สรุปเนื้อหาสังคม เรื่องประวัติศาสตร์สากล

“เขาสร้างพีระมิดไว้ทำไมนะ”
“การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีมาตั้งแต่สมัยไหน”
“อนุสาวรีย์นี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญอะไร”

พี่เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยตั้งคำถามเหล่านี้ในใจ เมื่อได้มีโอกาสไปเที่ยวสถานที่สำคัญหรือมองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา แล้วสงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง หรือมีมาตั้งแต่เมื่อไร ซึ่งทุกคนรู้ไหมว่าเราสามารถหาคำตอบของความสงสัยเหล่านี้ได้ง่าย ๆ ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ !!

วันนี้พี่เลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ในเรื่อง “ประวัติศาสตร์สากล” กันก่อน ตั้งแต่ยุคสมัยของประวัติศาสตร์ อารยธรรมที่สำคัญต่าง ๆ การนับและการเทียบศักราชในประวัติศาสตร์สากล  เหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์สากล แถมท้ายบทความยังมีตัวอย่างข้อสอบให้ทุกคนได้ลองทำกันด้วยย ถ้าอยากรู้แล้วว่าประวัติศาสตร์สากลจะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกัน

ประวัติศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่งพาร์ตที่หลายคนน่าจะรู้สึกว่ายาก เพราะเนื้อหาเยอะ และครอบจักรวาล แต่จริง ๆ แล้ว
เมื่อเราแบ่งเนื้อหาออกเป็นเรื่องหลัก ๆ เราจะได้เรียนอยู่ 2 ส่วน คืออ

  • ประวัติศาสตร์ไทย เช่น ความเป็นมาของชาติ อาณาจักรโบราณ เหตุการณ์สำคัญ ๆ ในสมัยต่าง ๆ
  • ประวัติศาสตร์สากล เช่น การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ การสร้างสรรค์อารยธรรมในแต่ละยุค

ประวัติศาสตร์ คืออะไร สำคัญยังไง ?

ประวัติศาสตร์ คือ การเรียนเกี่ยวกับเรื่องราว ความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ด้านต่าง ๆ ในอดีตทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือศิลปะ เพื่อจะได้หาคำตอบว่า มนุษย์ในอดีตคิดอะไร ทำอะไร แต่เราจะไม่ได้สืบค้นกันทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต เราจะดูแค่เรื่องสำคัญ และมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ หรือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมนั่นเอง

เช่น เหตุการณ์การเจอกันครั้งแรกของคุณปู่และคุณย่า แม้จะเป็นเรื่องในอดีต แต่ไม่ถือเป็นประวัติศาสตร์ เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบ หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ในสังคม

ซึ่งการเรียนประวัติศาสตร์สำคัญมากต่อพวกเราทุกคนเลย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจทั้งตัวเอง ผู้อื่น และสังคม หากเราได้เรียนรู้ว่า ในอดีตมนุษย์เจอปัญหาอะไร และแก้ไขยังไงเราก็จะสามารถนำประสบการณ์เหล่านั้น มาช่วยในการตัดสินใจเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และพัฒนาให้ดีขึ้นได้นั่นเองง

หลักฐานและวิธีการทางประวัติศาสตร์สากล​

การศึกษาประวัติศาสตร์ เป็นการหาข้อเท็จจริงของสังคม จากหลักฐานหรือร่องรอยที่เกี่ยวข้องกับอดีต ดังนั้น นักประวัติศาสตร์ จึงแบ่งหลักฐานที่ใช้ในการศึกษาออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น หลักฐานทางโบราณคดี (โบราณสถาน โบราณวัตถุ) คำบอกเล่า
  • หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น จารึก ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ
ทั้งนี้นอกจากการหาข้อเท็จจริงจากหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ในการศึกษาประวัติศาสตร์ต้องใช้วิธีการศึกษาที่ถูกต้อง หรือที่เราเรียกว่า วิธีการทางประวัติศาสตร์ ร่วมด้วย เพราะเราต้องทำความเข้าใจเรื่องราวในอดีตให้ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด โดยวิธีการทางประวัติศาสตร์ มีทั้งหมด 5
ขั้นตอน ตามนี้เลยย
1. การกำหนดหัวเรื่องที่จะศึกษา

