สรุปเนื้อหาสังคม เศรษฐศาสตร์จุลภาค

“วันนี้จะกินอะไรกันดีน้าา”
“อะไรก็ได้ … แต่ไม่เอาอาหารญี่ปุ่นนะ อาหารจีนก็ไม่ชอบ อาหารไทยวันนี้ก็ไม่อยากอะ”

หลายคนน่าจะเคยได้ยินหรือพูดบทสนทนาที่เกี่ยวกับการตัดสินใจประมาณนี้มาก่อน ซึ่งต่อให้ไม่ใช่เรื่องอาหาร เราก็ยังมีการตัดสินใจในเรื่องอื่น ๆ เช่น จะเดินทางยังไง หรือจะใส่เสื้อสีอะไรดี แล้วทุกคนรู้ไหมว่า การตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์หมดเลย

วันนี้พี่ก็เลยจะพาน้อง ๆ มาทำความรู้จักกับเศรษฐศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ความหมายของเศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงการเจาะลึกเนื้อหาของเศรษฐศาสตร์จุลภาค เช่น กลไกราคา ทางเลือกและค่าเสียโอกาส (ถ้าลองอ่านทั้งหมดแล้ว ทุกคนจะรู้ว่ามันใกล้ตัวกว่าที่คิด !!) พร้อมตัวอย่างข้อสอบจริงให้ลองทำด้วยน้า ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลยย

เศรษฐศาสตร์ คือ วิชาที่พูดถึงการตัดสินใจเลือก หรือการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ หรือประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด ทำให้เราไม่สามารถผลิตทุกสิ่งที่ต้องการได้ ดังนั้น การเรียนเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เศรษฐศาสตร์จุลภาค คืออะไร ?

เนื่องจากวิชาเศรษฐศาสตร์ ครอบคลุมการตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงประเทศชาติ ทำให้มีการแบ่งสาขาของวิชาเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 2 สาขาหลัก ๆ ประกอบด้วย

เศรษฐศาสตร์จุลภาค

เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคลและครัวเรือน ซึ่งจะกล่าวถึงเฉพาะส่วนย่อย ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น (เป็นเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัวเรา) เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค การกำหนดราคา เป็นต้น

เศรษฐศาสตร์มหภาค

สำหรับเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม หรือระดับประเทศ (เรียกว่าเป็นเรื่องใหญ่ ๆ นั่นเอง) เช่น เรื่องรายได้ประชาชาติ การคลังของประเทศ และภาวะการจ้างงาน เป็นต้น

เนื้อหาเศรษฐศาสตร์จุลภาคที่ควรรู้

ในบทความนี้ พี่ขอเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์จุลภาค ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ทำความเข้าใจในการเรียน หรือการทำข้อสอบในสนามต่าง ๆ ได้ เช่น การสอบในโรงเรียน หรือการสอบ A-Level สังคม เป็นต้น ซึ่งจะมีเรื่องอะไรบ้าง
ไปดูกันเลยย

หัวข้อเศรษฐศาสตร์จุลภาค

ปัจจัยการผลิต

ปัจจัยการผลิต คือ สิ่งที่ต้องนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดเป็นสินค้าและบริการ ประกอบด้วย

1. ที่ดิน หมายถึง ที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูก หรือสถานที่ของโรงงานที่ทำการผลิต (ผลตอบแทน คือ ค่าเช่า)
2. แรงงาน หมายถึง ความคิดและกำลังของมนุษย์ที่นำมาใช้ในการผลิต (ผลตอบแทน คือ ค่าจ้าง)
3. ทุน หมายถึง เครื่องจักรหรือเครื่องมือที่นำมาใช้ในการผลิต (ผลตอบแทน คือ ดอกเบี้ย)
4. ผู้ประกอบการ หมายถึง ผู้ที่รวบรวมปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดสินค้าและบริการ (ผลตอบแทน คือ กำไร)

ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์

จากความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่พูดถึงทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่มีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัดนั้น ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร จนนำไปสู่ปัญหาหลักทางเศรษฐศาสตร์ 3 ข้อ คือ

1. What ? (ผลิตอะไร)
2. How ? (ผลิตอย่างไร)
3. For Whom ? (ผลิตเพื่อใคร)

ทางเลือกและค่าเสียโอกาส

เมื่อเราต้องตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรามักจะมีคำถามในใจว่า “ทำสิ่งนี้ไปแล้ว จะคุ้มหรือไม่” เพราะเมื่อเราเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้ว เราจะไม่สามารถทำอีกสิ่งหนึ่งได้ในเวลาเดียวกัน เช่น

1. พลอยมีเงิน 1,000 บาท หากเลือกนำไปฝากธนาคาร ก็จะไม่สามารถนำไปลงทุนหุ้นได้
2. เพชรเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้ไม่สามารถเรียนคณะมนุษยศาสตร์ได้

