จบม.3 แล้วเลือกแผนการเรียนไหนดี

การเลือกแผนการเรียนต่อในชั้นม.ปลายต้องเป็นเรื่องที่น้อง ๆ ม.ต้นหลายคนกำลังคิดหนักอยู่แน่เลยใช่ไหมว่าเรียนจบม.3 แล้วจะเลือกเรียนสายอะไรดี ? หรืออาจจะยังไม่แน่ใจว่าแต่ละแผนการเรียนต้องเรียนอะไรบ้าง ? วันนี้พี่ก็ได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับแผนการเรียนต่าง ๆ ที่จะช่วยให้น้อง ๆ ตัดสินใจกันง่ายขึ้นมาให้แล้วว โดยพี่จะเน้นไปที่การเรียนในสายสามัญเป็นหลักเพื่อให้ทุกคนรู้ว่าชั้นม.ปลายมีแผนการเรียนอะไรบ้าง แล้วสายไหนจะเหมาะกับเราที่สุด รวมถึงวิธีการ
เตรียมตัวสอบเข้าของแต่ละสายด้วยนะ !! พลาดไม่ได้แล้วว ไปหาคำตอบพร้อมกันเลยย > <

จากช่วงม.ต้นน้อง ๆ จะได้เรียนเนื้อหาที่เป็นพื้นฐาน แต่พอขึ้นม.ปลายทุกคนจะได้เลือกเรียนในสายการเรียนที่ตัวเองถนัดหรือสนใจมากขึ้น ซึ่งต้องบอกก่อนเลยว่า น้อง ๆ สามารถเลือกสายการเรียนได้ทั้งหมด 2 สายหลัก ๆ คือ สายอาชีพ และสายสามัญ

  • สายอาชีพ หรือ ปวช. เป็นสายเฉพาะทางและเน้นภาคปฏิบัติที่จะเรียนทั้งหมด 3 ปีด้วยกัน
    สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่เลือกเรียนสายนี้ ก็จะได้เรียนวิชาเฉพาะทางค่อนข้างแน่น มีประสบการณ์การทำงาน และสามารถทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบด้วย เช่น สายอุตสาหกรรม, สายบัญชี หรือสายศิลปกรรม หรือใครอยากเรียนต่อก็ไปได้ถึง 2 ทางเลย ไม่ว่าจะเป็นสายปวส. ที่จะใช้เวลาเรียน 2 ปี หรือต่อมหาลัยฯ ก็ได้น้า
  • สายสามัญ สายยอดฮิตของน้อง ๆ ม.3 หลายคน ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 3 ปี คือ ม.4 – ม.6 ซึ่งสายนี้จะเป็นสายสำหรับคนที่ต้องการเรียนเพื่อใช้ต่อยอดในการสอบเข้ามหาลัยฯ โดยจะเน้นการเรียนทฤษฎี มีสายการเรียนให้เลือกหลัก ๆ ทั้งหมด 3 สาย ได้แก่ สายวิทย์ – คณิต, สายศิลป์ – คำนวณ และสายศิลป์ภาษา

ปล. สายการเรียนอื่น ๆ ในสายสามัญก็มีเหมือนกันน้าา แต่ในบทความนี้ พี่จะพูดถึงการเรียนในสายสามัญเป็นหลัก
ถ้าน้อง ๆ คนไหนที่กำลังตัดสินใจจะเลือกเรียนสายสามัญอยู่ ก็มาอ่านไปพร้อม ๆ กันเลยย

การตัดสินใจเลือกสายการเรียน สำคัญยังไง ?

