
พี่เชื่อว่า คงมีน้องๆหลายคนที่มีความฝัน อยากจะสอบติดมหาวิทยาลัย ตั้งแต่รอบที่ 1 หรือ อยากติดรอบ Portfolio ใช่ไหมล่ะค่ะ แต่ติดตรงปัญหาที่ว่า ไม่รู้ควรจะต้องเริ่มต้นอย่างไรดี และควรทำพอร์ตโฟลิโอแบบไหน ให้ติดคณะในฝันชัวร์ๆ มี เทคนิคทำ Portfolio ยังไง
วันนี้พี่เอิธ SMP NEWS จะมาแชร์เทคนิคการทำพอร์ตโฟลิโอ ทั้งหมด 8 ขั้นตอนด้วยกัน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นแบบละเอียดยิบ พร้อมคำแนะนำจากรุ่นพี่คนเก่งอีกมากมาย ที่มั่นใจว่าถ้าน้องๆทำตามขั้นตอนเหล่านี้ จะไม่ตกหล่นจุดสำคัญไปอย่างแน่นอนค่ะ จะเป็นอย่างไรนั้น ไปดูกันได้เลย^_^
1. ค้นคว้าและกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน
ยังไม่มีเป้าหมาย หรือ ค้นหาตัวเองไม่เจอ
สำหรับน้องๆที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนคณะ/สาขาอะไร พี่แนะนำให้เริ่มจากการสังเกตตัวเองก่อนนะคะ ลองลิสต์ออกมาว่า เราชอบ/ไม่ชอบอะไร เราถนัด/ไม่ถนัดอะไรบ้าง หรือถ้ามองตัวเองไม่ออกจริงๆ ก็สามารถให้คนใกล้ตัวช่วยได้นะ เช่น ผู้ปกครอง เพื่อนสนิท คุณครู เป็นต้น
เมื่อลิสต์ออกมาแล้ว ก็ลองไปค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า คณะไหนมีคุณสมบัติตรงกับที่เราลิสต์ไว้บ้าง หลังจากนั้นให้นำมาคัดกรองตามความชื่นชอบและความถนัดของตัวเองอีกครั้ง เพื่อให้ได้คณะ/สาขาที่ต้องการมากที่สุดนั่นเอง
แต่สำหรับน้องๆคนไหนที่ใช้วิธีเหล่านี้แล้วได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดี พี่แนะนำเพิ่มเติมให้ลองไปเข้าร่วมค่าย หรือ งาน Open House เพื่อค้นหาตัวเองเพิ่มเติมดูนะคะ เพราะเมื่อเราได้เห็นรูปแบบการเรียนจริง และได้รับฟังประสบการณ์ของรุ่นพี่คณะนั้นๆโดยตรง ก็จะช่วยให้น้องๆสามารถค้นหาตัวเองได้ง่ายมากยิ่งขึ้นค่ะ
**สำหรับน้องๆที่สนใจ อยากฟังประสบการณ์การเรียนจริง พร้อมเทคนิคการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยของแต่ละคณะ แบบเจาะลึกสุดๆ กับรายการ “คณะไหนยังไงเล่า” สามารถดูได้ ที่นี่ เลยนะคะ)
มีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว
ถ้าหากน้องๆมั่นใจกับเป้าหมายที่เลือก และยืนยันว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว ก็มุ่งสู่ก้าวต่อไปอย่างเต็มที่ได้เลยค่ะ
2. ศึกษาข้อมูลของคณะนั้นๆ
ขั้นตอนนี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญมาก แต่น้องๆมักจะลืมกันอยู่เสมอ นั่นก็คือ การเช็กข้อมูลรายละเอียด เงื่อนไข คุณสมบัติผู้สมัคร ของคณะนั้นๆว่า น้องๆสามารถยื่นได้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นถึงน้องๆจะส่งพอร์ตโฟลิโอไปแล้ว แต่คุณสมบัติไม่ผ่าน เขาก็จะไม่รับทันทีเลยนะคะ ซึ่งข้อมูลข้างต้นสามารถเช็กได้ที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่สนใจได้เลย
3. เช็ก Timeline
