นักบัญชีต้องทำอะไรบ้าง

นักบัญชี อาจจะเป็นอาชีพที่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก แต่สำหรับน้องกลุ่มที่กำลังสนใจจะเรียนสาขาบัญชี กลับเป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจและความนิยมเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว

ถ้าน้องๆ คนไหนที่กำลังเล็งสาขาการบัญชีไว้ อาชีพนี้ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่พี่มองว่าน่าสนใจเลยนะ และอยากจะพาน้องๆไปทำความรู้จักกับอาชีพนี้ให้มากขึ้นไปอีก กับ “พี่เอ” รุ่นพี่คนเก่ง ที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานตลอดหลายปีในสายอาชีพนี้ให้กับน้องๆกันนะคะ ซึ่งปัจจุบัน พี่เอก็ได้ทำงานในตำแหน่งฝ่ายบัญชี อยู่บริษัทเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งนั่นเองค่ะ ดังนั้นข้อมูลที่พี่ๆ ทีมงาน SMP NEWS มาแชร์ในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ มากเลยนะคะ งั้นเรามาเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ ^_^ 

นักบัญชี มีหน้าที่จัดทำงบการเงินของบริษัท โดยปกติแล้วทุกบริษัทก็จะมีบัญชีของกิจการนั้นๆ และคนที่ทำบัญชีให้ก็คือ นักบัญชีนี่แหละค่ะ ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ การทำงบการเงินเปรียบเหมือนการตรวจสุขภาพของบริษัทเลยก็ว่าได้ เพราะเราจะได้รู้ว่าสภาพการเงินตอนนี้เป็นอย่างไรได้บ้าง

ซึ่งขั้นตอนจะมีทุกอย่างเลย ตั้งแต่รวบรวมเอกสารเพื่อบันทึกบัญชี หลังจากนั้นก็มาดูตอนสิ้นเดือนว่า มีรายการอะไรที่ต้องบันทึกเพิ่มหรือเปล่า หลังจากนั้นเราต้องรวบรวมรายการทั้งหมดเพื่อทำงบการเงินของบริษัทในแต่ละเดือน

การทำงบการเงินนี้จะช่วยให้กิจการรู้ว่า ปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร จะได้สามารถประเมินได้ว่า กิจการของเราเป็นอย่างไรบ้าง ณ ตอนนี้ ผลประกอบการเป็นอย่างไร กำไรขาดทุนเท่าไร ค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน ใช้ในส่วนใดบ้าง ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นของกิจการหรือเปล่า เพราะอะไรนั่นเองค่ะ

เริ่มต้นทำอาชีพนี้ได้ยังไง ? ทำไมถึงเลือกอาชีพนี้ ?

พี่เริ่มมาจากตอนเด็กๆ เลยค่ะ ตอนนั้นพี่เคยถามครูประจำชั้นว่า “อาชีพอะไรทำแล้วจะไม่ตกงานคะครู” แล้วครูก็ตอบพี่มาว่า “นักบัญชีสิ จบมาแล้วไม่ตกงาน เพราะยังไงทุกบริษัทก็ต้องมีนักบัญชี” พี่ก็เลยจำฝังใจมาตั้งแต่ตอนนั้นเลย
(แต่น้องๆ อย่าเลือกตามที่คุณครูบอกเลยทันทีเหมือนพี่นะ ><  ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าเหมาะกับตัวเองไหมก่อนจะดีกว่านะคะ) ประกอบกับตัวพี่เองก็เป็นคนที่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ ชอบคิดเลข ชอบการคำนวณอยู่แล้ว ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยเลือกสอบเข้าสาขาบัญชีแบบไม่ลังเลเลยค่ะ

นักบัญชี งานหนักจริงไหม ?