อย่างที่พี่ได้บอกไปในหัวข้อที่แล้วว่าเป้าหมายหลักสำหรับน้อง ๆ ที่เลือกเรียนสายสามัญ คือ การสอบเข้ามหาลัยฯ ดังนั้นการเลือกแผนการเรียนก็จะมีผลต่อการเลือกคณะในอนาคตด้วยเหมือนกัน เพราะหลาย ๆ คณะมีการกำหนดแผน
การเรียน ซึ่งคนที่เรียนมาไม่ตรงสายก็อาจจะถูกตัดสิทธิ์ได้น้า T_T

อีกอย่าง คือ ความเข้มข้นของแต่ละวิชาซึ่งแตกต่างกันไปตามแผนการเรียน (และบางวิชาก็เป็นพื้นฐานไปต่อยอดในคณะนั้น ๆ) เช่น สายการเรียนวิทย์ – คณิตจะได้เรียน คณิตม.ปลายทั้งคณิตพื้นฐานและคณิตเพิ่มเติม แต่น้อง ๆ สายศิลป์ภาษา จะได้เรียนแค่คณิตพื้นฐานเท่านั้น ทำให้ในกรณีที่คณะที่น้อง ๆ อยากเข้า มีเรียนวิชาแคลคูลัสซึ่งเป็นเนื้อหาในคณิตเพิ่มเติม คนที่เรียนสายวิทย์ – คณิตมาก็จะมีพื้นฐานมากกว่าคนที่เรียนสายศิลป์ภาษา ที่เพิ่งเคยเจอวิชาแคลคูลัส
ครั้งแรกในรั้วมหาลัยฯ นั่นเองง

วิธีการเข้าเรียน ม.4 สายสามัญ มีอะไรบ้าง ?

1. การยื่น GPAX ของม.ต้น

ตามปกติแล้ว ถ้าโรงเรียนไหนเปิดสอนตั้งแต่ ม.1 – ม.6 น้อง ๆ ส่วนใหญ่จะเลือกเรียนต่อ ม.4 ที่โรงเรียนเดิม อาจจะเพราะคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมที่เก่า หรือไม่อยากยุ่งยากกับระบบสอบเข้า ม.4 ที่ใหม่ และบางโรงเรียนก็สามารถยื่นเกรดเพื่อเข้าเรียน ม.4 ได้เลย โดยที่ไม่ต้องสอบใหม่ จึงเป็นเหตุผลให้บางคนเลือกจะเรียนต่อที่เดิม (แต่บางโรงเรียน น้อง ๆ ที่เป็นศิษย์เก่าก็ใช้วิธีสอบเข้าเหมือนกันน้า)

ซึ่งการคัดเลือกโดยการใช้ GPAX ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละแผนการเรียน ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การคัดเลือกของแต่ละโรงเรียน ตัวอย่างเช่น แผนการเรียนสายวิทย์ – คณิต ต้องได้เกรด 3 ขึ้นไป, สายการเรียนศิลป์ – คำนวณต้องได้ 2.75 ขึ้นไป และ สายการเรียนศิลป์ภาษาต้องได้ 2.50 ขึ้นไป เป็นต้น

2. การสอบเข้า

ส่วนใหญ่หลาย ๆ โรงเรียนจะใช้วิธีนี้ เช่น เตรียมอุดม สวนกุหลาบ มหิดลวิทยานุสรณ์ หอวัง เป็นต้น เพื่อเป็นการคัดเลือกนักเรียนใหม่ในแต่ละปี ซึ่งเนื้อหาสำหรับการสอบเข้าจะยึดจากหลักสูตร สสวท. ตามที่เคยเรียนมา แต่อาจจะปรับให้มีความซับซ้อนขึ้น โดยความยาก – ง่ายของแต่ละสายการเรียนในการสอบเข้าจะไม่เหมือนกัน

แผนการเรียน มีอะไรบ้าง ?

หลังจากอธิบายรายละเอียดกันมาบ้างแล้ว พี่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ แผนการเรียนต่าง ๆ  ในชั้นม.ปลายว่าจะมีแผนการเรียนอะไรที่น่าสนใจบ้าง ? แล้วเรียนเกี่ยวกับอะไรเป็นหลัก ? ถ้าใครพร้อมแล้ว ไปดูกัน !!

