สรุปเนื้อหา TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

เมื่อพูดถึง TPAT1 กสพท พี่เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นหูกับชื่อนี้กันมาบ้าง โดยเฉพาะกับน้อง ๆ ที่ฝันอยากจะเรียนคณะสายหมอในกลุ่ม กสพท เพราะวิชานี้เป็นวิชาที่ใช้สอบเข้าผ่านระบบของ กสพท โดยจะมีอยู่ 3 พาร์ตด้วยกัน คือ
พาร์ตเชาวน์ปัญญา, พาร์ตจริยธรรมแพทย์, และพาร์ตเชื่อมโยง

ซึ่งพี่ก็เคยสรุปเนื้อหาพาร์ตเชาวน์ปัญญา และ พาร์ตจริยธรรมแพทย์ ไปแล้ว ดังนั้นวันนี้เราจะไปเจาะลึกข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง กันดูบ้างว่าออกสอบอะไรบ้าง, แนวโน้มการออกข้อสอบปี 68, เทคนิคและจุดควรระวังในการทำข้อสอบ TPAT1 พาร์ตเชื่อมโยง และหัวข้ออื่น ๆ ที่เรียกได้ว่าอัดแน่นมากในบทความนี้ ไปดูกันเลยย

ก่อนที่จะไปเจาะลึกข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง ก่อนอื่นเรามารู้จักรูปแบบของข้อสอบนี้กันก่อนดีกว่า สำหรับข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง จะเป็น บทความ ที่มาพร้อมกับ ข้อความที่กำหนด ที่อยู่ในรูปแบบของตาราง
ต่อท้ายบทความ ซึ่งหน้าที่ของน้อง ๆ คือต้องหา “ความเชื่อมโยง” ของข้อความที่กำหนดให้ว่ามีความสัมพันธ์ในรูปแบบไหนและมีข้อความไหนบ้างที่สัมพันธ์กัน ผ่านการอ่านบทความนั่นเองงง

นอกจากเรื่องรูปแบบข้อสอบแล้ว ข้อมูลพื้นฐานของการสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง ก็สำคัญมากไม่แพ้กัน
โดยสิ่งที่น้อง ๆ ต้องรู้ก่อนเข้าห้องสอบก็จะมีตามที่พี่ลิสต์มาข้างล่างนี้เลยย

1. เวลาที่ใช้สอบ :  60 นาที

2. จำนวนข้อสอบ : 1 บทความ ความยาวประมาณ 2 หน้ากระดาษ

3. จำนวนข้อความที่กำหนด : 20 ข้อความ 

4. คะแนนเต็ม : 100 คะแนน (คะแนนเท่ากับพาร์ตเชาวน์ปัญญา และพาร์ตจริยธรรมแพทย์)

รีวิวข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยงปี 67 และคาดเดาทิศทางข้อสอบปี 68

สำหรับหัวข้อนี้ พี่ขอย้ำก่อนว่าข้อสอบ TPAT1 ไม่มี Test Blueprint ของข้อสอบน้า ดังนั้นข้อมูลที่พี่จะอธิบายให้น้อง ๆ ฟังต่อจากนี้จะมาจากการรีวิวข้อสอบปี 67 จากพี่ ๆ Dek67 ซึ่งข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยงปี 67 ไม่ได้ต่างจากปีก่อน ๆ แถมยังดูจะง่ายขึ้นเพราะคำที่ใช้หลอกความสัมพันธ์ก็ไม่ได้หลอกซับซ้อน สามารถอ่านบทความ
อย่างละเอียดและตอบได้เลยย

ส่วนสำหรับปี 68 หรือปีถัด ๆ ไป พี่คาดเดาว่าหากผู้จัดการสอบยังเป็น กสพท ข้อสอบพาร์ตเชื่อมโยงจะยังคงไปในแนวนี้อยู่ ไม่น่าต่างจากปีก่อนเท่าไร ส่วนที่อาจเปลี่ยนไปคงเป็นเรื่องวิธีการเขียนบทความที่อาจซับซ้อนมากขึ้นเพื่อให้น้อง ๆ หาความสัมพันธ์ของข้อความที่กำหนดให้ยากขึ้นนั่นเองง แต่บอกเลยว่าไม่ยากเกินความสามารถของน้อง ๆ แน่นอน ซึ่งพี่จะอธิบายวิธีการทำข้อสอบพาร์ตนี้ รวมถึงจุดที่ควรระวังในการทำข้อสอบในหัวข้อถัดไปน้าา

ข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง ทำยังไง ?