เพื่อวางแผนเวลาในการเก็บสะสมผลงาน และทำรูปเล่มพอร์ตโฟลิโอ โดยน้องๆจะต้องเผื่อเวลา สำหรับการทำกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน รวมถึงการเข้าค่ายกิจกรรมต่างๆ ซึ่งก็จะต้องดูว่า ถ้าเริ่มเก็บตั้งแต่ตอนนี้จะทันไหม ต้องการผลงานจำนวนเท่าไหร่ และกิจกรรมต่างๆที่จะเข้าร่วมนั้น ตรงกับวันสอบของเราหรือเปล่า เป็นต้น
4. เก็บกิจกรรม
หากิจกรรมหรือค่ายต่างๆ ที่สามารถเข้าร่วมเพิ่มเติมได้ เพื่อเก็บเป็นผลงานในพอร์ตโฟลิโอ โดยกิจกรรมที่น้องๆจะเลือกเก็บนั้น ควรจะต้องเกี่ยวข้องกับคณะเป้าหมายที่วางไว้ด้วย เช่น อยากเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็เข้าร่วมกิจกรรมประกวดวาดภาพ ระบายสี หรืองานศิลปรังสรรค์ต่างๆ
รวมเว็บไซต์เก็บเกียรติบัตรจากมหาลัยฯ โดยตรง
ถ้าน้องๆ คนไหนกำลังหาเกียรติบัตรไว้สำหรับใส่พอร์ตของตัวเอง พี่ๆ ทีม SMP แนะนำเว็บไซต์ตามนี้เลยย เป็นเว็บไซต์ที่มหาลัยฯ จัดขึ้นโดยตรง มีให้เลือกทั้งแบบเรียนฟรีหรือจะเลือกเรียนแบบเสียเงินก็ได้ มันดีมากๆๆ ไปลองดูกันน้าา > <
5. พัฒนาตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนพิเศษ หรือฝึกฝนทักษะเฉพาะเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนจริง อีกทั้งยังได้รับใบ Certificate ที่สามารถนำไปใส่ในพอร์ตโฟลิโอได้อีกด้วย
6. โฟกัส GPAX
หรือโฟกัสเกรดสะสมในห้องเรียนให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะมีน้องๆหลายคนที่โฟกัสกิจกรรมนอกห้องเรียน แต่ลืมที่จะโฟกัสเกรดในห้องเรียนด้วย ซึ่งเกรดเป็นส่วนที่สำคัญมาก ในการพิจารณาเข้ารับเลือกในรอบที่ 1 Portfolio สำหรับแต่ละมหาวิทยาลัย อย่าลืมบาลานซ์ให้ดีนะคะ
7. เก็บภาพกิจกรรม
ซึ่งพี่ก็มีทริคมาแนะนำน้องๆว่า ในการเข้าร่วมกิจกรรมน้องๆจะต้องพยายามที่จะเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ช่างภาพถ่ายรูปให้มากที่สุด เราจะได้มีรูปภาพที่ติดหน้าเราตอนร่วมกิจกรรมเยอะๆ ในการนำไปใส่พอร์ตโฟลิโอ แบบที่เห็นเราเด่นๆ ชัดเจนไปเลย
8. ทำรูปเล่มให้ดึงดูดใจ
ขั้นตอนสุดท้ายคือ การทำรูปเล่มพอร์ตโฟลิโอให้สวยงาม น่าสนใจ และสามารถดึงดูดใจกรรมการได้ เหมือนประโยคที่ว่า “คนเรามักเลือกซื้อหนังสือจากหน้าปกและคำโปรย”
ที่สำคัญคือ การเลือกสีและรูปแบบให้เหมาะสมกับมหาวิทยาลัย คณะ/สาขา ที่เลือกด้วยนะคะ ซึ่งน้องๆสามารถดูวิธีการทำรูปเล่มพอร์ตโฟลิโอแบบจัดเต็มทุกขั้นตอน ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย พร้อมตัวอย่างพอร์ตโฟลิโอของรุ่นพี่ได้ ที่นี่ เลยนะคะ
สรุป เทคนิคทำ Portfolio
สุดท้ายนี้ พี่เอิธ SMP NEWS อยากจะฝากบอกน้องๆว่า การทำพอร์ตโฟลิโอนั้น สามารถเริ่มเตรียมตัวได้ตั้งแต่ ม.4 – ม.6 เลยนะคะ พี่แนะนำให้ค่อยๆทยอยสะสมผลงาน และทำรูปเล่มไปเรื่อยๆ เพื่อให้พอร์ตโฟลิโอของเราครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด
และไม่ควรที่จะมาเร่งทำทีเดียวตอน ม.6 นะคะ เพราะช่วงนั้นน้องๆก็จะต้องเตรียมตัวสอบกันอย่างหนักมากๆ อาจจะไม่มีเวลามากพอให้กับการทำพอร์ตโฟลิโอได้
ดังนั้น น้องๆจะต้องวางแผนและเตรียมตัว สำหรับการสมัครสอบ TCAS ในรอบที่ 1 Portfolio กันให้ดีนะคะ สู้ๆ พี่เป็นกำลังใจให้เสมอ^_^