
น้อง ๆ ที่กำลังจะเข้ามหาลัยฯ อาจจะเคยได้ยินชื่อของระบบ TCAS กันมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่า TCAS คืออะไร ?
ใครสมัครได้บ้าง ? แล้วต้องสมัครตอนไหน ? จำเป็นต้องสมัครไหม ? และคำถามอื่น ๆ อีกมากมายที่น้อง ๆ กำลังสงสัยแต่ไม่ต้องกังวลไปน้า เพราะวันนี้พี่รวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับระบบ TCAS มาให้ ถ้าใครพร้อมแล้ว ไปอ่านกันเลยย
สนใจหัวข้อไหน ... กดอ่านเลย
ToggleTCAS คืออะไร ?
TCAS (Thai University Central Admission System) คือระบบการคัดเลือกกลางเพื่อเข้าศึกษาต่อระดับมหาลัยฯ ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 โดยน้อง ๆ จะต้องใช้คะแนนสอบกลางต่าง ๆ เช่น TGAT / TPAT และ A-Level เพื่อใช้ยื่นเข้ามหาลัยฯ ผ่านระบบ TCAS
นอกจากนี้ TCAS ยังมีข้อดีตรงที่น้อง ๆ จะได้ไม่ต้องวิ่งรอกสอบเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการสมัคร และยังป้องกันการใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนได้อีกด้วย
ใครสมัคร TCAS ได้บ้าง ?
น้อง ๆ ที่จะสมัคร TCAS ได้ ต้องมีคุณสมบัติตามนี้เลยย
- กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.6 และคาดว่าจะจบในปีการศึกษาปัจจุบัน
- จบการศึกษาชั้น ม.6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป เช่น น้อง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาลัยฯ และต้องการซิ่วมาสอบใหม่
- มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่า ม.6 เช่น น้อง ๆ ที่เรียน ปวช. หรือผ่านการสอบ GED
แต่บางคณะหรือมหาลัยฯ อาจไม่ได้รับวุฒิการศึกษาทุกรูปแบบ ดังนั้นน้อง ๆ ต้องติดตามรายละเอียดจากทางคณะหรือมหาลัยฯ ที่สนใจอีกครั้งน้าา
TCAS มีกี่รอบ ?
TCAS จะแบ่งออกเป็น 4 รอบ ซึ่งแต่ละรอบจะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป
รอบ 1 Portfolio
TCAS รอบ Portfolio เป็นรอบที่มหาลัยฯ จะพิจารณาจากพอร์ตโฟลิโอที่รวบรวมผลงาน กิจกรรม หรือความสามารถพิเศษต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงความสามารถและความสนใจเกี่ยวกับสาขาที่สมัคร ดังนั้นรอบนี้ก็จะเหมาะสำหรับน้อง ๆ ที่ชอบทำกิจกรรม หรือมีความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ เช่น ด้านกีฬา หรือด้านวิชาการ
โดยในแต่ละปีก็อาจจะมีโครงการที่เปิดรับและเกณฑ์การตัดสินที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นน้อง ๆ ต้องติดตามประกาศจากทางมหาลัยฯ อยู่เสมอเพื่อเตรียมพอร์ตโฟลิโอให้ตรงตามเกณฑ์น้าา
เกณฑ์คะแนนที่ใช้คัดเลือก TCAS รอบ 1 : GPAX (5 เทอม), Portfolio, คะแนน TGAT / TPAT หรือคะแนนอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะกำหนด เช่น CU-TEP, SAT, FORWARD เป็นต้น
ค่าสมัคร : เริ่มต้น 100 บาท (ขึ้นอยู่กับคณะกำหนด)
รอบ 2 Quota
TCAS รอบ Quota เป็นรอบที่มหาลัยฯ จะเปิดรับสมัครน้อง ๆ ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตามที่แต่ละคณะกำหนด เช่น กลุ่มนักเรียนในโควตาโรงเรียน กลุ่มนักเรียนในภูมิภาค หรือกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งในรอบโควตาก็จะใช้เกณฑ์การคัดเลือกแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละมหาลัยฯ เลยย