รู้จักความสัมพันธ์ระหว่างข้อความ

ย้อนกลับไปถึงรูปแบบของข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง ที่พี่บอกว่าเราต้องหาความสัมพันธ์ของข้อความที่โจทย์กำหนดให้ ซึ่งการที่เราจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อความต่าง ๆ ในบทความได้ น้อง ๆ ต้องรู้จักความสัมพันธ์และสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่มีทั้งหมด 4 แบบก่อน คือ

1. ความสัมพันธ์แบบ A “ทำให้เกิด” หากเขียนแผนผังมักใช้สัญลักษณ์ “ลูกศร”
2. ความสัมพันธ์แบบ F “ยับยั้ง” หากเขียนแผนผังมักใช้สัญลักษณ์ “ลูกศรกากบาท”
3. ความสัมพันธ์แบบ D “องค์ประกอบ / ลักษณะ / คุณสมบัติ” หากเขียนแผนผังมักใช้สัญลักษณ์ “ลูกตุ้ม”
4. ความสัมพันธ์แบบ 99H ใช้เมื่อข้อความที่โจทย์กำหนดไม่ได้มีความสัมพันธ์กับข้อความไหน

ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ของแต่ละความสัมพันธ์ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ภาพด้านล่างนี้เลยยย

ส่วนเรื่องการตอบข้อสอบพาร์ตนี้ เมื่อเข้าห้องสอบน้อง ๆ จะได้ชุดข้อสอบที่มีทั้งบทความและกระดาษคำตอบมาพร้อมกัน เมื่อน้อง ๆ หาความสัมพันธ์ในบทความได้แล้ว ให้ทำตามขั้นตอนนี้ได้เลยย

1. ถอดความสัมพันธ์เหล่านั้นมาเป็นรหัสแล้วฝนลงไปในกระดาษคำตอบ
2. ฝน “รหัส 3 ตัว” ประกอบด้วยเลขข้อความ 2 ตัวหน้า และอักษรภาษาอังกฤษอีก 1 ตัวท้ายเพื่อบอกรูปแบบ
ของการเชื่อมโยง เช่น เมื่อน้อง ๆ หาความสัมพันธ์ได้ว่าข้อความ 01 ทำให้เกิด 02 เมื่อไปตอบในกระดาษคำตอบตรง
ข้อ 01 น้อง ๆ จะต้องเขียนว่า 02A นั่นเอง

วิธีการตอบข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

บอกเลยว่าหัวข้อนี้สำคัญมากกก เพราะข้อสอบเชื่อมโยงปกติจะไม่มีการสอนในโรงเรียน พี่จึงได้รวบรวมรีวิวจากรุ่นพี่ที่ผ่านข้อสอบนี้มาก่อน แล้วสรุปออกมาเป็นจุดที่ต้องระวัง หรือจุดที่น้อง ๆ มักพลาดในข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ต
เชื่อมโยงทั้งหมด 4 ข้อ ตามนี้เลยย

1. การอยู่ร่วมกันของข้อความที่กำหนด : ข้อแรกที่น้อง ๆ มักพลาดเพราะความรีบ นั่นคือข้อความที่กำหนดไม่จำเป็นต้องอยู่แยกกันอย่างชัดเจน บางครั้งสามารถอยู่รวมกันเป็นข้อความเดียวได้ เช่น

ในบทความกล่าวว่า “เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554… …ทำให้ภาครัฐและประชาชนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาด้านอุทกภัย”

จุดที่ต้องระวังในการทำข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง คือ การอยู่ร่วมกันของข้อความที่กำหนด

จะเห็นว่า “ภาครัฐและประชาชนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาด้านอุทกภัย” คือการอยู่ร่วมกันของข้อความ 02 / 04 ดังนั้นเมื่อเขียนแผนภาพ จะได้ว่า [ 19 ทำให้เกิด 02 / 04 ]

2. การเล่นคำของข้อความที่กำหนด : บางครั้ง ข้อความที่กำหนดให้ในตารางกับข้อความในบทความจริงไม่ได้เขียนเหมือนกันเสมอไป แต่หากตีความแล้วมีความหมายเหมือนกัน จะนับได้ว่าข้อความในบทความจริงนั้นเป็นข้อความที่กำหนด เช่น