1. แผนการเรียน วิทย์ - คณิต 

แผนการเรียนวิทย์ – คณิต คือ แผนการเรียนที่เน้นวิชาวิทย์ – คณิตเป็นหลัก ซึ่งจะเรียนคณิตพื้นฐาน คณิตเพิ่มเติม ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ส่วนวิชาอื่น ๆ อย่างภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ ก็ยังได้เรียนเหมือนเดิมน้าา

ตัวอย่างโครงการห้องเรียนพิเศษสำหรับแผนการเรียน สายวิทย์ – คณิต ได้แก่

1.1 Gifted เป็นโครงการที่เน้นเรียนวิชาวิทย์ – คณิต ดังนั้นเนื้อหาจะเข้มข้นกว่า และชั่วโมงเรียนก็มากกว่าโครงการปกติ ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไป ตัวอย่างโรงเรียนที่มีโครงการนี้ คือ โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย, โรงเรียนสารวิทยา เป็นต้น

1.2 ESMTE (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment) ห้องเรียนพิเศษเน้นวิชา วิทย์ คณิต เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีหลักสูตรเนื้อหาที่เข้มข้นกว่าห้องเรียนสายวิทย์ – คณิตทั่วไปเช่นกัน ตัวอย่างโรงเรียนที่มีโครงการนี้ คือ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เป็นต้น

1.3 SMA (Science Math Ability) หลักสูตรเดียวกับห้อง Gifted แต่จะเพิ่มวิชาเทคโนโลยีและภาษาเข้าไปด้วย ตัวอย่างโรงเรียนที่มีโครงการนี้ คือ โรงเรียนมหาวชิราวุธ (สงขลา) เป็นต้น

2. แผนการเรียน ศิลป์ - คำนวณ

แผนการเรียนศิลป์ – คำนวณ คือ แผนการเรียนที่ไม่ได้เรียนแค่คณิตน้า น้อง ๆ จะได้เรียนแบบเน้น ๆ ทั้งคณิตพื้นฐาน คณิตเพิ่มเติม และภาษาอังกฤษ ควบคู่กันไป โดยที่มีวิชาภาษาไทย สังคม และวิทยาศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐาน เหมาะสำหรับคนที่อาจจะยังไม่แน่ใจว่าชอบสายวิทย์หรือสายศิลป์มากกว่ากัน ถือว่าเป็นสายที่อยู่ตรงกลางระหว่างสายการเรียนวิทย์ – คณิต และสายศิลป์ภาษาก็ว่าได้

3. แผนการเรียน ศิลป์ - ภาษา

แผนการเรียนศิลป์ – ภาษา คือ แผนการเรียนที่น้อง ๆ จะได้เรียนภาษากันแบบจัดหนัก จัดเต็ม ซึ่งภาษาต่างประเทศที่
จะได้เรียน คือ ภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 โดยภาษาที่ 3 น้องจะต้องเลือกเองจากวิชาที่โรงเรียนมีอยู่ เช่น ภาษาจีน,
ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเกาหลี, ภาษาสเปน, ภาษาเยอรมัน เป็นต้น ซึ่งจะเรียนควบคู่ไปกับวิชาสายศิลป์ อย่าง
ภาษาไทยและสังคม ส่วนวิชาวิทย์ และคณิต น้อง ๆ ก็ยังต้องเรียนเหมือนเดิมน้า แต่จะได้เรียนคณิตและวิทย์พื้นฐานเท่านั้น

ป.ล. บางโรงเรียนอาจจะมีภาษาให้เลือกเรียนเยอะกว่านี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนว่าเปิดสอนวิชาอะไรบ้าง น้อง ๆ สามารถลองศึกษาจากหลักสูตรของทางโรงเรียน หรือปรึกษาคุณครู, รุ่นพี่ดูได้น้าา)

โครงการห้องเรียนพิเศษสำหรับแผนการเรียน สายศิลป์ภาษา ได้แก่

1.1 EP (English Program) ทุกวิชาที่ได้เรียนจะสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ยกเว้นวิชา ภาษาไทย และสังคม
ตัวอย่างโรงเรียนที่มีโครงการนี้ คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า เป็นต้น

1.2 MEP (Mini English Program) คล้ายกับห้องเรียน EP ที่จะเน้นการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ความ
เข้มข้นของเนื้อหาจะน้อยกว่า ตัวอย่างโรงเรียนที่มีโครงการนี้ คือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา เป็นต้น

