น้อง ๆ เคยเจอปัญหาแบบนี้ไหม เวลาที่ต้องอ่านอะไรสักอย่างไม่ว่าจะเป็นบทความวิชาการในข้อสอบ บทความข่าวที่กำลังเป็นกระแส หรือจะเป็นกระทู้ออนไลน์รีวิวสินค้า แล้วไม่เข้าใจว่าคนเขียนเขากำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ หรือที่มาของบทความนี้เป็นยังไง ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่น้อง ๆ ยังไม่รู้ “วิธีการอ่านจับใจความสำคัญ”
ดังนั้น ในบทความนี้ พี่จะมาแนะนำวิธีการอ่านจับใจความสำคัญให้กับทุกคนเองว่ามีหลักในการอ่านยังไง พร้อมตัวอย่างข้อสอบจริง รับรองว่าหลังจากอ่านจบแล้ว น้อง ๆ จะสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน และการสอบต่าง ๆ ได้แน่นอน
สนใจหัวข้อไหน ... กดอ่านเลย
Toggle“การอ่านจับใจความสำคัญ” คืออะไร ?
เรื่องการอ่านจับใจความสำคัญเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากกก เพราะเป็นพื้นฐานที่สุดของการอ่านเลยก็ว่าได้ น้อง ๆ จะได้เจอเรื่องนี้ตั้งแต่เนื้อหาในชั้นม.1 ไปจนถึงข้อสอบ A-Level ภาษาไทย สำหรับพี่ ๆ ม.6 สอบเข้ามหาลัยฯ กันเลย ซึ่งการที่จะเข้าใจความหมายของการอ่านจับใจความได้นั้น พี่จะพาไปรู้จักสองคำนี้กันก่อน นั่นคือ
- ใจความสำคัญ
- พลความ
ทั้งสองคำนี้คือชนิดของใจความที่มักต้องเจอใน 1 ย่อหน้า ปกติแล้วใน 1 ย่อหน้าจะมีใจความที่เป็นแก่นของย่อหน้าเพียงใจความเดียว เรียกว่า ใจความสำคัญ โดยมักจะมีแค่ 1-2 ประโยคเท่านั้นที่จะสรุปเรื่องสำคัญที่สุดที่ย่อหน้านั้น ๆ ต้องการจะสื่อเอาไว้
ส่วนข้อความอื่น ๆ ที่นำมาสนับสนุนเพื่อขยายใจความสำคัญ ส่วนนี้จะเรียกว่า พลความ ดังนั้นการอ่านจับใจความก็คือการโฟกัสกับการหาแก่นของข้อความว่าเรื่องนี้กำลังพูดถึงอะไรอยู่นั่นเอง
เทคนิคการอ่านจับใจความสำคัญ
น้อง ๆ อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า เวลาที่เราหาใจความสำคัญเนี่ย ให้สังเกตว่าปกติแล้วใจความสำคัญจะอยู่ตรงไหนของย่อหน้า แต่พี่จะบอกว่า บางทีตำแหน่งของใจความสำคัญก็ไม่ได้เหมือนกันในทุกย่อหน้านะ (เพราะขึ้นอยู่กับวิธีการเขียนของคนเขียนเลยย)
พี่ก็เลยอยากให้น้อง ๆ มาฝึก “การหาใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า” มากกว่าจะจำไปเลยว่าใจความสำคัญมักจะอยู่ตรงไหน ทุกคนจะได้ไม่พลาดเวลาเวลาเจอข้อสอบจริงกัน ซึ่งอย่างที่พี่บอกไปว่า ในแต่ละย่อหน้ามักจะมี “ใจความสำคัญ” เดียว และส่วนอื่น ๆ จะเป็น “พลความ” แต่พูดแบบนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพ เราไปอ่านบทความจริงกันดีกว่าา
ตัวอย่าง
ออสเตรเลียกล่าวว่าฝรั่งเศส เยอรมนีและญี่ปุ่นอาจร่วมมือออกแบบและสร้างเรือดำน้ำรุ่นใหม่ คำกล่าวนี้มีขึ้นในช่วงที่ออสเตรเลียมองหาเรือลำใหม่แทนที่กองเรือชั้นคอลลินส์ที่ใช้งานมานานและจะปลดระวางกลางทศวรรษ 2020 ออสเตรเลียจึงจะทำโครงการประมูลงานด้านกลาโหมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คิดเป็นมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์
ก่อนเริ่มพี่อยากให้น้อง ๆ อ่านทวนบทความข้างต้นอีกสัก 2 – 3 รอบเพื่อให้เข้าใจและคุ้นชินกับบทความกันก่อน หลังจากนั้น พี่จะขอแบ่งบทความเป็น 3 ส่วน คือ
- ออสเตรเลียกล่าวว่าฝรั่งเศส เยอรมนีและญี่ปุ่นอาจร่วมมือออกแบบและสร้างเรือดำน้ำรุ่นใหม่
- คำกล่าวนี้มีขึ้นในช่วงที่ออสเตรเลียมองหาเรือลำใหม่แทนที่กองเรือชั้นคอลลินส์ที่ใช้งานมานานและจะปลดระวางกลางทศวรรษ 2020
- ออสเตรเลียจึงจะทำโครงการประมูลงานด้านกลาโหมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คิดเป็นมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์
หลักการในการอ่านจับใจความสำคัญคือการต้องแยก “ใจความสำคัญ” ออกจาก “พลความ” ซึ่งมีเทคนิคง่าย ๆ คือ
ให้แยกพลความออกจากใจความสำคัญก่อน โดย พลความจะเป็นข้อความที่นำมาประกอบ มักเป็นข้อความที่ไปขยายใจความสำคัญให้ชัดเจนขึ้น
ทีนี้ถ้าย้อนกลับไปอ่านบทความที่พี่ยกตัวอย่างมา ทุกคนพอจะเดากันได้ไหมว่าส่วนไหนเป็นใจความสำคัญ เฉลยก็คือส่วนที่ 3 นั่นเองง เพราะส่วนที่ 1 และ 2 เป็นการกล่าวสนับสนุนข้อสรุปที่ว่า “ออสเตรเลียจะวางแผนทำโครงการประมูลเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่นใหม่” ซึ่งก็คือส่วนที่ 3 เป็นใจความสำคัญที่ย่อหน้านี้ต้องการจะกล่าวถึง
ไม่ยากเลยใช่ไหมทุกคน งั้นไปลองทำข้อสอบจริงกันดูบ้างดีกว่าา
ฝึกจับใจความสำคัญ จากข้อสอบจริง !!
