“เรียนหมอ” เรียนอะไรบ้าง? อยากเรียนหมอ ต้องเตรียมตัวยังไง?

ถ้าพูดถึงคณะทางสายวิทย์สุขภาพ พี่เชื่อว่า “คณะแพทย์” คงจะเป็นหนึ่งในคณะในฝันของน้อง ๆ หลายคนเลยใช่ไหมม ซึ่งบางคนอาจจะค้นหาข้อมูลของคณะนี้มาเบื้องต้นแล้ว แต่บางคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่า การเรียนหมอนั้นที่จริงแล้วเป็นยังไง ?

วันนี้พี่เลยพารุ่นพี่คณะแพทย์ตัวจริงอย่าง “พี่พิม” มาช่วยตอบทุกข้อสงสัยของน้อง ๆ กับการเรียนหมอ เริ่มตั้งแต่
การค้นหาตัวเอง การเตรียมตัวสอบเข้า ทริคในการอ่านหนังสือสำหรับคนอยากเข้าคณะแพทย์ ไปจนถึงรีวิวชีวิต
การเรียนหมอ ถ้าอยากรู้แล้วว่าการเรียนหมอเป็นยังไง ไปคุยกับพี่พิมกันเลยดีกว่าาา ^__^

ค้นหาตัวเองก่อนตัดสินใจเรียนหมอ

แนะนำตัวเอง

สวัสดีน้อง ๆ ทุกคน พี่ชื่อ “พิม” ตอนมัธยมปลายเรียนสายวิทย์ – คณิต ปัจจุบันกำลังศึกษา คณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

รู้ตัวเองตอนไหนว่าอยากเรียนหมอ ?

หลายคนอาจจะบอกว่า อยากเป็นหมอ เพราะอยากรักษาคน ซึ่งจริง ๆ คำตอบนี้ไม่ใช่คำตอบที่สวยหรูเลยน้า มันเป็น
คำตอบจริง ๆ เรียกได้ว่าเป็นแก่นของการเป็นหมอเลย

ซึ่งของพี่เกิดจากตอนเด็ก ๆ คือ พี่เจอเพื่อนที่วิ่งเล่นด้วยกันแล้วตะปูตำเท้า แล้วตอนนั้นไม่รู้จะทำยังไง ไม่มีความรู้อะไร
สักอย่าง ช่วยอะไรเพื่อนก็ไม่ได้ ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราต้องเรียนรู้และหาวิธีช่วยคนอื่นยังไง ทำให้พี่รู้สึกว่าอยากจะรักษาเขาให้ได้

มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่อยากที่จะมีความรู้ด้านนี้จริง ๆ และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ไม่ใช่แค่หาข้อมูลจากเว็บไซต์ทั่วไป ก็เลยตัดสินใจเลือกมาเรียนหมอนั่นเอง

เทคนิคการเตรียมตัวสอบเข้าคณะแพทย์

พี่เริ่มต้นตอนมัธยมปลาย ช่วงประมาณ ม.5 ก็เริ่มรู้ตัวเองแล้วว่า อยากเรียนหมอแน่ ๆ เลยเริ่มหาที่เรียนพิเศษ ถามเพื่อน ๆ ว่าที่ไหนดีบ้าง จากนั้นก็ลองทดลองเรียนคอร์สดูก่อนว่าตรงกับสไตล์ของตัวเองไหม แนะนำว่าอย่าไปเรียนตามคนอื่นอย่างเดียว พี่อยากให้น้อง ๆ ดูก่อนว่าสไตล์การสอนของที่ไหนเหมาะกับเราที่สุด หรือพอทดลองเรียนแล้ว เราเรียนรู้เรื่องหรือเปล่า เป็นต้น

ต่อมา คือ ทำข้อสอบเก่า อันนี้สำคัญมาก ๆ เพราะการทำข้อสอบเก่าจะช่วยให้รู้แนวโจทย์ต่าง ๆ มากขึ้น และทำให้รู้ว่าบางหัวข้อไม่จำเป็นต้องลงเนื้อหาลึก บางหัวข้อแทบจะไม่ต้องอ่านเลยก็ได้ ซึ่งพี่ว่าวิธีนี้ค่อนข้างเหมาะกับคนที่มีเวลาเตรียมตัวสอบน้อย เพราะจะโฟกัสกันได้ถูกจุดมากขึ้น 

