คำราชาศัพท์ มีอะไรบ้าง สรุปเนื้อหา

เมื่อพูดถึงคำราชาศัพท์ น้อง ๆ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะก็คงไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ทุกคน
รู้มั้ยว่าความรู้เรื่องคำราชาศัพท์มีประโยชน์มากกว่าที่คิดเยอะเลย เพราะนอกจากจะเป็นเนื้อหาที่เราใช้ในการทำข้อสอบได้แล้ว ยังเป็นความรู้ติดตัวที่ช่วยให้เราใช้ภาษาได้ถูกสถานการณ์ด้วย

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเนื้อหาคำราชาศัพท์มากขึ้น วันนี้พี่เลยมีบทความเรื่องนี้มาฝากด้วยน้า ซึ่งพี่จะพาไปรู้จักตั้งแต่
ความหมายของคำราชาศัพท์ หลักการใช้คำราชาศัพท์ที่ออกสอบใน A-Level ภาษาไทยรวมถึงสรุปเนื้อหาคำราชาศัพท์ ม.ปลาย รับรองว่าอ่านจบ เอาไปใช้สอบได้ทั้งที่โรงเรียนและสอบเข้ามหาลัยฯ เลยย ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันนน

คำราชาศัพท์ หมายถึง ศัพท์เฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งต่อมาได้หมายรวมถึง
พระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการ และสุภาพชนด้วย เพื่อให้สามารถใช้ภาษาได้เหมาะสมกับฐานะของบุคคลต่าง ๆ

ซึ่งเราจะไปเริ่มกันที่คำราชาศัพท์ที่ออกสอบ A-Level ภาษาไทย กันก่อน ก็คือเรื่องคำราชาศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ นั่นเองง

การใช้คำราชาศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์และอิสริยศักดิ์

การจะใช้คำราชาศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ซึ่งรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ได้ถูกต้อง ก่อนอื่นน้อง ๆ ต้องรู้จัก “ลำดับอิสริยศักดิ์” กันก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งลำดับขั้นตามระดับพระอิสริยยศ ทำให้การใช้คำราชาศัพท์ก็จะแตกต่างกันตามลำดับขั้นนี้ด้วย โดยการแบ่งลำดับอิสริยศักดิ์ ก็จะเป็นไปตามนี้เลยย

1. พระบาทสมเด็จ

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

2. สมเด็จพระบรม

  • สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
  • สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

3. สมเด็จเจ้าฟ้า

  • สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
  • ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

4. พระองค์เจ้า

  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
  • สมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ)

5. หม่อมเจ้า

หลักการใช้คำราชาศัพท์ที่สำคัญใน A-Level ภาษาไทย

เมื่อเรารู้ลำดับอิสริยศักดิ์แล้ว ต่อไปเราก็จะมาดูกันว่า เราจะสามารถใช้คำราชาศัพท์แต่ละประเภทให้เหมาะสมกับ
พระอิสริยยศของแต่ละลำดับขั้นยังไงได้บ้าง มาเริ่มกันที่ประเภทแรกกันเลยย

1. คำนามราชาศัพท์

การใช้คำนามราชาศัพท์ จะต้องเติมคำว่า “พระ” “พระราช” “พระบรม” และ “พระบรมราช” โดยจะเลือกเติมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลำดับอิสริยศักดิ์ ซึ่งพี่ก็ได้สรุปแบบเข้าใจง่าย ๆ มาให้แล้วตามข้างล่างนี้น้า

หลักการใช้คำนามราชาศัพท์

1. พระบรม / พระบรมราช

ใช้กับ พระบาทสมเด็จ (บางคำใช้กับลำดับสมเด็จพระบรมได้)
ตัวอย่าง พระบรมราโชวาท (พระบรมราชินูปถัมภ์)


