รีวิวชีวิตของการเป็นแพทย์ ตั้งแต่เริ่มเตรียมตัวสอบ จนทำงานเป็นแพทย์ ต้องเจออะไรบ้าง ?

รีวิว คณะแพทยศาสตร์

สวัสดีน้องๆ ชาว SMP ทุกคนน้าา ไหนใครอยากเข้าคณะแพทย์บ้าง ขอเสียงหน่อยยย > < กลับมาอีกครั้งสำหรับรายการ “คณะไหนยังไงเล่า” ซึ่งรอบนี้พิเศษมาก เพราะพี่ๆ ทีมงาน SMP มีโอกาสได้สัมภาษณ์พี่หมออู๋ แบบตัวจริง เสียงจริง !!

ถึงแม้ว่า SMP จะเคยมีบทความของคณะแพทย์ไปแล้ว แต่ EP. นี้พิเศษมากกว่าเพราะพี่หมออู๋จะพาเจาะลึกทั้งด้านการเรียนและการทำงานแบบจัดเต็มสุดๆ ใครกำลังลังเลอยู่ว่าจะเรียนคณะนี้ดีมั้ย ? หรืออยากรู้ว่าชีวิตจริงของการทำงานเป็นแพทย์เป็นยังไง ? หาคำตอบได้ที่บทความนี้เลย !!

พี่หมออู๋ - คอร์ส Full-Set-MED

แนะนำตัวเอง

สวัสดีครับน้องๆ ทุกคน พี่ชื่อหมออู๋ นพ.พสิษฐ์ อัศวธนบดีนะครับ พี่เรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น และจบเฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าครับ

จุดเริ่มต้นของการอยากเรียนคณะแพทย์

ครอบครัวของพี่เป็นคุณหมอครับ พี่ก็จะเห็นการทำงานของหมอมาตลอด ทั้งการทำงานในโรงพยาบาลและทำงานในคลินิก พอพี่มีโอกาสได้คลุกคลีกับอาชีพนี้มากๆ เลยทำให้คิดว่าเมื่อโตขึ้นพี่ก็อยากจะเป็นหมอบ้าง แต่จริงๆ มันก็รวมกับค่านิยมของสังคมไทยด้วย เพราะเด็กที่เรียนเก่งก็มักจะมีตัวเลือกในการทำงานไม่ค่อยเยอะ หลักๆ ก็จะมีแพทย์ ทันตแพทย์ วิศวะ แต่ถ้าใครที่เก่งมากๆ ก็จะมีทางเลือกเพิ่ม เช่น สอบชิงทุน สอบก.พ. หรือสอบไปเรียนต่างประเทศครับ

พาร์ทการเตรียมตัว

ถ้าถามว่าการเตรียมตัวสอบแพทย์ในยุคของพี่กับยุคปัจจุบันมันต่างกันเยอะมั้ย ? สิ่งแรกที่เปลี่ยนไปแบบเห็นได้ชัดคือ ชื่อข้อสอบ เพราะสมัยพี่ยังใช้ การสอบวิชาเฉพาะ, O-NET, A-NET อยู่เลย

Tips

A-NET คือ การทดสอบทางการศึกษาขั้นสูงที่วัดความรู้และ ความคิดวิเคราะห์ เฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 ที่จะเข้ามหาลัยฯ รัฐในระบบ Admission ปี 2549 – 2552 เท่านั้น ซึ่งวิชาที่เปิดสอบ คือ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์,สังคมศึกษา และภาษาต่างประเทศ

ซึ่งสมัยนี้กลายเป็น A-Level และ TPAT1 ความถนัดแพทย์ไปแล้ว แต่จริงๆ วิชาที่ใช้สอบก็คล้ายกันเกือบหมด และเนื้อหาที่นำมาออกสอบก็ยังเหมือนเดิม สัดส่วนคะแนนแต่ละวิชาก็คล้ายเดิม พี่เลยคิดว่าการเตรียมตัวสอบคงไม่ได้แตกต่างกันมาก ทุกคนที่จะเข้าคณะแพทย์ก็ยังต้องอ่านหนังสือหนักหมือนเดิม (และอาจจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีเพราะการแข่งขันสูงมากก)

รวมทุกประเด็นของ กสพท ฉบับอัปเดตล่าสุดที่นี่ที่เดียว
แต่ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบ กสพท ปีล่าสุด เช่น สัดส่วนคะแนน สนามสอบ คะแนนสูงต่ำย้อนหลัง 7 ปี หรือจำนวนรับสมัคร ก็สามารถคลิกลิงก์ด้านล่างเพื่ออ่านบทความได้เลย

แล้วพี่หมออู๋เตรียมตัวหนักแค่ไหน ?