พี่เชื่อว่าหลายคนมักไม่มั่นใจในการทำโจทย์ แต่อยากแนะนำว่า ทำให้สุดความสามารถเท่าที่จะทำได้ไปก่อน แล้วค่อยไปเปิดเฉลยดูว่า เราทำถูกผิดแค่ไหน ถ้าทำไม่ได้จริง ๆ แนะนำให้ข้ามไปก่อน เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นคะแนนที่เราหลอกตัวเองว่าทำได้

ซึ่งการดูเฉลย ก็เหมือนการที่เราเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อน เพราะเป็นวิธีที่ถูกต้องที่เราสามารถทำได้ และไม่ผิดที่จะไปเรียนรู้ตามเขา อย่าไปกลัวว่า การดูเฉลยเป็นสิ่งที่ผิด ให้คิดว่า การดูเฉลยเป็นสิ่งที่ทำให้เรียนรู้ได้ถูกต้องมากกว่า ซึ่งหลังจากที่ดูเฉลยแล้ว ให้น้อง ๆ เอาโจทย์กลับมาทำใหม่อีกครั้ง จะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นนน

สอบเข้าคณะแพทย์ ใช้คะแนนอะไรบ้าง ?

ต้องบอกก่อนว่าพี่เป็น Dek61 ซึ่งตอนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยจะมีด้วยกันทั้งหมด 5 รอบ คือ Portfolio, Quota, รับตรงร่วมกัน, Admission และ รอบ Direct Admission ส่วนตัวพี่ติดเป็นรอบ กสพท 

*พี่ขอเสริมนิดนึงน้าา สำหรับการสอบในปัจจุบันจะแตกต่างกับของพี่พิมประมาณหนึ่ง โดยจะมีทั้งหมด 4 รอบด้วยกันคือ คือ รอบ 1 Portfolio , รอบ 2 Quota , รอบ 3 Admission (ซึ่ง กสพท ก็อยู่ในรอบนี้) และ รอบ 4 Direct Admission น้อง ๆ สามารถดูรายละเอียดหรือติดตามการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของทปอ. น้าา

และถ้าใครที่อยากจะสอบเข้าคณะแพทย์ หรือ 4 คณะสายหมอ กสพท ในปัจจุบันก็จะต้องสอบวิชา A-Level และ TPAT1 ด้วย ซึ่งจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 70% และ 30% เลยย

แต่พี่ขออธิบายดีเทลคร่าว ๆ ของสองวิชานี้สำหรับคนที่ยังไม่รู้น้าา เนื้อหา A-Level จะเป็นวิชาทั่วไปตาม
หลักสูตรม.ปลายที่มีสอนในโรงเรียน เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น แต่สำหรับ TPAT1 จะเป็นเนื้อหาเฉพาะที่ทาง กสพท เป็นคนออกข้อสอบเอง และไม่ได้อยู่ในหลักสูตรที่ทุกคนเรียนตามปกติด้วย ซึ่งน้อง ๆ หลายคนก็เจอปัญหาที่ว่าควรจะเตรียมตัวยังไงดีล่ะ

สำหรับ Dek68 คนไหนที่ลองหาข้อมูลเองแล้ว อยากฟิตเตรียมสอบก่อนใคร แต่ติดที่ว่ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มอ่านหนังสือยังไงดี งั้นลองมาดูคอร์ส TPAT1 ที่พี่สอนร่วมกับอ.ขลุ่ยและพี่หมออู๋ดูก่อนได้น้า (แอบขายของนิดนึงง > <) 

ซึ่งในคอร์สนี้ก็จะสอนครบทั้ง 3 พาร์ตตั้งแต่ปูพื้นฐาน (คนพื้นฐานไม่แน่นก็เรียนได้สบายมาก !!) และตะลุยโจทย์มากกว่า 300 ข้อ รับรองว่าเรียนจบแล้วจะได้เทคนิคทำข้อสอบไปอัปคะแนนครบทุกพาร์ตแน่นอน (แอบกระซิบว่ามี Unseen Mock Test (ชุดพิเศษ) TPAT1 ครบทุกพาร์ต พร้อมคลิปเฉลยละเอียดแถมไปให้ทุกคนด้วยน้าา) ถ้าใครสนใจสามารถดู
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกได้เลยย