2. พระราช

ใช้กับ พระบาทสมเด็จ, สมเด็จพระบรม
ตัวอย่าง พระราชนิพนธ์, พระราชดำริ


3. พระ

ใช้กับ ใช้ได้กับทุกลำดับ
ตัวอย่าง พระเนตร, พระพักตร์

Tips

  • “พระบรม” และ “พระบรมราช” ใช้ได้กับลำดับพระบาทสมเด็จเท่านั้น (มีแค่บางคำที่ใช้กับลำดับ
    สมเด็จพระบรมได้)
  • คำว่า “พระราช” สามารถใช้กับลำดับพระบาทสมเด็จและสมเด็จพระบรมได้
  • “พระ” สามารถใช้ได้กับทุกลำดับ ตั้งแต่ลำดับพระบาทสมเด็จจนถึงหม่อมเจ้า

จากเนื้อหาที่พี่สรุปมาให้ น้อง ๆ คงจะเห็นกันแล้วว่า หากคำมีลำดับที่สูงขึ้น การใช้คำนำหน้าก็จะถูกจำกัดให้กับลำดับที่สูงเท่านั้น เช่น บุคคลในลำดับพระองค์เจ้า จะใช้คำนำหน้า “พระบรม” ไม่ได้ ต้องใช้ “พระ” แทน

ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกคำที่จะสามารถใช้คำนำหน้าคำนามราชาศัพท์ได้ถึงระดับสูงสุดน้า เช่น คำว่า พระเนตร หากเราจะใช้กับลำดับพระบาทสมเด็จ ก็ใช้แค่ พระเนตร เราจะไม่ใช้คำว่า พระบรมราชเนตร เพราะ คำว่า เนตร สามารถใช้คำนำหน้าได้เท่านี้นั่นเอง

2. คำกริยาราชาศัพท์

น้อง ๆ อาจจะเคยได้ยินการใช้คำว่า “ทรง” ในคำกริยาราชาศัพท์มาบ้าง แต่หลายคนก็อาจจะงงกับการใช้คำนี้อยู่
เพราะมีหลักการและข้อยกเว้นประมาณหนึ่ง ซึ่งพี่ก็ได้สรุปหลักการใช้ที่ควรรู้มาให้แล้ว ตามนี้เลยย

  1. ทรง + กริยาสามัญ      เช่น      ทรงฟัง, ทรงศึกษา
  2. ทรง + นามสามัญ         เช่น      ทรงม้า, ทรงดนตรี
  3. ทรง + นามราชาศัพท์        เช่น      ทรงพระราชดำริ
  4. ทรงมี / ทรงเป็น + คำสามัญ  เช่น      ทรงมีทุกข์, ทรงเป็นประธาน
  5. มี / เป็น + คำราชาศัพท์          เช่น      มีพระบรมราชโองการ

Tips

  • คำว่า “ทรง” มักจะเป็นคำนำหน้าคำสามัญ ทั้งกริยาสามัญและนามสามัญ ยกเว้น การใช้ ทรง นำหน้าคำนามราชาศัพท์
  • คำไหนเป็นคำราชาศัพท์ (หรูอยู่แล้ว) เราจะไม่เติม “ทรง” ข้างหน้า เช่น คำว่า พระราชประสงค์ จะใช้คำว่า
    เป็นพระราชประสงค์ ไม่ใช่ ทรงเป็นพระราชประสงค์
  • ไม่ใช้คำว่า ทรง นำหน้ากริยาราชาศัพท์ เพราะสามารถใช้คำนั้น ๆ ได้อยู่แล้ว เช่น เสวย โปรด เราจะไม่ใช้ ทรงเสวย หรือ ทรงโปรด (ยกเว้นคำว่า ทรงผนวช) ซึ่งคำเหล่านี้ออกสอบบ่อยมากก

และพี่ขอเสริมเพิ่มอีกนิดหนึ่งน้า สำหรับคำกริยาราชาศัพท์ ก็เป็นคำอีกประเภทหนึ่งที่ต้องเช็กเรื่องลำดับอิสริยศักดิ์เหมือนกัน โดยคำกริยาแต่ละคำจะมีการใช้ที่แตกต่างกันตามลำดับขั้น ซึ่งพี่ได้รวบรวมตัวอย่างคำกริยาราชาศัพท์ที่
น่าสนใจมาแล้ว ตามนี้เลยย

การใช้คำราชาศัพท์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละลําดับอิสริยศักดิ์

หมายเหตุ :
*เสด็จฯ ไป / เสด็จฯ กลับ หมายถึง เสด็จพระราชดำเนินไป / เสด็จพระราชดำเนินกลับ
**ทูลเกล้าฯ ถวาย หมายถึง ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย (ของที่ยกถวายได้)
 น้อมเกล้าฯ ถวาย หมายถึง น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย (ของที่ยกไม่ได้)

ตัวอย่างข้อสอบคำราชาศัพท์

น้อง ๆ เชื่อมั้ยว่า สำหรับเรื่อง “คำราชาศัพท์” แค่เราเข้าใจหลักการใช้คำนามและกริยาราชาศัพท์ที่พี่อธิบายไปก่อนหน้านี้ ก็เพียงพอสำหรับการทำข้อสอบ A-Level แล้วว เดี๋ยวเราจะมาพิสูจน์กันด้วยการทำข้อสอบจริงของ A-Level ภาษาไทย ปี 66 ที่พี่หยิบมาให้ดูเป็นตัวอย่างข้างล่างนี้น้า

วันนี้ เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี __________________ ณ วังสระปทุม __________________ ให้คณะบุคคลต่าง ๆ _________________
ตามลำดับ [A-Level ภาษาไทย ปี 66]

1. เสด็จออก / พระราชทานพระราชวโรกาส / เฝ้าทูลละอองพระบาท
2. เสด็จฯ ออก / พระราชทานพระราชวโรกาส / เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
3. เสด็จฯ ไป / มีพระราชบัญชา / เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
4. เสด็จฯ ไป / มีพระราชดำรัสรับสั่ง / เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท
5. เสด็จออก / ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า / เฝ้าทูลละอองพระบาท

ข้อสอบข้อนี้เป็นรูปแบบที่ข้อสอบวิชาสามัญและ A-Level มักจะหยิบมาออก ซึ่งเป็นข้อสอบที่วัดการใช้คำราชาศัพท์
ให้เหมาะสมกับบุคคลตามลำดับอิสริยศักดิ์และสถานการณ์ที่กำหนด

เมื่อเจอข้อสอบรูปแบบนี้แล้ว อย่างแรกที่เราต้องรู้เลย คือ บุคคลที่โจทย์กำหนดอยู่ในลำดับอิสริยศักดิ์ใด แล้วจึงวิเคราะห์สถานการณ์ตามที่โจทย์กำหนด

ข้อนี้ยกสถานการณ์ของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ซึ่งพระองค์อยู่มีพระอิสริยยศอยู่ในขั้น “สมเด็จพระบรม” ได้ออกมาจากที่ประทับ ณ วังสระปทุม ให้โอกาสคณะบุคคล
ต่าง ๆ เข้าเฝ้า เมื่อเรารู้ลำดับอิสริยศักดิ์ของบุคคลและสถานการณ์แล้ว เราจะมาวิเคราะห์ตัวเลือกกัน

ตัวเลือกที่เราสามารถตัดออกได้ทันทีคือ ตัวเลือกที่ 2 และ 3 เพราะพระองค์อยู่ในลำดับ “สมเด็จพระบรม” ซึ่งการใช้กริยาต้อนรับหรือไปเข้าพบของลำดับขั้นนี้ ต้องใช้ “เฝ้าทูลละอองพระบาท” โดยคำว่า “เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” จะใช้สำหรับบุคคลในลำดับ พระบาทสมเด็จ เท่านั้น

ตัวเลือกต่อมาที่เราตัดออกได้ คือ ตัวเลือกที่ 4 เนื่องจากพระองค์ทรงออกมาจากที่ประทับที่วังสระปทุม ซึ่งไม่ใช่
การเดินทางเพื่อไปยังอีกสถานที่หนึ่ง จึงควรใช้คำว่า “เสด็จออก” ไม่ใช่ “เสด็จพระราชดำเนินไป (เสด็จฯ ไป)”

Tips
ส่วนนี้สามารถใช้เทคนิคการสังเกตได้เล็กน้อย โดยหากเป็นการเดินทางไป คำเชื่อม ไม่ควรใช้คำว่า ณ ที่แปลว่า ใน หรือ ที่ แต่ควรเป็นคำว่า ยัง หรือ ถึง