หรือการกำหนดหัวข้อ โดยน้อง ๆ อาจจะเริ่มจากเรื่องที่เราสนใจ อยากรู้คำตอบ หรือไม่พอใจกับคำอธิบายเดิม เช่น พี่เคยเรียนมาว่าสุนทรภู่เป็นคนระยอง แต่พี่ไม่เชื่อ และอยากหาคำตอบ พี่จึงกำหนดหัวข้อว่า สุนทรภู่ เป็นคนจังหวัดอะไรกันแน่ แบบนี้ก็ได้น้าา ซึ่งการกำหนดหัวเรื่องนั้น ในตอนแรก ๆ เราอาจจะกำหนดให้กว้างไว้ก่อน แล้วค่อยกำหนดให้แคบลง หลังจากที่เราเริ่มหาข้อมูลแล้วก็ได้

2. การรวบรวมหลักฐาน

คือ การหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราอยากหาคำตอบ โดยอาจจะหาได้หลายวิธี เช่น การค้นหาข้อมูลจากหนังสือ เอกสาร หรือการลงพื้นที่สัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้เหมือนกัน

3. การประเมินคุณค่าของหลักฐานหรือการวิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์

คือ การที่เรานำหลักฐานที่หามาได้ มาดูว่าใช้ได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่ว่าหลักฐานทุกชิ้นที่เราหามาจะสามารถนำมาใช้งานได้ทั้งหมด โดยในขั้นตอนนี้ สามารถประเมินได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

  • การวิพากษ์วิธีภายนอก คือ การประเมินภายนอกว่าหลักฐานที่เราได้มานั้น เป็นของจริงหรือของปลอม เช่น หากพี่เจอหลักฐานเป็นกล้องถ่ายรูป ที่อ้างว่ามาจากยุคกลาง พี่ก็ต้องไปหาข้อมูลก่อนว่าในสมัยนั้น มีกล้องถ่ายรูปหรือยัง วัสดุที่นำมาใช้ทำกล้องมีอยู่จริงไหมในสมัยนั้น
  • การวิพากษ์วิธีภายใน คือ การประเมินภายในว่าหลักฐานที่เราได้มานั้น ให้ข้อมูลอะไรกับเราบ้าง หรือการดูว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือไหม เป็นการตรวจสอบโดยละเอียด เกี่ยวกับเวลา สถานที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหลักฐานนั้น ๆ หรือการดูว่าหลักฐานนั้น ใครเป็นคนเขียนขึ้น และเขาเขียนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์อะไร
    เช่น หากพี่เขียนอัตชีวประวัติ พี่ก็มักจะเขียนให้ตัวเองดูดี เราจึงต้องดูว่า มันน่าเชื่อถือหรือเกินจริงไปหรือเปล่า
4. การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดหมวดหมู่ข้อมูล

เมื่อเราพิสูจน์แล้วว่าหลักฐานที่เราหามาเป็นของจริง เชื่อถือได้ เราก็ต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดหมวดหมู่ เพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องที่เราอยากรู้ โดยในขั้นตอนนี้น้อง ๆ ต้องระวังว่า จะต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และไม่มีอคติ เพราะอาจจะทำให้เราสรุปข้อมูลตามที่เราเชื่อ มากกว่าที่เป็นข้อเท็จจริงจากหลักฐานที่เราพบ

5. การเรียบเรียงและนำเสนอ

คือ การอธิบายข้อเท็จจริงหรือความรู้ที่เราได้วิเคราะห์มา เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจ โดยสามารถนำเสนอได้หลายรูปแบบ เช่น บทความ สารคดี หรือการนำเสนอหน้าชั้นเรียน ซึ่งในขั้นตอนนี้ น้อง ๆ ควรใช้ภาษาในการอธิบายให้เป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล และน่าเชื่อถือ เพื่อให้คนอื่น ๆ สามารถเข้าใจได้ และคล้อยตามข้อมูลของเรา

ประวัติศาสตร์สากล มีอะไรบ้าง ?

เนื่องจากการเรียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ ช่วงเวลา (เกิดขึ้นเมื่อไร) และสถานที่ (เกิดขึ้นที่ไหน) เป็นหลัก ดังนั้นก่อนจะลงลึกเรื่องประวัติศาสตร์สากล น้อง ๆ จึงควรรู้ก่อนว่า ประวัติศาสตร์สากลสามารถแบ่งเป็นยุคสมัยอะไรได้บ้าง โดยพี่ขอสรุปให้เราเห็นภาพง่าย ๆ ที่สุด คือ เราจะแบ่งยุคสมัยออกเป็น 2 ช่วงหลัก ๆ นั่นคือ

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่มีการประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เราจึงต้องดูผ่าน
หลักฐานพวกโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธ และร่องรอยอื่น ๆ ทำให้สามารถแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตามเครื่องมือเครื่องใช้ เป็นยุคย่อย ๆ ได้ตามนี้เลยย