เกณฑ์คะแนนที่ใช้คัดเลือก TCAS รอบ 2 : GPAX (5 หรือ 6 เทอม), คะแนนสอบ A-Level, TGAT / TPAT หรือคะแนน
อื่น ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะกำหนด เช่น NETSAT
ค่าสมัคร : เริ่มต้น 200 บาท (ขึ้นอยู่กับคณะกำหนด)
รอบ 3 Admission
TCAS รอบ Admission ถือเป็นรอบสำคัญมาก ๆ เลย เพราะหลายมหาลัยฯ ในระบบ TCAS และ กสพท ต่างก็เปิด
รับสมัครพร้อมกันในรอบนี้ โดยแต่ละมหาลัยฯ จะใช้สัดส่วนคะแนนแตกต่างกัน ดังนั้นพี่แนะนำให้น้อง ๆ ศึกษาข้อมูลเกณฑ์การรับสมัครก่อนน้าา จะได้สมัครสอบครบทุกวิชาตามที่มหาลัยฯ ต้องการเลยย
เกณฑ์คะแนนที่ใช้คัดเลือก TCAS รอบ 3 : GPAX (6 เทอม), คะแนนสอบ A-Level, TGAT / TPAT หรือคะแนนอื่น ๆ
ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะกำหนด
ค่าสมัคร : น้อง ๆ สามารถเลือกอันดับ 1 – 7 ได้ฟรี แต่ถ้าต้องการเลือกอันดับ 8 – 10 จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย
ตัวเอง ลำดับละ 100 บาท รวมไม่เกิน 300 บาท
รอบ 4 Direct Admission
Direct Admission หรือรอบรับตรงอิสระ คือรอบสุดท้ายของระบบ TCAS โดยรอบนี้จะเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ที่ยังไม่ได้ยืนยันสิทธิ์ในรอบ 1 – 3 สามารถสมัครเรียนได้โดยตรงกับมหาลัยฯ ซึ่งจะยังใช้คะแนนต่าง ๆ เหมือนกับรอบ 3 แต่อาจมีเงื่อนไขและสัดส่วนคะแนนบางอย่างที่แตกต่างกันไปในแต่ละมหาลัยฯ
สำหรับรอบรับตรงอิสระ มหาลัยฯ ส่วนใหญ่จะไม่มีการกำหนดจำนวนที่นั่ง จนกว่าจะมีประกาศจำนวนที่นั่งออกมาอย่างเป็นทางการหลังจากจบรอบ 3 ดังนั้นรอบนี้จึงเป็นรอบที่น้อง ๆ ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะมีคณะไหนหรือมหาลัยฯ ไหนเปิดรับบ้าง
เกณฑ์คะแนนที่ใช้คัดเลือก TCAS รอบ 4 : GPAX (6 เทอม), คะแนนสอบ A-Level / TGAT / TPAT (ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะกำหนด)
ค่าสมัคร : เริ่มต้น 200 บาท (ขึ้นอยู่กับคณะกำหนด)
ในระบบ TCAS แต่ละรอบ น้อง ๆ จะสามารถเลือกยื่นสมัครกี่มหาลัยฯ ก็ได้ ไม่จำกัดจำนวนอันดับ แต่ยกเว้นรอบ 3 Admission น้าา เพราะรอบนี้จะเลือกได้ไม่เกิน 10 อันดับ และไม่ว่าจะ TCAS รอบไหนก็ตาม น้อง ๆ จะสามารถยืนยันสิทธิ์ได้เพียง 1 ที่เท่านั้น
นอกจากนี้ ใครที่กดยืนยันสิทธิ์ในระบบ TCAS ไปแล้ว แต่อยากสมัครรอบอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ โดยน้อง ๆ ต้องกดสละสิทธิ์ในวันและเวลาที่กำหนดก่อน ถึงจะสมัครรอบที่ต้องการได้ ซึ่งการสละสิทธิ์จะทำได้แค่ 1 ครั้งเท่านั้น ดังนั้นน้อง ๆ ต้องตัดสินใจให้ดีก่อนน้า ว่าจะยืนยันสิทธิ์หรือสละสิทธิ์ของตัวเองอย่างไรดี
ปฏิทิน TCAS
กำหนดการของ TCAS ในแต่ละปีมักจะเริ่มช้าหรือเร็วแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือน กันยายน – มิถุนายน โดยน้อง ๆ สามารถดูปฏิทิน TCAS รอบ 1 – 4 ด้านล่างที่พี่เอามาฝากได้เลยย

รอบ 1 Portfolio
- วันรับสมัคร : มหาลัยฯ กำหนด
- วันประกาศผลในระบบ : กุมภาพันธ์
- วันยืนยันสิทธิ์ : กุมภาพันธ์
- วันสละสิทธิ์ในระบบ : สามารถสละสิทธิ์ได้ 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 กุมภาพันธ์ และครั้งที่ 2 พฤษภาคม
รอบ 2 Quota
- วันรับสมัคร : มหาลัยฯ กำหนด