ดังนั้น เมื่อเกิดการเลือก จะทำให้เกิดค่าเสียโอกาสตามมาเสมอ ซึ่งค่าเสียโอกาสนี้ จะวัดจากผลตอบแทนที่เราต้องเสียไปเมื่อไม่ได้ทำอีกอย่างหนึ่ง จากในตัวอย่าง พลอยมีค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้นำเงินไปลงทุนในหุ้น และเพชรมีค่าเสียโอกาส จากการที่ไม่ได้เรียนในคณะมนุษยศาสตร์นั่นเองง

กลไกราคา : อุปสงค์และอุปทาน

หากพูดถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ คำที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ คือ กลไกราคา หรืออุปสงค์และอุปทาน ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจและมองว่ายาก แต่ที่จริงสามารถอธิบายได้ง่าย ๆ ตามนี้เลยย

1. ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค การที่เราพอใจจะซื้อ และมีความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการ (ตรงนี้พี่ขอย้ำว่า ต้องครบทั้งสองส่วนน้า คือ ต้องอยากซื้อ และมีเงินที่จะซื้อด้วย) สิ่งนี้เรียกว่า อุปสงค์

2. ในฐานะผู้ขายหรือผู้ผลิต การที่เขาพอใจจะขาย และมีสินค้าและบริการที่พร้อมจะขาย (ตรงนี้พี่ขอย้ำว่า ต้องครบทั้งสองส่วนเหมือนกัน คือ ต้องอยากขาย และต้องมีของที่จะขายด้วย) สิ่งนี้เรียกว่า อุปทาน

ซึ่งทั้งอุปสงค์และอุปทาน จะเป็นไปตามกฎที่สัมพันธ์กับราคา ง่าย ๆ เลยก็คือ อุปสงค์จะเพิ่มขึ้น เมื่อราคาลด (ของถูก เรายิ่งอยากซื้อ) แต่อุปทานจะเพิ่มขึ้น เมื่อราคาแพง (ของแพง เขายิ่งอยากขาย) นั่นเอง

ตลาด

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องตลาด คือ ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน เพราะตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงซื้อขายสินค้าและบริการกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ ร้านค้า หรือต้องพบกัน ดังนั้นในแอปส้ม แอปฟ้า ที่เราซื้อขายของกันก็นับเป็นตลาดทั้งหมดเลยย โดยในทางเศรษฐศาสตร์ เราจะแบ่งตลาดออกเป็นประเภทย่อย ได้ดังนี้

1. ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เป็นตลาดที่มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก และผู้ซื้อผู้ขายสามารถเข้าออกตลาดได้โดยเสรี สินค้าและบริการในตลาดนี้ จะมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ (จะซื้อเจ้าไหนก็ใช้แทนกันได้)

ตัวอย่าง สินค้าในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เช่น สินค้าการเกษตร (ให้น้อง ๆ นึกภาพเป็นปลาดุก เราจะซื้อหรือจะขายปลาดุกก็ทำได้ง่าย ๆ ปลาดุกเจ้าไหนก็เหมือนกัน)

2. ตลาดผูกขาด เป็นตลาดที่ไม่มีคู่แข่งเลย เพราะมีผู้ขายอยู่เจ้าเดียวในตลาด ไม่มีสินค้ามาทดแทน หรือทดแทนได้ยาก ทำให้ผู้ขายมีอำนาจมากในตลาด สามารถกำหนดราคาเองได้ ผู้ขายรายอื่นจะเข้าไปแข่งขันก็ไม่สามารถเข้าไปได้

ตัวอย่าง สินค้าในตลาดผูกขาด เช่น ไฟฟ้า ประปา ยาสูบ (ให้น้อง ๆ นึกภาพเป็นการไฟฟ้า เราทุกคนต้องใช้ไฟฟ้า และมีไฟฟ้าเจ้าเดียว กำหนดราคาเท่าไรเราก็ต้องจ่าย ถ้าเราอยากเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเองก็ทำไม่ได้)

3. ตลาดผู้ขายน้อยราย เป็นตลาดที่มีผู้ขายตั้งแต่ 2-3 ราย สินค้าในตลาดสามารถใช้ทดแทนกันได้ ลักษณะคล้าย ๆ กัน จะไม่แข่งขันกันด้านราคา

ตัวอย่าง สินค้าในตลาดผู้ขายน้อยราย เช่น น้ำอัดลม รถยนต์ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (ให้นึกภาพสินค้าที่เราคิดชื่อผู้ผลิตได้ประมาณสองสามราย เช่น เครือข่ายโทรศัพท์ ดีแท็ค เอไอเอส ทรู ราคาจะไม่แตกต่างกันมาก ใช้เครือข่ายไหนก็คล้าย ๆ กัน)

4. ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด เป็นตลาดที่มีผู้ขายจำนวนมาก สินค้าและบริการส่วนใหญ่จะอยู่ในตลาดนี้ ซึ่งสินค้าในตลาดนี้จะแตกต่างกัน แต่สามารถใช้แทนกันได้ จะแข่งขันกันโดยใช้โฆษณาต่าง ๆ

ตัวอย่าง สินค้าในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน (ให้ทุกคนนึกภาพเป็นสบู่ มีหลายยี่ห้อในตลาด สินค้าแตกต่างกันทั้งแบบก้อน แบบเจล แบบครีม แต่เราสามารถใช้อันไหนก็ได้ ซึ่งเราอาจจะเลือกซื้อเพราะ 1 แถม 1 หรือซื้อเพราะชอบพรีเซนเตอร์ก็ได้)

เนื้อหาเศรษฐศาสตร์จุลภาค เรื่องประเภทของตลาดทางเศรษฐศาสตร์

ระบบเศรษฐกิจ

เมื่อโลกพัฒนาขึ้น และมนุษย์มีรูปแบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจในแต่ละประเทศมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการปกครอง วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ โดยเราสามารถแบ่งระบบเศรษฐกิจทั่วโลกได้เป็น 3 ระบบ นั่นก็คือ

1. ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม คอนเซปต์ง่าย ๆ ของระบบเศรษฐกิจนี้ คือ ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตได้ และมีเสรีภาพเต็มที่ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีกลไกราคาเป็นตัวกำหนดว่าควรผลิตอะไร ผลิตยังไง และผลิตเพื่อใครบ้าง

ข้อดี คือ ผู้ผลิตมีอิสระ สามารถผลิตสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยมีแรงจูงใจเป็นกำไร เขาก็จะคิด หรือสร้างสิ่งใหม่ ๆ มาให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ

ข้อเสีย คือ เมื่อการแข่งขันมีมากขึ้น ก็จะมีการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง และอาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำได้

2. ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเข้าไปควบคุม หรือเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และรัฐบาลจะเป็นผู้วางแผนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเอง โดยที่ประชาชนหรือผู้บริโภคจะถูกจำกัดสิทธิ์ในการเลือกบริโภค

ข้อดี คือ จะเกิดความเท่าเทียม เพราะรัฐบาลเป็นคนจัดการทุกอย่างให้หมด

ข้อเสีย คือ ถ้ารัฐบาลวางแผนผิดพลาด การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ และข้อเสียที่สำคัญ คือ ทางฝั่งเอกชนจะไม่มีแรงจูงใจในการผลิต ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ (อารมณ์ประมาณว่า ทำดีมาก ก็ไม่ได้อะไรเพิ่ม งั้นทำเท่าที่สั่งแล้วกันน)

3. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ประเทศไทยของเราใช้อยู่ คอนเซปต์ของระบบนี้เกิดจากการผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเข้าด้วยกัน โดยเอกชนสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตได้ ใช้กลไกราคาในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงในกิจการบางอย่าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่น ไฟฟ้า ประปา การขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

ข้อดี คือ ให้เอกชนแข่งขันกันได้ และรัฐบาลเข้าไปดูแลด้วย ก็จะทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้น

ข้อเสีย คือ ในบางกิจการที่รัฐบาลเข้าไปดูแล มักจะขาดทุน เนื่องจากทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนนั่นเอง

เนื้อหาเศรษฐศาสตร์จุลภาค เรื่องระบบเศรษฐกิจ

ตัวอย่างข้อสอบจริงเรื่องเศรษฐศาสตร์จุลภาค

หลังจากที่เราได้เรียนเศรษฐศาสตร์จุลภาคกันไปทั้งหมดแล้ว ก็ถึงเวลาเอามาปรับใช้ในข้อสอบดูบ้าง ซึ่งข้อนี้ที่พี่เลือกมาก็จะเกี่ยวกับเรื่อง กลไกราคาหรืออุปสงค์และอุปทานนี่เองง ตามพี่มาดูกันดีกว่าว่า ข้อสอบจริงเขาจะออกยังไงบ้าง

ข้อใดกล่าวถึงอุปสงค์ ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ได้ถูกต้อง [วิชาสามัญ สังคมศึกษา (มี.ค. 65)]

1. น้ำเงินต้องการไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางได้
2. แดงเป็นสาวกโทรศัพท์มือถือยี่ห้อดัง จึงอยากได้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ แต่รุ่นเก่ายังสามารถใช้งานได้อยู่
3. เหลืองซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ให้น้องชาย โดยการกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์
4. เขียวกดจองกล่องสุ่ม “รัก” ในเพจขายสินค้นออนไลน์ชื่อดัง แต่ไม่ได้ชําระเงิน
5. ขาววางแผนซื้อเงินดิจิทัล แต่เงินสดและเงินในบัญชีไม่พอ จึงรอซื้อในเดือนถัดไป