ตัวเลือกที่เหลืออยู่ คือ ตัวเลือกที่ 1 และ 5 และสำหรับ เฉลยของข้อนี้คือตัวเลือกที่ 1 นั่นเองง เพราะตัวเลือก 2 ข้อนี้มีความแตกต่างกันในคำว่า “พระราชทานพระราชวโรกาส” และ “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ” โดยเราได้วิเคราะห์สถานการณ์กันไปแล้วว่า พระองค์ได้ให้โอกาสบุคคลมาเข้าเฝ้า

ดังนั้น คำที่ถูกต้องคือคำว่า พระราชทานพระราชวโรกาส ส่วนคำว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะใช้ในกรณีที่พระองค์มอบหมายหน้าที่ให้บุคคลหนึ่งไปทำอย่างหนึ่งนั่นเองง

ใครที่ตอบถูกพี่แสดงความยินดีด้วยน้า ส่วนใครที่ตอบผิดก็ไม่ได้หมายความว่าน้อง ๆ ไม่เก่งหรือจะทำไม่ได้ แค่ต้องอาศัยการฝึกฝนและทำโจทย์บ่อย ๆ เท่านั้นเอง และทุกคนก็จะเก่งขึ้นจนข้อสอบพาร์ตคำราชาศัพท์ก็จะไม่ยากเกิน
ความสามารถของทุกคนอีกต่อไป

สรุปเนื้อหาคำราชาศัพท์ ม.ปลาย

ได้รู้เนื้อหาคำราชาศัพท์ที่ออกสอบในสนาม A-Level ภาษาไทยกันไปแล้ว แต่ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะพี่มีสรุปเนื้อหา
คำราชาศัพท์ในระดับชั้นม.ปลายทั้ง 5 ประเภทแบ่งตามการใช้ มาฝากทุกคนเพิ่มเติมด้วย ใครที่ต้องสอบเรื่อง
คำราชาศัพท์ที่โรงเรียนและอยากทบทวนเนื้อหา ก็มาอ่านกันได้เลยย

1. สรรพนามราชาศัพท์

เราจะใช้คำสรรพนามราชาศัพท์ในการกราบบังคมทูลด้วยวาจา ซึ่งยังจำเป็นต้องใช้ให้ถูกต้องตามลำดับอิสริยศักดิ์ด้วยย

ตัวอย่างการใช้สรรพนามราชาศัพท์

1. พระบาทสมเด็จ

แทนผู้พูด (บุรุษที่ 1) : ข้าพระพุทธเจ้า
แทนผู้ที่พูดด้วย (บุรุษที่ 2) : ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท


2. สมเด็จพระบรม

แทนผู้พูด (บุรุษที่ 1) : ข้าพระพุทธเจ้า
แทนผู้ที่พูดด้วย (บุรุษที่ 2) : ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท


3. สมเด็จเจ้าฟ้า (+ พระเจ้าวรวงศ์เธอฯ
กรมหมื่นสุทธนารีนาถ)

แทนผู้พูด (บุรุษที่ 1) : ข้าพระพุทธเจ้า
แทนผู้ที่พูดด้วย (บุรุษที่ 2) : ใต้ฝ่าพระบาท


4. พระองค์เจ้า

แทนผู้พูด (บุรุษที่ 1) : เกล้ากระหม่อม (ช) / เกล้ากระหม่อมฉัน (ญ)
แทนผู้ที่พูดด้วย (บุรุษที่ 2) : ฝ่าพระบาท


5. หม่อมเจ้า

แทนผู้พูด (บุรุษที่ 1) : เกล้ากระหม่อม (ช) / เกล้ากระหม่อมฉัน (ญ)
แทนผู้ที่พูดด้วย (บุรุษที่ 2) : ฝ่าพระบาท