- วันประกาศผลในระบบ : พฤษภาคม
- วันยืนยันสิทธิ์ : พฤษภาคม
- วันสละสิทธิ์ในระบบ : พฤษภาคม
รอบ 3 Admission
- วันรับสมัคร : พฤษภาคม
- วันประกาศผลในระบบ : พฤษภาคม
- วันยืนยันสิทธิ์ : พฤษภาคม
- วันสละสิทธิ์ในระบบ : พฤษภาคม
รอบ 4 Direct Admission
- วันรับสมัคร : พฤษภาคม – มิถุนายน
- วันประกาศผลในระบบ : มิถุนายน
- วันยืนยันสิทธิ์ : มิถุนายน
- วันสละสิทธิ์ในระบบ : ไม่มีการสละสิทธิ์
สำหรับน้อง ๆ ที่จะเข้ามหาลัยฯ ในปี 69 พี่ได้รวบรวมกำหนดการต่าง ๆ มาให้ครบแล้วในบทความปฏิทิน TCAS69 ไปอ่านกันได้น้าา
TCAS ต้องสอบอะไรบ้าง ?
ใน TCAS แต่ละรอบ จะมีการใช้คะแนนสอบกลางต่าง ๆ ในการยื่นสมัครเข้ามหาลัยฯ ซึ่งแต่ละสาขาก็จะใช้คะแนนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องสอบให้ครบทุกวิชา แต่เลือกเฉพาะวิชาที่ต้องใช้ก็พอน้าา โดยวิชาที่ต้องสอบจะมีตามนี้เลยย
TGAT (Thai General Aptitude Test) : ความถนัดทั่วไป
- TGAT1 : การสื่อสารภาษาอังกฤษ
- TGAT2 : การคิดอย่างมีเหตุผล
- TGAT3 : สมรรถนะการทำงาน
TPAT (Thai Professional Aptitude Test) : วัดความถนัดทางวิชาชีพ
- TPAT1 : ความถนัดแพทย์ (กสพท)
- TPAT2 : ความถนัดศิลปกรรมศาสตร์
- TPAT3 : ความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์
- TPAT4 : ความถนัดทางสถาปัตยกรรม
- TPAT5 : ความถนัดครุศาสตร์ – ศึกษาศาสตร์
A-Level (Applied Knowledge Level) : ข้อสอบวัดความรู้ประยุกต์
- A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1
- A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2
- A-Level วิทยาศาสตร์ประยุกต์
- A-Level ฟิสิกส์
- A-Level เคมี
- A-Level ชีววิทยา
- A-Level สังคมศึกษา
- A-Level ภาษาไทย
- A-Level ภาษาอังกฤษ
- A-Level ภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน, ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาเกาหลี, ภาษาจีน, ภาษาบาลี และภาษาสเปน (น้อง ๆ สามารถเลือกสอบได้ 1 ภาษาเท่านั้นน้า)

หลังจากรู้แล้วว่า TCAS ต้องสอบอะไรบ้าง น้อง ๆ คนไหนมีแพลนจะเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยฯ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร อยากหาคนช่วยไกด์แนวทางให้ พี่ก็ขอแนะนำตัวช่วยอย่าง คอร์สเตรียมสอบมหาลัยฯ ของ SmartMathPro เลยย มีให้เลือกมากมายทั้งสนาม TGAT / TPAT หรือ A-Level และสอนโดยติวเตอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละวิชาด้วยไม่ว่าจะเป็น พี่ปั้น, อ.ขลุ่ย, พี่หมออู๋, ครูกอล์ฟ, พี่ลัคกี้, พี่เกม GAT ENG COOL COOL, พี่ฟาร์ม
โดยในแต่ละคอร์สจะสอนปูพื้นฐานแบบละเอียด อิงตาม Test Blueprint ปีล่าสุด (ใครที่พื้นฐานไม่แน่นก็สามารถเรียนได้) พร้อมพาตะลุยโจทย์แบบไต่ระดับ ตั้งแต่โจทย์ซ้อมมือไปจนถึงข้อสอบเก่าหรือโจทย์ที่ใกล้เคียงกับข้อสอบจริง แถมยังแจกเทคนิคในการทำข้อสอบที่จะช่วยให้น้อง ๆ ทำข้อสอบได้เร็วขึ้นและช่วยเพิ่มโอกาสในการอัปคะแนนให้อีกด้วย สำหรับ
น้อง ๆ คนไหนที่สมัครตอนนี้ รับฟรี Unseen Mock Test ชุดพิเศษ และสิทธิพิเศษต่าง ๆ ประจำเดือน ถ้าใครสนใจ คลิก เข้ามาดูรายละเอียดแต่ละคอร์สได้เลยยย
รวมคำถามเกี่ยวกับ TCAS ที่พบบ่อย
TCAS ต้องสอบทุกคนไหม ?