สำหรับพี่ พี่มองว่าแล้วแต่ช่วงมากกว่า มันจะมีช่วงที่งานหนักเลย และช่วงที่งานเบาไปเลยก็มีเหมือนกัน ซึ่งช่วงที่หนักก็คือ ช่วงปิดงบการเงินนั่นเองค่ะ เพราะเราจะต้องรวบรวมเอกสารต่างๆ มากมาย เพื่อประกอบการปิดงบการเงินในแต่ละเดือน เหมือนพี่ที่ได้เล่าให้ฟังในตอนแรกเลยค่ะ

ข้อดี ข้อเสีย ของการเป็น นักบัญชี

ข้อดีของการเป็นนักบัญชี

พี่มองว่าเป็นอาชีพที่หุ่นยนต์ อาจจะยังมาทดแทนไม่ได้มากขนาดนั้น เพราะอาชีพนักบัญชี จะต้องมีการเรียนรู้มาตรฐานบัญชีที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับรายการบัญชีอยู่ตลอดเวลาเลยค่ะ  อีกอย่างเลยก็คือ อาชีพนี้จะทำงานตามเวลา Office Time และไม่มีการเข้ากะอะไรทั้งนั้น ดังนั้นอาชีพนี้ไม่มีการอดนอนแน่นอนค่ะ

ข้อเสียของการเป็นนักบัญชี

ความยากของอาชีพนี้คือ การที่เราจะต้องไปบอกทุกคนว่า เอกสารที่ถูกต้องเป็นแบบนี้นะ เอกสารจะต้องครบถ้วนนะ ทำให้คนอาจจะไม่ค่อยชอบหน้าเราเท่าไหร่ และอาจจะกลายเป็นคนจุกจิกในสายตาคนอื่นได้ ฮ่าๆ เช่น เอกสาร invoice แบบนี้ไม่ได้ รายละเอียดไม่ครบ อะไรประมาณนี้ และอีกข้อหนึ่งก็คือ ความละเอียดในการทำตัวเลขสำหรับการจัดทำงบการเงิน ที่จะต้องอาศัยความรอบคอบและแม่นยำเป็นอย่างมาก แต่จริงๆแล้วทุกอาชีพต้องการความละเอียดเหมือนกันนะคะ

ทำงานสายบัญชี ตกงานจริงไหม ?

คนส่วนใหญ่ชอบพูดว่า ถ้ามีลูกไม่อยากให้ลูกทำงานสายบัญชี เพราะว่า งานบัญชีค่อนข้างเป็นงานที่ละเอียด เป็นงานที่อยู่กับเอกสารเยอะ แต่ด้วยความที่งานมันเยอะนี่แหละ ทำให้พี่มองว่าโอกาสตกงานมันน้อยกว่าอาชีพอื่นเยอะเหมือนกัน

ซึ่งถ้าถามพี่ว่า ทำไมถึงมองว่าอาชีพนี้ไม่ตกงาน เพราะทุกบริษัทจะต้องมีนักบัญชีอย่างน้อย 1 คน ตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้ และในปัจจุบันนี้มีบริษัทเกิดใหม่จำนวนมาก พี่เลยคิดว่า ความเสี่ยงในการตกงานค่อนข้างน้อยเลยค่ะ เมื่อเทียบกับสายงานอื่นๆ อีกอย่างคือ งบบัญชียังไงก็โตตามงบบริษัทอยู่แล้ว ยิ่งบริษัทใหญ่ๆ บางที่สามารถมีนักบัญชีเกือบ 100 คนเลยนะคะ

งานบัญชีน่าเบื่อ จริงไหม ?

ส่วนตัวพี่มองว่า แล้วแต่งานในบางส่วนมากกว่า เช่น งานตามเอกสาร หรือ งานที่ต้องทำเอกสารเยอะๆ ก็อาจจะมีการทำแบบเดิมเรื่อยๆ วนๆ ไป แต่บอกเลยว่า แม้งานจะซ้ำเดิมแต่ไม่มีความจำเจเลยค่ะ สุดท้ายแล้ว สภาพสังคมในปัจจุบันจะทำให้เรารู้สึกท้าทายอยู่ตลอดเวลาเลย อาจจะเพราะมีรายการบัญชีใหม่ๆ ให้เราติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ และอีกส่วนคือมาตรฐานการบัญชีที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเลยค่ะ

นักบัญชี ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพบัญชีทุกคนไหม ?

จริงๆ แล้ว ไม่ต้องทำอะไรมาก่อนเลยค่ะ เรียนจบมาแล้วก็สามารถไปทำงานเป็นพนักงานบัญชีตามบริษัทต่างๆ ได้เลย เพียงแค่มีใบปริญญาก็พอค่ะ ถ้าหากต้องการจะลงชื่อเป็นผู้ทำบัญชีที่แต่ละบริษัทจะมีแค่ตำแหน่งละ 1 คนเท่านั้น อันนี้จะต้องไปขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชีก่อนนะ

หลังขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชีแล้วก็จะต้องเข้าอบรมเก็บชั่วโมง CPD, CPA ตามที่สภาวิชาชีพกำหนดเพื่อพัฒนาความรู้ต่อเนื่องสำหรับอาชีพนักบัญชี ซึ่งการเก็บชั่วโมงอบรมในปัจจุบัน ก็สามารถเลือกอบรมเก็บชั่วโมง CPD แบบออนไลน์ได้ แต่คอร์สนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากสภาวิชาชีพบัญชีด้วยน้า

เรียนบัญชี ต้องเก่งเลขจริงไหม ?

การเรียนบัญชีหรือทำอาชีพเป็นนักบัญชีนั้น ไม่จำเป็นต้องชอบเลขหรือเก่งเลขมากก็ได้นะคะ ซึ่งคนส่วนใหญ่ชอบคิดกันว่า ถ้าชอบเรียนเลขก็เรียนบัญชีสิ ตัวเลขเหมือนกัน แต่พอมาเรียนจริงๆ จะรู้เลยว่า คนเรียนบัญชี ไม่จำเป็นต้องเก่งเลขเลย ใครๆ ก็สามารถเรียนบัญชีได้ เพราะสุดท้ายแล้ววิชาบัญชีต่างๆ ทุกคนก็ใช้เครื่องคิดเลขในการเรียนอยู่ดี ไม่ได้เป็นการคิดเลขที่ซับซ้อนด้วยนะคะ แค่บวกลบคูณหารปกติเลย

อยากเข้าสาขาบัญชี ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

พี่เองก็จบมาหลายปีมากๆแล้วเนอะ รุ่นของพี่เป็น A-NET รุ่นสุดท้าย คะแนนสอบที่ต้องใช้คือ เกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX)  , คะแนนรวม O-NET ทุกวิชา, A-NET วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ  ซึ่งปกติพี่ก็เป็นคนที่ชอบเรียนเลขอยู่แล้ว แต่เลข ม.ปลายต้องยอมรับว่ามันยากมากเลย

ในตอนนั้นพี่เลือกที่จะอ่านหนังสือเองนะ พี่ก็จะฝึกฝนทำโจทย์ทุกวันเพื่อทบทวนตัวเองอยู่ตลอด แต่ก็จะไม่ได้กำหนดเวลาในการอ่านหนังสือเป๊ะๆ ขนาดนั้นว่า แต่ละวันจะต้องอ่านให้ได้เท่าไหร่ ถ้าง่วงพี่ก็จะนอนเลย ไม่ฝืน แล้วค่อยตื่นมาอ่านหนังสือต่อ ซึ่งวิธีนี้พี่ใช้กับทุกวิชาเลยนะ เวลาอ่านก็อ่านให้เต็มที่ ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็พักให้เต็มที่ แล้วค่อยมาตั้งใจอ่านต่อ

สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ พี่อ่านตั้งแต่พื้นฐานของแต่ละเรื่อง แต่ละบทเลย และฝึกทำโจทย์หลังจากอ่านทุกครั้ง ตอนนั้นพี่ทำโจทย์เยอะมากๆ สมัยนั้นเป็นข้อสอบเอนทรานซ์ย้อนหลัง 20 ปี แล้วก็อ่านเฉลยทีละข้อ ว่าทำไมถึงเฉลยแบบนี้ เพราะอะไร เพราะพี่คิดว่าการที่เราจะเข้าใจอะไรได้ดี เราต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ พี่ก็เลยใช้เวลากับส่วนนี้เยอะมากๆ เลย แต่ถ้าอยากเลือกที่จะเรียนพิเศษ ติวเตอร์ก็จะช่วยลดระยะเวลาตรงนี้ของน้องๆ ได้พอสมควรเลยล่ะค่ะ แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ น้องๆ จะต้องเลือกติวเตอร์ที่เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งทางด้านนิสัยและรูปแบบการสอนด้วยนะคะ