พี่เริ่มเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยฯ ตั้งแต่ม.3 ขึ้นม.4 (พี่รู้ตัวเองค่อนข้างเร็วว่าอยากทำอาชีพอะไร) ซึ่งเริ่มจากการเรียนล่วงหน้าก่อน เช่น ช่วงปิดเทอมที่เตรียมขึ้นม.4 พี่ก็จะเรียนเนื้อหาของม.4 ล่วงหน้าให้หมด ทำแบบนี้ทุกๆ ปี และพอพี่ขึ้นม.6 ก็เท่ากับว่าพี่เก็บเนื้อหาที่โรงเรียนล่วงหน้าไปครบหมดแล้ว ดังนั้นก็จะมีเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาลัยฯ ทีนี้แหละก็ตะลุยโจทย์จัดเต็ม และเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่อยากเสริมให้แม่นขึ้น

ถ้าถามว่าทำไมพี่ถึงต้องเตรียมตัวหนักมากขนาดนี้ ? ก่อนอื่นอยากจะบอกน้องๆ ทุกคนว่าการเตรียมตัวสอบแพทย์ มันหนักตั้งแต่เริ่มและจะหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าใครยังไม่เห็นภาพ อยากให้น้องๆ ลองคิดว่าปีหนึ่งมีคนอยากสอบเข้าแพทย์ กสพท หลายหมื่นคน แต่คนที่สอบเข้าแพทย์ กสพท ได้จริงๆ มีเพียง 2,000 กว่าคนต่อปี ด้วยการแข่งขันที่สูงขนาดนี้ พี่คิดว่าถ้าน้องไม่เตรียมตัวให้ดีๆ ตั้งแต่เริ่ม มีโอกาสที่คณะในฝันอาจจะหลุดมือได้ !!

Section 2 : คณะแพทย์ 6 ปี เรียนอะไรบ้าง ?

พาร์ทต่อไป พี่หมออู๋จะพาน้องๆ ไปดูว่าการเรียนหมอ 6 ปีเป็นยังไงบ้าง ? เรียนหนักแค่ไหน ? แต่พี่ขอสปอยก่อนเลยน้าาว่าพาร์ทการเรียนคณะแพทย์มีเนื้อหาเข้มข้นยิ่งกว่าพาร์ทการเตรียมตัวสอบอีก เพราะพี่หมออู๋เจาะลึกและเล่าได้เห็นภาพแบบสุดๆ ถ้าพร้อมแล้ว ไปอ่านพร้อมๆ กันเล้ยย

ชั้น Pre-Clinic ปี 1-3 (เรียนในอาคารเรียน)

ปี 1

จะเรียนวิชาทั่วไป เหมือนเรียนวิชาช่วงมัธยมรวมกัน เช่น คณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และมีเรียนรวมกับคณะอื่นๆ ด้วย เช่น คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสายวิทยาศาสตร์ สำหรับพี่ คิดว่าน่าจะเป็นช่วงที่สนุกและได้ใช้ชีวิตแบบเฮฮาทั่วไปเพราะยังไม่ได้เรียนเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับแพทย์เท่าไหร่