2. กริยาราชาศัพท์

ตัวอย่างคำกริยาราชาศัพท์

1. ทรงงานศิลปะ

ความหมาย ทำงานศิลปะ


2. ตรัส
ความหมาย พูด


3. ทรงธรรม

ความหมาย ฟังเทศน์


4. ทอดพระเนตร

ความหมาย ดู


5. ทรงรัก

ความหมาย รัก


6. เสด็จประพาส

ความหมาย ไปเที่ยว


7. ทรงบาตร

ความหมาย ตักบาตร


8. เสด็จนิวัติ

ความหมาย กลับมา


9. ทรงฉาย

ความหมาย ถ่ายรูป


10. สรงน้ำ
ความหมาย อาบน้ำ

3. นามราชาศัพท์

 สามารถแบ่งได้หลายหมวดหมู่ ตามนี้เลยย

คำราชาศัพท์หมวดเครื่องใช้

ตัวอย่างคำราชาศัพท์หมวดเครื่องใช้

1. พระโอสถ

ความหมาย ยารักษาโรค


2. พระภูษา

ความหมาย ผ้านุ่ง


3. ฉลองพระบาท

ความหมาย รองเท้า


4. พระฉาย

ความหมาย กระจก


5. ผ้าซับพระพักตร์

ความหมาย ผ้าเช็ดหน้า


6. พระแท่นบรรทม

ความหมาย เตียงนอน


7. ฉลองพระองค์

ความหมาย เสื้อ


8. พระราชอาสน์

ความหมาย ที่นั่ง


9. พระธำมรงค์

ความหมาย แหวน


10. พระสาง

ความหมาย หวี

คำราชาศัพท์หมวดเครือญาติ

ตัวอย่างคำราชาศัพท์หมวดเครือญาติ

1. พระอัยกา

ความหมาย ปู่, ตา


2. พระอัยยิกา, พระอัยกี

ความหมาย ย่า, ยาย


3. พระชนก, พระบิดา, พระบิดร

ความหมาย พ่อ


4. พระชนนี, พระมารดร, พระมารดา

ความหมาย แม่


5. พระเชษฐา

ความหมาย น้องชาย


6. พระขนิษฐา

ความหมาย น้องสาว


7. พระโอรส

ความหมาย ลูกชาย


8. พระธิดา

ความหมาย ลูกสาว


9. พระภัสดา

ความหมาย สามี


10. พระมเหสี, พระชายา

ความหมาย ภรรยา

คำราชาศัพท์หมวดร่างกาย

ตัวอย่างคำราชาศัพท์หมวดร่างกาย

1. พระพักตร์

ความหมาย ดวงหน้า


2. พระศอ

ความหมาย คอ


3. พระปราง

ความหมาย แก้ม


4. พระเนตร

ความหมาย ตา


5. พระหัตถ์

ความหมาย มือ


6. พระนาสิก

ความหมาย จมูก


7. พระกรรณ

ความหมาย หู


8. พระทนต์

ความหมาย ฟัน


9. พระกร

ความหมาย ปลายแขน


10. พระเกศา
ความหมาย ผม

4. คำราชาศัพท์สำหรับพระสงฆ์

คำที่ใช้กับพระภิกษุสงฆ์นั้น ส่วนมากใช้เหมือนกับบุคคลทั่วไป แต่บางคำได้ถูกกำหนดไว้เฉพาะพระภิษุสงฆ์ เช่น

ตัวอย่างคำราชาศัพท์สำหรับพระสงฆ์

1. จีวร

ความหมาย ผ้าสำหรับห่มของภิกษุสามเณร


2. อาพาธ

ความหมาย ป่วย


3. สบง

ความหมาย ผ้านุ่ง


4. อาสนะ

ความหมาย ที่นั่ง


5. ลิขิต

ความหมาย จดหมาย


6. เพล

ความหมาย เวลาฉันกลางวัน


7. ปัจจัย

ความหมาย เงินถวายเพื่อเป็นค่าปัจจัยสี่


8. มรณภาพ

ความหมาย ตาย


9. กุฏิ

ความหมาย เรือนหรือตึกสำหรับพระภิกษุสามเณรอาศัย


10. จังหัน

ความหมาย อาหาร

5. คำสุภาพ

คำที่ใช้สำหรับบุคคลทั่วไป โดยเป็นคำที่ใช้ในการสื่อสารเพื่อหลีกเลี่ยงคำไม่สุภาพ หรือไม่เป็นทางการ ซึ่งน้อง ๆ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยย ดังตัวอย่างคำเหล่านี้เลย

