
จากที่ครั้งก่อนพี่ ๆ ได้พาทุกคนไปเจาะลึกเกี่ยวกับการเรียนและการเตรียมตัวสอบเข้าคณะทันตแพทยศาสตร์ผ่าน
บทสัมภาษณ์ของรุ่นพี่ทันตะกันไปแล้ว แต่ก็แอบได้ยินมาว่ามีน้อง ๆ หลายคนบอกว่ายังไม่จุใจ อยากจะได้ข้อมูลของ
คณะทันตแพทย์มากขึ้น
วันนี้เลยจะพาทุกคนไปเจาะลึกคณะทันตแพทย์มากกว่าเดิม ตั้งแต่การเรียนของคณะทันตะเรียนเกี่ยวกับอะไร,
คณะทันตแพทย์มีที่ไหนบ้าง, ถ้าอยากเรียนคณะทันตแพทย์ต้องใช้คะแนนอะไร และค่าเทอมเท่าไหร่ถ้าอยากรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้แล้วล่ะก็ รีบเลื่อนไปดูกันเล้ยยย
คณะทันตแพทย์จะเรียน 6 ปี โดยแบ่งการเรียนออกเป็น 2 ชั้นใหญ่ ๆ คือ ชั้น Pre-clinic และ Clinic
ชั้น Pre-clinic (ปี 1-3) หมายถึง การเรียนปูพื้นฐานวิชาต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเอาความรู้ไปใช้รักษาคนไข้ชั้น Clinic (ปี 4-6) หมายถึง การเรียนรู้จากการทำงาน ได้ดูแล รักษาผู้ป่วยจริง แต่จะต้องอยู่ในความดูแลของอาจารย์
คณะทันตแพทย์ เรียนอะไรบ้าง ?
คณะทันตแพทย์ปีที่ 1 : เรียนวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฟิสิกส์ คณิต ซึ่งหลาย ๆ วิชาเป็นการต่อยอดมาจากมัธยม เช่น วิชาคณิตศาสตร์แต่จะเรียนเนื้อหาที่ลึกว่าคณิต ม.ปลาย ยกตัวอย่างเช่น เนื้อหา สถิติ เพราะเป็นการเรียนสถิติศาสตร์สำหรับวิทยาศาสตร์การแพทย์
คณะทันตแพทย์ปีที่ 2 : เรียนเป็น Basic Science วิชาเดียวกับของหมอเลย เช่น Physiology (สรีรวิทยา),
Nervous System (ระบบประสาท) และ Gloss Anatomy (ผ่าอาจารย์ใหญ่) แต่ก็จะได้เริ่มเรียนวิชาของทันตแพทย์ด้วย อย่างเช่น วิชาที่เกี่ยวกับเนื้อเยื่อช่องปาก เป็นต้น
คณะทันตแพทย์ปีที่ 3 : เมื่อขึ้นปี 3 น้อง ๆ จะไม่ได้เรียนวิชาพื้นฐานแล้ว แต่จะลงลึกไปที่วิชาของทันตแพทย์มากขึ้น
โดยจะเน้นที่ head and neck ได้แก่ โรคในช่องปาก โรคตรงหัว โรคตรงคอ รวมถึงเรียนวิชาอุดฟัน กรอฟัน
รักษาคลองรากและทำฟันปลอม
คณะทันตแพทย์ปีที่ 4 : วิชาในปี 4 ก็จะต่อเนื่องมาจาก ปี 3 ซึ่งน้อง ๆ จะได้เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำฟัน
ให้คนไข้เลยก็ว่าได้ รวมถึงการฝึกทำแลปด้วย นอกจากนี้ในบางมหาลัยฯ อาจจะให้เริ่มขึ้นคลินิก โดยเริ่มจากการอุดฟัน ขูดหินปูน และตรวจโรคเกี่ยวกับช่องปาก
คณะทันตแพทย์ปีที่ 5 : เป็นปีที่จะได้เรียนในห้องเรียนน้อยลงและออกไปปฏิบัติงานจริงมากขึ้น เช่น รักษารากฟัน
ทันตกรรมสำหรับเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้ในบางหลักสูตรอาจจะได้ทำโครงงานวิจัยในปีที่ 5 นี้อีกด้วย
คณะทันตแพทย์ปีที่ 6 : ปีสุดท้ายนี้จะไม่ค่อยต่างกับตอนปี 5 มาก โดยน้อง ๆ จะได้ไปฝึกงานในโรงพยาบาลจริงและต้องเก็บชั่วโมงให้ครบเพื่อฝึกฝนตัวเอง
*หลักสูตรการเรียนและสาขาวิชา ในแต่ละชั้นปีของมหาลัยฯ ต่าง ๆ อาจจะไม่เหมือนกันน้า แนะนำว่าให้ทุกคนลองหาข้อมูลหลักสูตรของแต่ละที่ดูก่อนว่าเรียนอะไรบ้าง
คณะทันตแพทย์ มีสาขาอะไรบ้าง ?
