
ทันตแพทย์ เป็นหนึ่งในคณะที่มียอดการสมัครในระบบ TCAS อันดับต้นๆเกือบทุกปีเลยนะคะ ซึ่งก็เป็นคณะในฝันของน้องๆหลายคน ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นหมอฟันกันใช่ไหมล่ะคะ
วันนี้พี่เอิธ SMP NEWS ก็ได้พารุ่นพี่คนเก่ง มาแชร์ประสบการณ์การเรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์ ตั้งแต่ปี 1-6 กันเลยว่า จะต้องเจอกับอะไรบ้าง พร้อมตอบคำถามทุกข้อสงสัยที่พี่ๆได้รวบรวมมาจากทุกช่องทางเลย แถมด้วยคลังคำศัพท์ของทันตแพทย์อีกเพียบเลยนะคะ น้องๆคนไหนที่กำลังสนใจคณะนี้อยู่ ห้ามพลาดเลยนะคะ ไปดูกันเลย!

สวัสดีค่ะน้องๆทุกคน พี่ชื่อ “พลอย” นะคะ ตอนมัธยมปลายเรียนสายวิทย์-คณิต ปัจจุบันกำลังศึกษาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชั้นปีที่ 6 ค่ะ
คณะทันตแพทย์ มีกี่สาขา?
อันนี้พี่ขอพูดในส่วนของมหาวิทยาลัยรังสิตที่พี่เรียนนะคะ ซึ่งสาขาวิชาอาจจะมีการปรับเปลี่ยนกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดเลย
- ทันตกรรมจัดฟัน เกี่ยวกับการปรับแนวฟันให้เรียงตัวเป็นระเบียบ และรักษาความผิดปกติของการเรียงฟัน รวมถึงการสบฟัน
- ทันตกรรมรักษาคลองราก เป็นการรักษาเกี่ยวกับคนไข้ฟันผุ ที่ผุลงไปจนถึงโพรงประสาทฟัน
- ทันตกรรมเด็ก จะเรียนเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและฟัน ของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 12 ปี
- ทันตกรรมประดิษฐ์ เป็นการเรียนเกี่ยวกับการทำฟันปลอม ครอบฟัน สะพานฟัน วีเนียร์ เป็นต้น
ทันตแพทย์ เรียนกี่ปี แต่ละปีเรียนอะไรบ้าง?
- ชั้นปีที่ 1 : เรียนวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เช่น ไทย อังกฤษ ฟิสิกส์ เลข ซึ่งจะเหมือนกับการรวมเนื้อหามัธยมปลาย ตั้งแต่ ม.4-6 มาให้เรียนภายใน 1 ชั่วโมง หรือภายใน 1 วิชา ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด
- ชั้นปีที่ 2 : เรียนเป็น Basic Science วิชาเดียวกับของหมอเลย เช่น Physiology(สรีรวิทยา) , Nervous System (ระบบประสาท) และ Gloss Anatomy(ผ่าอาจารย์ใหญ่) ซึ่งจะเป็นการผ่าถึงแค่อวัยวะเพศเท่านั้น พี่เองก็ไม่มั่นใจว่ามหาวิทยาลัยอื่นเหมือนกันไหมนะคะ
- ชั้นปีที่ 3-4 : เรียน Pre-Clinic คือ วิชาของทันตแพทย์ โดยจะเน้นที่ head and neck ได้แก่ โรคในช่องปาก โรคตรงหัว โรคตรงคอ เรียนวิชาอุดฟัน กรอฟัน รักษาคลองราก ทำฟันปลอม เรียกได้ว่าทุกวิชาที่เกี่ยวกับการทำฟันให้คนไข้เลยก็ว่าได้ รวมถึงการฝึกทำแลป ฝึกทำฟัน และในบางวิชาก็ได้มีการทดลองทำกับหัวหุ่นด้วย เปรียบเสมือนวิชาศิลปะ แต่ทำในช่องปากของคนเรานั่นเอง
- ชั้นปีที่ 5-6 : ได้เริ่มลงมือทำกับคนไข้จริง สถานการณ์จริง หรือที่เรียกกันว่า ชั้นคลินิก (Clinic)
**ข้อมูลหลักสูตรการเรียนและสาขาวิชา ในแต่ละชั้นปี ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะมีความแตกต่างกันไปนะคะ น้องๆต้องศึกษาข้อมูลในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยให้ดีก่อนตัดสินใจนะคะ
แพทย์ กับ ทันตแพทย์ ต่างกันยังไง?