ตัวอย่างคำสุภาพ

1. กระบือ

ความหมาย ควาย


2. ผักทอดยอด

ความหมาย ผักบุ้ง


3. ศีรษะ

ความหมาย หัว


4. ผักรู้นอน

ความหมาย ผักกะเฉด


5. สามี

ความหมาย ผัว


6. ผักสามหาว

ความหมาย ผักตบ


7. ภรรยา

ความหมาย เมีย


8. รากดิน

ความหมาย ไส้เดือน


9. ขนมเส้น

ความหมาย ขนมจีน


10. นารีจำศีล
ความหมาย กล้วยบวชชี

คำราชาศัพท์ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องในเนื้อหาวิชาภาษาไทยที่ค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะประมาณหนึ่ง แต่ถ้าได้ลองทำ
ความเข้าใจเนื้อหา น้อง ๆ ก็จะสามารถนำไปใช้ได้อีกเยอะเลยย โดยเฉพาะกับการทำข้อสอบในโรงเรียนหรือสอบเข้า
มหาลัยฯ ซึ่งการเก็บเนื้อหาเรื่องคำราชาศัพท์ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำคะแนนสอบของน้อง ๆ ด้วยย

และหลายคนก็อาจจะเริ่มสังเกตแล้วว่า แม้คำราชาศัพท์จะดูเป็นเรื่องที่มีหลักการเยอะ แต่ถ้าได้ลองฝึกทำโจทย์หรือข้อสอบบ่อย ๆ เราก็จะคุ้นชินกับคำที่ข้อสอบมักจะออก จนสามารถทำข้อสอบพาร์ตคำราชาศัพท์ได้แบบสบาย ๆ เลยย

สำหรับใครที่อ่านบทความนี้จบ แล้วอยากมาทบทวนเนื้อหาก่อนสอบ A-Level ภาษาไทยครบทุกหัวข้อ หรือใครที่กำลังมองหาตัวช่วยในการลดเวลาอ่านหนังสือช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลงสนามจริง พี่ก็ขอแนะนำคอร์ส พิชิต A-Level ภาษาไทย ฉบับรวดรัด ที่สอนโดย อ.ขลุ่ย ให้น้าา

โดยคอร์สนี้ก็จะสอนเนื้อหาวิชาภาษาไทยที่ออกสอบในสนาม A-Level ครบทุกเรื่องแบบกระชับ พร้อมพาไปตะลุยโจทย์จัดเต็มที่รับรองว่าทุกคนจะได้เทคนิคติดตัวไปอัปคะแนนสอบเพียบบ เจอโจทย์ประยุกต์แค่ไหนก็ไม่หวั่น แถมยังเรียนจบได้ภายใน 20 ชม. เท่านั้น รวมถึงมี Unseen Mock Test ภาษาไทย ชุดพิเศษ ให้ไปฝึกทำแบบฟรี ๆ 1 ชุดด้วยย ใครที่ต้องใช้คะแนนสอบ A-Level ภาษาไทย ไม่ควรพลาดคอร์สนี้เลยน้าา ถ้าสนใจดูรายละเอียดก็ คลิก เลยยย

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

A-Level ไทย ออกสอบอะไรบ้าง
A Level ไทย ออกสอบอะไรบ้าง ? สรุปหัวข้อที่ควรเก็บพร้อมคลิปติวฟรี
A-Level คืออะไร
A-Level คืออะไร? มีกี่ข้อ? มีวิชาอะไรบ้าง? สรุปครบพร้อมคลิปติว
สรุปเนื้อหาภาษาไทย การอ่านจับใจความ
การอ่านจับใจความ สรุปเนื้อหาพร้อมเทคนิคและข้อสอบจริงให้ลองทำ
สรุปเนื้อหาและตัวอย่างคำทับศัพท์
คำทับศัพท์ สรุปเนื้อหาและตัวอย่างคำทับศัพท์ พร้อมข้อสอบจริง
การแต่งกายเข้าสอบ Dek68
แต่งกายไปสอบ A-Level 68 / TGAT TPAT 68 ยังไง ใส่ชุดอะไรไปสอบ
อุปกรณ์เข้าห้องสอบ TGAT TPAT2-5 TPAT1 a-level มีอะไรบ้าง
อุปกรณ์เข้าห้องสอบ A-Level 68 / TGAT TPAT 68 เอาอะไรเข้าได้บ้าง?

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

X : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share