วิศวะ คอม เรียนอะไรบ้าง

ก๊อกๆ มีใครกำลังรออ่านบทความ “คณะไหนยังไงเล่า” คณะวิศวกรรมศาสตร์บ้างงง ความพิเศษคือบทความนี้ไม่ได้มาเล่าเกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์ทั่วไป แต่จะพาน้องๆ ไปเจาะลึกกับวิศวะ คอม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (น่าจะเป็นสาขาและมหาลัยฯ ในฝันของใครหลายๆ คนเลยย)

โดยพี่ซัน รุ่นพี่จากวิศวะคอม สจล. ที่เตรียมเรื่องเกี่ยวกับวิธีค้นหาตัวเอง การเตรียมตัวสอบ ชีวิตช่วงมหาลัยฯ มาเล่าให้น้องๆ ทุกคนฟังมากมาย และขอสปอยล์นิดนึงว่าพี่ซันมีเทคนิคอ่านหนังสือสายคำนวณและสายจำเฉพาะของพี่ซันเองที่น่าสนใจมากๆ ถ้าใครอยากได้เทคนิคดีๆ ไว้เตรียมสอบ ห้ามพลาดบทความนี้เลยน้า !!

สำหรับพาร์ทนี้ พี่ซันจะมาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการอยากเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ อย่างวิธีการค้นหาตัวเองว่าพี่ซันใช้วิธีไหนบ้าง และสาเหตุที่ตัดสินใจเลือกเรียนวิศวะ คอม ที่สจล. ยังไม่จบแค่นั้น พี่ซันขอแถมวิธีการเตรียมตัวสอบและเทคนิคการอ่านหนังสือทั้งวิชาสายจำและสายคำนวณ ใครอยากได้เทคนิคใหม่ๆ เพื่อปรับใช้กับของตัวเอง ไปดูเลยย > <

สวัสดีค่ะทุกคนน้าา พี่ซันเองน้า ตอนนี้เรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 2 (กำลังจะขึ้นปีที่ 3) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พี่เป็น Dek64 จบมาจากสายการเรียนวิทย์-คณิตค่า

มีวิธีค้นหาตัวเองยังไงบ้าง ?

จุดเริ่มต้นมาจากซันชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ เลยไปปรึกษาอาจารย์แนะแนว ซึ่งอาจารย์ก็แนะนำว่าให้ลองไป OPEN HOUSE ของแต่ละคณะ/มหาลัยฯ และตอนแรกจริงๆ ซันสนใจคณะเภสัชศาสตร์ ยังไม่ได้เลือกที่จะเรียนวิศวกรรมศาสตร์เลยทันที แต่พอได้ลองไป OPEN HOUSE กลับรู้สึกว่าชอบการเรียนของคณะวิศวกรรมศาสตร์มากกว่า เลยตัดสินใจได้ว่าจะเรียนคณะนี้ ยิ่งได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะวิศวกรรมศาสตร์อย่างจริงจังและมากขึ้น ก็ยิ่งสนใจคณะนี้ขึ้นไปอีกค่ะ

แล้วทำไมถึงเลือกเรียนวิศวะ คอม สจล. ?

ช่วงมัธยมปลาย ซันมีโอกาสได้ทำโครงงานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หลายตัว ซึ่งพอได้ศึกษาและเรียนรู้มากขึ้นเลยทำให้ซันรู้สึกสนุกกับการเรียนคอมพิวเตอร์ เป็นสาเหตุที่ตัดสินใจเลือกเรียนวิศวะ คอม หลังจากนั้นก็หาข้อมูลเกี่ยววิศวะ คอมของหลายๆ มหาลัยฯ เพิ่มเติม และมีปรึกษารุ่นพี่บ้าง สุดท้ายคือสไตล์การเรียนของสจล. ที่เน้นการปฏิบัติและลงมือทำมากกว่าการนั่งเรียนเลคเชอร์ มันตอบโจทย์ซันที่สุด ก็เลยเลือกเรียนวิศวะ คอม ที่นี่ค่ะ

เลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอื่นๆ ไว้ด้วยไหม อย่างเช่น วิศวะไฟฟ้า วิศวะเครื่องกล

ซันเลือกวิศวกรรมศาสตร์ สาขาชีวการแพทย์กับสาขาเคมีไว้ด้วยค่ะ ส่วนที่เลือกสาขาชีวการแพทย์เพราะว่าเป็นสาขาใหม่ที่น่าสนใจมาก ซึ่งหลักสูตรจะเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้กับมนุษย์โดยเฉพาะด้านการแพทย์ และอีก 1 สาขา คือ วิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมี เพราะว่าซันชอบวิชาเคมีเป็นอันดับที่ 2 รองจากวิชาฟิสิกส์เลย

ตอนเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยฯ อ่านหนังสือเยอะมั้ย ?

จริงๆ ซันเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ม.5 เลยค่ะ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ศึกษาก่อนว่าจะต้องใช้คะแนนวิชาอะไรบ้าง
สัดส่วนคะแนนของวิชาไหนเยอะที่สุด แล้วซันก็จะทุ่มกับวิชานั้นๆ เป็นพิเศษค่ะ โดยวิศวกรรมศาสตร์ใช้คะแนน PAT3 50% + PAT1 20% + GAT 20% (จริงๆ ซันสอบ PAT2 ด้วยแต่มหาลัยนี้ไม่ได้ใช้) ซึ่งจะเห็นว่าใช้คะแนน PAT3 ค่อนข้างเยอะ ซันก็จะเน้นอ่านวิชาฟิสิกส์ เคมี คณิต และ Drawing ก่อน จากนั้นก็ค่อยมาอ่านภาษาอังกฤษ และฝึกทำข้อสอบ GAT เชื่อมโยง พอเก็บเนื้อหาหลักๆ ครบทั้งหมด ก็ไปลุยอ่านวิชาชีวะเพื่อใช้สอบ PAT2 ต่อค่า

ขอเสริมจากพี่ซันหน่อยน้าา อาจจะมีน้องๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่า PAT2,PAT3 เหมือนกับ TPAT2,TPAT3 ไหม ? จริงๆ แล้วเนื้อหามีความทับซ้อนก็บ้าง เพราะก่อนหน้านี้ PAT2 = วิทยาศาสตร์ และ PAT3 = วิศวกรรมศาสตร์ ซึ่ง TCAS66 ก็รวมกันเป็น TPAT3 ที่ออกสอบครบเลยทั้งวิทย์และวิศวะ แต่ TPAT2 ก็กลายเป็นศิลปกรรมศาสตร์แทน ซึ่งสำหรับน้องๆ Dek67 ที่กำลังจะเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยฯ จะใช้เกณฑ์ของ TCAS67 น้าาา

มีเทคนิคการอ่านหนังสือยังไง ? เพราะเตรียมสอบเยอะมากทั้งวิชาสายคำนวณและสายจำ

ถ้าเป็นวิชาที่เน้นคำนวณอย่างฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ หลักการที่ซันใช้มาตลอดคือ “มองตามความเป็นจริง”
หมายถึง การจินตนาการภาพตามโจทย์โดยอ้างอิงตามหลักความเป็นจริง อาจจะใช้การวาดภาพหรือเอาความเป็นชีวิตประจำวันใส่ลงไปในโจทย์ เช่น x + 3 = 7 ซันอาจจะมองเป็น ตอนนี้ทิมอายุเท่าไหร่ ถ้าผ่านไป 3 ปีแล้วทิมอายุ 7 ขวบ แต่เทคนิคนี้ซันไม่ได้ใช้ทุกครั้งน้าา ซันใช้แค่ช่วงแรกๆ ที่ต้องใช้ความเข้าใจก่อน แต่พอฝึกทำโจทย์ไปเรื่อยๆ จนซันเริ่มคล่องกับการทำโจทย์มากขึ้น ก็จะรู้วิธีคิดของโจทย์ข้อนั้นๆ โดยที่ไม่ต้องสมมติเหตุการณ์ขึ้นมาแล้วค่ะ 

