ตัวอย่าง Portfolio เข้ามหาลัยให้ติดขัวร์

มีใครอยากได้เทคนิคสำหรับทำ Portfolio ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยบ้างมั้ยยย วันนี้พี่จะมาแชร์เทคนิคการทำ Portfolio ที่พี่ได้ไปรวบรวมมาให้อย่างละเอียดที่สุด สำหรับทุกคนที่กำลังจะเริ่มต้นทำพอร์ตฟอลิโอ หรืออยากจะยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในรอบที่ 1 Portfolio (รอบแฟ้มสะสมผลงาน) ในระบบ TCAS นี้  

แต่เท่านี้ยังไม่พอนะ เพราะพี่ได้เอา ตัวอย่าง Portfolio ของรุ่นพี่มาให้น้อง ๆ ได้ดูเป็นแนวทาง เผื่อจะได้ไอเดียดี ๆ ไปปรับใช้กับพอร์ตของตัวเอง แถมท้ายบทความยังมีคลิปแนะแนวการทำ Portfolio อีกด้วย จะเป็นยังไงบ้าง ไปดูกันเลย !! 

Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) คือ แฟ้มไว้รวบรวมผลงานที่น้อง ๆ เคยทำมาไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรม การเข้าร่วมแข่งขัน หรือเกียรติบัตรนั่นเอง 

ความสำคัญของการทำ Portfolio

การทำ Portfolio เป็นการแนะนำตัวเองให้คณะกรรมการและอาจารย์ที่เป็นคนคัดเลือกตอนสอบสัมภาษณ์ได้รู้จักตัวตนของน้อง ๆ มากขึ้นว่าเป็นใคร มีผลงานอะไร ซึ่งสำคัญมากในรอบ 1 เพราะเป็นรอบของพอร์ตฟอลิโอโดยเฉพาะเลย
(ใครที่จะสมัครรอบอื่น ไม่ว่าจะเป็น รอบ 2, รอบ 3 หรือรอบ 4 ก็ควรทำพอร์ตไว้ด้วยน้า กรรมการจะได้เห็นภาพมากขึ้นเวลาคุยกับน้อง ๆ ไงง) 

คำแนะนำสำหรับการทำ Portfolio

สีที่ใช้ใน Portfolio

  • ให้ใช้สีที่อ่านง่ายในการเขียนข้อมูล เช่น สีดำหรือสีเข้ม
  • ไม่ควรใช้สีสำหรับตกแต่งเกิน 2-3 สี เพราะทำให้ข้อมูลดูอ่านยาก และแนะนำว่าควรบาลานซ์การใช้สี
    ให้เหมาะสมด้วย
  • แนะนำให้ใช้สีตรงกับมหาลัยฯ ที่ยื่นสมัคร เช่น จุฬาฯ ใช้สีชมพูกับสีขาว, มธ. ใช้สีเหลืองกับสีแดง, มก. ใช้สีเขียว, มหิดล ใช้สีน้ำเงิน, มศว ใช้สีเทากับสีแดง เป็นต้น

Code สีที่แนะนำสำหรับทำ Portfolio

จุฬาฯ

#DE5C8E, #F8E1EA, #58595B, #AB5814, #E9C869 

มธ.

#FFD13F, #C3002F

มก.

#006664, #B2BB1E, #74787B, #6E4B32, #FFD800

มหิดล

#1D4F91, #FFC845, #AD841F

มศว

#DA2128, #636466, #231F20

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราไปดูสีของ Code ด้านบนเลยดีกว่าว่าจะเป็นสีประมาณไหน และพี่มีรวม Code สีของมหาลัยฯ อื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ตามด้านล่างนี้เลยน้าา

หมายเหตุ : ยกเว้นในกรณีที่ยื่นเข้าคณะและสาขาที่เน้นโชว์ความสร้างสรรค์ของ Portfolio สูงมาก ๆ เช่น ออกแบบแฟชั่น น้อง ๆ ก็จะต้องใส่ความครีเอทีฟของตัวเองเข้าไปอีกน้า