ในบทความกล่าวว่า “เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2564… …แต่มันส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างยาวนานโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่พบเจอกับภาวะขาดทุนเนื่องจากผลผลิตเสียหาย”

การเล่นคำของข้อความที่กำหนด เป็นจุดที่ต้องระวังใน TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

จะเห็นว่า “ภาคการเกษตรเสียหาย”และ “กลุ่มเกษตรกรที่พบเจอกับภาวะขาดทุนเนื่องจากผลผลิตเสียหาย” มี
ความหมายคล้ายกัน ดังนั้นเมื่อเขียนแผนภาพ จะได้ว่า [ 03 ทำให้เกิด 05 ]

3. ข้อความการอ้างถึง / กล่าวถึงทั้งหมด : ข้อนี้ไม่ยากแต่น้อง ๆ พลาดกันบ่อยมาก นั้นคือหากเจอข้อความที่มี
การอ้างถึงข้อความก่อนหน้า อย่างเช่น มาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น, การที่ต้องพยายามปรับตัวดังกล่าว
ให้น้อง ๆ ย้อนกลับไปอ่านข้อความก่อนหน้าว่ามีข้อความที่กำหนดอะไรบ้าง แล้วรวมทุกข้อความเหล่านั้นมาเขียนแผนภาพ เช่น

ในบทความกล่าวว่า “การปรับปรุงทางน้ำ การก่อสร้างทางระบายน้ำท่วม การกำหนดพื้นที่แก้มลิงเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำนองขนาดใหญ่ในช่วงฤดูน้ำหลาก (Room for the Rivers) มาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้เกิดผลอย่างชัดเจนในการยับยั้งและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมปี 2564 ได้”

ข้อความการอ้างถึง / กล่าวถึงทั้งหมด คือจุดที่มักพลาดบ่อยและควรระวังใน TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

จะเห็นได้ว่า “มาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้” นั้นเป็นการอ้างถึงมาตรการที่กล่าวมาก่อนหน้าคือ “การปรับปรุงทางน้ำ” “การก่อสร้างทางระบายน้ำท่วม” และ “การกำหนดพื้นที่แก้มลิง” ดังนั้นเมื่อเขียนแผนภาพ จะได้ว่า
[ 07 / 12 / 20 ยับยั้ง 03 ]

4. อ่านทั้งย่อหน้าให้ครบก่อนสรุปความสัมพันธ์ : ในการทำข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง พี่แนะนำว่าอย่าเพิ่งเร่งด่วนสรุป แต่ต้องอ่านให้ครบทุกตัวอักษรก่อนน้า เพราะบางครั้งในบทความจะพบข้อความที่กำหนดอยู่ใกล้กัน แต่ไม่มีข้อความเชื่อมความสัมพันธ์ ซึ่งหากอ่านให้ครบ น้อง ๆ จะเจอความสัมพันธ์ในส่วนหลังของย่อหน้า เช่น

ในบทความกล่าวว่า “กระทั่งปี 2564 เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ซึ่งพัดตัวขึ้นฝั่งที่เวียดนามทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในแถบภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พายุเตี้ยนหมู่นี่เองเป็นตัวการทำให้เกิด
น้ำท่วมในปีนั้น”

จุดที่ควรระวังใน TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง คือ การอ่านให้ครบทุกตัวอักษรเพื่อเช็กความสัมพันธ์ทั้งหมดของข้อความ

จะเห็นว่าในบทความมีการกล่าวถึงข้อความ 03 “น้ำท่วมปี 2564” และ 10 “พายุเตี้ยนหมู่” ตั้งแต่ต้นย่อหน้า แต่น้อง ๆ จะไม่เจอความสัมพันธ์ซึ่งหากอ่านจนจบ เราจะพบความสัมพันธ์คือ “พายุเตี้ยนหมู่นี่เองเป็นตัวการทำให้เกิดน้ำท่วมในปีนั้น” ดังนั้นเมื่อเขียนแผนภาพ จะได้ว่า [ 10 ทำให้เกิด 03 ]

จะสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง ต้องเตรียมตัวยังไง ?