การเรียนทันตแพทย์ก็จะเหมือนกับคณะแพทย์เลย คือไม่มีสาขาให้เลือกเรียน โดยจะต้องเรียนให้จบ 6 ปีก่อนถึงเลือก
เรียนต่อเฉพาะทางได้ ซึ่งสาขาของคณะทันตแพทย์ก็มีให้เลือกเรียนต่อมากมายหลายสาขา และวันนี้พี่ ๆ ก็ยกตัวอย่างสาขาที่น่าสนใจของทันตแพทย์มาให้ทุกคนดูกันแบบคร่าว ๆ ด้วยน้าา แต่จะมีสาขาอะไรบ้าง ไปดูพร้อมกันเลยดีกว่าา
สาขาเฉพาะทางของทันตแพทย์
สาขาปริทันตวิทยา ศึกษาเกี่ยวกับปริทันต์ ซึ่งมีความหมายว่า อวัยวะที่รองรับฟันหรืออวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ฟัน
เช่น เหงือก กระดูกเบ้าฟัน เป็นต้น การเรียนในสาขานี้จะศึกษา วิจัย การรักษาและป้องกันโรคปริทันต์
สาขาทันตกรรมจัดฟัน ศึกษาเกี่ยวกับการจัดฟัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกระดูกขากรรไกรของผู้ที่ป่วยเป็น
โรคปากแหว่งเพดานโหว่ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันไม่สบกัน ฟันบนยื่น ฟันล่างยื่น ฟันห่าง ฟันซ้อน เป็นต้น
สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างหรือแก้ไขสำหรับผู้ที่มีปัญหาสูญเสียฟันไป หรือเกิดการแตกหัก บิ่น ซึ่งการเรียนสาขานี้ไม่ใช่แค่สร้างฟันปลอมขึ้นมาทดแทนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการครอบฟันและการทำสะพานฟัน
เพื่อให้ฟันกลับมาอยู่ในสภาพใกล้เคียงกับแบบเดิมมากที่สุด
สาขาทันตสาธารณสุข ศึกษาเกี่ยวกับการป้องกัน ดูแลสุขภาพแบบหมอฟันทั่วไป ตรวจสุขภาพช่องปาก แต่จะเน้นไปที่การรักษาในระดับชุมชน
สาขาทันตกรรมหัตถการ ศึกษาเกี่ยวกับการรักษาและป้องกันฟันผุ โดยใช้วิธีต่าง ๆ ซึ่งจะคล้ายกับ
สาขาทันตสาธารณสุข แต่ในสาขานี้จะสามารถรักษารากฟันได้ ในขณะที่สาขาทันตสาธารณสุขจะเป็นการรักษาฟันแบบพื้นฐานทั่วไป
คณะทันตแพทย์ มีที่ไหนบ้าง ?
ปัจจุบันนี้มีมหาลัยฯ ในประเทศไทยที่ทันตแพทยสภาให้การรับรองทั้งหมด 18 มหาลัยฯ แล้วน้า ซึ่งถือว่าเยอะมากเลย
จะมีที่ไหนบ้างพี่ ๆ ลิสต์มาให้ทุกคนดูแล้วว
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- มหาวิทยาลัยรังสิต
- มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มหาวิทยาลัยพะเยา
- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
- มหาวิทยาลัยเนชั่น
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยสยาม
ข้อมูล ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2566 อ้างอิงจาก ทันตแพทยสภา
เริ่มติว TPAT1 ตอนนี้ยังไม่สาย !!
ติว(แหก)โค้งสุดท้าย ด้วยคอร์ส Full Set MED ติว TPAT1 ครบทั้ง 3 พาร์ท พร้อมเทคนิคทำข้อสอบให้ทันเวลา และพาตะลุยโจทย์จัดเต็ม พร้อมสอบได้ใน 66 ชั่วโมง (แถมฟรี Unseen Mock Test อีก 1 ชุด)
สมัครคอร์ส คลิกเลยคณะทันตแพทย์ ใช้คะแนนอะไรบ้าง ?