ยุคหินเก่า

คือ ช่วงเวลาที่พบเครื่องมือเครื่องใช้ ทำจากหินตามธรรมชาติ มนุษย์ในยุคนี้ยังเร่ร่อนไปตามที่
ต่าง ๆ ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ และเก็บของป่าเป็นอาหาร

ยุคหินใหม่

คือ ช่วงเวลาที่พบเครื่องมือเครื่องใช้ ทำจากหินที่มีการตกแต่งมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับการ
ใช้งาน เช่น การขัดแต่งให้มีคมเพื่อให้สามารถล่าสัตว์ได้ง่าย ๆ หรือการทำด้ามจับ มนุษย์ในยุคนี้เริ่มทำอาชีพเกษตรกรรม ทำให้ไม่ต้องเร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ และเริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน

ยุคโลหะ

คือ ช่วงเวลาที่พบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ (ทองแดง ตะกั่ว สำริด) มนุษย์ในยุคนี้มี
ความเจริญมากขึ้น อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนใหญ่ และมีการจัดระเบียบการปกครอง

สมัยประวัติศาสตร์

เริ่มนับตั้งแต่เมื่อมนุษย์ประดิษฐ์อักษร เพื่อบันทึกเรื่องราวของตนเอง โดยการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์นี้ ในโลกตะวันออกและตะวันตกค่อนข้างแตกต่างกัน ดังนั้น พี่ขออธิบายสรุปสั้น ๆ ของแต่ละฝั่งเพื่อให้น้อง ๆ สามารถแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ได้น้าา

ประวัติศาสตร์ตะวันตก

นักประวัติศาสตร์ จะเป็นสมัยสำคัญ ๆ ออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

ยุคโบราณ

เริ่มนับตั้งแต่การประดิษฐ์อักษรของชาวสุเมเรียน จนถึงการล่มสลายของอาณาจักรโรมันตะวันตก ในยุคนี้มีอารยธรรมโบราณที่ยิ่งใหญ่หลายอารยธรรม ได้แก่ อารยธรรมอียิปต์ อารยธรรม
เมโสโปเตเมีย อารยธรรมกรีก อารยธรรมโรมัน

ยุคกลาง

เริ่มนับตั้งแต่การล่มสลายของอาณาจักรโรมันตะวันตก จนถึงโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา (แต่นักประวัติศาสตร์บางคน บอกว่ายุคกลางสิ้นสุดเมื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์ถูกพวกเติร์กยึดครอง)

ยุคสมัยใหม่

เริ่มนับเมื่อโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา (มีการเดินเรือสำรวจดินแดน) จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2

ยุคปัจจุบัน

เริ่มนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ตะวันออก

ประวัติศาสตร์ตะวันออก จะเน้นที่สองอารยธรรมใหญ่ ๆ คือ จีน และอินเดีย ซึ่งจะมีการแบ่งช่วงสมัยประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

จีน

เป็นประเทศที่มีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่มาเป็นพัน ๆ ปี โดยอารยธรรมจีนเริ่มต้นครั้งแรกที่เขตลุ่มแม่น้ำฮวงโห และจีนได้เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ช่วงราชวงศ์ชาง ที่มีการเขียนตัวหนังสือลงบนกระดูกสัตว์ และกระดองเต่า โดยหลัก ๆ แล้ว การนับสมัยประวัติศาสตร์ของจีน จะแบ่งตามราชวงศ์ที่ปกครอง เช่น ราชวงศ์ชาง ราชวงศ์โจว ราชวงศ์ฉิน ราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์สุ่ย ราชวงศ์ถัง จนถึงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์

อินเดีย

เป็นอีกหนึ่งชาติที่มีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ โดยอารยธรรมอินเดียถือกำเนิดขึ้นที่ลุ่มแม่น้ำสินธุ และเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์เมื่อมีการประดิษฐ์ตัวอักษร (พราห์มิ ลิปิ)

ซึ่งการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของอินเดีย ในสมัยโบราณจะแบ่งออกเป็น 5 สมัย ได้แก่ สมัยอินโด-อารยันรุกราน, สมัยพระเวท, สมัยมหากาพย์, สมัยจักรวรรดิ และสมัยคุปตะ หลังจากช่วงการสิ้นสุดของราชวงศ์คุปตะ อินเดียได้เข้าสู่สมัยกลาง สมัยใหม่ กระทั่งร่วมสมัย (นับเมื่ออินเดีย
ได้รับเอกราชจากอังกฤษ จนถึงปัจจุบัน)