1.3 IEP (Intensive English Program) เป็นห้องเรียนที่ผสมกันระหว่าง EP และ Gifted แต่เนื้อหาวิทย์ – คณิตจะ
เข้มข้นน้อยกว่า Gifted ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนว่ามีการจัดการเรียนการสอนแบบไหน ตัวอย่างโรงเรียนที่มีโครงการนี้ คือ โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นต้น

นอกเหนือจาก แผนการเรียน วิทย์ - คณิต / ศิลป์ - คำนวณ / ศิลป์ภาษาแล้ว ยังมีสายอะไรอีกบ้างนะ ?

1. แผนการเรียน ไทย - สังคม 

เน้นการเรียนวิชาภาษาไทยและสังคม (ศาสนา, ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์, กฎหมาย, เศรษฐศาสตร์) เป็นหลักซึ่งน้อง ๆ ที่เรียนจบจากสายการเรียนนี้ สามารถไปเรียนต่อคณะที่เป็นสายสังคมได้เลย เช่น คณะนิติศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์,
คณะมนุษยศาสตร์, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เป็นต้น

2. แผนการเรียน ศิลป์ธุรกิจ

สายนี้เน้นเรียนวิชาสำหรับสายศิลป์เช่นกัน ทั้งภาษาไทย, สังคม, ภาษาอังกฤษ และวิชาเชิงธุรกิจด้วย เช่น การลงทุน
เบื้องต้น, การจัดการธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งการเรียนสายนี้ก็สามารถยื่นเข้าคณะตามที่น้อง ๆ สนใจได้เหมือนกับแผนการเรียนอื่น ๆ เลย

3. แผนการเรียน ม.ปลาย รูปแบบใหม่

เป็นแผนการเรียนที่เปิดสอนนอกเหนือจากแผนการเรียนด้านบน เพื่อเป็นทางเลือกที่หลากหลายขึ้นให้กับน้อง ๆ ได้เลือกเรียนตามความถนัด / ความชอบของตัวเองได้เลยย

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
  • Track แพทยศาสตร์ และกลุ่มสาขาสาธารณสุขศาสตร์
  • Track วิศวกรรมศาสตร์ชีวภาพ
  • Track วิศวกรรมศาสตร์
  • Track วิศวกรรมหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์
  • Track วิศวกรรมการบินและอวกาศ
  • Track สถาปัตยกรรมศาสตร์
  • Track บริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ บัญชี
  • Track สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์
  • Track อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์
  • Track ศิลปกรรมศาสตร์ จิตรกรรม ประติมากรรม
  • Track นิเทศศาสตร์ ภาพยนตร์ และสื่อดิจิทัล
  • Track ศิลปะการอาหาร
  • Track วิทยาศาสตร์การกีฬา
  • Track ดนตรี - นิเทศศิลป์
  • Track ดุริยางคศิลป์

ความหมายของ track คือ การนำ 3 แผนการเรียนหลัก มาแบ่งย่อยเป็นสาย ๆ เพื่อให้น้อง ๆ ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและถนัด ที่สำคัญคือการเรียนแบบ track จะมีวิชาที่คล้ายกับคณะนั้น ๆ ที่สอนในมหาลัยฯ อีกด้วย

โรงเรียนโพธิสารพิทยากร
โรงเรียนโพธิสารพิทยากร
  • วิทย์-เทคโนโลยี (หุ่นยนต์)
  • เตรียมวิทย์ – คอมฯ
  • เตรียมแพทย์ – เภสัช
  • เตรียมนิเทศศาสตร์
  • เตรียมมนุษย์ – ครุศาสตร์
  • เตรียมวิศวะ – สถาปัตย์
  • เตรียมศิลปกรรม
  • เตรียมนิติ – รัฐศาสตร์
  • เตรียมบริหารธุรกิจ – บัญชี
โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร
โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร

กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

  • เอกวิทยาศาสตร์ - ออกแบบสร้างสรรค์
  • เอกคณิตศาสตร์ ศิลป์ – คำนวณ
  • เอกคณิตศาสตร์ - วิศวะ
  • เอกวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์
  • เอกนวัตกรรมเทคโนโลยีมัลติมีเดีย
  • เอกเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • เอกวิศวกรรมดิจิทัล

กลุ่มศิลปกรรมศาสตร์

  • เอกดุริยางคศิลป์
  • เอกศิลปะการแสดงและภาษาเพื่อการสื่อสาร
  • เอกทัศนศิลป์
  • เอกออกแบบแฟชัน
  • เอกออกแบบจิวเวลรี
  • เอกแอนิเมชัน
  • เอกดิจิทัล มีเดีย อาร์ต
  • เอกภาพยนตร์ดิจิทัล

กลุ่มมนุษยศาสตร์ / อักษรศาสตร์ / ศิลปศาสตร์

  • เอกอาหารการโรงแรมและภาษาเพื่อการสื่อสาร
  • เอกภาษาอังกฤษ – อาเซียน
  • เอกภาษาอังกฤษ – เกาหลี
  • เอกพลศึกษาและภาษาเพื่อการสื่อสาร
  • เอกนันทนาการและภาษาเพื่อการท่องเที่ยว
โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม
โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม
  • แผนการเรียนภาษาไทย-สังคม-ศิลปะ
  • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ช่างอุตสาหกรรม (วิศวะ)
  • แผนการเรียนการงานอาชีพและเทคโนโลยี-ธุรกิจ
  • แผนการเรียนภาษาไทย-สังคม-ศิลปะ
โรงเรียนสาธิตศิลปากร
โรงเรียนสาธิตศิลปากร
  • แผนการเรียนศิลปกรรม

เลือกแผนการเรียน ม.ปลาย ยังไงดี ?

1. เลือกจากวิชาที่ชอบและไม่ชอบ

จริง ๆ แล้วการเลือกแผนการเรียนก็คล้ายกับการเลือกคณะ แต่จะมีข้อจำกัดมากกว่า ถ้าใครยังไม่รู้ตัว … ว่าตัวเองชอบวิชาอะไรกันแน่ พี่แนะนำให้ลองเลือกจากวิชาที่ไม่ชอบก่อนก็ได้น้าา เผื่อจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น (เพราะเรามักจะรู้สิ่งที่ตัวเองไม่ชอบมากกว่าสิ่งที่ชอบใช่ไหมล่ะ > <)

2. เลือกจากคณะที่อยากเข้า หรืออาชีพที่อยากทำ

หลายคนมีคณะหรืออาชีพในฝัน บางคนอยากเป็นหมอ บางคนอยากเป็นนักบิน ถ้าใครมีคณะหรืออาชีพที่อยากเป็น ก็จะช่วยให้ตัดสินใจเลือกสายการเรียนได้ง่ายขึ้นเยอะเลยย ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเป็นหมอก็ต้องเข้าเรียนคณะแพทย์ และแผนการเรียนที่สามารถต่อยอดไปเป็นแพทย์ได้ นั่นก็คือแผนการเรียนวิทย์ – คณิต นั่นเอง ซึ่งบางคณะอาจมีกำหนดชัดเจน ว่าต้องจบจากสายใดสายหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นถ้าน้อง ๆ มีคณะที่อยากเข้า ก็สามารถเข้าไปเช็กเกณฑ์ปีก่อน ๆ กันในเว็บไซต์ mytcas.com หรือเว็บไซต์คณะ / มหาลัยฯ นั้นได้น้า

3. ความสามารถ / กิจกรรมที่ชอบก็บ่งบอกแผนการเรียนได้ 

หลายคนอาจจะนึกถึงคณะหรือวิชาที่ชอบไม่ออก งั้นลองเปลี่ยนมาเป็น สำรวจตัวเองกันดูว่าน้อง ๆ มีความสามารถอะไรบ้างหรือตั้งคำถามว่ากิจกรรมที่เราทำเป็นประจำเนี่ย มีเหตุผลอะไรหรือเปล่าที่เราทำมันบ่อย ๆ เป็นความชอบของเรา
ใช่ไหม ? บางทีวิธีนี้ก็อาจจะช่วยให้หาเจอทั้งแผนการเรียน, คณะ จนไปถึงอาชีพที่เราอยากเป็นเลยก็ได้นะ ^__^

แต่ละแผนการเรียน สามารถเข้าคณะอะไรได้บ้าง ?