ปี 2 - 3

พี่คิดว่าน่าจะเป็นช่วงที่เรียนเลคเชอร์หนักที่สุดในการเรียนแพทย์แล้ว ซึ่งจะแบ่งการเรียนเป็น 2 แบบ คือ เลคเชอร์ (เรียนแบบบรรยายในห้องเรียน หรือเรียนแบบทฤษฎี) และ Lab (เป็นการเรียนแบบภาคปฏิบัติ นักศึกษาแพทย์จะได้เรียนจากการลงมือทำด้วยตัวเอง) โดยจะเริ่มเรียนลงลึกเกี่ยวกับการเป็นแพทย์ เช่น กายวิภาค, การผ่าร่างอาจารย์ใหญ่, การทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย, ความผิดปกติของร่างกาย, โรคและยาที่ใช้รักษา, การส่องกล้องดูพวกเนื้อเยื่อต่างๆ เป็นต้น

ชั้น Clinic ปี 4-6 (เรียน/ทำงานในโรงพยาบาล)

ปี 4 - 5

สำหรับการเรียนในปี 4 ก็จะแยกเป็นภาควิชา แบ่งออกเป็น 4 ภาควิชาหลัก คือ สูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวช ซึ่งทุกคนจะเรียนแบบ rotate/rotation เช่น 3 เดือนนี้จะต้องเรียนภาควิชาศัลยกรรม ก็จะเรียนเกี่ยวกับโรคทางศัลยกรรม อย่างการตรวจร่างกายคนไข้ การเจาะเลือด และวิธีการรักษา วนๆ ไปตลอด 3 เดือน พอจบจากภาควิชานี้ ก็จะไปอยู่อีกภาควิชาหนึ่ง ซึ่งถ้าวิชาไหนใหญ่ จะเรียนทั้งหมด 3 เดือน แต่ถ้าวิชาไหนเล็ก อาจจะใช้เวลาเรียนแค่ 1-2 เดือน 

ยังไม่หมดแค่นั้น !! เมื่อน้องๆ ขึ้นปี 4 ก็จะได้อยู่เวร (การดูแลผู้ป่วยนอกเวลาราชการ) ซึ่งปีนี้ยังไม่ต้องอยู่เวรหนักเท่าไหร่ ประมาณเที่ยงคืนก็ได้กลับบ้านกันแล้ว โดยสัปดาห์หนึ่ง แต่ละคนก็จะอยู่เวรประมาณ 2-3 ครั้ง (เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น เพราะหลังจากนี้น้องๆ ต้องอยู่เวรกันเยอะขึ้น) ซึ่งการเรียนของปี 5 ก็จะเหมือนกับการเรียนตอนอยู่ปี 4 เลย แต่พออยู่ปี 5 ทุกคนก็ต้องรู้เนื้อหามากและลึกขึ้นตามลำดับที่สูงขึ้น

ปี 6

ปี 6 ใกล้เรียนจบแพทย์แล้ว ซึ่งปีนี้จะเรียกว่า Extern เป็นปีที่ใช้ชีวิตใกล้เคียงกับแพทย์มากที่สุด สิ่งที่ต้องทำ คือ ดูแลคนไข้ ราวด์วอร์ดผู้ป่วยใน ดูแลและตรวจผู้ป่วยนอก อยู่เวรทั้งคืน และเช้าวันถัดไปก็จะต้องไปเรียน/ทำงานตามปกติ พี่ว่าปีสุดท้ายนี้น่าจะเป็นปีที่เหนื่อยที่สุด นอกจากต้องทำงานแล้ว ยังเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม (NL) และใบประกอบวิชาชีพแพทย์ด้วย

ภาพรวมการเรียนคณะแพทย์แต่ละที่จะมีความคล้ายกันเพราะถูกกำหนดโดยแพทยสภาแล้วว่านักศึกษาแพทย์ทุกคนจะต้องเรียนอะไรบ้าง แต่ก็มีบางส่วนที่แตกต่างกันซึ่งจะขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน อย่างการจัดลำดับของวิชาและวอร์ดต่างๆ 

แล้วบรรยากาศการเรียนแพทย์เป็นอย่างไรบ้าง ?