พี่มองว่าต่างกันมากๆเลยนะ เพราะทันตแพทย์จะเน้นด้าน Handskill เหมือนการทำศิลปะในช่องปากคน โดยจะต้องรู้พื้นฐานร่างกายมนุษย์เหมือนกันกับแพทย์ แต่จะเน้นเรียนในบริเวณหัวถึงคอ ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดมาก เพราะฟันซี่เล็กนิดเดียว แต่แพทย์จะต้องรักษาทั้งร่างกาย อาศัยความรู้รอบด้านในการรักษาคนไข้ที่กว้างและลึกกว่านั่นเอง

วิชาไหนยากที่สุด? ง่ายที่สุด?
สำหรับพี่ วิชาที่ไม่ชอบและรู้สึกว่ายากมากที่สุด คือ ทันตกรรมประดิษฐ์ เป็นวิชาเกี่ยวกับการทำฟันปลอม จึงต้องเกี่ยวข้องกับความละเอียดและความสวยงามมากๆ เช่น ในการทำฟันปลอม เราก็จะต้องนำฟันมาเรียงบนฐานฟันปลอม แล้วนำขี้ผึ้งมาแปะให้เป็นรูปเหงือก หลังจากนั้นก็นำมาประกบกันให้พอดี เหมือนกับในช่องปากของคนไข้ ดังนั้นจึงเป็นวิชาที่ต้องสวยด้วย ละเอียดด้วย พี่เลยรู้สึกว่ามันยากมากๆเลยค่ะ
ส่วนวิชาที่พี่ชอบและรู้สึกว่าง่ายที่สุด คือ ศัลยกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถอนฟัน ผ่าฟันคุด เพราะมันไม่ต้องใช้ความละเอียดมากเท่าไหร่ แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวังเหมือนกันนะคะ เช่น Anatomy ในส่วนนั้นๆ , ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ , ระวังโดนเส้นประสาทคนไข้ และระวังเลือดออกเยอะ เป็นต้น
พี่มองว่าจะยากหรือง่าย ขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของแต่ละคนมากกว่า เพราะเพื่อนๆพี่เอง ก็มีวิชาที่มองว่ายากและง่ายแตกต่างกันหมดเลย น้องๆไม่ต้องกังวลไปนะคะ ยังไงทุกคนก็มาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ด้วยกันในชั้นเรียนหมดเลยค่ะ
ไม่มีปิดเทอมจริงไหม?
อันที่จริงก็มีปิดเทอมนะคะ แต่จำนวนวันที่ปิดค่อนข้างน้อย ประมาณ 8 วัน ส่วนปิดเทอมเล็กก็จะหยุดแค่วันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้นเลย หรือถ้าเป็นปิดเทอมใหญ่ ก็จะประมาณ 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับชั้นปีที่เรียนอยู่ด้วยค่ะ
คณะทันตแพทยศาสตร์ ค่าเทอมแพง จริงไหม?
ค่าเทอมแพง ค่าใช้จ่ายเยอะ จริงค่ะ! เพราะมีอุปกรณ์ประกอบการเรียนเยอะมาก และราคาสูง ซึ่งบางอย่างใช้แล้วก็ต้องทิ้งเลย ไม่สามารถใช้ซ้ำอีกได้ เช่น ใบมีด หัวกรอ ราคาแต่ละชิ้นอยู่ที่ 200-500 บาท จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมค่าทำฟันถึงแพงจัง เพราะต้นทุนค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาสูงนั่นเอง
และด้วยความที่พี่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองแทบทุกอย่าง แต่สำหรับมหาวิทยาลัยรัฐบาล ก็จะมีทั้งเสียค่าใช้จ่ายเอง และยืมอุปกรณ์ของทางมหาวิทยาลัยได้ค่ะ
ทันตแพทย์ ต้องใช้ทุนไหม?
ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลก็จะต้องใช้ทุนนะคะ โดยวิธีการจับฉลากเลือกโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนก็ไม่ต้องใช้ทุนเลยค่ะ ซึ่งหลังจากใช้ทุนครบ ทันตแพทย์ทุกคนก็สามารถไปทำงานตามคลินิก/โรงพยาบาล เปิดคลินิกของตัวเอง หรือเรียนต่อเฉพาะทางตามปกติได้เลย

ค้นหาตัวเองเจอได้ยังไง?
พี่รู้ตัวว่าอยากจะเข้าเรียนทันตะ ตอนประมาณ ม.2-3 ค่ะ ต้องขอเกริ่นก่อนว่า พี่มีครอบครัวที่อยากจะให้ลูกเรียนหมอมากๆ พี่ว่าหลายๆครอบครัวก็คงมีความคิดแบบนี้เหมือนกันเนอะ ซึ่งตอนนั้นตัวพี่เองก็ไม่ได้อยากจะทำตามความต้องการของพวกเขาสักเท่าไหร่ แต่อีกใจนึงก็ไม่อยากจะขัดหมือนกัน พี่ก็เลยลองไปศึกษาข้อมูลดูก่อนว่า เรียนเป็นยังไง น่าสนใจไหม เราชอบไหม จนพี่รู้สึกว่า ก็เป็นอาชีพที่มั่นคงในระดับนึงเลยนะ แล้วส่วนตัวพี่ก็เป็นคนชอบทำงานศิลปะอยู่แล้วด้วย สุดท้ายก็เลยมาจบที่ทันตแพทย์ คิดว่าคงเหมาะกับตัวเองที่สุดในบรรดากลุ่มแพทย์ทั้งหมดแล้ว น่าจะสนุกดีด้วย เพราะถ้าเรียนแพทย์คงต้องอ่านหนังสือหนักมากๆ (แต่ความจริงแล้ว หนักไม่ต่างกันเลยค่ะ><)
เทคนิคเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย?
ช่วงม.4-6 น้องๆอาจจะยังไม่รู้ว่า ตัวเองอยากที่จะเรียนอะไร แต่พี่อยากแนะนำให้รีบหาตัวเองให้เจอนะคะ จะได้มีเวลาในการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเริ่มต้นจากการดูก่อนว่า คณะนั้นต้องใช้คะแนนอะไรในการสอบเข้าบ้าง อย่างตัวพี่อยากจะเข้าคณะทันตแพทยศาสตร์ ก็จะต้องสอบ กสพท ด้วย พี่ก็เลยแบ่งเวลาเรียนในห้องเรียน กิจกรรม และเรียนพิเศษเสริม ให้บาลานซ์กัน เพราะช่วงม.5-6 จะมีกิจกรรมเยอะมาก ทั้งงานกีฬาสี งานปัจฉิมอีก
สำหรับพี่ “เล่นก็เล่นให้เต็มที่ อ่านหนังสือก็ต้องอ่านให้เต็มที่เหมือนกัน” โดยจะต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจน เช่น เราจะเล่นถึงแค่ 6 โมงเย็นนะ แล้วก็จะต้องไปเรียนพิเศษต่อจนถึง 2 ทุ่ม หลังจากนั้นก็กลับบ้าน ทานข้าว อาบน้ำให้เรียบร้อย และเริ่มอ่านหนังสือสอบตั้งแต่ 3 ทุ่มไปจนถึงตี 1 เป็นต้น แต่อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างของพี่ที่มาแชร์ให้ฟังนะคะ พี่มองว่าทุกคนมีช่วงเวลาในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เพียงแค่น้องๆเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง และทำให้เต็มที่ที่สุดก็พอแล้วค่ะ
แต่ถ้าใครอ่านแล้วรู้สึกว่ายังจับจุดไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงดี … ขอแนะนำคอร์สเตรียมสอบครบทั้ง 3 พาร์ทของ TPAT1 กสพท และ A-Level ที่จะช่วยให้น้องลดเวลาในการอ่านหนังสือ และทำข้อสอบทันเวลา !! โดยจะสอนเนื้อหา และพาตะลุยแนวข้อสอบเก่า (ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้น้า) ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก เลยย
แต่พี่ปั้นไม่ได้สอนคนเดียว จะมีพี่หมออู๋ แพทย์ตัวจริง ที่มาพร้อมประสบการณ์มากมายในวงการแพทย์ สอนคอร์ส ความถนัดแพทย์ พาร์ทจริยธรรมแพทย์ PLUS+ และ อ.ขลุ่ย เจ้าของหนังสือ Best Seller แกทเชื่อมโยง และประสบการณ์สอนนับสิบปี สอนคอร์ส ความถนัดแพทย์ พาร์ทเชื่อมโยง & พาร์ทเชาว์ไทย PLUS+ บอกเลยว่าพี่ๆ ติวเตอร์ทุกคนเค้นจากทุกประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อมาช่วยน้องๆ Dek67 สู้กับข้อสอบสนาม TPAT1 ฉะนั้นห้ามพลาดเด็ดขาดเลยน้าา
เวลาท้อ มีวิธีจัดการอย่างไร?