การแบ่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์สากล

อารยธรรมที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สากล

อารยธรรมโลกยุคโบราณ​

ถือเป็นช่วงเวลาที่มีอารยธรรมสำคัญ ที่จะทำให้เราเข้าใจมนุษย์ในอดีตมากยิ่งขึ้น ซึ่งพี่ได้สรุปสั้น ๆ มาให้น้อง ๆ เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้

อารยธรรมตะวันตกยุคโบราณ

อารยธรรมเมโสโปเตเมีย

เกิดขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส หรือในประเทศอิรักในปัจจุบัน ในดินแดนแถบนี้ ได้มี
ชนเผ่าต่าง ๆ เข้ามาทำสงครามเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่อยู่เสมอ ซึ่งหากเราแบ่งย่อยตาม
ชนเผ่าต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นใหญ่แล้ว มีช่วงสมัยที่น้อง ๆ ควรรู้จักอยู่ นั่นคือ

    • สมัยสุเมเรียน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ชาวสุเมเรียนเป็นชาติแรกที่สามารถประดิษฐ์ตัวอักษรได้ก่อนชนชาติอื่น โดยตัวอักษรของสุเมเรียน ชื่ออักษรรูปลิ่ม หรืออักษรคูนิฟอร์ม
    • สมัยจักรวรรดิบาบิโลเนียเก่า สมัยนี้มีมรดกทางอารยธรรมที่สำคัญ คือ ประมวลกฎหมายของพระเจ้าฮัมบูราบี ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายที่เข้มงวด โดยใช้หลัก 
      “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
    • สมัยจักรวรรดิอัสซีเรีย จักรวรรดิอัสซีเรียมีอาณาเขตกว้างใหญ่ เนื่องจากชาวอัสซีเรียเป็นนักรบที่กล้าหาญและมีวินัย รวมถึงการมีอาวุธที่ทำด้วยเหล็กคุณภาพสูง ผลงานที่สำคัญของสมัยนี้ คือ การรวบรวมงานเขียนที่จารึกลงบนแผ่นดินเหนียวตากแห้ง ไว้ในห้องสมุดที่เมืองนิเนเวห์ ถือเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น
    • สมัยจักรวรรดิบาบิโลเนียใหม่หรือคาลเดีย มีความเจริญสูงสุดในช่วงพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ ที่สามารถขยายอาณาเขตไปทางตะวันตกจนถึงซีเรีย คานาอาน และสามารถยึดกรุงเยรูซาเลม จนกวาดต้อนเชลยชาวยิวมาได้เป็นจำนวนมาก

      ในสมัยนี้มีการสร้างพระราชวังและวิหารขนาดใหญ่ โดยในบริเวณเหนือพระราชวังได้สร้างสวนขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า สวนลอยแห่งบาบิโลน ซึ่งมีลักษณะเป็นสวนลอยหลายชั้น จนสามารถมองเห็นเมืองบาบิโลนได้รอบด้าน มีระบบการส่งน้ำไป
      หล่อเลี้ยง ทำให้สวนลอยนี้สวยงามตลอดทั้งปี กระทั่งได้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ

    • สมัยฟีนีเชีย ฮีบรู และเปอร์เซีย (ถือเป็นกลุ่มอารยธรรมในดินแดนใกล้เคียง) ที่เป็นชนชาติสำคัญและทิ้งมรดกอารยธรรมสำคัญไว้ให้แก่โลก โดยสรุปได้ดังนี้

      • ฟีนีเซีย เคยเป็นพวกเร่ร่อนในทะเลทราย ทำให้ชาวฟีนีเซียมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าเป็นพ่อค้า และนักเดินเรือ ซึ่งจากการค้าขายนี้เอง ที่ทำให้ชาวฟีนีเซียต้องสร้างตัวอักษรเพื่อความสะดวกในการติดต่อค้าขาย โดยระบบการเขียนของชาวฟีนีเซีย ถือเป็นต้นแบบที่ชาวกรีกนำไปดัดแปลง
        จนกระทั่งกลายเป็นต้นกำเนิดของตัวอักษรที่ใช้แพร่หลายในชาติตะวันตกนั่นเอง

      • ฮีบรู เป็นชาติที่มีบทบาทสำคัญในด้านศาสนา เพราะเป็นจุดกำเนิดของศาสนาที่นับถือพระเจ้าพระองค์เดียว (เอกเทวนิยม) ซึ่งเป็นที่มาของศาสนาสำคัญของโลก ได้แก่ ศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม

      • เปอร์เซีย เป็นอีกหนึ่งจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณ โดยในสมัยพระเจ้าไซรัสมหาราช ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง และได้ปลดปล่อยชาวฮีบรูเป็นอิสระจากการเป็นเชลยของบาบิโลเนีย