ด้วยเพราะข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง ไม่ได้มีการสอนวิธีทำในหลักสูตร แถมแนวของข้อสอบก็ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยมาหลายปีแล้ว วิธีการเตรียมตัวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการทำแบบฝึกหัดนั่นเองง น้อง ๆ สามารถหาแบบฝึกหัดทำเพื่อฝึกมือได้เลย เพราะการฝึกทำแบบฝึกหัด นอกจากจะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการทำข้อสอบแล้ว จะทำให้น้อง ๆ มีภูมิคุ้มกันในการอ่านบทความอีกด้วยน้าา

อีกเหตุผลที่พี่แนะนำให้น้อง ๆ ทำแบบฝึกหัด เพราะว่าหลักสำคัญในการทำข้อสอบพาร์ตเชื่อมโยงคือ การอ่าน ซึ่ง
การอ่านเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝน บางคนอ่านช้า บางคนอ่านเร็วแต่ติดการอ่านข้าม บางคนต้องอ่านบทความ 2 – 3 รอบถึงจะเข้าใจเรื่องราวของบทความ เรื่องพวกนี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำข้อสอบประเภทที่มีบทความยาว ๆ อย่าง TPAT1 พาร์ตเชื่อมโยงเลยย

ดังนั้นวิธีการฝึกฝนและกำจัดอุปสรรคเหล่านี้ที่ดีที่สุดคือการทำแบบฝึกหัดเยอะ ๆ เข้าไว้ สำคัญกว่านั้นเมื่อทำแล้วน้อง ๆ ต้องดูว่าเราพลาดตรงไหน พลาดตรงอ่านบทความหรือพลาดตอนเขียนความสัมพันธ์ แล้วพยายามปิดรอยรั่วเหล่านั้นก่อนเริ่มทำชุดใหม่ ถ้าทำตามเทคนิคที่พี่แนะนำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ 100 คะแนนเต็มไม่ไปไหนไกลแน่นอน

(ส่วนใครที่ต้องการแบบฝึกหัดเพิ่มเติม ถ้าลองทำแบบฝึกหัดแนวของ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยงยังไม่หนำใจ
พี่แนะนำว่าให้ทำข้อสอบเก่า GAT เชื่อมโยง ซึ่งรูปแบบข้อสอบคล้าย TPAT1 เลย แต่ตัว GAT จะง่ายกว่า หลอกไม่ซับซ้อน และกำหนดข้อความให้หาความสัมพันธ์น้อยกว่า)

นอกจากนั้น TPAT1 เป็นวิชาที่ไม่มีสอนในหลักสูตรของโรงเรียน ทำให้น้อง ๆ ที่ใฝ่ฝันอยากจะเข้าคณะกลุ่มหมออาจรู้สึกกังวลได้ว่าจะเตรียมตัวสอบไม่ถูก หรือไม่แน่ใจว่าควรเก็บเนื้อหาหรือฝึกทำโจทย์ยังไงถึงจะตรงจุดที่สุด อีกทั้งกำหนดการ TCAS68 ก็ขยับขึ้นมาเร็วขึ้น ใครที่กำลังกังวลเรื่องนี้อยู่ วันนี้พี่มีตัวช่วยดี ๆ อย่างคอร์สเตรียมสอบ TPAT1 ที่พี่สอนร่วมกับ อ.ขลุ่ย และพี่หมออู๋ ให้เลยยย

โดยคอร์สนี้จะสอนครบทุกพาร์ตของ TPAT1 ตั้งแต่ปูพื้นฐานเนื้อหา (คนที่ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้) พาตะลุยโจทย์หลายระดับแบบจัดเต็ม พร้อมบอกเทคนิคและแนวคิดในการทำข้อสอบแต่ละพาร์ตที่จะช่วยให้น้อง ๆ  ทำข้อสอบได้ทันเวลา และเพิ่มโอกาสในการอัปคะแนนอีกด้วย 

แนะนำให้เริ่มเตรียมสอบกันตั้งแต่ตอนนี้เลย น้อง ๆ จะได้มีเวลาทบทวนเนื้อหาและฝึกทำโจทย์ให้พร้อมยิ่งขึ้น และที่สำคัญ ถ้าสมัครคอร์ส TPAT1 ตั้งแต่ตอนนี้ พี่มี Unseen Mock Test ชุดพิเศษ 1 ชุด แถมไปให้พร้อมสิทธิพิเศษประจำเดือนอีกมากมายด้วยน้า ถ้าน้อง ๆ Dek68 คนไหนสนใจคอร์ส TPAT1 สามารถ คลิก เข้ามาดูรายละเอียดได้เลยย