ส่วนเทคนิควิชาที่เน้นจำ ซันจะใช้วิธีการอ่านออกเสียงและพูดให้เพื่อนฟัง ที่สำคัญมากๆ คือความสม่ำเสมอในการอ่านหนังสือสอบ ถ้าน้องๆ คนไหนที่อ่านหนังสือแล้วรู้สึกไม่สนุกหรือตีโจทย์ไม่ออก ลองนึกตามความเป็นจริงแบบวิธีของซันก็ได้นะคะ อาจจะทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของโจทย์นั้นๆ แล้วก็รู้สึกสนุกมากขึ้นค่ะ

แบ่งเวลาอ่านหนังสือสอบที่โรงเรียนกับสอบเข้ามหาลัยฯ ยังไง ?

ถ้าอยู่ที่โรงเรียน ซันจะตั้งใจเรียนในห้อง ส่วนช่วงคาบว่างจะอ่านหนังสือและทำการบ้านของที่โรงเรียนให้เสร็จ
ถ้าเลิกเรียนแล้ว ก็จะเปลี่ยนมาอ่านหนังสือ ทำโจทย์ สำหรับสอบเข้ามหาลัยฯ 

โดยหลังเลิกเรียนของทุกวัน ซันจะเรียนพิเศษวันละ 3 ชั่วโมง และเปลี่ยนวิชาเรียนสลับกันไป ส่วนเสาร์-อาทิตย์
กับปิดเทอมจะใช้เวลาเรียนพิเศษประมาณ 8 ชั่วโมง ครึ่งเช้าจะเป็นวิชาหนึ่ง ครึ่งบ่ายจะเป็นอีกวิชาหนึ่ง แล้วแต่ว่าวันนั้น
จะจัดตารางเรียนพิเศษยังไง และวิชาอื่นๆ อย่างเช่น Drawing, ภาษาอังกฤษ และ GAT เชื่อมโยง ซันมีพื้นฐานอยู่แล้วเลยเลือกที่จะอ่านเอง

ช่วงที่อ่านหนังสือหนักๆ เคยรู้สึกหมดไฟบ้างไหม ? แล้วมีวิธีการแก้ไขยังไง ?

ซันหมดไฟบ่อยมากเลยย คิดว่าไม่น่าจะอ่านหนังสือต่อได้ เลยแก้อาการหมดไฟด้วยการพักผ่อน และให้รางวัลตัวเอง อย่างการสิ่งที่ชอบ เช่น กินขนม ดูหนัง ฟังเพลง แล้วก็จะขอกำลังใจจากคุณแม่ด้วยค่ะ

Section 2 : ชีวิตตอนเรียน วิศวะ คอม สจล.

พาร์ทเตรียมตัวสอบก็ผ่านไปแล้ว ต่อมาพี่ๆ ทีมงาน SMP จะให้พี่ซันมาเล่าเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและชีวิตตอนเรียนวิศวะ คอม สจล. เผื่อน้องๆ คนไหนสนใจจะเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ แล้วกำลังหาอ่านรีวิวเกี่ยวกับคณะนี้เพิ่มเติม
พี่ๆ ทีมงานคิดว่าพาร์ทนี้น่าจะเป็นตัวเลือกในการช่วยตัดสินใจได้น้าา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ว่าเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ? แล้ววิศวะ คอม เรียนเกี่ยวกับอะไร ?