แชร์วิธีแบ่งเวลาอ่านหนังสือสอบเข้าหมอ

ตอนที่พี่เริ่มรู้แล้วว่าจะต้องเตรียมตัวสอบหมอ ประมาณช่วง ม.5 พี่ก็จะทยอยอ่านสะสมมาเรื่อย ๆ โดยจะอ่านทีละวิชา เริ่มมีการทำข้อสอบเก่าต่าง ๆ ควบคู่กันไป โดยจะใช้วิธีจดลงไปในปฏิทินว่า วันนี้อ่านวิชาอะไรบ้าง อ่านไปแล้วกี่ชั่วโมง
พี่ว่าวิธีนี้ช่วยจัดสรรเวลาของเราได้ดีมาก น้อง ๆ ลองเอาไปปรับใช้ดูกันได้เลยยย

แล้วพอใกล้ช่วงสอบมากขึ้น ประมาณ ม.6 ก็จะเปลี่ยนการอ่านหนังสือใหม่อีกครั้ง เป็นการสร้างตารางเวลา โดยลิสต์ว่า จะอ่านวิชาอะไรบ้าง พอจบแต่ละวันก็จะมาดูตัวเองว่า ทำได้ตรงตามเป้าหมายไหม ทำไม่ได้เพราะอะไร เนื้อหายากเกินไป
รึเปล่า หรือเราไม่ไหวจริง ๆ กับบทนั้น ควรตัดทิ้งไปเลยดีไหม นี่ถือเป็นเทคนิคที่ดีที่ทำให้พี่เอาตัวรอดช่วงสอบมาได้ มากกว่าการเก็บเนื้อหายังไงให้ครบทุกเรื่องอีกก

ซึ่งพี่จะแบ่งเวลาพักให้กับตัวเองด้วย เช่น อ่าน 1 ชั่วโมง พัก 15 นาที อ่านต่ออีก 1.30 ชั่วโมง พัก 15 นาที และถ้าอ่านหนังสือติดต่อกันมา 4 วันแล้ว พี่ก็จะหาเวลาพักให้ตัวเอง 1 วัน ขอย้ำเลยยย ว่าต้องพักผ่อนกันด้วย เพราะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการเตรียมตัวสอบ

อย่าไปกังวลว่าการพักจะทำให้เสียเวลาในการอ่านหนังสือ เพราะถ้าฝืนมาก ๆ ร่างกายและสมองเราจะไม่ไหวก่อนได้ ซึ่งการพักผ่อนจะช่วยให้รู้สึกว่า การอ่านหนังสือไม่ใช่เรื่องที่เหนื่อยจนเกินไปและช่วยลดความท้อแท้ในการอ่านหนังสือ
ได้ด้วยยย

มีวิธีจัดการกับความเครียด ความกดดันช่วงสอบยังไง ?

การอ่านหนังสือติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ แบบไม่มีเวลาพักไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ทุกคนควรที่จะจัดสรรเวลาให้ตัวเองได้พักบ้าง เพราะเวลาเราอ่านหนังสือเป็นเวลานาน ๆ ร่างกายจะสร้างความเครียดที่มันค่อย ๆ สะสมขึ้นมา จนทำให้การอ่านหนังสือมีประสิทธิภาพน้อยลงด้วย 

ดังนั้นพี่จะแบ่งชัดเจนเลยว่า วันที่อ่านหนังสือ จะพักช่วงไหน พักกี่นาที กี่ชั่วโมง แต่ช่วงเวลาที่พักก็จะให้ตัวเองพักแบบไม่ต้องกังวลอะไรเลย ให้ร่างกายได้พักจริง ๆ และเมื่อหมดเวลาพักแล้ว ก็ต้องพร้อมกลับมาสู้ต่อ กลับมาอ่านใหม่
ได้อย่างเต็มที่ด้วย !!