น้อง ๆ น่าจะเคยได้ยินว่าสายการเรียน สายวิทย์ – คณิต สามารถยื่นสอบเข้าได้ทุกคณะ แต่จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับเกณฑ์การรับสมัครของแต่ละคณะ / มหาลัยฯ ว่ามีการจำกัดเรื่องสายการเรียนหรือไม่ ถ้าไม่มี น้อง ๆ ก็สามารถสอบเข้าคณะนั้น ๆ ได้ตามปกติ

แผนการเรียนนี้ก็สามารถเข้าคณะได้หลากหลายเช่นกัน แต่น้อง ๆ ต้องเช็กให้ดีว่าคณะที่อยากเข้านั้น ไม่ได้จำกัดเรื่องแผนการเรียนใช่มั้ย เพราะต่อให้ทำคะแนนสอบ / เกรดเฉลี่ยสูงมากแค่ไหน ก็จะโดนตัดสิทธิ์ทันที เพราะถือว่าคุณสมบัติ
ไม่ตรง

สำหรับคนที่เรียนแผนการเรียนสายศิลป์ – ภาษามา การเรียนในคณะที่เน้นคณิตและวิทย์อาจจะไม่ใช่ทางสักเท่าไหร่ ซึ่ง
ส่วนใหญ่จะเป็นคณะเน้นภาษาเป็นหลัก เช่น คณะมนุษยศาสตร์ / คณะศิลปศาสตร์ / คณะอักษรศาสตร์ / คณะนิเทศศาสตร์ / คณะนิติศาสตร์ / คณะรัฐศาสตร์ / คณะศิลปกรรมศาสตร์ / คณะครุศาสตร์ ฯลฯ

และอีกหนึ่งคำถามยอดฮิต สำหรับหลาย ๆ คนที่เรียนสายศิลป์ – คำนวณ / ศิลป์ภาษามานั่นคือ น้อง ๆ จะสอบหมอได้ไหม ? คำตอบคือ “ได้น้าา” โดยใช้วิธียื่นคะแนนสอบ กสพท ผ่านระบบ mytcas แต่สำหรับใครที่จะสอบเข้าหมอโดยไม่ใช้คะแนน กสพท ควรจะต้องเช็กเกณฑ์และคุณสมบัติของมหาลัยฯ ก่อนนะว่ามีกำหนดสายการเรียนไหม

ถ้าอยากเข้า แผนการเรียนนี้ต้องเตรียมตัวยังไง ?

สายวิทย์ - คณิต

สำหรับน้อง ๆ ม.ต้นตัดสินใจแล้วว่าที่จะเข้าแผนการเรียนนี้ อย่างแรกคือต้องเก็บเนื้อหาตอนม.ต้นให้ดี โดยเฉพาะวิชา
วิทย์ – คณิต เพื่อจะได้เป็นพื้นฐานสำหรับการเตรียมตัวเรียนตอนม.ปลายด้วย

สายศิลป์ - คำนวณ

การเตรียมตัวของคนที่อยากเข้าสายศิลป์ – คำนวณจะคล้ายกับของคนที่จะเข้าสายวิทย์ – คณิตเลย แต่ต่างกันตรงที่
น้อง ๆ ควรเน้นวิชาคณิตและภาษาอังกฤษเป็นหลัก รวมถึงให้พยายามรักษาเกรดให้ดีด้วยเหมือนกันน้าา เพราะนอกจากจะใช้ยื่นเข้าม.4 ในบางโรงเรียนได้ ก็ยังเป็นการทบทวนความรู้ม.ต้นให้แน่น ๆ ก่อนที่จะไปต่อยอดเนื้อหาตอนม.ปลายนั่นเอง