การคิดคะแนน TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

สำหรับการคิดคะแนนของ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยงก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด ซึ่งน้อง ๆ คนไหนที่อยากลองคิดคะแนนของตัวเองเวลาฝึกทำโจทย์หรือแบบฝึกหัดก็สามารถยึดตามนี้ได้เลยย

1. คะแนนแต่ละรหัสย่อย นำคะแนนเต็ม (100) หารด้วยจำนวนคำตอบ นั่นคือ คะแนนแต่ละรหัสย่อย เช่น 01A, 02D ฯลฯ จะมีคะแนนรหัสละเท่าไร ขึ้นอยู่กับจำนวนคำตอบที่ ถูกต้องทั้งหมดในข้อสอบฉบับนั้น โดยใช้สูตร

คะแนนแต่ละรหัส = 100 / จำนวนรหัสที่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง

เช่น ข้อสอบเชื่อมโยงฉบับหนึ่ง มีจำนวนรหัสที่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง 40 รหัส หมายความว่า ทุกรหัสจะมี 
คะแนน 2.5 คะแนน

2. ตอบถูกครบถ้วน รับคะแนนเต็ม ๆ จากข้อที่แล้วพี่ยกตัวอย่างว่า ข้อสอบชุดหนึ่ง มีจำนวนรหัสที่เป็นคำตอบที่
ถูกต้อง 40 รหัส รหัสละ 2.5 คะแนน

สมมติข้อความ 01 มีคำตอบคือ 02A 03D 04D 05F ถ้าใครตอบ 02A 03D 04D 05F ครบทั้ง 4 คำตอบ ก็จะได้คะแนนทั้งหมด 4 x 2.5 = 10 คะแนน

3. ตอบไม่ครบ ไม่หักคะแนน ในกรณีที่ข้อความ 01 มีคำตอบคือ 02A 03D 04D 05F หากน้อง ๆ ตอบ 02A 03D 04D แค่ 3 คำตอบ โดยขาด 05F ไป น้อง ๆ ก็จะได้คะแนนทั้งหมด 3 x 2.5 = 7.5 คะแนน นั่นคือ ไม่ได้มีการหักคะแนนเพิ่ม แต่ก็จะไม่ได้เต็มเพราะตอบไม่ครบ

4. ตอบผิดติดลบจุดละ 3 คะแนน มาถึงความโหดร้ายของข้อสอบเชื่อมโยงแล้ว นั่นคือ ถ้ามีการตอบรหัสที่ไม่ใช่คำตอบซึ่งรวมถึงการตอบถูกเลขแต่อักษร A, D, F, H ผิด น้อง ๆ จะถูกหักรหัสละ 3 คะแนน โดยไม่สนว่าปีนั้นคำตอบที่ถูกจะมี
ค่ารหัสละกี่คะแนน เช่น

ในกรณีที่ข้อความ 01 มีคำตอบคือ 02A 03D 04D 05F แต่ตอบ 02D 03D 04D 05F จะเห็นว่า มีรหัสที่ถูก 3 คำตอบ
มีรหัสที่ผิด 1 คำตอบ (ถือว่า 02A ไม่ได้ตอบ และ 02D เป็นคำตอบที่ผิด) ก็จะได้คะแนนทั้งหมด 3 x 2.5 = 7.5 คะแนน แต่
ถูกหักไป 1 x 3 = 3 คะแนน คงเหลือ 4.5 คะแนน

(ถ้าเทียบกับคะแนนเต็ม 10 คะแนน การผิดแค่ตัวอักษร A กับ D แล้วทำให้คะแนนข้อนี้เหลือไม่ถึงครึ่ง ถือว่าน่ากลัว
มากเลย ดังนั้นพี่แนะนำว่าให้รอบคอบเวลาทำข้อสอบมาก ๆ น้าจะได้ไม่เสียคะแนนกัน)