รีวิวชีวิตการเรียนหมอ

เรียนหมอกี่ปี แต่ละปี เรียนอะไรบ้าง ?

หมอจะเรียนทั้งหมด 6 ปี พี่ขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ปี 1-3 เรียนในห้องเรียน และ ปี 4-6 เรียนในโรงพยาบาล โดยปีแรกจะเรียนเกี่ยวกับวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ รวมถึงวิชาภาษาอังกฤษ และภาษาไทย และจะมาเริ่มเนื้อหาแพทย์ตอนปี 2 เป็นต้นไป ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับความปกติของร่างกาย ศึกษาว่าร่างกายของเรามีระบบอะไรบ้าง และ
ปี 3 จะเรียนเกี่ยวกับความผิดปกติของร่างกาย 

ส่วนปี 4-6 เป็นการเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งวอร์ดหลักที่เรียนตอนปี 4 ก็จะแบ่งเป็น 4 วอร์ด โดยเขาจะเรียกเป็นชื่อย่อว่า ‘สู ศัลย์ เมด เด็ก’ นั่นเอง 

(ขอแถมนิดนึงง ใครอยากรู้แบบเจาะลึกมากกว่านี้ว่าการเรียนหมอตลอด 6 ปีเป็นยังไง พี่แนะนำให้ลองอ่านบทความ
คณะแพทย์ เรียนอะไร? มีสาขาไหนบ้าง? เลยน้าา บอกเลยว่าข้อมูลแน่นมาก > <)

 

นักศึกษาแพทย์ สอบกันยังไง ?

พี่ขอเล่าย้อนกลับไปตอนปี 1 ซึ่งการสอบเหมือนตอนมัธยมปลายเลย คือ เรียนทีเดียวหลาย ๆ วิชา แล้วจะสอบเป็น Midterm และ Final

แต่ตอน ปี 2 เป็นต้นไป จะเรียนทีละ 1 วิชา หรือที่เขาเรียกกันว่า ‘1 บล็อค’ เพราะฉะนั้นเรียนจบ 1 วิชาก็จะสอบทันที
เรียกว่า การสอบเป็นบล็อค ๆ ไป แต่ถ้าวิชาไหนมีเนื้อหาเยอะ เขาก็จะแบ่งสอบเป็น ครึ่งบล็อค หรือ สอบท้ายบล็อค
อะไรประมาณนี้

เรียนหมอ ต้องใช้ทุนไหม ? ใช้ทุนกี่ปี ?

การใช้ทุน คือ การที่เราไปเป็นแพทย์ตามโรงพยาบาลที่สุ่มจับได้นั่นเองง โดยอาจจะต้องมีการสุ่มเวียนไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัดอีกที โดยในการเรียนหมอทุกคนจำเป็นต้องมีการใช้ทุน เนื่องจากมีการระบุในสัญญาตั้งแต่วันแรกที่เราเซ็นชื่อเข้ามาเลย

แต่สำหรับใครที่ไม่อยากใช้ทุนเลย ก็ทำได้เหมือนกันน้า โดยจะต้องจ่ายเงินที่รัฐช่วยสนับสนุนค่าการเรียนต่าง ๆ ตามสัญญาที่อยู่ในตอนแรก ซึ่งปกติจะมีการใช้ทุนทั้งหมด 3 ปี แต่สำหรับคนที่อยากเรียนต่อทันที ก็จะสามารถเลือกได้เช่นกัน เช่น วอร์ดศัลยกรรม ต้องการแพทย์เร็ว เขาก็จะลดการใช้ทุนของเรา และถ้าจะเรียนต่อเป็นศัลยแพทย์เลย เขาจะให้ใช้ทุนแค่ 1-2 ปี จากปกติ 3 ปีนั่นเองงง

เรียนหมอต้องเก่งวิชาอะไร ? ไม่เก่งเรียนหมอได้ไหม ?