สายศิลป์ - ภาษา

สำหรับน้อง ๆ ที่รู้ตัวเองว่าอยากเรียนสายศิลป์ภาษา แนะนำให้เริ่มอ่านเนื้อหาสายศิลป์ไปก่อนอย่างวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคม แต่ก็ห้ามเทวิชาวิทย์ – คณิตน้าา ไม่อย่างงั้นเกรดอาจจะหล่นได้ ถ้าไม่เข้าใจจริง ๆ ลองขอความช่วยเหลือจากคุณครู หรือดูคลิปติวตาม youtube ก็ได้ นอกเหนือจากวิชาที่พี่บอกไปแล้ว การหาว่าตัวเองอยากจะเรียนภาษาที่ 3 เป็นภาษาอะไรก็สำคัญน้า อาจจะลองลิสต์ดูว่าชอบภาษาไหนมากกว่ากัน อย่างภาษาจีน, ภาษาญี่ปุ่น,
ภาษาเกาหลี, ภาษาสเปน, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน สิ่งนี้ก็จะช่วยให้น้อง ๆ เลือกแผนการเรียนได้ง่ายขึ้นด้วย

สำหรับคนที่เลือกได้แล้วว่าอยากเข้าสายการเรียนไหน หรือกำลังเลือกอยู่ พี่ก็แนะนำว่าระหว่างนี้ให้เริ่มเตรียมตัวอ่านหนังสือกันไปก่อนก็ดีน้า โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่อยากให้ทบทวนกันเยอะ ๆ เพราะไม่ว่าเราจะเรียนสายศิลป์หรือสายวิทย์ก็ต้องเจอวิชานี้ และในอนาคต อาจจะมีการต่อยอดไปถึงการสอบเข้ามหาลัยฯ ด้วย ดังนั้นถ้าพื้นฐานแข็งแรงก็จะเป็นประโยชน์มาก ๆ เลยย

แต่ถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง สามารถดูคอร์สคณิตศาสตร์ ม.ปลายจาก SmartMathPro ไปเตรียมตัวก่อนใครได้ (ขอขายของนิดนึงง > <) ในแต่ละคอร์สจะสอนเนื้อหาแบบละเอียดเพื่อเสริมพื้นฐานของน้อง ๆ ให้แข็งแรง แถมยังมีโจทย์ซ้อมมือให้มากมาย ซึ่งจะเป็นตัวช่วยได้ดีเวลาที่น้อง ๆ ไปเจอโจทย์ในข้อสอบจริง แอบกระซิบว่าตอนนี้แพ็กบุฟเฟต์ลดสูงสุดถึง 35% ด้วยยย ใครสนใจคลิกเลย

แผนการเรียน แต่ละสาย เหมาะกับลักษณะนิสัยแบบไหน ?

สายวิทย์ - คณิต

สำหรับใครที่อยากเรียนแผนการเรียน สายวิทย์ – คณิตนั้น ควรจะมีความถนัดเกี่ยวกับด้านการคำนวณและการจำ
ถ้าใครที่ไม่ชอบตัวเลข อาจจะไม่เหมาะกับสายการเรียนนี้สักเท่าไหร่ เพราะว่าน้อง ๆ จะไม่ได้เจอตัวเลขแค่ในวิชาคณิตเท่านั้น แต่ยังเจอในวิชาฟิสิกส์ เคมี อีกด้วย และในส่วนของการจำก็มีวิชาชีวะที่จะได้จำกันแบบจุก ๆ ไปเลย !!

สายศิลป์ - คำนวณ

แผนการเรียนนี้ไม่เหมาะสำหรับน้อง ๆ ที่ไม่ชอบการคำนวณและภาษาอังกฤษ เพราะว่าสายศิลป์ – คำนวณ จะได้เรียนวิชาภาษาอังกฤษเท่า  ๆ กับวิชาคณิตศาสตร์ แต่ถ้าใครที่คิดว่าไม่น่าเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ไหว แต่ชอบตัวเลขแถมภาษาอังกฤษก็ได้อยู่ พี่บอกเลยว่าแผนการเรียนนี้เหมาะมาก !!