เพื่อให้เข้าใจวิธีการอ่านจับใจความมากขึ้น เรามาฝึกทำจากข้อสอบจริงกันเลยดีกว่า แอบบอกว่าข้อนี้เป็นข้อสอบจาก “วิชาสามัญ ภาษาไทย” ที่พี่ ม.6 รุ่นก่อน ๆ ต้องสอบเพื่อยื่นคะแนนเข้ามหาลัยฯ ด้วย บางคนอาจจะรู้สึกว่ายาก แต่ถ้านำเทคนิคที่พี่แนะนำมาใช้ ก็จะทำข้อนี้ได้แบบสบาย ๆ เลย ไปเริ่มลงมือทำกันนน
ตัวอย่าง
ข้อความต่อไปนี้ส่วนใดเป็นใจความสำคัญ
1) น้ำนมแม่มีประโยชน์มาก ทำให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงและมีพัฒนาการสมวัย / 2) เด็กที่ดื่มนมแม่อย่างน้อย 4 – 6 เดือนมีการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจน้อยกว่าเด็กที่ดื่มนมผสม / 3) หรือเป็นหวัดน้อยกว่า 4 เท่า และเป็นผื่น ภูมิแพ้ผิวหนังน้อยกว่าถึง 3 เท่า / 4) ช่วยลดการเกิดภูมิแพ้และหอบหืดในเด็กลง / 5) ยิ่งให้ลูกดื่มนมแม่ได้นานเท่าใด ภูมิคุ้มกัน
ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
1. ส่วนที่ 1
2. ส่วนที่ 2
3. ส่วนที่ 3
4. ส่วนที่ 4
5. ส่วนที่ 5
จะเห็นว่าข้อสอบข้อนี้แบ่งส่วนข้อความมาให้เราเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็ถามว่าส่วนใดเป็นใจความสำคัญ น้อง ๆ ลองทำข้อนี้ด้วยตัวเองกันดูก่อนนะ และเช็กว่าส่วนไหนเป็นใจความสำคัญ ส่วนไหนเป็นพลความที่นำมาประกอบ แล้วค่อยอ่านเฉลยกัน
สำหรับเฉลยก็คืออ ข้อ 1 นั่นเองงง วิธีสังเกตง่าย ๆ เลยคือส่วนที่ 1 เขาบอกว่า “ น้ำนมแม่มีประโยชน์มาก ทำให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงและมีพัฒนาการสมวัย” แต่ส่วนที่ 2 – 5 เป็นพลความที่นำมาขยายว่า ประโยชน์ของน้ำนมแม่มีอะไรบ้าง ลูกดื่มแล้วดีอย่างไร เห็นไหมว่า “พลความ” จะเป็นส่วนสนับสนุน “ใจความสำคัญ” ให้ชัดมากยิ่งขึ้น ถ้าน้อง ๆ แยกออกมาได้ ก็จะสามารถหาใจความสำคัญได้แบบไม่ยากเลย
อย่างที่พี่บอกไปตอนแรกว่าการอ่านจับใจความถือเป็นสกิลพื้นฐานสำหรับการอ่าน ถ้ารู้วิธีการจับใจความสำคัญแล้วแยกออกมาจากพลความได้ ทุกคนก็จะเอาไปต่อยอดได้อีกเพียบ เช่น การสอบที่โรงเรียน การสอบเข้ามหาลัยฯ (กระซิบว่าเรื่องนี้ออกใน A-Level ภาษาไทย พาร์ตการอ่านด้วยนะ) หรือแม้แต่การอ่านบทความรีวิวสินค้าต่าง ๆ ก็ยังนำ
การอ่านจับใจความไปใช้ได้เหมือนกันน
บทความ แนะนำ
บทความ แนะนำ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่
Line : @smartmathpronews
FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น
IG : pan_smartmathpro
X : @PanSmartMathPro
Tiktok : @pan_smartmathpro