เทคนิคจัดอันดับ รอบที่ 3 Admission อย่างไร ให้ติดชัวร์ ได้อันดับที่ต้องการแน่นอน พร้อมวิธีการคำนวณคะแนน

รอบที่ 3 Admission ใกล้เข้ามาแล้ว!!  ตอนนี้น้องๆ หลายคนก็คงกำลังสงสัย หลังจากที่ได้มีการประกาศผลคะแนนสอบออกมา ว่าจะต้องมี เทคนิคจัดอันดับ รอบ3 Admission อย่างไร  ให้เซฟ ติดชัวร์ ไม่หลุดอันดับ และจะต้องใช้หลักเกณฑ์อะไรในการจัดอันดับบ้าง รวมถึงข้อสงสัยอื่นๆ อีกมากมายเลย 

วันนี้พี่เอิธ SMP NEWS ก็จะมาแนะนำ “ เทคนิคจัดอันดับ รอบ3 admission ” แบบหมดเปลือกไม่มีกั๊ก จัดอย่างไรให้ติดชัวร์   มาฝากน้องๆ กัน ไปดูกันได้เลยค่ะ ^-^

ติดตามคลิปติวฟรีอื่นๆ จากพี่ปั้น ได้ทาง YouTube Channel : SmartMathPro

ก่อนจัดอันดับ รอบ3 ต้องทำอย่างไรบ้าง ?

เทคนิคการจัดอันดับ รอบ3_สรุปขั้นตอนที่ต้องรู้

ลิสต์คณะ/สาขา ที่อยากเข้ามากที่สุด (สูงสุด 10 อันดับ)

ในระบบ TCAS66 น้องๆ สามารถเลือก มหาลัย / คณะ / สาขา เดียวกันได้น้า เช่น ในปีนี้ จุฬา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการบัญชี เปิดรับสมัครเกณฑ์ 2 รูปแบบ คือ เลือกสอบ A-Level คณิต 1 และ เลือกสอบ A-Level คณิต 2 ซึ่งน้องจะสามารถเลือกยื่นได้ทั้ง 2 รูปแบบพร้อมกันได้น้าา เช่น เลือก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการบัญชี เลือกสอบ A-Level คณิต 1 ไว้อันดับ 1 และ เลือก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการบัญชี เลือกสอบ A-Level คณิต 2 ไว้อันดับ 2

คำนวณคะแนนที่ใช้ยื่น

ลองคำนวณคะแนนของเราว่า จากคะแนนเต็ม 100 หรือ 30,000 คะแนน และบางมหาวิทยาลัยก็อาจจะเต็ม 10,000 คะแนน ซึ่งวิธีการคำนวณคะแนน น้องๆ สามารถดูจากโปรแกรมการคำนวณคะแนนบนเว็บไซต์ต่างๆ หรือทางเพจของคณะ/มหาวิทยาลัยนั้นๆ ก็ได้นะคะ แต่สำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากคำนวณคะแนนด้วยตัวเอง มีวิธีคิดดังนี้เลย

วิธีคำนวณคะแนน จาก พี่ปั้น SMARTMATHPRO

กรณีที่ 1 คะแนนเต็ม 100 คะแนน

1. แปลงคะแนนทุกวิชา ให้เป็นคะแนนเต็ม 100 คะแนนก่อน

  • ถ้าคะแนนเต็ม 100 คะแนนอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย
  • ถ้าคะแนนเต็ม 300 คะแนน ให้นำคะแนนมาหารด้วย 3 ก่อน
  • เกรดเฉลี่ยสะสม เต็ม 4  ให้คูณด้วย 25 ก่อน

2. นำคะแนนที่แปลงเป็นคะแนนเต็ม 100 แล้ว คูณด้วยน้ำหนัก เช่น ใช้ 20% ก็ คูณด้วย 20/100 เลย

3. นำทุกส่วนมาบวกกัน ก็จะได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน

*** แต่ !  น้องๆ จะต้องเช็กเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำให้ดีก่อนนะคะ ถ้ามีส่วนใดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ก็จะยื่นไม่ได้ทันทีเลย เช่น เกณฑ์คณะนั้นกำหนดมาว่า คะแนน A-Level คณิต 1 จะต้องเกิน 45 คะแนน ถ้าหากคะแนนสอบ A-Level คณิต 1 ของน้องๆ ออกมาไม่ถึง 45 คะแนน ก็จะยื่นไม่ได้เลยค่ะ

หรือถ้าหากเกณฑ์กำหนดว่า คะแนนรวมจะต้องได้ 50% หมายว่า คะแนนรวมเต็ม 100 คะแนน น้องๆ จะต้องได้คะแนนตั้งแต่ 50 คะแนนขึ้นไป จึงจะยื่นได้นั่นเองค่ะ

กรณีที่ 2 คะแนนเต็ม 30,000 คะแนน

  • ให้น้องๆ คิดวิธีเดียวกันกับกรณีคะแนนเต็ม 100 คะแนนได้เลย หลังจากนั้นให้นำมาคูณด้วย 300 ก็จะได้คะแนนเต็ม 30,000 พอดีเลย
  • หรือจะทำให้คะแนนทุกวิชาแปลงให้เป็นคะแนนเต็ม 300 ก็ได้ ( ถ้าคะแนนเต็ม 100 คะแนน ก็นำมาคูณด้วย 3 ก่อน ) แล้วคูณน้ำหนัก % ตรงๆ ได้เลย เช่น น้ำหนัก 20% ก็คูณด้วย 20 ผลลัพธ์ที่ได้ ก็จะรวมกันเต็ม 30,000 คะแนน พอดีเช่นกันและ

อยากรู้วิธีการ คิดคะแนน TCAS66 ทั้งของคณะทั่วไปและ กสพท ฉบับละเอียด ? ทำไงดี

พี่ปั้น และทีมงาน SMP NEWS จัดให้ ! วิธีคิดคะแนน TCAS66 ทั้งของคณะทั่วไปและ กสพท ฉบับละเอียด ! รวมถึงคำแนะนำดีๆ สำหรับน้องๆ ทุกคนที่จะยื่นสมัครรอบ 3 Admission แต่ๆ ยังไม่หมดแค่นี้ !! ยังมีวิธีดูคะแนนสูงต่ำ เปรียบเทียบระหว่างระบบสอบแบบเดิม ( TCAS65 ) กับระบบสอบแบบใหม่ ( TCAS66 ) อีกด้วย ! สนใจคลิกเลยยยยย > <

เช็กคุณสมบัติ (โดยเฉพาะเด็กซิ่ว)

น้องๆ จะต้องดูก่อนว่า เราผ่านเกณฑ์ตามที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนดหรือไม่ เช่น เกรดขั้นต่ำ คะแนนขั้นต่ำ แผนการเรียน และจะต้องใช้คะแนนสอบของปีปัจจุบันเท่านั้นหรือสามารถใช้คะแนนย้อนหลัง 1-2 ปีได้ เนื่องจากบางคณะ/มหาวิทยาลัย มีข้อกำหนดว่าจะต้องจบจากสายวิทย์เท่านั้นจึงจะสมัครได้ หรือบางทีก็มีข้อกำหนดด้านสุขภาพ ส่วนสูงอีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมเช็กคุณสมบัติให้ดีก่อนยื่นกันด้วยนะคะ

เทียบคะแนนย้อนหลัง 2-3 ปี

หลังจากนั้น ให้น้องๆ ย้อนดูคะแนนสูง-ต่ำย้อนหลัง เพื่อเปรียบเทียบกับคะแนนที่เราได้คำนวณออกมาว่า คะแนนของเรา +,- จากคะแนนสูงสุด-ต่ำสุด ในปีนั้นๆ อยู่เท่าใดเราอยู่ในช่วงเกณฑ์นั้นหรือไม่ และมีสิทธิ์ที่จะติด หรือมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