และคำตอบที่ถูกต้องที่สุด คือ ข้อ 3 นั่นเองง เพราะ เป็นข้อเดียวที่ครบองค์ประกอบของอุปสงค์ คือ 1. มีความอยากซื้อ และ 2. มีเงินที่จะซื้อด้วย ถึงแม้เขาจะไปกู้มา แต่ที่สุดแล้วมีเงินซื้อ ก็นับเหมือนกันนะ ดังนั้น จะอยากได้แล้วไม่มีเงิน หรือมีเงินแต่ไม่อยากซื้อ สิ่งนี้จะไม่นับเป็นอุปสงค์น้าา

เป็นยังไงกันบ้างกับเนื้อหาเศรษฐศาสตร์จุลภาคที่เพิ่งอ่านจบกันไป น้อง ๆ คงจะเห็นภาพรวมของเรื่องนี้กันมากขึ้นแล้ว
ใช่ไหมว่าที่จริงหลายสิ่งรอบตัวเราก็เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์จุลภาคทั้งนั้นเลย แถมเรื่องนี้ยังมีออกข้อสอบ A-Level สังคมด้วยนะ !!  ดังนั้นถ้าน้อง ๆ อ่านเนื้อหาจบแล้ว ก็อย่าลืมฝึกทำโจทย์หรือแบบฝึกหัดกันบ่อย ๆ ด้วยน้าา เราจะได้เข้าใจเนื้อหาเศรษฐศาสตร์จุลภาคมากขึ้น

แต่สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายของการเตรียมสอบสนาม A-Level แบบนี้ พี่เชื่อว่า น้อง ๆ ก็คงอยากจะทบทวนก่อนสอบ หรือเก็บเนื้อหารวมถึงฝึกทำโจทย์ A-Level สังคมให้ตรงจุดมากที่สุด เพราะเวลาเริ่มเหลือไม่มากแล้ว  ใครที่กำลังมองหาตัวช่วยที่จะลดเวลาอ่านหนังสืออยู่พี่ก็ขอแนะนำคอร์ส พิชิต A-Level สังคมศึกษา ฉบับรวบรัด สอนโดย ครูกอล์ฟ ที่เรียนจบได้ภายใน 30 ชม. ให้น้า

โดยคอร์สนี้พี่ก็จะสอนเนื้อหาวิชาสังคมครบทั้ง 5 พาร์ตแบบกระชับ พร้อมพาตะลุยโจทย์จัดเต็ม มีเฉลยละเอียดทุกข้อ รับรองว่าเทคนิคในการทำข้อสอบเพียบบบ เอาไปใช้อัปคะแนนสอบได้แน่นอน (กระซิบว่ามี Unseen Mock Test สังคมศึกษา ชุดพิเศษ 1 ชุด แถมให้ด้วย !!) ถ้าใครสนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก เลยย

คอร์สเรียน แนะนำ

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

ข้อสอบ a level สังคม ออกอะไรบ้าง
A-Level สังคม ออกสอบอะไรบ้าง ? พร้อมตัวอย่างแนวข้อสอบและคลิปติว
A-Level ไทย ออกสอบอะไรบ้าง
A Level ไทย ออกสอบอะไรบ้าง ? สรุปหัวข้อที่ควรเก็บพร้อมคลิปติวฟรี
ก่อนสอบ A-Level สังคมต้องรู้อะไรบ้าง
ก่อนสอบ A-Level สังคม ต้องรู้อะไรบ้าง ? สรุปให้ครบในบทความนี้
ทุกสิ่งที่ต้องรู้ก่อนสอบ A-Level ภาษาไทย
ก่อนสอบ A-Level ภาษาไทย ต้องรู้อะไรบ้าง? สรุปให้ครบในบทความนี้
สรุปเนื้อหาภาษาไทย การอ่านจับใจความ
การอ่านจับใจความ สรุปเนื้อหาพร้อมเทคนิคและข้อสอบจริงให้ลองทำ
-เศรษฐศาสตร์มหภาค
เศรษฐศาสตร์มหภาค สรุปเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์พร้อมข้อสอบจริง
https://www.smartmathpro.com/wp-content/uploads/2024/02/คำทับศัพท์.jpg
คำทับศัพท์ สรุปเนื้อหาและตัวอย่างคำทับศัพท์ พร้อมข้อสอบจริง

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Line : @smartmathpronews

รวมถึงข่าวสารต่าง ๆ อัปเดตอย่างเรียลไทม์

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share