
จากระบบสอบที่จะปรับเปลี่ยนไปตั้งแต่ TCAS66 เป็นต้นไป หลายๆ คนอาจจะกังวลเรื่องการเตรียมตัว จะมีอะไรเปลี่ยนไปมากมั้ย น่าจะออกสอบประมาณไหนบ้าง และเตรียมตัวยังไง โดยเฉพาะใน TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท ในส่วนของ ข้อสอบเชาว์ปัญญา วิชาคณิตศาสตร์ วันนี้พี่เลยจะจัดเต็มให้ในบทความนี้ …
แต่วันนี้ไม่ได้มีแค่พี่ปั้นคนเดียว ยังมีทีมวิชาการสุดเจ๋งของ SmartMathPro (พี่แซ็ก พี่บอส และพี่เน็ตตี้) มาเสริมให้บทความนี้ครบถ้วนยิ่งขึ้น พวกพี่จะมาแฉให้หมดเปลือกกันวันนี้เลย !!
อิงตามข้อมูล ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2565 นะครับ ซึ่งถ้าอนาคตมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม พี่จะมาอัปเดตในบทความหน้านี้เลยน้า
(หลายคนอาจถาม แล้วคณิตประยุกต์ละ !! นี่เลยสำหรับ A-Level คณิตประยุกต์ 1 ที่น้องๆ ที่จะเข้าสายสุขภาพต้องใช้ พี่เคยเขียนไว้แล้วในบทความคณิตประยุกต์น้า อ่านได้ ที่นี่ เลย)
TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท
สำหรับน้องที่จะเข้าสายสุขภาพ ในคะแนนเต็ม 100% จะมี 70% มาจากวิชาสามัญวิชาต่างๆ (A-Level) และอีก 30% ที่มาจากส่วนของวิชา TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท หรือที่เรียกกันว่า ความถนัดทางแพทยศาสตร์ ค่อนข้างเยอะพอสมควรเลย และ ณ เวลานี้ยังไม่มีโครงสร้างข้อสอบ หรือ Test Blueprint ออกมา T__T แต่จากประกาศล่าสุดของทางกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ทำให้ทราบได้ว่า ข้อสอบน่าจะมีความใกล้เคียงกับปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งวิชาเฉพาะ กสพท ในปี 2565 แบ่งเป็น 3 ฉบับ ดังนี้
- ฉบับที่ 1 ข้อสอบเชาว์ปัญญา จำนวนข้อสอบ 45 ข้อ เวลา 75 นาที
- ฉบับที่ 2 ข้อสอบจริยธรรมและทัศนคติทางการแพทย์ จำนวนข้อสอบ 60 ข้อ เวลา 60 นาที
- ฉบับที่ 3 ข้อสอบการคิดวิเคราะห์ (ลักษณะข้อสอบ GAT เชื่อมโยง) จำนวน 1 บทความ เวลา 60 นาที
สำหรับ TCAS66 นี้ ข้อสอบความถนัดแพทย์ พาร์ทเชาว์ปัญญา จะอยู่ใน TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท ฉบับที่ 1 เชาว์ปัญญา นั่นเอง ซึ่งพี่ปั้นก็เป็นคนที่สอนในพาร์ทนี้เอง เย้ !!