หลายคนอาจจะกังวลว่าถ้าเข้าไปเรียนแล้ว น้องๆ อาจจะเจอแต่คนเก่ง จนทำให้บรรยากาศการเรียนไม่ค่อยชิว มีแต่ความเครียดหรือเปล่า ? ถ้าตอบตามความเป็นจริง คือ พี่คิดว่ามันก็เหมือนสังคมทั่วไป ที่จะมีคนเก่งมาก คนขยันมาก คนนั่งหน้าห้อง คนนั่งหลังห้อง แต่พี่คิดว่าสังคมในคณะแพทย์เป็นสังคมที่ค่อนข้างดี เพราะทุกคนก็จะช่วยกันเรียน แลกเปลี่ยนสรุปซึ่งกันและกัน บางทีรุ่นพี่ก็ช่วยติวให้รุ่นน้อง อย่างตอนนี้ พี่ก็เรียนจบมานานมากแล้ว แต่ถ้ามีปัญหาตรงไหน ก็ยังปรึกษากับเพื่อนๆ และรุ่นพี่เหมือนเดิมเลย

จริงๆ อยากแนะนำน้องๆ ทุกคนว่าถ้าสอบติดและเข้าไปเรียนได้แล้ว ก็ให้เลือกตำแหน่งที่น้องๆ อยากจะเป็นให้ดี ไม่ว่าจะนั่งเรียนหน้าห้องหรือหลังห้องก็ได้หมด (ส่วนพี่หมออู๋ขอเลือกนอกห้องเพราะไม่เข้าเรียน 55555 ล้อเล่นน้าา) ที่สำคัญคืออยากให้ใช้ชีวิตด้วยเหมือนกัน ถ้าตอนไหนไม่ได้อยู่ในห้องเรียน อาจจะออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น จะออกกำลังกายหรือไปเที่ยวก็ได้หมดเลย อยู่ที่ตัวของน้องๆ เองว่าจะใช้ชีวิตแบบไหนหรือจัดการกับชีวิตของตัวเองยังไง ให้ตัวน้องๆ เองไม่เครียดกับการเรียนมากจนเกินไป

Section 3 : เรียนจบหมอ แล้วสบาย จริงหรือ ?

แพทยศาสตร์_พี่หมออู๋-03

ความสนุกของเนื้อหายังไม่จบแค่นี้ !! เพราะพาร์ทต่อไปคือพาร์ทการทำงานจริงหลังจากเรียนจบมาแล้ว 6 ปี โดยพาร์ทนี้พี่หมออู๋จะมารีวิวถึงชีวิตการทำงานเป็นคุณหมอจริงๆ มาลองดูกันว่าเรียนจบหมอแล้วสบาย หรือเป็นหมอแล้วรวย เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ?

พาร์ทการทำงาน/ใช้ทุนคืน 3 ปี/เรียนต่อเฉพาะทาง

อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าเมื่อเรียนจบแล้ว แพทย์จบใหม่หรือที่เรียกกันว่า Intern ก็จะต้องใช้ทุนคืน (การทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี แต่ก็จะได้เงินเดือนตามปกติ) ซึ่งพี่ก็ได้สรุปทางเลือกมาทั้งหมด 3 ข้อ คือ

1. ลาออก

อันนี้พี่ไม่ได้พูดเล่นน้าา มันเป็นเรื่องจริงง เพราะหลายคนเรียนแพทย์มา 6 ปี แล้วรู้สึกไม่ชอบการทำงานในโรงพยาบาลรัฐ เลยตัดสินใจลาออกแล้วไปทำอย่างอื่นแทน เช่น ทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ทำธุรกิจที่บ้าน เปิดคลินิก และถ้าใครจะลาออก ก็จะต้องใช้เงินคืนให้รัฐด้วย ปัจจุบันคิดว่าน่าจะประมาณล้านกว่าบาทแล้ว (สมัยพี่หมออู๋ประมาณ 4 แสน)

และถ้าใครคิดจะลาออก อาจจะส่งผลต่อการเรียนต่อเฉพาะทาง เพราะการเรียนต่อจะมีข้อกำหนดว่าต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะอย่างน้อย 1 ปี ดังนั้นใครวางแผนจะเรียนต่อเฉพาะทางก็อาจจะโดนตัดโอกาสไปเลยทันที T-T

2. แพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

เป็นทางที่คนส่วนใหญ่เลือกมากกว่า 90% และต้องใช้ทุนคืนเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งจะต้องจับฉลากเลือกพื้นที่ แต่บางคนก็มีเงื่อนไขที่กำหนดมาแล้ว เช่น แพทย์ที่มาจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ต้องกลับไปใช้ทุนตามพื้นที่ที่สมัคร โดย 3 ปีที่ใช้ทุนก็จะแตกต่างกันตามนี้ 

  • ปี 1 (Internship) เป็นช่วงเพิ่มพูนทักษะ ซึ่งทุกคนจะได้ทำงานเหมือนหมอจริงๆ อย่าง การตรวจคนไข้หรืออยู่เวร แต่ก็จะมีอาจารย์หมอหรือพี่ staff คอยดูแลและสอนสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม โดยปีนี้จะทำงานในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลใหญ่ของจังหวัดนั้นๆ 
  • ปี 2-3 ส่วนใหญ่จะย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชน และอาจจะไม่มีคนคอยดูแลแล้ว 

ซึ่งแพทย์ใช้ทุนจะต้องตรวจเอง รักษาเอง หรือทำเรื่องส่งคนไข้เข้าโรงพยาบาลใหญ่ และถ้าโรงพยาบาลไหนที่มีแพทย์แค่ 1-2 คนด้วย ก็ต้องสลับกันอยู่เวรด้วย  

ขอแอบเล่าถึงความหนักของการเข้าเวรของแพทย์นิดนึง ตอนพี่เรียนจบใหม่ๆ แล้วได้ไปเพิ่มพูนทักษะที่โรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่ง พี่ต้องอยู่เวร 15 ครั้งต่อเดือน แล้วถ้าอยู่แผนกนั้นยุ่งมากๆ ก็แทบจะไม่ได้นอนเลย ความโหดคือเช้าวันถัดมาก็ต้องทำงานต่อเหมือนเดิม แต่มันก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยน้า ถ้าโรงพยาบาลนั้นมีแพทย์เยอะหน่อย ก็จะไม่อยู่เวรหนักแบบพี่

3. แพทย์ไม่ใช่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

เป็นแพทย์ของหน่วยงานรัฐอื่นๆ แต่ว่าไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข เช่น แพทย์ทหาร แพทย์ตำรวจ แพทย์สังกัดกทม. หรือเป็นอาจารย์แพทย์ในมหาลัยฯ ก็นับเป็นการใช้ทุนคืนเหมือนกัน

หลังจากใช้ทุนครบ 3 ปีแล้ว เส้นทางต่อไปของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน บางคนเลือกเป็นหมอทั่วไปที่บ้านเกิดตนเอง หรือบางคนก็วางแผนเรื่องการเรียนต่อเฉพาะทาง ซึ่งระยะเวลาในการเรียนก็จะแตกต่างกันไป เช่น หมออายุรกรรม หมอศัลยกรรมจะเรียนต่ออีก 4 ปี หรือใครอยากเรียนเฉพาะทางเกี่ยวกับศัลยกรรมระบบประสาทก็จะเรียนทั้งหมด 5 ปี และถ้าใครขอทุนไปเรียนต่อเฉพาะทางแล้ว ก็ต้องกลับมาใช้ทุนให้เท่ากับเวลาที่เรียนไปอีกรอบ นอกจากนั้น ยังมีการเรียนเฉพาะในเฉพาะอีก เช่น พี่เรียนอายุรกรรม ก็สามารถเลือกเรียนเฉพาะอวัยวะได้ พูดตรงๆ เลยว่าการเรียนแพทย์ไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ

ก่อนจะไปเข้าสู่ช่วงตอบคำถามจากน้องๆ ก็มีอีกคำถามที่เรียกได้ว่าเป็นคำถามโลกแตกทีเดียวว่า

“เรียนหมอรวยจริงมั้ย ?”