พี่เจอช่วงที่ท้อบ่อยมากๆเลยค่ะ ตอนนี้ปี 6 แล้ว ก็ยังท้อและนั่งร้องไห้อยู่บ่อยครั้งเลยT_T สารภาพเลยว่า จริงๆแล้วพี่ท้อมาตั้งแต่เรียนปี 2 แล้วนะ เพราะต้องเรียนเนื้อหาเดียวกับแพทย์ เรียนหนักมาก เลคเชอร์ก็เยอะมาก ต้องจำและทำความเข้าใจหลายอย่าง ตอนนั้นก็ว่าท้อแล้วนะคะ แต่พอขึ้นปี 3 เลคเชอร์เยอะกว่าเดิม แถมยังมีการเข้าแลปมาเสริมทัพอีก ทำเท่าไหร่ก็ไม่ได้สักที ตอนนั้นท้อมากจริงๆ พี่ก็เลยเลือกที่จะช่างมันแล้วก็ไม่อ่านไปเลย สุดท้ายพี่ก็เลยสอบตกค่ะ ผลลัพธ์ของการช่างมันครั้งนี้ก็ทำให้พี่รู้ว่า กับการเรียนเราช่างมันไม่ได้จริงๆ ท้อก็พักก่อน แล้วหาวิธีสู้กับมันใหม่ กลับมาตั้งใจใหม่อีกครั้งนึง เพราะถ้าเราไม่สู้ เราก็เรียนไม่จบค่ะ
รวมคำศัพท์ ทันตแพทย์
- Scale/Scaling = ขูดหินปูน
- Impact = ฟันคุด คือ ฟันที่ยังไม่โผล่ขึ้นมาจากเหงือก
- Filling = อุดฟัน
- Suction = ดูดน้ำลาย
- Mesial = บริเวณด้านใกล้กลางฟัน
- Distal = บริเวณด้านไกลกลางฟัน
- เลื่อนนัด คือ คนไข้ปรับเปลี่ยนวันที่นัดเข้าพบกับทันตแพทย์
- มิลลิเมตร คือ หน่วยความละเอียดในการทำฟันที่ทันตแพทย์ทุกคนจะต้องเจอ ส่วนมากจะอยู่ในช่วง 0-2 มม.

Q&A
Q1 : กลัวเลือด จะเรียนทันตะได้ไหม?
A : เรียนได้อยู่แล้วค่ะ แต่อาจจะยากหน่อย เพราะยังไงก็จะต้องเจอในการเรียนและการทำงานจริงค่อนข้างเยอะ อย่างเช่นการขูดหินปูด ก็จะมีเลือดออกมาเยอะมากๆ ขึ้นอยู่กับว่าน้องๆกลัวขนาดไหนมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่คนที่กลัวเลือด เพราะว่ากลัวความเจ็บปวดใช่ไหมคะ แต่พอเราได้มาเรียนและสัมผัสแล้ว ก็จะรู้เลยว่า จริงๆแล้วที่เลือดออกเยอะๆ คนไข้ไม่ได้เจ็บนะ เพราะมีการฉีดยาชาเรียบร้อยแล้ว อะไรประมาณนี้ค่ะ
Q2 : ชอบปวดมือ ปวดหลัง ปวดไหล่ นั่งนานไม่ได้ จะเรียนทันตะได้ไหม?