ถ้าอ้างอิงจากข้อสอบปี 2565 จะสามารถแบ่งได้เป็น 6 หมวด คือ
- อนุกรมมิติ
- ตรรกศาสตร์ (การให้เหตุผล)
- การวิเคราะห์เงื่อนไขของข้อมูล
- โจทย์ปัญหา บทความ กราฟ ตาราง
- มิติสัมพันธ์และอนุกรมภาพ
- การใช้ภาษาและการจับใจความ
สำหรับคณิตศาสตร์ พาร์ทเชาว์ปัญญา ก็จะเกี่ยวข้องกับหมวดที่ 1 – 5 โดยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสมัครสอบ TPAT1 รวมถึงจำนวนรับและหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาฯ กสพท สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ ที่นี่ เลยครับ
ความเปลี่ยนแปลงของข้อสอบ TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท

เมื่อเปรียบเทียบข้อสอบ กสพท ปี 2565 เทียบกับปีก่อนๆ สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ พบว่า
- ลด ข้อสอบอนุกรมมิติและมิติสัมพันธ์ลงไปมาก จากที่เคยมีหลายข้อ เหลือเพียง 2 จาก 45 ข้อ ซึ่งพี่ก็ไม่แน่ใจว่าปีถัดไปจะกลับมาเยอะเหมือนเดิมมั้ยน้า 555+ (เพราะเอาจริงๆ ข้อสอบมีการปรับลดส่วนนั้น เพิ่มส่วนนี้เล็กๆ น้อยๆ ตลอดเลย)
- เพิ่ม โจทย์ปัญหาแนวอ่านค่าจากกราฟหรือตาราง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับข้อสอบ BMAT (BioMedical Admissions Test) ที่เป็นข้อสอบนานาชาติในการยื่นเข้าคณะกลุ่มแพทย์ในรอบ Portfolio ของปีก่อนๆ พี่ว่าข้อสอบหลังจากนี้น่าจะเน้นการวิเคราะห์ และตีความจากข้อมูล มากกว่าที่จำทำถึกๆ ครับ
คาดการณ์ข้อสอบ และ การรับมือเบื้องต้น
สำหรับ TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท ข้อสอบน่าจะยังมี 6 หมวดเช่นเดิมครับ เพียงแต่จำนวนข้อสอบแต่ละหมวดอาจมีความมากน้อยแตกต่างกันออกไป และเอาจริงๆ ก็คาดการณ์ค่อนข้างยาก เพราะแต่ละปีจำนวนข้อสอบแต่ละหมวดก็เปลี่ยนแปลงไปในทุกปีอย่างที่กล่าวในย่อหน้าข้างบน แต่คาดการณ์ว่าข้อสอบแนวอ่านค่าจากกราฟหรือตารางน่าจะยังมีจำนวนเยอะเช่นเดียวกับปี 2565
แต่ถ้าจะให้แนะนำแบบตรงๆ … พี่มองว่าน้องฝึกทุกแนวที่เคยออกให้เยอะที่สุดเลยดีกว่า แม้จะคาดการณ์ยากกว่าอะไรออกมาก ออกน้อย แต่ถ้าเราฝึกไปหมดก็ไม่ต้องหวั่นไหวแล้วจริงมั้ย ยังไงมันก็ออกวนอยู่แค่ในหัวข้อเหล่านี้เนี่ยแหละ (และเพิ่มเติมจากล่าสุด !! เริ่มมีมหาวิทยาลัยมีประกาศว่าสามารถยื่น TPAT1 ในรอบ Portfolio ของคณะสายแพทย์ได้ด้วยครับ เตรียมตัวรอไว้เลย)
แนวทางข้อสอบคาดว่าจะเน้นไปทางการวิเคราะห์ เน้นความเฉลียวมากกว่าความถึก หากน้องจับหลักได้ เข้าใจ concept จะทำได้ไม่ยาก
พยายามจับไอเดียของข้อสอบให้ได้ว่าข้อนี้คือเรื่องอะไร ถ้าข้อไหนที่คิดถึกๆ ยาวๆ เดาได้เลยว่าน้องอาจจะมาผิดทาง 555+ และไม่รู้จะเรียกว่าข้อดีหรือข้อเสียดี เพราะข้อสอบคณิตศาสตร์ ความถนัดแพทย์ พาร์ทเชาว์ปัญญา เป็นเนื้อหาที่แทบไม่มีในห้องเรียนในระดับ ม.ปลายเลย เนื้อหาเป็นแนว ม.ต้น ผสมๆ กับโจทย์ปัญหา ข้อดีคือ สมมติน้องไม่ชอบเลข ม.ปลายนัก แต่น้องก็อาจจะทำคณิตในพาร์ทนี้ได้ เพราะมันแตกต่างกัน
แต่ข้อเสียคือ นอกจากน้องจะต้องเตรียมเลข ม.ปลายแล้ว น้องจะต้องฝึกแนวนี้เพิ่มอีก มันไม่ได้ง่ายนักอย่าประมาท แต่ก็ไม่ได้ยาก !! พี่ว่ามันฝึกฝน อัปเลเวลตัวเองได้ง่ายกว่าเลข ม.ปลายพอสมควรเลย