ข้อมูลที่ใส่ใน Portfolio

  • เขียนข้อมูลให้กระชับ และไฮไลต์เฉพาะสิ่งสำคัญ หรือผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะที่ยื่น จะทำให้คณะกรรมการโฟกัสได้ง่ายขึ้น และทำให้ Portfolio ของน้อง ๆ โดดเด่น
  • เช็กเรื่องการสะกดคำให้ถูกต้องบ่อย ๆ เพราะเป็นอีกหนึ่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สำคัญเลย

*ห้ามใส่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง หรือข้อมูลที่น้อง ๆ ไม่แน่ใจ เพราะหากทางมหาลัยฯ ตรวจเจอ น้อง ๆ จะถูกตัดสิทธิ์ทันที และอาจมีผลต่อการยื่นสมัครรอบถัด ๆ ไปด้วย

 

ภาพที่ใส่ใน Portfolio

  • ใส่ภาพประกอบเท่าที่จำเป็น และควรเป็นภาพที่มีน้อง ๆ อยู่ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเคยเข้าร่วม
    กิจกรรมจริง ๆ
  • ไม่ควรแต่งภาพมากเกินไป แนะนำให้ใช้รูปที่เหมือนตัวจริงมากที่สุด

สำหรับคำแนะนำที่พี่ยกมาให้ทุกคนดูวันนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเทคนิคการทำ Portfolio เท่านั้น แต่ถ้าใครอยากได้เทคนิคมากกว่านี้ หรืออยากรู้ว่า แต่ละคณะควรเก็บผลงานอะไรบ้าง ควรทำ Portfolio ออกมาในรูปแบบไหนก็สามารถลองอ่านบทความ รวม 8 เทคนิคทำพอร์ตเข้ามหาลัยฯ ดูได้เลยน้าา

4 ข้อควรรู้ก่อนยื่นรอบ Portfolio

  • สมัครที่เว็บไซต์ของมหาลัยฯ เพราะแต่ละที่อาจมีขั้นตอนและใช้เอกสารที่แตกต่างกันออกไป
  • บางมหาลัยฯ รับสมัครหลายโครงการ น้อง ๆ ต้องดูรายละเอียดว่ามหาลัยฯ มีเงื่อนอย่างไร อนุญาตให้ยื่นหลายโครงการมั้ย
  • การประกาศผลมี 2 ขั้นตอน
    • ผ่านการคัดเลือกจาก Portfolio หรือ เกณฑ์ที่กำหนดเบื้องต้น 
    • ผ่านการสอบสัมภาษณ์ มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อในคณะ / สาขา นั้น ๆ
  • การยืนยันสิทธิ์มี 2 ขั้นตอน (ต้องทำทั้ง 2 ขั้นตอน)
    • ยืนยันที่เว็บมหาลัยฯ ซึ่งน้อง ๆ จะยืนยันกี่ที่ก็ได้
    • ยืนยันใน myTCAS เป็นการยืนยันสิทธิ์รอบ 1 เลือกได้แค่มหาลัยฯ เดียวเท่านั้น 

Portfolio ควรมีอะไรบ้าง ?

ตัวอย่าง portfolio 10 หน้า มีอะไรบ้าง

Portfolio 10 หน้าที่ควรมี ได้แก่ SOP, ประวัติส่วนตัว, ประวัติการศึกษา, ผลงาน, กิจกรรม, เกียรติบัตร ซึ่ง หน้าปก, ปกหลัง, คำนำ, สารบัญ จะไม่ได้รวมอยู่ใน 10 หน้านี้ด้วย แต่น้อง ๆ สามารถเพิ่มเติมเพื่อให้ Portfolio ของตัวเองน่าสนใจมากขึ้นได้น้า 

วิธีทำ Portfolio

ส่วนที่ 1 : หน้าปก (Cover)

หน้าปก Portfolio เป็นส่วนสำคัญมาก เพราะกรรมการจะตัดสินว่า เขาจะเปิดดูพอร์ตโฟลิโอของเราหรือไม่ ไม่ว่าเนื้อหาภายในของพอร์ตโฟลิโอจะดีแค่ไหน แต่ถ้าหน้าปกไม่น่าสนใจ ก็อาจจะไม่ดึงดูดใจให้เปิดดูน้า 

ดังนั้นน้อง ๆ สามารถออกแบบโดยการใส่ความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวของตัวเองลงไป ได้อย่างเต็มที่เลย
แต่เนื้อหาที่ควรจะมีก็ต้องใส่ให้ครบถ้วนด้วยยย 