อารยธรรมอียิปต์

 เกิดอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ โดยมีมรดกอารยธรรมที่สำคัญจำนวนมาก ที่น้อง ๆ ควรรู้จัก เช่น

  • ด้านศาสนา ชาวอียิปต์นับถือเทพและเทวีหลายองค์ (พหุเทวนิยม) และยังบูชาสัตว์อีกหลายชนิด เพราะเชื่อกันว่าเทพเจ้าสิงอยู่ในสัตว์ต่าง ๆ และสิงอยู่ตามธรรมชาติ
    ความเชื่อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวอียิปต์ คือ ความเชื่อเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีพหลังความตาย ทำให้มี
    การสร้างพีระมิดเพื่อใช้เป็นสุสานเก็บศพ และการรักษาศพด้วยการทำมัมมี่ และการเขียนคัมภีร์ของคนตาย เพื่อใส่ไว้ในที่ฝังศพอีกด้วย
  • ด้านสถาปัตยกรรม ชาวอียิปต์ได้สร้างสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่และสำคัญแก่โลก คือ พีระมิด และวิหารสำหรับบูชาเทพเจ้าที่โด่งดัง เช่น วิหารอาบูซิมเบล วิหารคาร์นัก และวิหารของพระนางฮัทเชปสุท
  • ด้านอักษรศาสตร์ ชาวอียิปต์ได้ประดิษฐ์ตัวอักษรฮีโรกลิฟ ซึ่งเป็นอักษรภาพที่แสดงความหมายของ
    สิ่งต่าง ๆ โดยในระยะแรกใช้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา และต่อมาได้ดัดแปลงเป็นอักษรฮีราติก
    เพื่อบันทึกเรื่องราวทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ชาวอียิปต์ยังรู้จักการทำกระดาษจากต้นกก ที่เรียกว่า ปาปิรุส
    จนเป็นที่มาของคำว่า “paper” ในปัจจุบันนั่นเอง
  • ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ชาวอียิปต์ศึกษาร่างกายของมนุษย์ กระทั่งค้นพบวิธีรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย หรือที่เรารู้จักกันว่ามัมมี่ และในทางวิทยาศาสตร์ ชาวอียิปต์ยังสามารถคิดค้นปฏิทินทางสุริยคติได้
    อย่างแม่นยำอีกด้วย
อารยธรรมกรีก

ถือเป็นอีกหนึ่งอารยธรรมที่สำคัญต่อโลก โดยชาวกรีกได้สร้างมรดกที่สำคัญ ๆ เช่น การปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของแนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตยในโลกตะวันตกในเวลาต่อมา หรือการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่เป็นทั้งการประลองความสามารถของนักกีฬาและจัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเซอุส ผู้เป็นบิดาของเทพเจ้ากรีก

อารยธรรมโรมัน 

ชาวโรมันสืบเชื้อสายมาจากพวกอินโด-ยูโรเปียน เช่นเดียวกับชาวกรีก มรดกทางอารยธรรมของโรมันมีหลายด้าน ตามนี้เลยย

  • ด้านการปกครองและกฎหมาย ชาวโรมันถือเป็นผู้วางรากฐานการปกครองที่ชาวยุโรปใช้ในปัจจุบัน และวางทฤษฎีทางการเมืองที่แพร่หลาย เช่น สัญญาประชาคม แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย และ การแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) รวมถึงมีการสร้างกฎหมายโรมัน ซึ่งยึดหลักการความยุติธรรม ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชนจนกลายเป็นหลักกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ของยุโรปในปัจจุบัน
  • ด้านสถาปัตยธรรม ชาวโรมันได้ก่อสร้างถนน สะพาน และท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ตามเมืองต่าง ๆ
  • ด้านศิลปะ ชาวโรมันได้สร้างภาพจิตรกรรมปูนเปียก และภาพแกะสลักนูนต่ำ รวมถึงงานประติมากรรมจำลองรูปคนที่สร้างได้อย่างสมจริงและเป็นธรรมชาติ

อารยธรรมตะวันออกยุคโบราณ

ระหว่างที่อารยธรรมตะวันตกได้ดำเนินไปนั้น อารยธรรมในฝั่งโลกตะวันออกเอง ก็มีความยิ่งใหญ่และสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อไม่ให้สับสน พี่ขอสรุป ๆ อารยธรรมสำคัญ ให้รู้จักโดยคร่าว ๆ โดยแบ่งเป็น 2 อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่