ความพิเศษอีกอย่างของปีนี้คือ ข้อสอบเชาว์ปัญญา ไม่ได้มีแค่ใน TPAT1 กสพท เพียงอย่างเดียว ใน TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล และ TPAT3 ความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ก็มีคณิตศาสตร์ เชาว์ปัญญา อยู่ในนี้ด้วย
ซึ่งน้องๆ สามารถดูแนวข้อสอบเบื้องต้นได้ใน Test Blueprint เลย เรียกว่ามีแนวโจทย์ที่ซ้ำซ้อนกับ TPAT1 พอสมควรเลยครับ หรือจริงๆ เรียกว่า 2 วิชาดังกล่าว เอาข้อสอบแนวคณิตศาสตร์ เชาว์ปัญญา กสพท ไปรวมด้วยก็อาจไม่เกินจริง 555+ อะแนบลิงก์ Test Blueprint ให้ด้วย คลิกเลย จะได้เห็นภาพ (อ่านบทความนี้ให้จบก่อน ค่อยกดไปดูก็ได้นะ อิอิ)
คณิตศาสตร์ ข้อสอบเชาว์ปัญญา ใน TCAS66

เนื่องด้วยแนวโจทย์ทั้ง 3 วิชามีความทับซ้อนกันพอสมควร ดังนั้นการฝึก คณิตศาสตร์ เชาว์ปัญญา ครั้งนี้อาจเป็นการยิงปืนนัดเดียว ได้นก 3 ตัวเลย (TPAT1 + TGAT2 + TPAT3)
ดังนั้นพี่ขอกล่าวรวมไปด้วยกันเลยนะครับ ซึ่งคณิตศาสตร์ พาร์ทเชาว์ปัญญา จะมีอยู่ใน 3 วิชา ดังนี้
- TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท
- TGAT2 ความถนัดทั่วไป – การคิดอย่างมีเหตุผล
- TGAT3 ความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์
เดิมถ้าเป็น GAT PAT ในระบบสอบเก่า จะไม่มีหัวข้อแนวคณิตเชาว์มาปนด้วย เรียกได้ว่าเป็นเนื้อหาใหม่สำหรับการสอบเข้าเลย คราวนี้มาดูรายละเอียดของข้อสอบแต่ละวิชา (อ้างอิงจาก Test Blueprint) และส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ พาร์ทเชาว์ปัญญากันครับ
TGAT ความถนัดทั่วไป
ในส่วนของข้อสอบนี้ จะแบ่งเป็น 3 ฉบับย่อย ได้แก่
- TGAT1 การสื่อสารภาษาอังกฤษ
- TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล
- TGAT3 สมรรถนะการทำงาน
โดยคณิตศาสตร์ เชาว์ปัญญา จะอยู่ในฉบับ TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล ครับผม
TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล
ข้อสอบจะแบ่งย่อยอีกเป็น 4 หมวด หมวดละ 20 ข้อ รวม 80 ข้อ เวลาสอบ 60 นาที (เฉลี่ยข้อละไม่ถึงนาที โหดมากก !!!) เป็นปรนัย 5 ตัวเลือกครับ โดย 4 หมวดมีดังนี้ครับ
- ความสามารถทางภาษา
- ความสามารถทางจำนวน
- ความสามารถทางมิติสัมพันธ์
- ความสามารถทางเหตุผล
คณิตศาสตร์ พาร์ทเชาว์ปัญญา ก็จะอยู่ใน 3 หมวดหลัง คือ ความสามารถทางจำนวน ทางมิติสัมพันธ์ และทางเหตุผล โดยแบ่งหัวข้อของแต่ละหมวดตามนี้เลยครับ
ความสามารถทางจำนวน
- อนุกรมมิติ : หาจำนวนถัดไปของลำดับตัวเลข ว่าตัวเลขถัดไปคือเท่าใด มันคือการหา pattern ให้เจอว่าเลขชุดนี้มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงเป็นแบบใด
- การเปรียบเทียบเชิงปริมาณ : หาว่าปริมาณในข้อใดมีค่ามากที่สุด จากข้อมูลที่โจทย์ให้มา
- ความเพียงพอของข้อมูล : พิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่กำหนดตัวใดบ้างในการหาคำตอบ อาจจะเป็น ใช้ข้อมูลชุด ก. ชุดเดียว ใช้ข้อมูล ข. เพียงชุดเดียว หรืออาจจะต้องใช้ข้อมูลทั้งสองชุดเพื่อหาคำตอบ หรือแม้จะมีข้อมูลทั้งสองชุด ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหาคำตอบ ประมาณนี้เลยครับ