หน้าปก Portfolio

– ควรออกแบบพอร์ตโฟลิโอให้มีความโดดเด่น น่าสนใจ ตรงกับธีมของคณะและสาขาที่น้อง ๆ ได้เลือกมาเพื่อดึงดูดใจ
คณะกรรมการ

– รูปที่เลือกใช้ควรเป็นรูปที่สวมใส่ชุดนักเรียน และเห็นใบหน้าที่ชัดเจน 

– ใส่รายละเอียดให้ชัดเจนว่าจะสมัครมหาลัยฯ ไหน คณะ และสาขาอะไร 

– ควรมีประวัติส่วนตัวของตัวเองเล็กน้อย เพื่อยืนยันตัวตน

  • ชื่อจริง – นามสกุล
  • ชื่อเล่น (มีหรือไม่มีก็ได้)
  • ชื่อโรงเรียน
  • ชื่อมหาลัยฯ / คณะ / สาขา ที่ยื่น 

ส่วนที่ 2 : คำนำ (Preface)

คำนำ Portfolio ถือเป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นเลย เพราะเวลาเขียนคำนำจะต้องบอกถึงเหตุผลที่อยากเข้าศึกษา เพราะอะไร สิ่งไหนที่เป็นแรงบันดาลใจ 

โดยมีจุดที่สำคัญ คือ น้อง ๆ จะต้องเขียนคำนำพอร์ตออกมาให้กรรมการอ่านแล้วรู้ว่า เราทำการบ้านมานะ เช่น
คณะและสาขานี้เรียนเกี่ยวกับอะไร น่าสนใจตรงไหน และเหมาะกับเรายังไง ซึ่งก็จะต้องใช้คำพูดในเชิงบวกด้วยนะ !!
ถ้าใครเขียนคำนำ Portfolio ได้ดี ก็จะช่วยสร้างความประทับใจจนกรรมการอยากจะดูส่วนอื่น ๆ ต่อไปเลย 

คำนำใน Portfolio

ข้อควรระวังสำหรับการเขียน คำนำ Portfolio

  • ไม่ควรเกิน 1 หน้ากระดาษ A4
  • บอกเล่าออกมาให้เห็นถึงความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และความพยายาม รวมถึงทัศนคติที่ดีต่อคณะและสาขาที่ยื่น 
  • เขียนคำนำ พอร์ตออกมาเป็นรูปแบบเรียงความแบบย่อ ไม่ต้องยาวจนเกินไป ประโยคไหนอยากให้กรรมการสนใจเป็นพิเศษ สามารถเน้นได้เลย

ส่วนที่ 3 : ประวัติส่วนตัว (Personal Information)

การเขียนประวัติส่วนตัวใน Portfolio เป็นส่วนที่น้อง ๆ จะได้แนะนำตัวเองให้กรรมการรู้จัก ดังนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองที่จะใส่ลงไปในพอร์ตฟอลิโอ ควรตรวจเช็กให้ถูกต้องและครบถ้วนที่สุด

ประวัติส่วนตัวใน Portfolio
  • รูปที่เลือกใช้ควรเป็นรูปนักเรียน หรือรูปภาพที่เห็นหน้าตาชัดเจน
  • ใส่ข้อมูลส่วนตัวพื้นฐาน ให้ครบถ้วน
  • เพิ่มเติมในส่วนของงานอดิเรกเข้าไป เพื่อบ่งบอกความเป็นตัวเองมากยิ่งขึ้น
  • ควรใส่ข้อมูลความสามารถพิเศษ ซึ่งถ้าเกี่ยวข้องคณะและสาขาที่ยื่น จะยิ่งส่งเสริมกันขึ้นไปอีก
  • ข้อมูลครอบครัว ควรที่จะใส่เพื่อสำรองข้อมูล ในกรณีที่เกิดปัญหาแล้วติดต่อน้อง ๆ ไม่ได้
  • ช่องทางการติดต่อ / ข้อมูลติดต่อ จะต้องเป็นข้อมูลที่อัปเดตล่าสุด

ส่วนที่ 4 : ประวัติการศึกษา (Education)