อารยธรรมจีน

อารยธรรมจีนเริ่มต้นครั้งแรกที่ลุ่มแม่น้ำฮวงโห ถือเป็นอารยธรรมรุ่นแรก ๆ เช่นเดียวกับทางยุโรป แต่ความแตกต่าง คือ จีนค่อนข้างเป็นอารยธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอก
น้อยมาก เพราะรอบ ๆ ของจีนติดมหาสมุทรแปซิฟิก เทือกเขา ทะเลทราย และป่าดงดิบ

ทำให้จีนถือว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก หรือเป็นแหล่งกำเนิดความเจริญต่าง ๆ ทำให้หากมีประเทศใดต้องการติดต่อค้าขายกับจีน ต้องยอมรับว่าตนเป็นประเทศราช และนำเครื่องราชบรรณการไปถวายแด่จักรพรรดิจีน โดยอารยธรรมจีนนั้นได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางเกาหลี เวียดนาม และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัวอย่างอารยธรรมจีน เช่น ลัทธิขงจื๊อ การค้าสำเภา การสอบจอหงวน กำแพงเมืองจีน

อารยธรรมอินเดีย

เกิดขึ้นที่ลุ่มแม่น้ำสินธุ มีความเจริญเช่นเดียวกับอารยธรรมอื่น ๆ ในโลก และเป็นแหล่งกำเนิดศาสนาและลัทธิสำคัญ ๆ ของโลกหลายศาสนา

โดยอารยธรรมอินเดียได้แพร่หลายไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย ทั้งในด้านการค้าขาย การเมือง และศาสนา รวมถึงได้เข้าไปผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองในดินแดนต่าง ๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น ๆ

ตัวอย่างอารยธรรมอินเดีย เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาพุทธ มหากาพย์รามายณะ

อารยะรรมที่สำคัญโลกยุคโบราณในประวัติศาสตร์สากล

การนับและการเทียบศักราชในประวัติศาสตร์สากล

จากการแบ่งยุคสมัย และความกว้างของการเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สากลทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้น้อง ๆ สามารถเข้าใจ และเปรียบเทียบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น นั่นคือศักราช โดยในประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติ ก็จะมีการนับที่แตกต่างกัน ในบทความนี้ พี่ขอแนะนำศักราชสากล ที่น้อง ๆ ควรรู้จัก ตามนี้น้า

  • พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชที่นิยมใช้ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา โดยมีวิธีการนับ 2 รูปแบบ คือ แบบไทย (นับเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี) และแบบลังกา (เริ่มนับเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน)
  • คริสต์ศักราช (ค.ศ.) เป็นศักราชสากลที่นิยมใช้กันแพร่หลายที่สุด เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเยซูประสูติ
  • ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) เป็นศักราชที่มักใช้ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เริ่มนับเมื่อ
    ท่านนบีมูฮัมมัด อพยพจากเมืองมักกะฮ์ไปอยู่ที่เมืองเมดินา
  • มหาศักราช (ม.ศ.) เป็นศักราชที่นิยมใช้แพร่พลายในประวัติศาสตร์อินเดีย เชื่อกันว่าเริ่มต้นจากพระเจ้ากนิษกะ ได้ครองดินแดนของอินเดีย และประกาศใช้ศักราชนี้

น้อง ๆ จะเห็นว่า ในการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น มีการใช้ศักราชต่าง ๆ กันอย่างแพร่หลาย ดังนั้น เพื่อให้การเรียนประวัติศาสตร์ง่ายมากขึ้น พี่แนะนำว่าเราควรจำหลักเกณฑ์การเทียบศักราช
ให้ได้น้า ซึ่งพี่ก็ได้เทียบออกมาเป็น พุทธศักราช มาให้ทุกคนแล้ว ตามข้างล่างนี้เลยย

ค.ศ. + 543 = พ.ศ.

ฮ.ศ. + 1122 =  พ.ศ.

ม.ศ. + 621 = พ.ศ.

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์สากลที่มีผลต่อโลกปัจจุบัน​

หลังจากที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกในยุคโบราณอย่างละเอียดกันไปแล้ว ต่อไปพี่จะพาทุกคนมาดูเหตุการณ์ในช่วงสมัยกลางและสมัยใหม่ที่ส่งผลต่อโลกในปัจจุบันกันอีกสักนิดด สูดลมหายใจลึก ๆ แล้วไปลุยกันเลย