5. ข้อสอบจะไม่หักคะแนนข้ามข้อ เรื่องโหดร้ายไปแล้ว มาถึงเรื่องใจดีของข้อสอบบ้างดีกว่า ในกรณีที่คะแนนหักมากกว่าคะแนนที่ได้จนทำให้คำตอบติดลบ จะถือว่า คะแนนของข้อนั้นจะเท่ากับ 0 คะแนน โดยส่วนที่ติดลบก็จะหายไป ไม่ได้เอาไปติดลบในข้อถัดไปด้วย เช่น

ในกรณีที่ข้อความ 01 มีคำตอบคือ 02A 03D 04D 05F แต่น้อง ๆ ตอบ 02A 03A 04A 05F จะเห็นว่า มีรหัสที่ถูก 2
คำตอบ มีรหัสที่ผิด 2 คำตอบก็จะได้คะแนนทั้งหมด 2 x 2.5 = 5 คะแนน แต่ถูกหักไป 2 x 3 = 6 คะแนน คงเหลือ –1 คะแนน ซึ่งกรณีนี้ จะปรับว่าข้อนี้ได้ 0 คะแนน โดยไม่นำ –1 ที่ค้างอยู่ไปลบเพิ่มในคะแนนรวม

6. ตอบสลับตำแหน่งได้ นับว่าเป็นอีกเรื่องใจดีของข้อสอบเลย เพราะเราไม่จำเป็นต้องเรียงเลขเวลาตอบข้อสอบ เช่น

ข้อความ 01 มีคำตอบคือ 02A 03D 04D 05F แล้วเราฝนคำตอบแบบไม่เรียงลำดับ เป็น 05F 02A 03D 04D เราจะยังได้คะแนนเท่าเดิมกับการตอบแบบเรียงลำดับคือ 10 คะแนน

ตัวอย่างแนวข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

มาถึงส่วนของหน้าตาข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยงกันแล้วว ข้อสอบต่อไปนี้ที่พี่นำมาให้น้อง ๆ ดูไม่ใช่ข้อสอบจริงน้า แต่เป็นข้อสอบที่ออกมาเสมือนข้อสอบจริงเท่านั้น

สำหรับน้อง ๆ มือใหม่ที่เริ่มอ่านบทความนี้พี่ปรับให้ข้อสอบชุดนี้ง่ายกว่าข้อสอบจริงนิดหน่อย โดยลดจำนวนข้อความที่กำหนดให้จากข้อสอบจริงจะมี 20 ข้อความให้เหลือ 10 ข้อความ แต่สำหรับตัวบทความ แม้จะมีความยาวไม่เท่ากับข้อสอบจริง แต่ลักษณะการเขียนและการหลอกไม่ต่างจากบทความจริงเลย ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว ไปลุยกันเลยย

ตัวอย่างแนวข้อสอบที่ 1 TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

การเดินทางสู่ความสำเร็จ

หากการเดินทางสู่จุดหมายของชีวิตเปรียบเสมือนการเดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่งด้วยรถยนต์หนึ่งคันด้วยต้นทุนที่เรามีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน สมรรถนะของรถ เวลา ฯลฯ เราทำอย่างไรจึงจะทำให้เราถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้ได้โดยที่ยังมีความสุขตลอดเวลาของการเดินทาง

ความสำเร็จบนเส้นทางชีวิตในองค์รวมย่อมมีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณาหลายด้าน หลายคนจะมองเพียง
องค์ประกอบหลักแค่ว่า เราไปถึงจุดหมายที่ต้องการหรือไม่ หลายคนกดดันตัวเองยิ่งกว่าจึงเลือกจดจ้ององค์ประกอบอีกข้อหนึ่งคือ เราไปถึงจุดหมายนั้นได้ภายในเวลาที่ตั้งใจไว้หรือไม่ แน่นอนว่าทั้งสองด้านนี้คือสองสิ่งหลัก ๆ ที่คนส่วนใหญ่มองหา อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่มักหลงลืมองค์ประกอบของความสำเร็จดังกล่าวอีกสองข้อ ที่จะทำให้ความสำเร็จนั้นคุ้มค่ากับการลงแรงและลงมือทำ ข้อแรกก็คือ เป้าหมายชีวิตที่วางไว้ได้เหมาะสมกับตนเอง คำว่าเหมาะสมนั้น ได้แก่ เหมาะสมแก่กำลังและเหมาะสมแก่เวลาที่มีอยู่ บางคนมีศักยภาพสูงแต่ตั้งเป้าหมายไว้ต้อยต่ำ ก็ย่อมทำให้รู้สึกไม่ท้าทายและเฉื่อยชา ในทางกลับกัน บางคนอาจกำลังตั้งเป้าหมายไว้สูงลิ่ว โดยลืมนึกถึงต้นทุนทางความสามารถที่ไม่ได้สั่งสมไว้แต่เดิม จึงมักจะลงเอยด้วยความผิดหวัง อย่างไรก็ดี คำว่า “ศักยภาพ” ที่กล่าวถึงในที่นี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ผู้เขียนเชื่อว่าหากเราสละเวลาทุ่มเททำบางสิ่งบางอย่างเป็นเวลานานพอ “ศักยภาพ” หรือ “ความสามารถ” ของคนเราต้องดีขึ้นได้เป็นแน่