ส่วนนี้ในพอร์ตโฟลิโอจะเป็นส่วนที่แสดงถึงผลการเรียนที่ผ่านมาของน้อง ๆ ว่า มีการพัฒนาขึ้นหรือลดลงยังไง และ
เกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) ด้วยว่า ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกหรือไม่ รวมถึงประวัติการเข้าศึกษาในโรงเรียนต่าง ๆ อีกด้วย

ประวัติการศึกษาใน Portfolio
  • ชื่อโรงเรียนที่จบมา ในแต่ละระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย
  • เกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) ในแต่ละชั้นปี

ส่วนที่ 5 : กิจกรรมที่โดดเด่น (Activity)

ส่วนนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งในแฟ้มสะสมผลงานส่วนนี้ จะเป็นส่วนที่น้อง ๆ จะได้บอกเล่าถึงความสามารถพิเศษของตัวเองผ่านกิจกรรมที่ได้เข้าร่วมแข่งขัน หรือค่ายต่าง ๆ ที่เคยเข้าร่วม  ดังนั้น น้อง ๆ จะต้องเลือกกิจกรรมที่
น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับคณะและ สาขาที่จะยื่นลงไปใน Portfolio ด้วยน้าา 

กิจกรรมที่ใส่ใน Portfolio
  • คัดเลือกกิจกรรมที่โดดเด่น เข้ารอบ หรือได้รับรางวัล (โดยเรียงจากรางวัลใหญ่ไปเล็ก) รวมถึงเกี่ยวข้องกับคณะและสาขา ที่ยื่น ส่วนกิจกรรมที่ไม่มีความเกี่ยวข้องควรตัดทิ้ง ไม่ควรใส่กิจกรรมเยอะจนเกินไป 
  • เลือกใช้รูปภาพที่เห็นตัวเองขณะทำกิจกรรมนั้นอย่างชัดเจน ภาพไม่ควรมีขนาดที่เล็กจนเกินไป (ควรใส่เครื่องหมายในรูปด้วยว่า เราคือคนไหนในรูปภาพนี้) 
  • อธิบายรายละเอียดของกิจกรรมให้กระชับ เข้าใจง่ายและเห็นภาพ รวมถึงรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันนี้ด้วย 

ส่วนที่ 6 : เกียรติบัตร รางวัล (Certificate)

เป็นส่วนที่จะแสดงผลงาน / รางวัล / เกียรติบัตรของน้อง ๆ ที่รวบรวมตลอดปีการศึกษาที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษ และบ่งบอกว่าเป็นเด็กกิจกรรมอีกด้วย ซึ่งผลงานที่เลือกมานั้นควรมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะและ สาขาที่จะยื่น หรือสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ และทัศนคติที่ดีได้

เกียรติบัตร รางวัลที่ใส่ใน Portfolio
  • ผลงานควรเรียงจากรางวัลใหญ่ ไปรางวัลเล็ก เช่น การแข่งขันระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับภายในโรงเรียน
  • ควรสแกนรูปภาพผลงาน แบบสี เพื่อความสวยงาม ชัดเจน ขนาดรูปภาพไม่ควรเล็กจนเกินไป จะทำให้เห็น
    รายละเอียดได้ไม่ชัดเจน
  • ต้องเขียนคำบรรยายใต้ภาพด้วยว่า เราเข้าร่วมกิจกรรมหรือการแข่งขันอะไร และได้รับรางวัลอะไรมาบ้างในทุก ๆ ภาพให้กระชับที่สุด

ผลงานน้อย ไม่ค่อยมีกิจกรรมใส่ Portfolio ทำอย่างไรดี ?