เอาเป็นว่าพี่ก็จะบอกตัวเลขให้น้องๆ ลองไปคิดต่อดูว่าเงินเดือนมันเยอะจริงมั้ย ? ถ้าเทียบกับหน้าที่ ความหนักของการทำงานต่างๆ อย่างช่วงที่พี่เป็นแพทย์จบใหม่ พี่ได้เงินเดือนประมาณ 20,000 บาท + เงินพิเศษ 10000 บาท + เบี้ยเลี้ยงพิเศษประมาณ 40,00-50,000 บาทต่อเดือน + ค่าเวรต่อเดือน(ขึ้นอยู่กับต้นสังกัด) ประมาณ 30,000-40,000 บาท รวมทั้งหมด 80,000 บาทต่อเดือน ตัวเลขเหมือนจะเยอะ เพราะชั่วโมงการทำงานของหมอมันเยอะมาก ที่พี่เคยเล่าว่าต้องอยู่เวร 15 วันต่อเดือน (แทบจะไม่ได้นอนเลย บางทีก็อดนอนต่อกัน 48 ชั่วโมง)

และถ้าใครคิดว่าเรียนจบเฉพาะทางจะต้องเงินเดือนสูงมาก จริงๆ พี่ขอใช้คำว่าสูงขึ้น ไม่ได้สูงมากขนาดนั้น ยกเว้นว่าน้องๆ จะเลือกไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน อันนี้เงินเดือนก็จะเยอะกว่าอยู่โรงพยาบาลรัฐอยู่แล้ว

เงินเดือนแพทย์จบใหม่_แพทย์ศาสตร์

Section 4 : คำถามจากทางบ้าน

ยังไม่จบง่ายๆ หรอกน้าา > < เพราะพี่หมออู๋เตรียมมาตอบคำถามจากน้องๆ ทางบ้านที่ถามกันเข้ามาใน IG ของพี่ปั้นด้วย มาดูกันว่ามีอะไรบ้างง ?

Q : พาร์ทที่ยากที่สุดและพาร์ทที่ดีที่สุดในการเรียนแพทย์คืออะไร ?

A : สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนแพทย์ก็คือ การสอบเข้าแพทย์ เพราะการแข่งขันสูงมาก น้องๆ ต้องใช้ความพยายามมากกว่าจะเข้ามาเรียนได้ ถึงแม้ระหว่างทางมันจะเครียดและเหนื่อย แต่ถ้าสอบติดแล้ว น้องๆ ก็จะได้มาเจอกับสังคมที่ช่วยกันเรียน สำหรับพี่คิดว่ามันค่อนข้างคุ้มค่า ส่วนพาร์ทที่ดีที่สุดในการเรียนหมอ คือ เมื่อมีคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวป่วย พี่จะรู้ทันทีต้องทำอะไรต่อ ? ต้องรักษาแบบไหน ? หรือต้องปรึกษาใครเกี่ยวกับอาการนี้ นอกจากนั้นการที่เห็นคนไข้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของพี่ มีอาการดีขึ้นหรือหายจากการเจ็บป่วย ก็เป็นอีกจุดที่ทำให้พี่มีความสุขกับการเป็นหมอ

Q : ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวไปไกลมากๆ คิดว่า AI สามารถแทนที่หมอได้มั้ย ?

A : การเป็นหมอต้องมีคุณสมบัติ 2 อย่าง อย่างแรกคือต้องมีความรู้ ส่วนอย่างที่ 2 คือต้องมีความเป็นมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่า AI สามารถแทนที่ในส่วนของความรู้ได้ เพราะ AI มีความแม่นยำและเก็บข้อมูลต่างๆ ได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ AI ไม่สามารถทำหน้าที่แทนหมอได้ คือ ความเป็นมนุษย์ ดังนั้นพี่คิดว่าหมอจำเป็นต้องอยู่กับ AI ให้เป็นและใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ให้ได้เยอะๆ มากกว่า

Q : คนที่อยากเรียนแพทย์ จะต้องมีนิสัย/คุณสมบัติ/ความถนัด ยังไงบ้าง ?

A : ต้องรู้จักอาชีพแพทย์ก่อน ว่าอาชีพนี้ต้องทำอะไร ? ต้องเจอกับอะไร ? เหนื่อยแค่ไหน ? และต้องยอมรับกับสิ่งที่จะต้องเจอในอนาคตให้ได้ ถ้ารู้สึกว่าไม่โอเคกับสิ่งเหล่านี้ น้องๆ อาจจะเดินในเส้นทางของการเป็นแพทย์ค่อนข้างยาก ถ้าให้สรุปเลย พี่คิดว่ามีทัศนคติที่ดี สอบเข้าได้ แล้วก็ร่างกายไหว ก็สามารถเป็นแพทย์ได้ครับ

Q : อยากให้แชร์เรื่องที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพหมอ ?