ถึงแม้ว่าจะยื่นเข้าคณะได้ไม่เยอะเท่าสายการเรียนวิทย์ – คณิต แต่จริง ๆ แล้ว ตัวเลือกก็ไม่น้อยกว่ากันเลยน้า เพราะถือว่ามีความรู้ทั้งจากวิชาสายศิลป์ แล้วก็ยังเก่งคณิตอีก พี่ว่าสามารถต่อยอดไปได้หลายทางเลยยยย

สายศิลป์ - ภาษา

แผนการเรียนนี้ใครที่ชอบเรียนภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาที่ 3 ก็จะได้เรียนกันแบบจัดเต็ม !! นอกเหนือจากนั้น บางโรงเรียนก็ยังมีคุณครูต่างชาติ เพื่อให้น้อง ๆ ได้พูดคุยกับเจ้าของภาษากันไปอีกก

แต่ข้อจำกัดของคนที่เรียนสายศิลป์ภาษา คือ เมื่อคณะที่น้อง ๆ อยากเข้าต้องใช้วิชาสายวิทย์ – คณิต อาจจะรู้สึกท้อเมื่อต้องเตรียมตัวสอบวิชาเหล่านี้ (แต่น้อง ๆ ทำได้แน่นอน พี่เชื่อในตัวทุกคน !!) แต่ข้อดีก็คือ วิชาสายศิลป์ทั้งภาษาไทย
ภาษาอังกฤษ สังคม นี่แหละที่ทำให้ได้เปรียบกว่าแผนการเรียนอื่น ๆ เลยย

ในการเลือกสายการเรียนพี่แนะนำให้โฟกัสที่ตัวเองเป็นอย่างแรกเลยน้าา เพราะทุกคนต้องเรียนม.ปลายไปอีก 3 ปีเลย แต่ก็อย่าลืมปรึกษาคุณพ่อ – คุณแม่ด้วยนะ เผื่อจะได้คำแนะนำดี ๆ มาประกอบการตัดสินใจด้วย ส่วนใครที่ยังเลือกไม่ได้ก็ไม่เป็นไรน้าา ไม่ต้องกดดันตัวเอง บางทีความชอบของน้อง ๆ อาจจะไม่ได้อยู่ในห้องเรียนอย่างเดียวก็ได้นะ ลองออกไปทำกิจกรรมหรือพูดคุยกับคนอื่นให้มากขึ้น ยังไงพี่ก็จะเป็นกำลังใจให้ทุกคนเลยย ขอให้ทุกคนเจอเส้นทางที่ใช่ของตัวเองน้าา ^__^

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

ศิลป์ - คำนวณ เรียนอะไร ต่อคณะไหนได้บ้าง
ศิลป์ - คำนวณ เข้าคณะอะไรได้บ้าง ? เรียนอะไร ? สรุปมาให้แล้ว !
เรียนศิลป์ภาษา เข้าคณะอะไรได้บ้าง
ศิลป์ - ภาษา เข้าคณะอะไรได้บ้าง ? สรุปให้แล้ว มาดูกัน !
สรุปเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.ปลาย ม.4 ม.5 ม.6 ต้องเรียนอะไรบ้าง
คณิตศาสตร์ ม.ปลาย (ม.4 ม.5 ม.6) หลักสูตรใหม่ เรียนเรื่องอะไรบ้าง ?
สังคม ม.ปลาย ม.4 ม.5 ม.6 เรียนเรื่องอะไรบ้าง สรุปเนื้อหาสังคม ม.ปลาย ครบทุกกลุ่มสาระ
สรุป สังคม ม.ปลาย (ม.4 ม.5 ม.6) เรียนอะไรบ้าง ? – SmartMathPro
-สรุปเนื้อหาภาษาไทย-ม.ปลาย
สรุป ภาษาไทย ม.ปลาย (ม.4 ม.5 ม.6) เรียนอะไรบ้าง ? - SmartMathPro

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share