- โจทย์ปัญหา : จาก Test Blueprint คาดว่าจะเป็นเนื้อหาแนวสมการ ร้อยละ อัตราส่วน อัตราเร็ว ค่าเฉลี่ย ฯลฯ มันคือแนวคณิต ม.ต้นเลยครับ อาจจะมีพื้นที่ ปริมาตร เซตเบื้องต้น ความน่าจะเป็นเบื้องต้น มาผสมด้วยก็ได้
ความสามารถทางมิติสัมพันธ์
- แบบพับกล่อง : ให้รูปคลี่ของกล่องมา แล้วถามหากล่องพับแล้วที่ถูกต้อง
- แบบหาภาพต่าง : หาภาพที่แตกต่างจากตัวต้นแบบ
- แบบหมุนภาพสามมิติ : หาภาพสามมิติที่เหมือนกับต้นฉบับ ซึ่งตัวเลือกจะเป็นผ่านการหมุนในทิศทางต่างๆ
- แบบประกอบภาพ : หาอีกชิ้นส่วน ที่เมื่อประกอบกับอีกส่วนย่อยที่โจทย์กำหนด จะกลายเป็นภาพใหญ่ของโจทย์
แนวนี้น้องหลายคนถ้าไม่เคยฝึกมาก่อน อาจจะมึนตึ้บเลย แต่พี่ว่าถ้าเคยได้ลองซ้อมทำโจทย์มาบ้าง มันฝึกได้ไม่ยากน้า
ความสามารถทางเหตุผล
- อนุกรมภาพ: หาภาพถัดไปว่าควรเป็นอย่างไร โดยดู pattern ของการเปลี่ยนของภาพจากที่โจทย์กำหนดให้
- แบบอุปมาอุปไมยภาพ: สังเกตความสัมพันธ์ของ 2 ภาพตัวอย่าง แล้วพิจารณาว่าตัวเลือกใดที่ภาพทั้งสองของตัวเลือกมีความสัมพันธ์แบบเดียวกันกับโจทย์
- แบบสรุปความ: ใช้ข้อมูลเพื่อหาคำตอบทั้งหมดของเรื่องราวที่เกิดขึ้น วิเคราะห์โจทย์ปัญหา เช่น ใครนั่งตำแหน่งใด ใครเป็นพี่เป็นน้อง ใครพูดจริง พูดโกหก เป็นต้น
- แบบวิเคราะห์ข้อความ: พิจารณาข้อมูลทั้งหมดว่า ข้อความใดถูก ข้อความใดผิด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด
สำหรับตัวอย่างข้อสอบ TGAT2 น้องๆสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ ที่นี่ ครับ
TPAT3 ความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์
ข้อสอบนี้จะมี 70 ข้อ เวลาสอบ 180 นาที เป็นปรนัย 5 ตัวเลือก โดยแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้ครับ
ส่วนที่ 1 การทดสอบด้านความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น
- ด้านตัวเลข 15 ข้อ
- ด้านมิติสัมพันธ์ 15 ข้อ
- ด้านเชิงกล 15 ข้อ
ส่วนที่ 2 การทดสอบความคิดและความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น
- ความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ 15 ข้อ
- ความสนใจข่าวสารทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ 10 ข้อ
สำหรับคณิตศาสตร์ พาร์ทเชาว์ปัญญา จะมี 2 หัวข้อย่อยที่เราสนใจ ซึ่งเป็น 2 หัวข้อแรกในส่วนที่ 1 คือ การทดสอบความถนัดด้านตัวเลข และด้านมิติสัมพันธ์ครับ
ด้านตัวเลข การหาจำนวนถัดไปของอนุกรมมิติ การเติมจำนวนที่หายไปในตาราง ฯลฯ
ด้านมิติสัมพันธ์ การหาภาพสามมิติจากรูปด้านหน้า/ด้านข้าง/ด้านบน การหารอยรูเจาะของรูป (ตาม Test Blueprint) อนุกรมภาพ ฯลฯ
ส่วนตัวพี่รู้สึกว่ามันใกล้เคียงกับตัว TGAT2 เลย และสำหรับตัวอย่างข้อสอบ TPAT3 น้องๆสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ ที่นี่ ครับ
สรุปภาพรวม ข้อสอบความถนัดแพทย์ พาร์ทเชาว์ปัญญา

จาก Test Blueprint และแนวข้อสอบปีที่ผ่านๆ มาของวิชาเฉพาะ กสพท จะขอสรุปหัวข้อของคณิตเชาว์ในทุกข้อสอบได้เป็นดังนี้ครับ
- อนุกรมมิติ (TPAT1, TGAT2, TPAT3)
- อนุกรมภาพ (TPAT1, TGAT2, TPAT3)