  • ใส่กิจกรรมที่ได้รับประสบการณ์มา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการแข่งขันใหญ่ ๆ แต่จะเป็นการเข้า workshop, จิตอาสา หรืองานอดิเรกก็ได้ เพราะเป็นสิ่งที่น้อง ๆ สนใจนั่นเอง (กรณีกิจกรรมที่ทำไม่มีเกียรติบัตร แนะนำให้ถ่ายรูปหรือ
    แคปรูปแทนน้า พร้อมเขียนบรรยายใต้ภาพแบบสั้น ๆ)
  • เข้าค่าย หรือ ร่วมกิจกรรม open house ที่เกี่ยวข้องกับคณะก็อาจจะช่วยให้กรรมการเห็นถึงความตั้งใจของน้อง ๆ ซึ่งพี่แนะนำมาก ๆ เลยน้า เพราะปัจจุบันการเข้าค่ายหรือทำกิจกรรมในงาน open house ส่วนใหญ่ก็มักจะให้เกียรติบัตรด้วย
  • ลงเรียนคอร์สออนไลน์ที่ตรงกับคณะที่อยากเข้า เมื่อเรียนจบแล้วน้อง ๆ ก็จะมีเกียรติบัตรไปใส่ Portfolio ได้เช่นกัน !

หมายเหตุ : แนะนำให้น้อง ๆ ศึกษาเกณฑ์การคัดเลือกและคุณสมบัติของคณะ / โครงการที่จะยื่น Portfolio กันด้วย เพราะเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาแตกต่างกัน บางที่อาจจะกำหนดคุณสมบัติเฉพาะให้มีผลงานการแข่งขันต่าง ๆ เข้ามาด้วย ดังนั้นถ้าน้อง ๆ ไม่เคยเข้าร่วมการแข่งขันตามที่เกณฑ์กำหนด ก็อาจจะเอากิจกรรมอย่างอื่นมาแทนไม่ได้น้า

ควรมีใบรับรองจากอาจารย์ (Letter of Recommendation) ใน Portfolio

เป็นส่วนที่ให้อาจารย์ประจำชั้น อาจารย์ที่ปรึกษา หรืออาจารย์ที่สนิทของน้อง ๆ  มาเขียนบรรยายถึงพฤติกรรม บุคลิกภาพ นิสัย ผลการเรียนของน้อง ๆ เมื่ออยู่ในโรงเรียน  ซึ่งจะมีในแฟ้มสะสมผลงานหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะ
ช่วยยืนยันและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้มากขึ้นไปอีกก 

คำนิยมที่ใส่ใน Portfolio
  • ต้องให้อาจารย์เขียนบรรยายด้วยลายมือส่วนตัวเท่านั้น พร้อมลงลายเซ็นกำกับให้ชัดเจน
  • ควรเป็นรูปภาพที่สแกนออกมาเพื่อความชัดเจน และไม่ควรใช้เอกสารฉบับจริง จะได้สามารถนำไปยื่นพอร์ตโฟลิโอได้หลายที่ 

ส่วนที่ 7 : หน้าขอบคุณ (Thank you page)

เป็นส่วนที่ไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะทำให้ Portfolio เล่มนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยที่น้อง ๆ สามารถใส่คำว่า ขอบคุณค่ะ / ขอบคุณครับ หรือ Thank you ปิดท้าย ก็จะช่วยให้ไม่จบแบบห้วนจนเกินไป แต่พี่ขอแอบแนะนำนิดนึงน้าว่า น้อง ๆ
สามารถใส่คติประจำใจเข้าไปเพิ่มได้อีก เพื่อการปิดจบที่สวยงามมากขึ้น ^___^ 

หน้าขอบคุณใน Portfolio

ได้เห็นองค์ประกอบของ Portfolio ทั้ง 10 หน้ากันไปแล้ว น้อง ๆ อาจจะสงสัยว่าแล้วควรจะทำ Portfolio ยังไงดี เพราะ
บางคนอาจจะไม่ได้ถนัดเรื่องการทำกราฟิกหรือใช้โปรแกรมออกแบบต่าง ๆ 

วันนี้พี่เลยขอแนะนำ 2 เว็บไซต์ที่จะช่วยให้การทำ Portfolio ของน้อง ๆ สะดวกยิ่งขึ้นคือ Canva และ SlidesGo โดย
ทั้งสองเว็บไซต์นี้จะมี Template ให้น้อง ๆ ดาวน์โหลดมาปรับแต่งเองได้เลยแบบฟรี ๆ สามารถเข้าไปลองใช้กันได้น้าาา

รอบ 1 Portfolio รับสมัครวันไหนบ้าง ?