สำหรับใครที่อยากเป็นหมอ วิชาพื้นฐานสำคัญที่จะต้องมีเลย คือ ชีววิทยา เพราะการเรียนหมอจริง ๆ เนื้อหาจะอัปเกรดมากขึ้นกว่าตอนมัธยมปลายเยอะเลย และอีกวิชาที่สำคัญมาก คือ ภาษาอังกฤษ เพราะการอ่านหนังสือสอบ การทำรายงานส่งอาจารย์ก็จะต้องอ้างอิงเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเลย รวมถึงการสอบต่าง ๆ ดังนั้นถ้ามีพื้นฐานที่แน่นก็จะช่วยในการเรียนได้ดีและเข้าใจเนื้อหาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นนน

ส่วนวิชาอื่น ๆ จะได้เรียนทั้งหมดอยู่แล้วในตอนปี 1 ซี่งก็จะเป็นการเรียนเนื้อหาพื้นฐานของมัธยมปลายเป็นหลัก แต่พอเราเรียนในชั้นสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ ฟิสิกส์จะไม่ค่อยได้ใช้เท่าไร คณิตศาสตร์อาจจะมีใช้บ้างเล็กน้อย แต่ในส่วนของสูตร
การคำนวณต่าง ๆ อาจจะไม่เคยเจอมาก่อน เช่น พวก diff ไม่เจอเลย 

ส่วนเคมี ยังจำเป็นต้องใช้เพราะต้องเรียนในส่วนของยาว่า โครงสร้างของยาแต่ละชนิดเป็นยังไง ยาเจอกับภาวะกรดเบสในกระเพาะแล้วจะเป็นยังไง เป็นต้น

หมอเรียนหนักไหม มีเทคนิคการเรียนยังไงบ้าง ?

ถามว่าเรียนหมอหนักไหม ตอบเลยว่า เรียนหนักมาก ๆ เพราะเป็นเนื้อหาใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน แล้วก็มีเวลาในการเรียนค่อนข้างน้อยเลย อีกอย่างคือ แต่ละบล็อคที่เรียนก็จะมีเวลาเพียง 3-4 อาทิตย์เท่านั้น โดยเฉพาะในอาทิตย์ช่วงสอบ
จะต้องอ่านหนังสือกันหนักมาก ๆ 

ส่วนเทคนิคในการเรียน พี่แนะนำให้หาวิธีการเรียนรู้ของตัวเองให้เจอว่า เราถนัดแบบไหน เช่น การอ่านในใจ การดูภาพ การติวกับเพื่อน การเขียน short note หรือการวาดภาพด้วยตนเอง ถ้ารู้วิธีในการเรียนรู้ จดจำ และทำความเข้าใจของตัวเองแล้ว ก็จะช่วยให้การอ่านหนังสือมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดระยะเวลาในอ่านหนังสืออีกด้วยยย

หลังจากนั้นให้มาจัดตารางชีวิตตัวเองก่อนว่า วันนี้เรียนจบมาแล้วควรทบทวนบทไหนถึงจะเพียงพอ ซึ่งพี่ขอย้ำว่าจะต้องบาลานซ์ชีวิตให้ดี อย่าละเลยการพักผ่อนให้เพียงพอและออกไปหาความสุขให้กับตัวเองด้วยน้า

มีอะไรอยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังสนใจคณะแพทย์ไหม ?

สำหรับใครที่กำลังสนใจอยากเรียนหมอ แต่กังวลใจว่า หนูกลัวเลือด หนูกลัวผี เรียนหมอได้ไหม พอได้เข้าไปเรียนแล้วจะรู้เลยว่า เรามาเพื่อศึกษา ไม่ได้มาเพื่อเจอสิ่งที่น่ากลัว ดังนั้นเราจะสามารถต่อสู้กับความกลัวในใจได้ ถ้าอยากเรียนหมอจริง ๆ ก็เข้ามาเลย สู้ให้เต็มที่ !!