ยกตัวอย่างเช่น

น้องๆ คำนวณคะแนนออกมาได้ 18,000 คะแนน ซึ่งคะแนนต่ำสุดของปีก่อนๆ คือ 16,000 คะแนนแสดงว่าน้องๆ มีคะแนนบวกจากปีก่อน คือ +2,000 คะแนน ซึ่งถือว่าเสี่ยงน้อยมาก และมีโอกาสที่จะติดมหาวิทยาลัยได้

แต่พี่แนะนำว่า ให้ดูเปรียบเทียบย้อนหลังประมาณ 3 – 4 ปี ก็จะดีกว่านะคะ เพราะจะช่วยให้น้องๆ สามารถวางแผนและเป็นแนวทางในการจัดอันดับได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ

เริ่มจัดอันดับ กับ เทคนิคจัดอันดับ รอบ 3 Admission อย่างไรให้ติดชัวร์

เทคนิคการจัดอันดับ รอบ3

น้องๆสามารถเลือกได้สูงสุดถึง 10 อันดับด้วยกันนะคะ ขึ้นอยู่กับความต้องการและงบประมาณของน้องๆ เลย ซึ่งค่าใช้จ่ายในแต่ละลำดับนั้น สามารถไปดูรายละเอียดได้ ที่นี่ เลยค่ะ

อันดับที่ 1 อยากเข้ามากที่สุด

ให้น้องๆเลือกคณะ/สาขา หรือมหาวิทยาลัยที่น้องๆ อยากเรียนมากที่สุด ! ถึงแม้คะแนนของเราอาจจะติดลบอยู่เยอะ เสี่ยงมาก แต่พี่ก็เชียร์ให้ลองเลือกไปก่อนนะคะ เราจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายทีหลัง อย่างน้อยก็ได้ลองทำตามฝันของตัวเองดูเนอะ แต่ ! ถ้าคะแนนติดลบเกิน 5,000 เป็นต้นไป พี่ก็ไม่แนะนำให้เสี่ยงเลือกเหมือนกันนะคะ เพราะอาจจะทำให้น้องๆ เสียอันดับ และเสียเงินฟรีๆ ได้ค่ะ

อันดับที่ 2-3 ชอบรองลงมา

ให้เลือกสาขาที่น้องๆ ชอบ อยากเรียนรองลงมาและมีโอกาสติดมากกว่าอันดับที่ 1 ประมาณ 30-60% ก็จะดีมากๆ เลยค่ะ โดยน้องอาจจะเลือกเป็นสาขาเดียวกันแต่ต่างมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเดียวกันแต่ต่างคณะก็ได้นะคะ ขึ้นอยู่กับความต้องการของน้องๆ ได้เลยค่ะ

อันดับที่ 4-6 มีโอกาสติด และคะแนนไม่ติดลบมากเกินไป

เลือกจากสาขาที่อยากเรียน และมีโอกาสติดที่ค่อนข้างแน่นอน (มากกว่าอันดับที่ 2-3)   ซึ่งควรเป็นสาขาที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ความต้องการและความเป็นไปได้ พี่แนะนำว่า คะแนนไม่ควรติดลบจากปีก่อนๆ มากจนเกินไปนะคะ ไม่อย่างนั้นจะไม่ค่อยเซฟค่ะ

อันดับ 7-10 ติดชัวร์ คะแนนบวกเยอะมาก

ต้องเป็นสาขาที่น้องๆ สนใจ หรือมีโอกาสติดที่แน่นอน มากกว่า 70-90% เมื่อเทียบกับคะแนนปีก่อนๆ พี่แนะนำว่า คะแนนที่ได้ควรจะบวกเพิ่มจากปีก่อน 3,000 คะแนนขึ้นไปจะเป็นการเซฟมากๆ เลย