องค์ประกอบสำคัญอีกข้อหนึ่งที่จะทำให้การลงแรงเพื่อความสำเร็จของเราคุ้มค่า คือ การเลือกเส้นทางที่เกื้อหนุน
ความสุขของเรา ไม่ใช่สักแต่ว่าเลือกเพราะแรงกดดันของสังคมหรือคนรอบข้าง สุดท้ายเมื่อเดินทางถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ คนที่จะชื่นชมและอยู่กับมันมากที่สุดคือตัวเราเอง หากไม่ใช่เพื่อความพึงพอใจของเราแล้ว ย่อมไม่คุ้มค่าที่จะลงมือทำแม้แต่น้อย การเลือกเส้นทางเช่นนี้ย่อมทำให้เรามีความสุขท่ามกลางความเหน็ดเหนื่อย ไม่ทุกข์ทรมานกับการไขว่คว้าจนเกินไป รวมทั้งไม่ทำให้เรากลายเป็นเครื่องจักรไร้จิตใจที่มุ่งแต่จะเดินหน้าไล่ตามความสำเร็จตลอดเวลาตัวอย่างข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

เฉลย

เฉลยตัวอย่างข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

ตัวอย่างแนวข้อสอบที่ 2 TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

ภาวะโลกร้อน

ปัจจุบันดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่เราอาศัยอยู่กำลังประสบปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศสูงขึ้น โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดถึงความเป็นไปได้ที่อุณหภูมิเฉลี่ยใกล้พื้นผิวโลกระหว่างปี 2566 ถึง 2570 จะสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และอาจร้อนที่สุด
เป็นประวัติการณ์ตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านี้
กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน หรือการทำฟาร์มปศุสัตว์ เป็นกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลให้เกิดปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อนต่อไปได้ เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน
หลายคนอาจไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว ก๊าซเรือนกระจกมีทั้งก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา ก๊าซเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของบรรยากาศโลกที่มีความสำคัญ เพราะมันช่วย
ดูดคลื่นรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ในเวลากลางวัน แล้วค่อย ๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน
ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หากไม่มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศห่อหุ้มไว้
จะทำให้อุณหภูมิในตอนกลางวันนั้นร้อนจัดและในตอนกลางคืนนั้นหนาวจัด ก๊าซเหล่านี้จึงมีความจำเป็นในการรักษาอุณหภูมิของโลกให้คงที่ แต่ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจกมีปริมาณมากขึ้นจนส่งผลให้โลกสะสมความร้อนไว้มาก
ดังที่เราเรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” จนส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์จนเกิดปัญหาระบบนิเวศตามมามากมาย
ปัจจุบันนักวิชาการหลายคนลงความเห็นว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาเร่งด่วน ดังจะเห็นจากผลกระทบที่เกิดจากการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเปลี่ยนแปลงไปได้ปรากฏให้เห็นบ่อยขึ้น อาทิ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากการที่น้ำแข็ง
ขั้วโลกละลายเพราะอุณหภูมิผิวน้ำสูงขึ้น พืชท้องถิ่นเดิมไม่สามารถเพาะปลูกได้เนื่องจากอากาศร้อนเกินไป
หรือจำนวนของหมีขั้วโลกลดลงเนื่องจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปทำให้หมีขั้วโลกตื่นก่อนหมดฤดูจำศีล
แม้จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาในระดับมหภาคเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกมาเป็นเวลายาวนาน ตัวอย่างเช่น
พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งระบุการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้อย่างชัดเจน พิธีสารดังกล่าว
มีการกำหนดและควบคุมกิจกรรมของมนุษย์อันก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกไม่ให้มากจนเกินไป แต่นอกจากระดับนโยบายแล้ว เราในฐานะมนุษย์ที่ใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ ก็ย่อมต้องมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาเรื้อรังนี้ด้วย
นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเสนอว่า นอกจากเราต้องช่วยกันประหยัดพลังงานเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนแล้ว การปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้เช่นกัน เพราะต้นไม้จะสามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศไปเปลี่ยนเป็นก๊าซออกซิเจนได้ซึ่งจะดีต่อมนุษย์ในระยะยาว ยิ่งมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเท่าไรก็จะดีต่อ
ระบบนิเวศมากขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งนี้เราต้องเร่งช่วยกันคนละไม้คนละมือ หากเรายังนิ่งนอนใจ ไม่ร่วมกันแก้ปัญหา
มนุษย์อาจจะไม่มีโลกให้อาศัยอยู่ในที่สุด ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อเวลาของดาวเคราะห์สีน้ำเงินนี้ให้มนุษย์ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ต่อไป