วิศวกรรมศาสตร์ สจล. จะเรียนแยกสาขาตั้งแต่ปี 1 ซันเลยค่ะ ซันเลยไม่แน่ใจว่าวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอื่นๆ เรียนยังไงบ้าง แต่เท่าที่รู้ คือ เรียนวิชาฟิสิกส์ เคมี และ Drawing แต่ถ้าเป็นวิศวกรรมศาสตร์ สาขาชีวการแพทย์ ก็จะได้เรียนวิชาชีวะเพิ่ม แต่วิชาเหล่านี้จะไม่เจอในวิศวะ คอมนะคะ มีแค่ 2 วิชาเท่านั้นตอนปี 1 ที่เรียนเหมือนกัน คือ วิชาแคลคูลัสกับวิชาปูพื้นฐานสำหรับวิศวกรรมศาสตร์แค่นั้นเลยย 

ส่วนวิศวะ คอมเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ? ก็จะแบ่งออกเป็น 3 สายหลักๆ คือ Software (เรียนการเขียนภาษาต่างๆ
เช่น ภาษา C, Python, Java รวมไปถึงภาษาระดับล่างอย่าง Assembly), Hardware

(เรียนพื้นฐานของวงจรไฟฟ้า การใช้บอร์ด Microcontroller ต่างๆ และเรียนเกี่ยวกับส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ว่าต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง) สุดท้ายคือ Network (เรียนเกี่ยวกับโครงสร้างของระบบเครือข่าย แนวคิดพื้นฐานและ Protocol ต่างๆ ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์แต่ละ Layer)

ซันมองว่าวิศวะ คอมเป็นสาขาที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตัวเองค่อนข้างมาก และต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลาเพื่อตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทัน โดยที่ซันฝึกเขียนโค้ดทุกวัน (ถ้าไม่ฝึกอยู่เรื่อยๆ พอถึงเวลาสอบก็จะไม่คล่องมือ T___T) เพราะมีบางคำสั่งที่ไม่รู้เลยว่ามีคำสั่งนี้ ถ้าไม่ได้เขียนโค้ดบ่อยๆ หรือลองเขียนให้หลากหลาย ทำให้ต้องฝึกเขียนตลอดค่ะ 

นอกจากนั้น ซันจะหาความรู้นอกห้องเรียนตลอด เช่น เรียนในยูทูปและอ่านเว็บไซต์ เพราะมันมีประโยชน์มากในช่วงที่ทำโปรเจค เนื่องจากที่นี่จะเน้นการเรียนรู้ด้วยตัวเองค่อนข้างมาก ถ้าไม่หาความรู้เพิ่มเติม อาจจะทำให้สู้เพื่อนๆ คนอื่นไม่ได้เลย เพราะทุกคนที่นี่ขยันมากจริงๆ แต่ถ้าถามว่าเรียนหนักมากแค่ไหน ซันว่ามันขึ้นอยู่กับความขยันและทุ่มเท ถ้าน้องๆ ฝึกฝนอยู่เสมอ ไม่ดองงานเอาไว้ทำตอนช่วงเดดไลน์ ซันคิดว่ามันก็จะไม่หนักเกินความสามารถของน้องๆ ทุกคนแน่นอน

ซันคิดว่าการมี Connection ในมหาลัยฯ ก็สำคัญประมาณหนึ่งนะคะ เพราะรุ่นพี่จะคอยส่งต่อเลคเชอร์แต่ละวิชาให้รุ่นน้อง ซึ่งการมีเลคเชอร์จากรุ่นพี่ช่วยลดระยะเวลาในการอ่านหนังสือได้มากๆ เลย แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่าเลคเชอร์จากรุ่นพี่ คือ “ความสม่ำเสมอ” ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ ทำการบ้านอย่างเป็นประจำ อย่างตัวของซันเอง ก็จะเอาเลคเชอร์ของรุ่นพี่และของตัวเองที่จดไว้มาอ่านและสรุปอีกรอบทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งซันคิดว่าถ้ามีวินัยแบบนี้อยู่ตลอด
ไม่ว่าข้อสอบจะยากแค่ไหนก็จะผ่านมันไปได้ 

นอกจากรุ่นพี่แล้ว ซันก็ยังมีเพื่อนที่เป็นกันเองและคอยให้ความช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน
และเรื่องอื่นๆ ทำให้ซันรู้สึกไม่เครียดและมีความสุขในช่วงเวลาที่เรียนที่นี่มากๆ เลย

แล้วคณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังมีสาขาอื่นๆ อีกมั้ย ?