A : อาการปวดเมื่อยเหล่านี้ เกิดจากการนั่งผิดท่านะคะ โดยการทำฟัน จะมีหลักการนั่งแบบ Ergonomic คือ นั่งวางขา 90 องศา ศอก 90 องศา และห้ามก้มหน้า ถ้าหากเรานั่งแบบนี้ได้ตลอด อาการปวดเมื่อยต่างๆจะแทบไม่เกิดขึ้นเลยค่ะ ซึ่งวิธีนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้กับทุกกิจกรรมเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็น นั่งทำงาน นั่งอ่านหนังสือ ในชีวิตประจำวันก็ช่วยได้เช่นกัน แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆก็ต้องพึ่งหมอนวด หรือนักกายภาพบำบัดให้เขาช่วยแล้วล่ะค่ะ
Q3 : ถนัดซ้าย เรียนทันตะได้ไหม?
A : ทุกคนเรียนได้หมดเลยค่ะ แต่สำหรับคนที่ถนัดซ้ายก็จะต้องฝึกฝนมากกว่าคนอื่นๆหน่อย เพราะเครื่องมือส่วนมากจะถูกผลิตมาสำหรับใช้งานด้วยมือขวา คนที่ถนัดซ้าย ก็จะต้องฝึกใช้เครื่องมือเหล่านั้นด้วยมือขวาให้ได้ค่ะ ซึ่งค่อนข้างจะยากลำบากอยู่พอสมควรเลย เพราะต้องทำงานในสเกลที่เล็กมากๆ หน่วยมิลลิเมตรกันเลยทีเดียว
ดังนั้นถ้าเราพร้อมจะฝึกฝน ก็ไม่มีปัญหาแน่นอนค่ะ ขอแค่สู้ก็พอ! อีกอย่างเราก็มองเป็นข้อดีได้นะคะ เพราะถ้าเราทำได้ เราจะเก่งกว่าคนปกติอีก ใช้ได้ทั้งมือซ้ายและมือขวาเลย
Q4 : ไม่เก่งศิลปะเรียนได้ไหม?
A : น้องๆไม่ต้องกังวลเลยนะคะ ยังไงทุกคนก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ที่มหาวิทยาลัยพร้อมๆกัน เพราะไม่มีใครทำฟันเป็นตั้งแต่แรก ต้องมาฝึกฝนไปด้วยกันอยู่ดีค่ะ แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้าหากมีทักษะด้านศิลปะติดตัวมา ก็อาจจะช่วยให้ไปได้เร็วมากยิ่งขึ้นนะคะ ดังนั้นพี่อยากจะบอกว่า ไม่เก่งศิลปะ ก็ไม่เป็นไรเลย ขอแค่มีใจอยากที่จะเรียนรู้และความตั้งใจจริง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ ทุกคนฝึกฝนกันได้
Q5 : จำเป็นต้องฝึก Handskill เพิ่มไหม?
A : จริงๆก็ไม่จำเป็นนะคะ แต่ถ้าน้องๆมีเวลาว่างและอยากที่จะฝึกฝนเพิ่มเติม พี่แนะนำให้ลองหาเทียนมาแกะสลักดูค่ะ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยฝึกจิตใจตัวเองว่า ระหว่างที่เราทำ รู้สึกทรมานหรือเปล่า ต้องใช้ความอดทนสูงเกินไปไหม เพราะถ้าหากเราไม่สามารถทำได้ ความอดทนไม่เพียงพอ เหนื่อย เมื่อย ไม่เอาแล้ว ก็อาจจะไม่เหมาะกับการเรียนทันตะ เพราะทันตแพทย์จะต้องอยู่กับช่องปากคนไข้ตลอดเวลา เหมือนกับการทำงานศิลปะที่ละเอียดยิบ แต่ต่างกันตรงที่ เราไม่สามารถหยุดกลางคันได้ เพราะเรากำลังทำอยู่กับปากคนไข้ ดังนั้น ถ้าน้องๆชอบ ทนได้ ก็ลุยเลยค่ะ แต่ถ้าไม่ชอบ แล้วอยากเรียนจริงๆ ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ ที่จะมาฝึกฝนอย่างจริงจังด้วยนะคะ
Q6 : กลัวหมอฟัน กลัวการไปทำฟัน เรียนทันตะได้ไหม?