และสำหรับคนที่ยังรู้สึกลังเลอยู่ว่า ตัวเองชอบจริงไหม พี่อยากให้ลองไป Open House เพื่อค้นหาตัวเองดูก่อน ที่จริงมีค่ายของคณะแพทย์มากมายเลย เพราะการเรียนหมอมันหนัก ถ้ามาด้วยใจที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ มันทรมานมากเหมือนกัน
ยิ่งถ้าได้ทำในสิ่งที่ไม่ได้ชอบ แล้วเรียนหนักอีก ก็อาจจะทำให้น้อง ๆ ยิ่งท้อจนหมดกำลังใจไปได้เลยล่ะ

พี่อยากให้น้อง ๆ สู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบมากกว่า การเรียนหมอไม่ใช่ทุกอย่างและไม่ใช่ตัวกำหนดว่า เราจะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะการทำอาชีพอื่นก็มีทุกอย่างได้เหมือนกัน หาในสิ่งที่ตัวเองชอบให้เจอ ถ้าใครที่คิดว่า หมอนี่แหละคือคำตอบที่ตามหา ก็ลุยกับมันให้เต็มที่ แม้มันจะยากแค่ไหน เหนื่อยแค่ไหน แต่ถ้าใจเราชอบ เราจะสู้ต่อได้แน่นอน

สุดท้ายนี้ขอเสริมจากประสบการณ์ส่วนตัวที่อยากจะฝากน้อง ๆ เลยว่า ตอนมัธยมปลาย พี่ก็เคยคิดว่าสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้ก็สบายแล้ว ขอแค่เรียนให้จบก็พอ แต่พอเข้ามายืนอยู่จุดนี้จริง ๆ แล้ว การจะเรียนให้จบก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเหมือนกัน

การเรียนหมอมันจะยากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ ปี 1-6 พอเราเรียนจบแล้ว ความรับผิดชอบต่าง ๆ ย่อมมากกว่าการเป็นนักศึกษาแพทย์แน่นอน การเป็นหมอมันไม่ได้สบายอย่างที่คิด แต่ถ้าใจเรารักในการทำบางสิ่งและยังมีความสนุกอยู่ ก็จะทำให้เราไม่ได้รู้สึกแย่ขนาดนั้น เพราะฉะนั้นหาทางของตัวเองให้เจอและลุยให้เต็มที่ พี่เป็นกำลังใจให้ทุกคน สู้ ๆ

ถือว่าจัดเต็มมาก ๆ สำหรับการรีวิวของพี่พิม รุ่นพี่จากคณะแพทย์คนเก่งของเรา ซึ่งคงทำให้ทุกคนเข้าใจชีวิตการเรียนหมอมากขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมม แต่ถ้าใครรู้สึกว่า อยากหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะแพทย์เพิ่ม หรืออยากรู้จักชีวิตการเป็นหมอให้มากขึ้น ตั้งแต่เตรียมตัวสอบไปจนถึงชีวิตการทำงาน ใช้ทุน และเรียนต่อ พี่ก็มีบทสัมภาษณ์ของพี่หมออู๋ด้วยน้าา
ในบทความนี้ >> รีวิวชีวิตของการเป็นแพทย์ ถ้าน้อง ๆ สนใจก็แวะไปอ่านกันได้เลยย > <

ดูคลิปรีวิว คณะแพทยศาสตร์

ดูคลิปรีวิวคณะอื่น ๆ ได้ที่ Youtube : SmartMathPro

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

เจาะลึก คณะทันตแพทย์
เรียนทันตแพทย์เป็นยังไง ? รีวิวคณะพร้อมแชร์เทคนิคโดยรุ่นพี่ทันตะ
เรียนเภสัช จบไปทำงานอะไรได้บ้าง
เภสัชศาสตร์เรียนกี่ปี เรียนอะไรบ้าง รวมทุกคำถามของคณะเภสัช !
คณะแพทย์ เรียนอะไรบ้างใน 6 ปี
คณะแพทย์ เรียนอะไร? มีสาขาไหนบ้าง? สรุปทุกคำถามที่คนอยากเรียนแพทย์ควรรู้
สรุป TPAT1 กสพท 68 ฉบับอัปเดตล่าสุด ตามแถลงการณ์
สรุป กสพท คืออะไร? ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง? กสพท68 มีอะไรเปล่ียนแปลง?
สรุป tcas68 อ้างอิงจาก tcas67
ระบบ TCAS คืออะไร ? มีกี่รอบ ? ใครจะสอบ TCAS68 ควรอ่าน !

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

X : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share