สรุปเนื้อหาสังคมเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ

น้อง ๆ รู้กันไหมว่าประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่สร้างความเสียหายไปในวงกว้าง แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่ค่อยได้เกิดภัยพิบัตินี้บ่อยนัก เลยทำให้หลายคนอาจจะทำตัวไม่ถูกเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ

ดังนั้น วันนี้พี่เลยมีบทความเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติมาฝากกันน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหมาย สาเหตุ การปฏิบัติตัว สถานการณ์เกี่ยวกับภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้น พร้อมพาดูตัวอย่างข้อสอบที่ออกสอบใน A-Level สังคม
ท้ายบทความอีกด้วย !!

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ คือ ภัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ โดยที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติมักจะส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์

เช่น ผู้คนเสียชีวิตหรือสูญหาย เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัยเสียหาย เป็นต้น โดยภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นมีหลากหลายอย่าง พี่ได้คัดที่น้อง ๆ ควรจะรู้จักมาให้แล้ว ไปดูกันเลยย

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีอะไรบ้าง ?

แผ่นดินไหว

แผ่นดินไหว คือ การสั่นสะเทือนของพื้นดิน ที่เกิดจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียดที่สะสมไว้ภายในโลกอย่างรวดเร็วเพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ โดยแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มนุษย์ยังไม่สามารถทำนายล่วงหน้าหรือแจ้งเตือนได้ทันที ทำให้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น มักสร้างความเสียหายมาก

สาเหตุของแผ่นดินไหว

มาจากสาเหตุหลัก 2 เรื่อง คือ

  1. เกิดจากปัจจัยธรรมชาติ เช่น แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ ภูเขาไฟปะทุ และอุกกาบาตพุ่งชนโลก
  2. เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทดลองอาวุธปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อน และการทำเหมืองแร่

การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

  • หากอยู่ในอาคาร ควรหลบอยู่ใต้โต๊ะ หรือที่กำบังที่ปลอดภัยแข็งแรงเพื่อป้องกันสิ่งของที่อาจร่วงหล่น ห้ามใช้ลิฟต์ขณะเกิดแผ่นดินไหวเพราะไฟอาจดับได้ จากนั้นรอจนแผ่นดินไหวสงบและรีบออกจากอาคาร
  • หากอยู่นอกอาคาร ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้อาคารสูงเพราะอาจเกิดเหตุอาคารถล่ม

ตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

การเกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 แต่ประชาชนในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคกลาง รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน จนกระทั่งทำให้เกิดเหตุการณ์ตึกถล่มบริเวณเขตจตุจักรของกรุงเทพฯ ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตของคนจำนวนมาก

สึนามิ

สึนามิ คือ คลื่นขนาดใหญ่ที่พัดพาเข้าฝั่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ที่อยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่ง

สาเหตุของการเกิดสึนามิ

เช่น แผ่นดินไหวรุนแรงใต้ทะเล ภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุ และอุกกาบาตพุ่งลงทะเล

การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดสึนามิ

  • หากทราบข่าวการเกิดแผ่นดินไหว ควรรีบออกจากบริเวณชายฝั่งเพราะอาจเกิดสึนามิตามมาได้
  • เมื่อไปเที่ยวทะเลแล้วสังเกตเห็นระดับน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว ให้รีบอพยพขึ้นที่สูง
  • หากอยู่ในทะเลขณะเกิดสึนามิ ให้รีบนำเรือออกกลางทะเล เพราะคลื่นสึนามิที่อยู่ไกลชายฝั่งมาก ๆ มักจะมีขนาดเล็ก
  • คลื่นสึนามิอาจเกิดขึ้นได้หลายระลอก ดังนั้นควรรอสักระยะก่อนเข้าใกล้บริเวณชายฝั่ง

ตัวอย่างเหตุการณ์สึนามิที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

เหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่เกิดจากแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางบริเวณเกาะสุมาตรา
จนทำให้เกิดสึนามิบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันหรือทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต
ประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก รวมถึงสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกกว่า
หลายพันล้านบาท

ภูเขาไฟปะทุ

ภูเขาไฟปะทุ คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบหนึ่ง ที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการปะทุและประเภทของการปะทุ

สาเหตุของภูเขาไฟปะทุ

เกิดจากการเคลื่อนตัวของหินหนืดที่ดันตัวขึ้นมาสู่พื้นผิวโลก ซึ่งในการปะทุของภูเขาไฟจะนำเอาไอน้ำ ฝุ่นละออง เถ้าถ่านและแก๊สต่าง ๆ ขึ้นมาสู่ชั้นบรรยากาศ