อารยธรรมยุโรปยุคกลาง

ถือเป็นยุคแห่งศรัทธา หรือที่หลาย ๆ คนเคยเรียกกันว่า ยุคมืด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ชาวยุโรป ตกอยู่ภายใต้อำนาจของศาสนาและการชี้นำของพระสันตะปาปา โดยในยุคนี้มีระบบฟิวดัล (กระจายอำนาจให้ลอร์ดปกครองพื้นที่ตนเอง เป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดิน และ
ข้ารับใช้ในที่ดินนั้น) เป็นพื้นฐานทางการปกครอง

นอกจากนี้ยังใช้ระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่าระบบแมนเนอร์ (ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง) ในช่วงสมัยกลาง ได้เกิดสงครามที่สำคัญ คือ สงครามครูเสด โดยถือเป็นสงครามทางศาสนาระหว่าง
ชาวคริสต์และชาวมุสลิม เพื่อแย่งชิงดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์หรือกรุงเยรูซาเลม

โดยสงครามครูเสดนั้นได้เกิดขึ้นหลายครั้ง และยาวนาน จนส่งผลกระทบต่อยุโรปหลายเรื่อง เช่น ทำให้การค้าเจริญรุ่งเรือง (เดินทางไปทำสงคราม และซื้อของไปขาย) ชาวยุโรปเริ่มตื่นตัวที่จะขยายอำนาจของตนไปในที่ต่าง ๆ จนนำมาสู่การเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ ส่งเสริมการต่อเรือ และการสำรวจทางทะเล

อารยธรรมยุโรปยุคใหม่

ถือเป็นอีกช่วงเวลาที่มีความสำคัญ และส่งผลต่อโลกในยุคปัจจุบัน โดยน้อง ๆ ควรจดจำลักษณะสำคัญในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้สามารถนำไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ตามนี้เลยย

  • การฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือเรอเนสซองส์ เป็นช่วงเวลาของการนำศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันกลับมาอีกครั้ง ซึ่งในช่วงนี้ ถือเป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างประวัติศาสตร์สมัยกลางและสมัยใหม่ (ยังมีความเชื่อทางศาสนาอยู่ แต่ก็เริ่มเชื่อในมนุษย์มากขึ้น)
  • การปฏิรูปศาสนา โดยนักปฏิรูปศาสนาคนสำคัญ คือ มาร์ติน ลูเทอร์ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ ๆ มาจากการที่ ชาวคริสต์เริ่มไม่พอใจกับการแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ จากศาสนา จากกลุ่มบาทหลวง และพระสันตะปาปา โดยเฉพาะเหตุการณ์การขายใบไถ่บาป
  • การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ คือ ช่วงเวลาที่มีการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาสิ่งต่าง ๆ จนทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่าง ๆ และเกิดสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมากมาย
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรม คือ ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงการผลิต จากการใช้แรงงานคนและสัตว์มาเป็นการใช้เครื่องจักร โดยเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ในอุตสาหกรรมการ
    ทอผ้า
  • การปฏิวัติประชาธิปไตย คือ ช่วงเวลาของการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นครั้งแรกในการปฏิวัติอเมริกา (ค.ศ. 1776) และครั้งที่สองในการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789) ซึ่งในการปฏิวัติฝรั่งเศสนี้ มีผลอย่างยิ่งต่อการปฏิวัติเพื่อ
    ต่อต้านระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของยุโรปให้หลาย ๆ ประเทศ เช่น อิตาลี สเปน และเยอรมนี

ตัวอย่างข้อสอบ ประวัติศาสตร์สากล 

หลังจากที่น้อง ๆ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สากลกันไปแบบเต็มอิ่ม จุใจแล้ว เราลองมาดูกันหน่อยว่า ข้อสอบจะออกประมาณไหน จะยากไหมน้าา ไปลองทำกันเลยย

ตัวอย่างข้อสอบประวัติศาสตร์สากล

ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแหล่งอารยธรรมของโลกยุคโบราณ [O-Net สังคมศึกษา ปี 64]
1. การคมนาคมทางน้ำเป็นการคมนาคมที่เก่าแก่เรียบง่าย
2. ศูนย์กลางของอารยธรรมมักอยู่ที่ที่ราบลุ่มแม่น้ำใหญ่
3. วิถีชีวิตของมนุษย์ขึ้นอยู่กับการเกษตรและเลี้ยงสัตว์
4. ในแต่ละอารยธรรมมีระบบชลประทานในการจัดการแหล่งน้ำไว้ใช้ภายในพื้นที่ของตนเอง
5. ประชาชนประสบปัญหาในการดำรงชีวิตเพราะไม่ปรับวิถีชีวิตของตัวเองให้เข้ากับทรัพยากรในพื้นที่

เฉลย

ตัวเลือก 5. ประชาชนประสบปัญหาในการดำรงชีวิตเพราะไม่ปรับวิถีชีวิตของตัวเองให้เข้ากับทรัพยากรในพื้นที่