หลังจากที่อ่านพื้นฐานครบทั้งหมด พี่ก็จะเริ่มฝึกทำข้อสอบแบบเต็ม แบบไล่ตามปี ที่ปนกันทุกเรื่องและจับเวลา เพื่อดูว่าเราสามารถทำข้อสอบทันภายในเวลาที่กำหนดไหม รู้สึกกดดันไหม พี่ถึงกับซื้อกระดาษทำข้อสอบเพื่อใช้จำลองการสอบเลยนะ จะได้ทำตัวให้เคยชินกับการสอบและไม่กดดันเมื่อถึงเวลาสอบในสนามจริงนั่นเองค่ะ

ส่วนวิชาภาษาอังกฤษ  ปกติพี่เป็นคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย พี่เลยใช้วิธีสลับกันอ่านระหว่างอังกฤษกับเลขเป็นหลัก
พอเบื่อทำโจทย์เลขก็มาทำโจทย์ภาษาอังกฤษแทน ช่วงนั้นก็คือทำโจทย์ย้อนหลังเยอะมาก เพราะภาษาอังกฤษคือปัญหาของพี่มาโดยตลอด แต่พี่ก็ไปลงเรียนพิเศษตามสถาบันกวดวิชาที่สอนแกรมมาร์ครบทุกเรื่องเลยนะ ถึงจะไม่ได้เข้าใจ 100% แต่ก็เป็นพื้นฐานที่ดี ทำให้การอ่านเฉลยข้อสอบของพี่ พอจะเข้าใจและซึมซับได้บ้างค่ะ

แชร์เทคนิคการเตรียมตัวสอบเข้าบัญชี

หาสไตล์ที่ชอบ จัดตารางอ่านหนังสือที่ใช่

แต่ละคนมีสไตล์การอ่านหนังสือและเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน บางคนชอบอ่านเนื้อหาให้แม่นยำก่อนค่อยฝึกทำข้อสอบ หรือบางคนชอบทำข้อสอบและเรียนรู้จากการดูเฉลย ซึ่งก็จะต้องใช้เวลาและความตั้งใจมากๆ เลยนะ ไม่ได้ถึงขนาดว่าเราต้องอ่านหนังสือจนไม่ได้ทำอะไรที่เราชอบเลย แต่เราต้องแบ่งเวลาในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ดีๆ ให้รางวัลกับตัวเองบ้าง ที่สำคัญคือ เราจะต้องจัดตารางเวลาของตัวเองให้ดีว่า จะอ่านหนังสือให้ครบถ้วนและทันเวลาก่อนสอบได้อย่างไร

ไม่ไหวอย่าฝืน พักก่อน

ถ้าระหว่างอ่านหนังสือแล้วรู้สึกง่วง ก็นอนพักเลยค่ะ แต่ควรตั้งนาฬิกาปลุกด้วยนะคะ อย่างของพี่จะพักแค่ประมาณ 10 นาทีพอ เพราะพี่มองว่าถ้าง่วงแล้วฝืน สุดท้ายก็อ่านไม่รู้เรื่องอยู่ดี ถือเป็นการอ่านหนังสือที่ไม่มีประสิทธิภาพเลย แล้วพี่ก็จะกินโปรตีนให้เพียงพอ เป็นการเติมอาหารสมอง ทำให้สมองไม่ล้าและมีกำลังพอที่จะเรียนรู้