รอบ 1 Portfolio
คณะทันตแพทย์เองมีก็รอบ 1 Portfolio เหมือนคณะอื่น ๆ เลยน้าาา เกณฑ์การรับในรอบนี้ก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่
มหาลัยฯ เช่น ถ้าเป็นโครงการผู้สมัครที่มีความสามารถพิเศษด้านวิชาการ ผลงานใน Portfolio ก็จะต้องมีกิจกรรมและผลงานทางวิชาการในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ หรือในระดับนานาชาติ เป็นต้น
รอบ 2 รอบโควตา
ในรอบนี้จะเปิดรับเป็นโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการรับนักเรียนโควตาในพื้นที่หรือโรงเรียนในเครือ โดยเกณฑ์การรับก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละมหาลัยฯ เช่น ถ้าเป็นโครงการนักเรียนภาคเหนือของ ม.เชียงใหม่ ผู้สมัครก็จะต้องเรียนอยู่ในสังกัดโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาภาคเหนืออย่างน้อย 3 ปี และมีคะแนน GPAX ถึงเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น
รอบ 3 Admission (กสพท )
การรับในรอบกสพท จะใช้เกณฑ์คะแนนเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าน้อง ๆ จะเลือกสอบเข้าคณะทันตแพทยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ โดยเกณฑ์ที่ใช้ก็ตามภาพด้านล่างนี้เลยย

รอบ 4 รอบ Direct Admission
รอบ 4 ถือเป็นรอบเก็บตกที่เปิดรับน้อยมาก ๆ แถมยังไม่ได้เปิดรับทุกมหาลัยฯ อีกด้วย ส่วนเกณฑ์การรับก็จะขึ้นอยู่กับมหาลัยฯ กำหนดเลย ซึ่งน้อง ๆ สามารถติดตามประกาศรับสมัครได้จากเว็บไซต์ของมหาลัยฯ หรือจะรอติดตามข่าวสารจาก SmartMathPro ก็ได้ ถ้ามีประกาศเพิ่มเติมพี่ ๆ ทีมงานจะรีบมาอัปเดตให้เลย !
หมายเหตุ :
การรับสมัครเข้าคณะทันตแพทย์ของแต่ละมหาลัยฯ อาจกำหนดคุณสมบัติเฉพาะไม่เหมือนกัน แนะนำให้น้อง ๆ เช็กข้อมูลของโครงการต่าง ๆ ที่สนใจสมัครกันอีกทีว่ามีเกณฑ์ยังไง ต้องใช้คะแนนอะไร หรือต้องสอบอะไรเพิ่มเติมบ้าง
เรียนทันตแพทย์ ค่าเทอมเท่าไหร่ ?
ค่าเทอมของคณะทันตแพทย์ของแต่ละมหาลัยฯ จะไม่เท่ากันน้า แล้วในแต่ละชั้นปีของบางสถาบันก็อาจจะมีค่าเทอมไม่
เท่ากันอีก เนื่องจากว่าคณะทันตแพทย์ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ
โดยค่าเทอมของ ม.รัฐบาล ก็จะอยู่ที่ประมาณ 20,000 – 50,000 บาท แต่พี่ ๆ แนะนำให้ทุกคนลองหาข้อมูลค่าเทอมของมหาลัยฯ ที่สนใจดูน้า ว่ามีค่าใช้จ่ายต่อเทอมหรือตลอดหลักสูตรเท่าไหร่บ้าง
ก็จบไปแล้วน้า สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับทันตแพทย์ที่เอามาฝากทุกคนในวันนี้ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลาย ๆ คนได้รู้จักกับคณะทันตแพทย์มากขึ้น สำหรับใครที่มีความฝันอยากจะเป็นหมอฟัน พี่ ๆ ทีมงานขอเอาใจช่วยให้ได้เข้าคณะทันตะอย่างที่หวัง ส่วนน้อง ๆ คนไหนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนทันตะดีไหมก็ไม่เป็นไร ค่อย ๆ ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ
คณะอื่นไปด้วยก็ได้ เพราะเดี๋ยวพี่ก็จะเอาคณะดี ๆ มาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักอีกแน่นอนน รอติดตามกันได้เลย !
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Line : @smartmathpronews
รวมถึงข่าวสารต่าง ๆ อัปเดตอย่างเรียลไทม์
IG : pan_smartmathpro
Twitter : @PanSmartMathPro