เฉลย

การยกข้อสอบมาครั้งนี้นอกจากจะให้น้อง ๆ ได้เห็นหน้าตาของข้อสอบ TPAT1 พาร์ตเชื่อมโยงแล้ว พี่ยังอยากให้น้อง ๆ ได้ลองฝึกทำข้อสอบด้วยน้า ดังนั้นสามารถลองทำข้อสอบแล้วเขียนรหัสตอบในตารางจริง ๆ ได้เลย ใครลองทำดูแล้ว และอยากดูเฉลยแบบละเอียดก็กดดูคลิปเฉลยละเอียดจาก อ.ขลุ่ย ด้านล่างนี้ได้น้าา

ดูคลิปติว TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง

ดูคลิปติวฟรี TPAT1 กสพท อื่น ๆ ได้ที่ Youtube : SmartMathPro

อ่านมาจนถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเห็นแล้วว่า ที่จริงข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตเชื่อมโยง อาจจะไม่ใช่พาร์ตที่มีเนื้อหาซับซ้อนเท่าไร แต่เป็นพาร์ตที่ต้องอาศัยความรอบคอบและความละเอียดในการทำข้อสอบสูงมากกก ถึงจะถอดความสัมพันธ์ในบทความออกมาได้ถูกต้อง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวเป็นอย่างมาก อีกทั้งกำหนดการสอบ TCAS68 เร็วขึ้นกว่าปีก่อน เพราะฉะนั้นพี่เองเชื่อว่าเมื่อถึงวันสอบจริงทุกคนจะทำคะแนนพาร์ตนี้รวมถึงพาร์ตอื่น ๆ ของ TPAT1 กสพท ออกมาได้ดีแน่นอน ดังนั้นพี่เป็นกำลังใจให้ทุกคนเลย สู้ ๆ กับการอ่านหนังสือน้าา

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

สรุป TPAT1 กสพท 68 ฉบับอัปเดตล่าสุด ตามแถลงการณ์
กสพท คืออะไร? กสพท 68 มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง อัปเดตล่าสุด 20 ส.ค. 67
สรุปข้อสอบ กสพท TPAT1 จริยธรรมแพทย์
เจาะลึกข้อสอบ TPAT1 กสพท จริยธรรมแพทย์ พร้อมแนวข้อสอบและคลิปติวฟรี
เจาะลึกข้อสอบ TPAT1 กสพท คณิตเชาวน์ปัญญา
เจาะลึกข้อสอบ TPAT1 กสพท เชาวน์ปัญญา พร้อมแนวข้อสอบและคลิปติวฟรี
Dek68 จะสอบเข้ามหาลัยฯ ต้องเตรียมตัวยังไง ?
Dek68 สอบเข้ามหาลัยฯ ควรเริ่มยังไง? สรุปทุกขั้นตอนควรรู้ของ TCAS68
เตรียมตัวอ่านหนังสือ TCAS68 ยังไงให้สอบติด
เตรียมสอบเข้ามหาลัยฯ TCAS68 ยังไง พร้อมแจกวิธีอ่านหนังสือให้ Dek68

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share