แบบฝึกหัดและข้อสอบเก่า สำคัญกว่าที่คิด

พี่ใช้วิธีฝึกทำข้อสอบย้อนหลังให้มากที่สุด โดยจะพยายามจำลองเหตุการณ์ให้เหมือนห้องสอบที่สุด ถ้าข้อสอบที่ทำเป็นแบบฝนคำตอบ พี่ก็จะฝึกทำแบบฝนคำตอบให้เหมือนกันเลยค่ะ ที่สำคัญคือ การซ้อมจับเวลาทำข้สอบตามเวลาในสนามจริงให้ทัน ถ้าเราทำได้ เราก็จะลดความตึงเครียดลงได้เยอะเลยละค่ะ แต่ก็ไม่ต้องทำแบบนี้ทุกวันขนาดนั้นนะ ไม่งั้นเราจะรู้สึกกดดันจนเกินไป ควรทำเมื่อรู้สึกว่าพร้อมและอยากทดสอบตัวเองสักครั้ง อาจจะกำหนดเป็นสัปดาห์ละครั้ง และวันอื่นก็ทำข้อสอบไปอ่านเฉลยไปก็พอค่ะ

ทบทวนก่อนสอบ ไม่ใช่อัดก่อนสอบ

ก่อนวันสอบ ต้องพักผ่อนสมองและนอนหลับให้เพียงพอ เพราะในการทำอะไรก็ตาม ถ้านอนหลับไม่เพียงพอ สมองจะล้าและเบลอได้ ตัวเลขง่ายๆ เช่น 1 + 1 ถ้าเราเบลอๆ ก็อาจจะตอบผิดได้เหมือนกันนะ ยิ่งถ้าเป็นวันสุดท้ายก่อนสอบ เราควรจะแค่นั่งท่องสูตรหรือทบทวนสิ่งที่เราคิดว่ายังจำไม่แม่นพอให้แม่นยำ แต่ไม่ควรจะอ่านทุกอย่างแบบอัดแล้วนะคะ

มีอะไรอยากฝากถึงน้องๆ ที่อยากทำอาชีพนี้ไหม ?

พี่อยากบอกน้องๆว่า การเป็นนักบัญชีนั้น ไม่จำเป็นต้องชอบเลขหรือเก่งเลขมากก็ได้นะคะ แค่อาจจะต้องเป็นคนที่สามารถทำงานแบบเดิมซ้ำๆ ได้และเป็นคนที่ยืดหยุ่นได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น และอีกเรื่องหนึ่งที่พี่อยากฝากไว้คือ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเราจะทำงานนั้นๆ ได้ดีหรือเปล่า หรือว่าชอบมันมากน้อยแค่ไหน จนกว่าเราจะลองลงมือทำด้วยตัวเองดูก่อน ตอนนั้นแหละเราถึงจะรู้ว่า ตัวเองถนัดหรือไม่ถนัดด้านใด ดังนั้นถ้าน้องๆสนใจอาชีพนักบัญชี พี่ก็อยากให้น้องๆลองเปิดใจดูนะคะ อาชีพนี้ไม่ได้ยากอย่างที่ใครๆ คิดเลยค่ะ สู้ๆ นะคะ ^_^

ก่อนจาก พี่อยากจะขอแนะนำบล็อกสำหรับนักบัญชี ที่ไว้สำหรับติดตามอัปเดตข่าวสาร บทวิเคราะห์ ทุกแง่มุมทางบัญชี –> Accounting Analysis

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

เตรียมตัวอ่านหนังสือ TCAS68 ยังไงให้สอบติด
เตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยยังไง? สรุปและแจกเทคนิคอ่านหนังสือสอบ TCAS
ขายของออนไลน์ต้องทำอะไรบ้าง
ขายของออนไลน์ เริ่มยังไง? ทำยังไงให้ปัง? หาเงินง่ายจริงเหรอ?
อินฟลูเอนเซอร์ต้องทำอะไรบ้าง
อยากเป็น Influencer ต้องเริ่มยังไง? อาชีพนี้ทำอะไรบ้าง?
สตรีมเมอร์ต้องทำอะไรบ้าง
สตรีมเมอร์ คืออะไร? เริ่มต้นอาชีพนี้ยังไง? รายได้ดีไหม?

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

X : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share