ผลกระทบจากภูเขาไฟปะทุ

  • เกิดแก๊สภูเขาไฟหรือกลุ่มควันที่ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ที่ส่งผลให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป
  • เกิดฝนกรด จากกลุ่มแก๊สที่พ่นออกมาจากการปะทุของภูเขาไฟ
  • เกิดแผ่นดินถล่ม จากแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจากการปะทุของภูเขาไฟ
  • เกิดลาวาหลากที่ไหลออกจากปล่องภูเขาไฟหรือรอยแยกของเปลือกโลกซึ่งสามารถทำลายอาคารบ้านเรือนของประชาชนได้

ในประเทศไทยมีภูเขาไฟอยู่ทั่วทุกภูมิภาค แต่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาไฟที่ดับหรือภูเขาไฟที่สงบแล้ว ทำให้ภัยพิบัตินี้เกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ยาก แต่ยังไงก็ตามน้อง ๆ ต้องติดตามข่าวสารและความรู้ไว้เสมอน้าา

แผ่นดินถล่ม

แผ่นดินถล่ม คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการสึกกร่อนของพื้นดิน จนทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของดินและหินลงมาตามลาดเขา โดยทั่วไปมักเกิดภายหลังการเกิดน้ำป่าไหลหลาก

สาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม

  • ปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น การเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง การเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงของน้ำใต้ดิน
  • จากการกระทำของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การตัดถนนตามไหล่เขา การสูบน้ำใต้ดินมาใช้ แผ่นดินถล่มทำให้เกิดความเสียหายหลายอย่าง เช่น ผู้คนเสียชีวิตและสูญหาย ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย

การป้องกันแผ่นดินถล่ม

สามารถทำได้จากความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อให้มีต้นไม้สำหรับการยึดติดดิน และการหลีกเลี่ยงการปลูกบ้านบริเวณที่ลาดชันเพราะหากเกิดดินถล่มอาจได้รับอันตรายได้

ไฟป่า

ไฟป่า คือ การเผาไหม้ที่เกิดขึ้นในป่าอย่างรุนแรงและลุกลามอย่างไม่มีขอบเขต จนไม่สามารถควบคุมได้

สาเหตุของการเกิดไฟป่า

  • ปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น การเกิดฟ้าผ่า กิ่งไม้ในป่าเสียดสีกัน ภาวะภัยแล้ง และการปะทุของภูเขาไฟ
  • การกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาพื้นที่ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว การจุดไฟเพื่ออำนวยความสะดวกเมื่อเข้าไปเก็บของป่า

ผลกระทบเมื่อเกิดไฟป่า

เช่น ปัญหาหมอกควัน อากาศเป็นพิษกระทั่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ป่าลดลงจากการถูกทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย และดินเสื่อมสภาพจากการถูกเผาไหม้ทำลายหน้าดิน

การป้องกันไฟป่า

หากเป็นสาเหตุที่เกิดจากธรรมชาติ มนุษย์อาจไม่สามารถป้องกันได้มากนัก แต่สามารถลดสาเหตุที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง เช่น รัฐบาลออกกฎหมายห้ามการเผาไร่นา ประชาชนงดการเผาพื้นที่ทางการเกษตรหลังฤดูการเก็บเกี่ยว และงดการจุดไฟระหว่างเดินป่า เป็นต้น

อุทกภัย

สาเหตุของอุทกภัย

อุทกภัยหรือน้ำท่วม คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ฝนตกหนัก หิมะละลาย น้ำทะเลหนุนสูง เป็นต้น

ผลกระทบเมื่อเกิดอุทกภัย

โดยเมื่อเกิดอุทกภัยได้ส่งผลกระทบหลายอย่าง เช่น บ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างพังทลายเสียหาย เกิดไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้ารั่ว และเกิดโรคระบาดที่มาจากมลพิษทางน้ำ

การป้องกันอุทกภัย

เมื่อเกิดอุทกภัย เราจึงควรป้องกันตนเอง เช่น ติดตามข่าวสารการอพยพจากทางราชการ ไม่เข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด ไม่ควรลงไปเล่นน้ำเนื่องจากอาจมีสัตว์อันตรายหรือเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับน้ำ

ตัวอย่างเหตุการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ในประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง เช่น เหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่าล้านล้านบาท

โดยเหตุการณ์ครั้งนี้มีพื้นที่ประสบภัยกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง และบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 70 ปี (นับตั้งแต่เหตุการณ์
น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2485)

เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้มีที่มาจากหลายสาเหตุ เช่น พายุ 5 ลูกที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยระยะ ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และปรากฏการณ์ลานีญาที่ส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น

