแล้วนะคะ
เศรษฐศาสตร์เงินเดือนเท่าไหร่ ?
ขึ้นอยู่กับสายงานและองค์กร เพราะคณะเศรษฐศาสตร์สามารถทำงานได้หลากหลายมาก ไม่จำเป็นต้องตรงสายก็ได้ ดังนั้นเงินเดือนเลยไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าน้องๆ จะทำงานด้านไหน เป็นบริษัทเอกชนหรือรับราชการ ซึ่งเงินเดือนก็จะเริ่มตั้งแต่เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 ขึ้นไป
เรียนเศรษฐศาสตร์ ตกงานไหม ?
ด้วยความที่คณะนี้เป็นสายสังคม ไม่ได้เป็นสายสามัญ หรือเจาะจงเหมือนกับคณะวิศวะ คณะบัญชี แต่ก็เป็นคณะที่จบออก มาแล้วสามารถทำงานได้ค่อนข้างหลากหลาย เราสามารถนำความรู้ที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้กับอาชีพสายอื่นๆ ได้มากมายเลย
ยังไงก็ไม่ตกงานแน่นอน สุดท้ายแล้วความก้าวหน้าหรือโอกาสในหน้าที่การงาน ก็ขึ้นอยู่กับทักษะและการพัฒนาตัวเองของแต่ละคนมากกว่า ว่าเรามีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของบริษัทมากน้อยแค่ไหน หรือว่าเราสามารถทำให้เขาเห็นอะไรในตัวเราได้บ้าง ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญนะคะ
ซึ่งถ้าถามเราว่า เรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์หางานยากไหม เราว่ามันขึ้นอยู่กับสายงานที่เลือกและรูปแบบของแต่ละบริษัทมากกว่า ว่าเขาต้องการคนที่มีทักษะ ทัศนคติแบบไหน และเรามีความสามารถตรงตามความต้องการของเขาหรือเปล่า
เพราะว่าสุดท้ายแล้วเขาก็จะมีการสัมภาษณ์ประวัติ ความสามารถเราเพิ่มเติมอีกที ซึ่งคนที่จบตรงสายแน่นอนว่าเขาจะมีโอกาสมากกว่า แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่มีโอกาสนะคะ เราเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสและงานที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองอยู่แล้วแค่ต้องค้นหาและพยายามเท่านั้นเองค่ะ

อยากฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังสนใจคณะเศรษฐศาสตร์บ้าง ?
เราอยากจะบอกถึงน้องๆ ว่า การเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องเก่งเลข สุดท้ายแล้วพอได้เข้ามาเรียน จริงๆ ทุกคนก็จะเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน เริ่มเรียนปรับพื้นฐานกันใหม่ทั้งหมดเหมือนกัน ถ้าน้องๆ สนใจคณะเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยไหนดี แนะนำให้ลองเข้าค่ายของแต่ละมหาวิทยาลัย ดูว่าการเรียนเป็นอย่างไร สังคมโอเคไหม จะได้รู้ว่าเข้ากับเราจริงหรือเปล่า และก็จะช่วยสร้าง connection ให้เรามากขึ้นด้วยนะ
พี่เองก็ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ทุกคนที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย และกำลังพยายามสู้เพื่อความฝันของตัวเองอยู่นะคะ ระหว่างทางอาจจะมีท้อบ้าง เหนื่อยบ้าง ไม่เป็นไรนะ พักแล้วมาเริ่มใหม่ ขอแค่เราอย่ายอมแพ้ ทำให้เต็มที่ที่สุด พี่เชื่อว่าทุกความพยายามมันไม่สูญเปล่า วันหนึ่งน้องจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองแน่นอนเลย
ประสบการณ์ตรงจากพี่ฟ้า คงจะทำให้น้องๆ ที่กำลังสนใจคณะเศรษฐศาสตร์อยู่ หรือยังไม่ได้เลือกว่าอยากเข้าคณะไหนเป็นพิเศษ มีแรงบันดาลใจขึ้นมาเลยใช่มั้ยล้า ใครที่รู้ตัวแล้วก็อย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อม หาข้อมูลของคณะและคะแนนที่ต้องใช้ ส่วนน้องคนไหนที่ยังไม่แน่ใจ ก็ไม่ต้องกดดันตัวเองนะ ค่อยๆ ค้นหาตัวเองไป หรือจะรอติดตามอ่านบทความแนะแนวคณะจาก SmartMathPro ได้เลย ยังมีคณะอีกมากมายที่รอให้น้องๆ รู้จักอีกเพียบ ! ^^
ดูคลิปรีวิวการเรียน คณะเศรษฐศาสตร์ แบบจัดเต็ม
ดูคลิปรีวิวคณะอื่นๆ ได้ทาง Youtube : SmartMathPro
สำหรับน้องๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Line : @smartmathpronews
รวมถึงข่าวสารต่างๆ อัปเดตอย่างเรียลไทม์
IG : pan_smartmathpro
Twitter : @PanSmartMathPro