- มิติสัมพันธ์ (TPAT1, TGAT2, TPAT3)
- ความเพียงพอของข้อมูล (TPAT1, TGAT2)
- การให้เหตุผล การสรุปความ และวิเคราะห์ข้อมูล (TPAT1, TGAT2)
- โจทย์ปัญหา (TPAT1, TGAT2)
- การอ่านค่าจากกราฟหรือตาราง (TPAT1)
น้องๆ จะเห็นได้นะครับว่า ในส่วนของข้อสอบ TPAT1 , TGAT2 และ TPAT3 มีเนื้อหาหลายส่วนที่มีความทับซ้อนกัน ดังนั้น การเตรียมตัวทางด้านคณิตศาสตร์ พาร์ทเชาว์ปัญญา การฝึกทำโจทย์แนวเดียวกัน สามารถช่วยน้องๆเตรียมสอบได้พร้อมกันทั้ง 3 วิชาเลย !! มันคือยิ่งปืนนัดเดียว ได้นก 3 ตัว
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้น คณิตพาร์ทเชาว์จึงเป็นอีกส่วนที่แม้จะไม่มีการเรียนการสอนเนื้อหาในห้องเรียน แต่เป็นส่วนที่สำคัญมากๆ ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะนอกจากคณะกลุ่มแพทย์แล้ว ยังครอบคลุมการสอบของหลายๆ คณะเลยครับ
นอกเหนือจากนี้ ในข้อสอบของ A-Level วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ ก็จะมีข้อสอบบางส่วนที่เป็นประยุกต์กับชีวิตประจำวัน มีบางข้อที่ใช้แนวคิดของคณิตศาสตร์ พาร์ทเชาว์ปัญญา มาช่วยทำได้ เรียกได้ว่าระบบสอบใหม่เริ่มมาให้ความสำคัญกับคณิตแนวโจทย์ปัญหามากขึ้นพอสมควรเลย
สำหรับการฝึกโจทย์แนวนี้ พี่ว่า Key คือการคิดตาม และมองให้ออก มันจะไม่ใช่ข้อสอบที่มีสูตรตั้งไว้ โยนข้อมูลเข้าสูตรแล้วได้คำตอบออกมา แต่เป็นการคิด ตีความ โจทย์ให้อะไรมา เตรียมหาอะไร เราจะติดอะไรเป็นตัวแปร แล้วค่อยๆ แกะรอยจนได้คำตอบออกมา ซึ่งในตอนแรกๆ น้องอาจจะมองไม่ออก หรือมองออกช้า เพราะแรกๆ sense อาจจะยังไม่แข็งแรง เลยทำเองอาจจะยังไม่ค่อยได้ ต้องคอยอ่านเฉลย แต่มันจะแก้ได้ด้วยการ “ฝึกฝน และทำโจทย์เยอะๆ”
พอน้องทำไปมากระดับหนึ่งจะเริ่มมีประสบการณ์ sense ของเราจะเริ่มแข็งแรงขึ้น และทำได้คล่องขึ้นเองครับ …
ไม่อยากให้น้องประมาทคิดว่ามันง่ายเราจะทำได้เองโดยไม่ต้องฝึก … แต่ก็ไม่อยากให้น้องมองว่ามันยากจนคิดว่าเราฝึกไม่ได้ พี่เป็นกำลังใจให้น้า
แนะนำคอร์ส Full Set MED (ติวครบทั้ง 3 พาร์ทของ TPAT1 กสพท)

ขอแนะนำคอร์สใหม่ที่จะช่วยให้น้องลดเวลาในการอ่านหนังสือ และสอนเทคนิคทำข้อสอบให้ทันเวลา !! คือ คอร์ส Full Set MED
นั่นเองง > < มีติวครบทั้ง 3 พาร์ทของ TPAT1 กสพท สอนเนื้อหา และพาตะลุยแนวข้อสอบเก่า (ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้น้า)
แต่พี่ปั้นไม่ได้สอนคนเดียว จะมีพี่หมออู๋ แพทย์ตัวจริง มาพร้อมประสบการณ์มากมายในวงการแพทย์ สอนคอร์ส ความถนัดแพทย์ พาร์ทจริยธรรมแพทย์ PLUS+ และ อ.ขลุ่ย เจ้าของหนังสือ Best Seller แกทเชื่อมโยง และประสบการณ์สอนนับสิบปี สอนคอร์ส ความถนัดแพทย์ พาร์ทเชื่อมโยง & พาร์ทเชาว์ไทย PLUS+ บอกเลยว่าพี่ๆ ติวเตอร์ทุกคนเค้นจากทุกประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อมาช่วยน้องๆ Dek67 สู้กับข้อสอบสนาม TPAT1 ฉะนั้นห้ามพลาดคอร์สนี้เด็ดขาดเลยน้าา > <
สำหรับน้องๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Line : @smartmathpronews
รวมถึงข่าวสารต่างๆ อัปเดตอย่างเรียลไทม์
IG : pan_smartmathpro
Twitter : @PanSmartMathPro