A : ความกลัว พี่มองว่าเป็นข้อดีนะ เพราะเราก็จะรู้ว่า คนไข้ที่กลัว เขากลัวอะไรกัน เขาจะมีข้อกังวลอะไรบ้าง เช่น กลัวเจ็บ กลัวเสียงเครื่องมือ อีกอย่างพอเราเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ เราก็เป็นคนลงมือทำฟันเองแล้ว ไม่ใช่คนที่โดนทำแล้วนะ ดังนั้นเราก็จะไม่กลัวเหมือนเดิม เพราะเรารู้ว่าเสียงที่เกิดขึ้นมาจากอะไร เป็นขั้นตอนและกระบวนการไหน พี่ว่าเราก็จะกลัวน้อยลงเรื่อยๆ จนหายกลัวไปเองนะคะ
Q7 : จะรับมือกับคนไข้ ที่กลัวหมอฟันได้ยังไง?
A : เราจะรู้อยู่แล้วว่า เวลาทำฟัน คนไข้จะกลัวอะไรบ้าง เช่น กลัวหมอเอาเครื่องมืออะไรมาทำให้ก็ไม่รู้ เราก็จะต้องอธิบายกับคนไข้ว่า เรากำลังทำอะไร เครื่องมือนี้คืออะไร ขั้นตอนนี้เจ็บนิดนึงนะคะ ไม่ต้องกลัวนะคะ เป็นต้น เพื่อให้คนไข้ได้เตรียมใจก่อน ก็จะช่วยให้เขาผ่อนคลายได้เยอะเลยค่ะ
ส่วนถ้าคนไข้กลัวทำฟันแล้วจะเจ็บ เราก็จะต้องอธิบายให้เขารู้ว่า ถ้าปล่อยเอาไว้ แล้วไม่รีบรักษาตั้งแต่ตอนนี้ อาการเจ็บปวดก็จะไม่หายไป และจะยิ่งเจ็บมากขึ้นในอนาคตได้ อดทนนิดนึงนะคะ จะได้หายไวๆ พร้อมบอกสาเหตุและวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับคนไข้นั่นเอง
Q8 : ทันตแพทย์ จำกัดส่วนสูงไหม?
A : ส่วนสูงไม่เกี่ยวเลยค่ะ เพราะในการปฏิบัติงาน เตียงทำฟันสามารถปรับขึ้นลงได้ตามใจชอบเลย ส่วนสูงไม่มีผลแน่นอนค่ะ แต่ก็จะมีในกรณีที่หมอฟันตัวสูงใหญ่มากๆ เด็กน้อยก็จะกลัวนิดนึงนะคะ><

มีอะไรอยากฝากถึงน้องๆที่กำลังสนใจคณะนี้ไหม ?
พี่เข้าใจความรู้สึกของน้องๆตอนนี้มากๆเลย กว่าจะผ่านไปได้ในแต่ละวัน มันยากมากเลยเนอะ สำหรับน้องที่รู้และยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะเรียนอะไร รีบหาตัวเองให้เจอนะคะ อ่านหนังสือเตรียมตัวสอบให้เต็มที่ เพราะการเข้ามหาวิทยาลัย มันค่อนข้างเปลี่ยนชีวิตเลยนะ ว่าเราจะเลือกเดินไปทางไหนในอนาคต ศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกนะคะ คิดให้ดีก่อนว่า เราชอบจริงไหม ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาเปล่าได้
แต่ถ้าน้องๆมั่นใจว่า เลือกไม่ผิดแน่ๆ ก็ตั้งใจให้เต็มที่เลย ยังไงมันก็ต้องมีท้อบ้างอยู่แล้วเนอะ ไม่ว่าจะคณะไหน ก็เหนื่อยเหมือนกันหมดแหละ แต่ถ้าหมดไฟ ก็ให้นึกถึงวันแรกที่เราดีใจ ตอนประกาสผลว่าติดคณะนี้ดูนะคะ สู้ๆ พี่เป็นกำลังใจให้ค่ะ^_^