จริงๆ แล้วมีหลากหลายเลยค่ะ เช่น วิศวกรรมโยธา จะครอบคลุมเรื่องการออกแบบ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสร้างตึก, อาคาร, สะพาน, ถนน ระบบขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
หรือจะเป็น วิศวกรรมเคมี เรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพ การออกแบบอุปกรณ์ และการควบคุมกระบวนการทำงานทางเคมี รวมถึงเรียนรู้หลักการของกระบวนการผลิตเคมีในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ 

และน้องๆ ที่อยากเรียนเกี่ยวกับการนำความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ใช้ในการออกแบบ หรือพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือทางการแพทย์
ก็แนะนำ วิศวกรรมชีวการแพทย์  
จริงๆ มันก็ไม่หมดแค่นี้นะคะ แนะนำว่าให้น้องๆ ทุกคนลองเข้าไปอ่านหลักสูตรได้ที่เว็บไซต์มหาลัยฯ หรือลองแวะไปดู OPEN HOUSE ของมหาลัยฯ ต่างๆ ก็ได้น้าา

ถ้าเรียนจบวิศวะ คอมแล้ว สามารถทำงานอะไรได้บ้าง ?

ถ้าใครเรียนวิศวะคอมมา แล้วต้องการทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเป็นได้แทบจะทั้งหมดเลยย
เช่น Programmer, Web Developer, System Administrator และก็สามารถทำงานสายอื่นได้เช่นกัน
เพราะรุ่นพี่ของซันบางคนก็ทำธุรกิจส่วนตัว บางคนก็ทำงานเกี่ยวกับคอมและไม่เกี่ยวกับคอมก็มีเหมือนกันค่ะ

ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังอ่านบทความนี้และอยากเข้าวิศวกรรมศาสตร์หน่อยน้าา

อยากให้น้องๆ ทุกคนสู้ๆ นะคะ พยายามให้เต็มที่เพื่อความฝันของเรา ซันเชื่อว่าถ้าน้องๆ ตั้งใจจะทำ ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของทุกคนแน่นอน พี่ซันเป็นกำลังใจให้น้าา

สุดท้ายนี้ ใครที่อยากดูรีวิวคณะวิศวะ คอมเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูคลิปได้ที่ Youtube : SmartMathPro เพราะพี่ปั้นสัมภาษณ์พี่ซันครบทุกประเด็นแบบจัดเต็มมากก นอกจากจะได้ฟังรีวิวของคณะวิศวกรรมศาสตร์แล้ว น้องๆ จะได้ฟังพี่ซันร้องเพลงคู่กับพี่ปั้นด้วย บอกเลยว่าฟังปุ๊บ หูเคลือบทองเลยทันที !!

รีวิว คณะวิศวะ คอม เรียนอะไรบ้าง ?

ดูคลิปรีวิวคณะอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube : SmartMathPro

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

TPAT3 คืออะไร เข้าคณะอะไรได้บ้าง พร้อมแนวข้อสอบและเฉลย
TPAT3 คืออะไร? สอบอะไรบ้าง? สรุปแนวข้อสอบ พร้อมคณะที่ใช้ TPAT3
เตรียมตัวอ่านหนังสือ TCAS68 ยังไงให้สอบติด
เตรียมสอบเข้ามหาลัยฯ TCAS68 ยังไง พร้อมแจกวิธีอ่านหนังสือให้ Dek68
กำหนดการ TCAS68
TCAS68 สอบวันไหน? ลงทะเบียน MyTCAS68 เมื่อไหร่? สรุปตารางสอบ Dek68
Dek68 จะสอบเข้ามหาลัยฯ ต้องเตรียมตัวยังไง ?
Dek68 สอบเข้ามหาลัยฯ ควรเริ่มยังไง? สรุปทุกขั้นตอนควรรู้ของ TCAS68

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share