ตอนนี้ TCAS68 รอบ Portfolio ก็เริ่มประกาศกำหนดการและรายละเอียดต่าง ๆ ออกมาหลายมหาลัยฯ แล้ว น้อง ๆ Dek68 สามารถติดตาม มหาลัยฯ ที่เปิดรับรอบ Portfolio ได้เลยน้า พี่จะคอยอัปเดตให้ว่ามีมหาลัยฯ ไหน เปิดรับสมัครรอบ Portfolio แล้วบ้างงงง

รอบ 1 Portfolio ใช้คะแนนอะไรบ้าง ?

หลาย ๆ คนอาจเข้าใจว่ารอบ Portfolio ทำแค่ Portfolio ก็ใช้ยื่นเข้ามหาลัยฯ ได้แล้ว แต่จริง ๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกที่น้า เพราะคุณสมบัติหรือเกณฑ์การคัดเลือกต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับทางมหาลัยฯ กำหนด ทำให้นอกจากแฟ้มสะสมผลงานแล้วก็อาจจะมีคะแนนอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งพี่ก็ได้สรุปมาให้ทุกคนแล้ว ตามด้านล่างนี้เลยย

เกณฑ์คะแนนที่ใช้คัดเลือก TCAS รอบ 1 Portfolio : GPAX (5 เทอม), คะแนน TGAT/TPAT หรือคะแนนอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะกำหนด เช่น CU-TEP, SAT, BMAT เป็นต้น

ทั้งนี้พี่ขอแนะนำว่าให้น้อง ๆ สอบ A-Level เผื่อไว้ด้วยน้า เพราะคะแนนสอบกลางสามารถใช้ยื่นในรอบอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะกับรอบ 3 ที่หลายมหาลัยฯ เปิดรับสมัครเยอะมากกก เรียกได้ว่าถ้ามีคะแนนสอบเหล่านี้เอาไว้ก็จะอุ่นใจมากขึ้นนนน

และนี่ก็คือองค์กปรกอบของการทำ Portfolio ที่พี่สรุปมาให้ทุกคนดูกันในวันนี้ น้อง ๆ สามารถใช้แพตเทิร์นดังกล่าวในการทำ Portfolio ของตัวเอง และปรับใช้ให้เหมาะสมกับคณะที่สมัครกันได้เลยน้า นอกจากนี้พี่แนะนำให้ติดตาม อัปเดตข่าวสารมหาลัยฯ ต่าง ๆ เอาไว้อย่างใกล้ชิด จะได้ไม่พลาดข่าวการเปิดรับสมัครของมหาลัยฯ ที่น้อง ๆ อยากเข้านั่นเอง

ดูคลิปแนะแนวรอบ Portfolio TCAS68

ดูคลิปแนะแนวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube : SmartMathPro

ตัวอย่างพอร์ต ของรุ่นพี่

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

ปฏิทิน TCAS68 ม.สวนดุสิต
มาแล้ว ! ปฏิทิน TCAS68 ม.สวนดุสิต เริ่มสมัครรอบแรก 5 ส.ค นี้
กำหนดการ TCAS68 ของม.บูรพา
มาแล้ว !! ปฏิทิน TCAS68 ม.บูรพา พร้อมกำหนดการครบทั้ง 4 รอบ
ปฏิทิน tcas68 ม.ศิลปากร รับสมัครวันไหนบ้าง
Dek68 เช็กเลย ! ปฏิทิน TCAS68 ม.ศิลปากร เริ่มสมัคร 28 ต.ค. นี้
-8-ขั้นตอน
อยากติดรอบ Portfolio ต้องเริ่มยังไง รวม 8 เทคนิคทำพอร์ตเข้ามหาลัย
https://www.smartmathpro.com/wp-content/uploads/2022/11/เทคนิคสอบสัมภาษณ์.jpg
เทคนิคสอบสัมภาษณ์เข้ามหาลัยฯ พร้อมตัวอย่าง 8 คำถามยอดฮิต
-Portfolio
รวมค่ายเก็บพอร์ต 2567 สำหรับ Dek68 มีที่ไหนเปิดรับบ้าง ?
TGAT TPAT คืออะไร? Dek68 ต้องสอบ TGAT TPAT ไหม ? สรุปครบในบทความนี้
TGAT TPAT คืออะไร? มีอะไรบ้าง? สรุปพร้อมแจกแนวข้อสอบและคลิปติว

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

X : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share