ทั้งนี้ถ้าน้อง ๆ พิจารณาแต่ละตัวเลือก จะเห็นว่าตัวเลือกนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ที่สุดเลยย เพราะจากที่เราอ่านบทความประวัติศาสตร์สากลกันมาเรื่อย ๆ เราจะสังเกตว่าคนโบราณนั้น มีความพยายามในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมมาก ๆ ทั้งการตั้งแหล่งที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำ จนทำให้ศูนย์กลางของแหล่งอารยธรรมมักอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ เพราะต้องใช้น้ำในการดำรงชีวิต การทำระบบชลประทานเพื่อจัดเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการเรียนรู้การเดินเรือเพื่อการค้าขาย นั่นเองงง

ดูคลิปติว A-Level สังคม

ติดตามคลิปติว A-Level สังคมพาร์ตอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้ทาง YouTube Channel : SmartMathPro

อ่านกันมาจนถึงตรงนี้พี่ว่าน้อง ๆ บางคนคงจะแอบปาดเหงื่อให้กับเนื้อหาประวัติศาสตร์สากลกันอยู่แน่นอน ซึ่งก็ต้องยอมรับเลยว่าเนื้อหาส่วนนี้ของวิชาสังคมเขาเยอะจริง ๆ รวมถึงยังออกสอบใน A-Level สังคมอีกต่างหาก

แต่อย่าเพิ่งท้อกันน้า เพราะถึงแม้เนื้อหาจะเยอะแค่ไหน แต่พี่เชื่อว่าถ้าเราค่อย ๆ ทำความเข้าใจไป จากเนื้อหาที่เราเคยคิดว่ายากและเยอะ อาจจะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก็ได้ ซึ่งพี่ขอแนะนำให้ลองฝึกทำโจทย์หรือแบบฝึกหัดควบคู่กันไปด้วย เราจะได้เข้าใจมากขึ้นน

และอย่างที่พี่บอกไปเลยว่าประวัติศาสตร์สากลถือเป็นพาร์ตหนึ่งของข้อสอบ A-Level สังคม ซึ่งนอกจากเรื่องนี้แล้วก็ยังมีเนื้อหาพาร์ตอื่น ๆ ให้เราได้เรียนเพิ่มด้วยย ถ้าใครที่วางแผนแล้วว่าจะสอบ A-Level สังคม ใน TCAS68 การเริ่มเก็บเนื้อหาตั้งแต่ตอนนี้พี่ว่าก็เป็นทางเลือกที่ดีเลย เพราะเราจะได้พร้อมก่อนใครด้วยย

ถ้าใครกำลังมองหาตัวช่วยในการเตรียมสอบ A-Level สังคมอยู่ล่ะก็ พี่ขอแนะนำคอร์ส พิชิต
A-Level สังคมศึกษาฉบับรวบรัด สอนโดยครูพี่กอล์ฟ ให้เลยย โดยคอร์สนี้จะสอนเนื้อหา
A-Level สังคม ครบทั้ง 5 พาร์ต พร้อมพาตะลุยโจทย์จัดเต็ม แถมมีเทคนิคในการทำข้อสอบไว้ไปอัปคะแนนอีกเพียบ (กระซิบว่าสมัครตั้งแต่ตอนนี้มีสิทธิพิเศษมากมายรอน้อง ๆ อยู่น้าา) ถ้าใครสนใจ คลิก ดูรายละเอียดเลยย

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

สรุป A-Level ไทยสังคม ออกสอบอะไรบ้าง
สรุป A-Level ไทย สังคม TCAS67 ออกสอบอะไรบ้าง? พร้อมคลิปติวฟรี
สรุปเนื้อหาสังคม เศรษฐศาสตร์จุลภาค
เศรษฐศาสตร์จุลภาคคืออะไร? สรุปเนื้อหาเศรษฐศาสตร์พร้อมข้อสอบจริง
สรุปเนื้อหาสังคม เรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค
เศรษฐศาสตร์มหภาค สรุปเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์พร้อมข้อสอบจริง
Dek68 จะสอบเข้ามหาลัยฯ ต้องเตรียมตัวยังไง ?
Dek68 สอบเข้ามหาลัยฯ ควรเริ่มยังไง? สรุปทุกขั้นตอนควรรู้ของ TCAS68
เตรียมตัวอ่านหนังสือ TCAS68 ยังไงให้สอบติด
เตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยยังไง? สรุปและแจกเทคนิคอ่านหนังสือสอบ TCAS

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

X : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share