และในการจัดอันดับ ตั้งแต่ 1-10 นั้น นอกจากความชอบแล้ว น้องๆ ควรจะต้องเรียงตามคะแนนจากสูงไปต่ำด้วยนะคะ เพื่อให้ง่ายต่อการมองภาพรวมของความเซฟ ว่าติดชัวร์แล้วหรือเปล่า และถ้าหากจำเป็นต้องมีการประมวลผลรอบที่ 2 น้องๆ จะได้ไม่ต้องมานั่งจัดเรียงอันดับใหม่อีกครั้งด้วยค่ะ

คำถามยอดฮิตในการจัดอันดับ รอบ 3

Q : ถ้ายื่นเกณฑ์เดียวกัน เรายื่นอันดับที่ 1 แต่เพื่อนคะแนนสูงกว่า ยื่นอันดับที่ 2 ใครจะมีโอกาสติดมากกว่ากัน ?

A : คนที่คะแนนสูงกว่ามีโอกาสติดมากกว่านะคะ ถ้าเกิดเพื่อนติดอันดับก่อนหน้านี้ไปแล้ว เราก็จะมีโอกาสติดอันดับนั้นๆเช่นกันค่ะ

Q : คะแนนเท่ากัน ยื่นอันดับเดียวกัน ใครจะมีสิทธิ์ยื่นติด ?

A : ขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยตัดสินเลยนะคะ ถ้าหากยื่นติด ก็จะติดทั้งคู่ แต่ถ้าหากยื่นไม่ติด ก็จะไม่ติดทั้งคู่เช่นเดียวกันค่ะ

Q : ขอประมวลผลครั้งที่ 2 ต้องเลือกอันดับเดิมที่สอบติดในครั้งแรกด้วยรึเปล่า ?

A : ต้องเลือกด้วยนะคะ เพราะจะได้ไม่หลุดจากอันดับเดิมที่เราสอบติด เพื่อความเซฟค่ะ

Q : ถ้ามีคะแนนไม่ครบตามที่คณะกำหนด แต่คณะนั้นไม่กำหนดคะแนนขั้นต่ำ สามารถยื่นสมัครได้ไหม ?

น้องๆ สามารถยื่นได้ตามปกติเลยน้าา คะแนนส่วนที่หายไปจะนับเป็น 0 คะแนน ยกเว้นว่าคณะนั้นๆ มีกำหนดคะแนนขั้นต่ำ น้องๆ ไม่สามารถยื่นสมัครได้ เพราะจะโดนตัดสิทธิ์ทันที ถือว่าคุณสมบัติไม่ครบตามที่กำหนด

เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย? พอจะเข้าใจการจัดอันดับ รอบ3 กันมากขึ้นไหมคะ ตอนนี้ไม่ว่าคะแนนจะออกมาเท่าไร อยากให้น้องทุกคนสู้ต่อไปนะคะ ซึ่งเทคนิคการจัดอันดับต่างๆที่พี่เอิธ SMP NEWS ได้นำมาแชร์กับน้องๆ ในวันนี้ เป็นเพียงเทคนิคเบื้องต้นเท่านั้น ยังไงก็ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ

และพี่ขอเสริมอีกนิดว่า ในการจัดอันดับ รอบ3 พี่อยากให้น้องค่อยๆ คิดให้ดี เราไม่จำเป็นจะต้องรีบคิด รีบตัดสินใจ รีบยื่นขนาดนั้นนะคะ เพราะการยื่นเร็วหรือช้าไม่ได้มีผลต่อการรับเข้าคัดเลือกนะ ยังไงทางมหาวิทยาลัยก็จะต้องดูที่เกณฑ์คะแนนอยู่ดี ดังนั้นทำให้เต็มที่ พี่เอิธขอให้น้องๆ ทุกคนโชคดี และพี่เป็นกำลังใจให้น้องๆทุกคนเลยนะคะ สู้ๆ ค่ะ ^-^ 

บทความที่ แนะนำ ให้อ่านต่อ

Share