ภัยแล้ง

ภัยแล้ง คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดสภาวะแห้งแล้งในอากาศและพื้นดินเป็นระยะเวลานาน โดยระดับความรุนแรงของภัยแล้งขึ้นอยู่ระยะเวลาที่เกิด และขนาดของพื้นที่

สาเหตุของภัยแล้ง

ภัยแล้ง มีสาเหตุมาจากการที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล หรือฝนตกแต่มีปริมาณน้อยกว่าปกติอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ผลกระทบเมื่อเกิดภัยแล้ง

ปัญหาภัยแล้งส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการทำการเกษตร และสร้างผลกระทบหลายอย่าง เช่น การเกิดไฟป่า สิ่งมีชีวิตในน้ำสูญพันธุ์ เป็นต้น

การป้องกันการเกิดภัยแล้ง

ปัญหาภัยแล้งสามารถป้องกันได้จากหลายภาคส่วน เช่น ภาครัฐควรสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ จัดหาแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามเกิดภัยแล้ง และจัดทำระบบเตือนภัยแล้งเพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที

ส่วนเราทุกคนในฐานะประชาชนก็สามารถร่วมมือกันเพื่อช่วยป้องกันปัญหาภัยแล้งได้ เช่น การใช้น้ำอย่างประหยัด
ปิดน้ำทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน ช่วยกันปลูกต้นไม้ นั่นเองง

ทิศทางแนวข้อสอบ A-Level สังคม (ภัยพิบัติ) 69

สำหรับทิศทางของแนวข้อสอบ A-Level สังคม เรื่องภัยพิบัติ จะอยู่ในพาร์ตภูมิศาสตร์ซึ่งในแต่ละปีพาร์ตนี้จะมีอยู่ 10 ข้อด้วยกัน ส่วนเรื่องภัยพิบัติจากที่พี่ดูข้อสอบย้อนหลังจะเห็นว่าในแต่ละปี หากปีนั้นออกเรื่องภัยพิบัติจะออกประมาณ
1-2 ข้อ และบางปีอาจไม่มีเรื่องนี้เลย

ลักษณะข้อสอบส่วนใหญ่มักจะออกแบบความรู้ความจำว่าภัยพิบัตินั้นคืออะไร เกิดจากอะไร หรือเราควรปฏิบัติตัวแบบไหน ซึ่งตรงตามเนื้อหาที่เรียนเลยย หรืออาจออกอ้างอิงสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้น ๆ

ซึ่งสำหรับปี 69 นี้ พี่ขอเก็งไว้ก่อนว่าเรื่องภัยพิบัติน่าจะกลับมาอยู่ในข้อสอบ เนื่องจากข้อสอบสังคมฯ ส่วนใหญ่มักจะออกอ้างอิงกับสถานการณ์ดัง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีนั้น จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปได้ที่จะนำเรื่องนี้มาออกข้อสอบ เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ต้องอย่าลืมอ่านเรื่องนี้ไปเผื่อด้วยน้าา

ตัวอย่างข้อสอบเกี่ยวกับภัยพิบัติพร้อมเฉลย

ข้อสอบวิชาสังคมเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติพร้อมเฉลยข้อที่ 2
อธิบายเฉลยตัวอย่างข้อสอบภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ตอบ ตัวเลือก 3
เพราะ แผ่นดินถล่ม คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของมวลดินและเศษหินตามพื้นที่ลาดชัน โดยกระบวนการเกิดแผ่นดินถล่มเกิดจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน

(ก) จนทำให้น้ำซึมลงในดินจนกระทั่งดินอิ่มตัว แรงยึดระหว่างมวลดินลดลง (จ) แรงยึดเหนี่ยวระหว่างช่องว่างเม็ดดินลดลง และความดันของน้ำในดินเพิ่มสูงขึ้น ความดันในช่องว่างเม็ดดินเพิ่มขึ้น (ง และ ค) ชั้นดินมีแรงกระทำให้เลื่อนไหลมากกว่าแรงต้าน (ข) กระทั่งในที่สุด ทำให้มวลดินเคลื่อนที่ลงมาทับสิ่งก่อสร้างหรือผู้คนบริเวณเชิงเขา

ข้อสอบวิชาสังคมเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติพร้อมเฉลยข้อที่ 1
อธิบายเฉลยตัวอย่างข้อสอบภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ตอบ ตัวเลือก 3
เพราะ ข้ออื่นถูกต้องตามข้อเท็จจริง กล่าวคือ สึนามิเป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและรุนแรง ขณะอยู่ในทะเลคลื่นจะมีความสูงน้อยกว่า 1 เมตร แต่มีความยาวคลื่น 100-200 กิโลเมตร

โดยสึนามิมักมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงใต้ทะเลหรือมหาสมุทร บริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิ คือ บริเวณวงแหวนไฟมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติกเพราะเป็นพื้นที่รอยต่อของแผ่นเปลือกโลก (มักเกิดแผ่นดินไหวและทำให้เกิดสึนามิตามมา)

ส่วนตัวเลือก 3 ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เนื่องจาก คลื่นสึนามิเมื่อเคลื่อนตัวอยู่ในทะเลหรือมหาสมุทรจะมีความรุนแรงในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเคลื่อนที่เข้าใกล้บริเวณชายฝั่งคลื่นจะสูงและมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม จนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ที่อยู่บริเวณชายฝั่ง

จบไปแล้วสำหรับเนื้อหาภัยพิบัติทางธรรมชาติน้าา พี่เชื่อว่านอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อให้น้อง ๆ นำไปใช้ในชีวิตจริงได้แล้ว ก็ยังสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในการเตรียมตัวสอบ A-Level สังคม และการสอบในโรงเรียนได้ด้วย
อย่างไรก็ตามใครที่อยากจะแม่นเนื้อหานี้ก็ควรทบทวนเนื้อหาและฝึกทำข้อสอบหรือแบบฝึกหัดเพิ่มเติม
กันอย่างสม่ำเสมอน้าา

แต่ถ้าใครลองทำข้อสอบดูแล้วก็ยังเจอจุดที่ไม่เข้าใจ หรืออยากได้คนช่วยไกด์ในการเตรียมสอบ A-Level สังคม หรือ A-Level วิชาอื่น ๆ ให้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
พี่ขอแนะนำคอร์สเรียนพิเศษสนาม A-Level ของ SmartMathPro ที่มีทั้ง A-Level คณิต 1,2 / A-Level ภาษาอังกฤษ / A-Level ฟิสิกส์ / A-Level ภาษาไทย / A-Level สังคมเลยน้าา

โดยสำหรับใครที่ไม่มีพื้นฐานก็สามารถเรียนได้ เพราะพี่สอนตั้งแต่ปูพื้นฐาน ไปจนถึงพาทำโจทย์ตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงความยากใกล้เคียงกับข้อสอบจริงเลย แถมเทคนิคอีกเพียบที่จะช่วยให้น้องทำข้อสอบได้เร็วขึ้นด้วย

แนะนำว่ายิ่งเริ่มเตรียมตัวสอบเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งพร้อมมากกว่าใครน้า เพราะปีนี้สนามสอบ A-Level เลื่อนมาสอบไวขึ้น น้อง ๆ จะได้มีเวลาทบทวนเนื้อหาและฝึกทำโจทย์เสริมแกร่งได้นั่นเอง ที่สำคัญ ถ้าสมัครคอร์สตั้งแต่ตอนนี้พี่มี Unseen Mock Test ชุดพิเศษ 1 ชุด แถมฟรีไปให้ลองทำพร้อมสิทธิพิเศษประจำเดือนอีกมากมายด้วย ถ้าน้อง ๆ คนไหนสนใจคอร์สเตรียมสอบ A-Level สามารถ คลิก เข้ามาดูรายละเอียดได้เลยย

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

สรุปเนื้อหา พระพุทธศาสนา ออกสอบ A-Level สังคม
A-Level สังคม (พระพุทธศาสนา) ออกสอบอะไรบ้าง ? พร้อมตัวอย่างข้อสอบ
สรุปเนื้อหาสังคม เศรษฐศาสตร์จุลภาค
เศรษฐศาสตร์จุลภาคคืออะไร? สรุปเนื้อหาเศรษฐศาสตร์พร้อมข้อสอบจริง
สรุปเนื้อหาสังคม เรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค
เศรษฐศาสตร์มหภาค สรุปเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์พร้อมข้อสอบจริง
สรุปเนื้อหาสังคม ม.ปลาย ประวัติศาสตร์ไทย
ประวัติศาสตร์ไทย มีอะไรบ้าง? สรุปเนื้อหาพร้อมข้อสอบจริงให้ฝึกทำ
สรุปเนื้อหาสังคม เรื่องประวัติศาสตร์สากล
ประวัติศาสตร์สากล สรุปเนื้อหาประวัติศาสตร์ พร้อมข้อสอบจริง
A-Level สังคม ภูมิศาสตร์ ออกสอบอะไรบ้าง
A-Level สังคม (ภูมิศาสตร์) ออกสอบอะไร ? พร้อมตัวอย่างข้อสอบจริง

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

X : @PanSmartMathPro

Tiktok : @pan_smartmathpro

Lemon8 : @pan_smartmathpro

Share