A : จบหมอแล้วสบายครับ 55555 ช่วงที่สบายสุดคือช่วงเรียน 6 ปี เพราะน้องๆ จะมีเวลาได้พักผ่อนมากกว่าตอนเรียนจบ เพราะยิ่งเป็นหมอก็ยิ่งเหนื่อยขึ้นเรื่อยๆ ครับ ส่วนอีกข้อ คือ เป็นหมอแล้วรวย พี่ขอใช้คำว่าเป็นหมอแล้วมั่นคงมากกว่า เพราะเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการ และโอกาสตกงานแทบจะเป็นศูนย์ แต่ก็ยังคงยืนยันว่าเป็นหมอแล้วไม่ได้รวยครับ

 พออ่านจบแล้วรู้สึกว่าพี่หมออู๋เล่าแบบจัดเต็มจริงๆ ไม่มีกั๊กทั้งเรื่องเรียนและเรื่องทำงาน สำหรับใครอ่านบทความนี้ แล้วรู้สึกว่าการเป็นหมอคือทางของน้องๆ แบบ 100% พี่หมออู๋และทีมงาน SMP ก็ขอเป็นกำลังใจให้สู้กับการสอบเตรียมตัวสอบเข้าหมอ แต่ถ้าใครอ่านแล้วรู้สึกลังเลหรือไม่แน่ใจว่าจะไปต่อทางนี้ไหวมั้ย ? ก็ค่อยๆ ตัดสินใจน้าา ลองชั่งน้ำหนักดูว่า การเป็นหมอสำหรับน้องๆ ดีหรือไม่ดียังไงบ้าง ชอบเนื้องานของหมอจริงๆ มั้ย น้องๆ อยากจะเป็นหมอจริงๆ มากกว่าการอยากรวย อยากจะมั่นคงมั้ย ? เพราะน้องๆ จะต้องแลกกับอะไรมากมายกว่าจะมาถึงจุดนี้ แล้วตัวเองยอมที่จะเหนื่อยแลกกับความฝันหรือเปล่า …

 ก่อนจะจากกันไป ขอแวะขายของนิดนึงง ทาง SmartMathPro เปิด คอร์ส TPAT1 ความถนัดแพทย์ กสพทแบบครบทุกพาร์ท แล้วน้าา เรียกได้ว่าเป็นการรวมพลังของ 3 ติวเตอร์ที่จะมาช่วยน้องๆ ในการสอบครั้งนี้ นอกจาก พี่ปั้น (คณิตพาร์ทเชาว์ปัญญา) แล้ว ก็จะมี อ.ขลุ่ย (พาร์ทพาร์ทเชื่อมโยง และพาร์ทเชาว์ไทย) รวมถึง พี่หมออู๋ที่จะมาสอนพาร์ทจริยธรรมทางการแพทย์ เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพหมอ พร้อมวิธีจำและพาทำโจทย์ ซึ่งยืนยันโดยพี่หมออู๋เลยว่าถ้าน้องๆ รู้หลักต่างๆ ข้อสอบไม่มียากเกินไปแน่นอน !! คลิก ดูคอร์สใหม่เลยย 

ยังไม่จบ !! นอกจากพี่หมออู๋จะเป็นติวเตอร์แล้ว ก็ยังมีคลินิกเสริมความงามชื่อว่า Groove ที่ ม.เกษตรและมหาวิทยาลัยมหาสารคามด้วย ลูกศิษย์คนไหนอยากจะใช้บริการ พี่หมออู๋ก็ยินดีต้อนรับทุกคนน้าา > <

รีวิว #คณะแพทยศาสตร์ หมอเรียนอะไรบ้าง? รายได้ดีจริงไหม?

ดูลิปอื่นๆ ได้ที่ YouTube Channel : SmartMathPro