โดยส่วนใหญ่แล้วมหาลัยฯ ที่เข้าร่วมกับระบบ TCAS มักจะใช้คะแนน TGAT / TPAT, และ A-Level ด้วย แต่จะขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละมหาลัยฯ ว่าใช้คะแนนอะไรบ้าง
โดยบางมหาลัยฯ อาจจะใช้คะแนนสอบ TGAT / TPAT, และ A-Level แต่บางมหาลัยฯ อาจใช้เพียง TGAT และ A-Level เท่านั้น ดังนั้นพี่แนะนำว่าต้องศึกษาเกณฑ์และคะแนนที่ต้องใช้ก่อน และเลือกสอบวิชาที่ใช้ก็พอน้าา
ไม่สอบ TCAS เข้ามหาลัยฯ ได้ไหม ?
น้อง ๆ ที่ไม่ได้สมัครสอบวิชาต่าง ๆ ในระบบ TCAS เช่น TGAT / TPAT หรือ A-Level ยังสามารถเข้ามหาลัยฯ ได้อยู่น้าา โดยน้อง ๆ อาจมองหาทางเลือกอื่น ๆ อย่างการสมัคร TCAS รอบ 1 Portfolio เพราะเป็นรอบที่บางมหาลัยฯ อาจไม่ใช้คะแนนสอบกลาง หรือศึกษาเกณฑ์การรับสมัครของแต่ละมหาลัยฯ ว่าสาขาไหนที่ไม่ใช้คะแนนสอบกลางบ้าง แต่อาจจะ
มีน้อยมาก ๆ เลยย T_T
อย่างไรพี่ก็แนะนำให้น้อง ๆ สอบ TGAT / TPAT และ A-Level วิชาพื้นฐานเก็บไว้ก่อน ก็จะดีกับน้อง ๆ เองด้วยน้าา
แต่สำหรับน้อง ๆ ที่ไม่ได้สมัครระบบ TCAS ก็ยังสามารถเข้ามหาลัยฯ ได้เหมือนกัน เพราะบางมหาลัยฯ สามารถสมัครได้โดยตรง และไม่ต้องผ่านระบบ TCAS เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และหลักสูตรนานาชาติของมหาลัยฯ บางแห่ง เป็นต้น
TCAS แต่ละปีแตกต่างกันอย่างไร ?
สำหรับระบบ TCAS แต่ละปีก็จะมีความแตกต่างกันไป เช่น วิชาที่สอบ จำนวนรอบ เป็นต้น แต่พี่จะขอยกตัวอย่างจุดเด่นของ TCAS68 ที่แตกต่างจาก TCAS67 ให้เห็นภาพคร่าว ๆ น้าา
- TCAS รอบ 3 Admission เลือกอันดับที่ 1 – 7 ฟรี
- กระบวนการออกข้อสอบใหม่ที่ออกโดยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สถาบันต่าง ๆ ส่วนทางทปอ. จะจัดชุดข้อสอบและตรวจข้อสอบโดยตรง
- สมัครสอบวิชา TGAT ฟรี
- ข้อสอบ A-Level สามารถนำกลับบ้านได้หลังจากสอบเสร็จ
- ระบบโต้แย้งเฉลยข้อสอบ A-Level ที่จะเปิดให้เฉพาะผู้ที่เข้าสอบเท่านั้น
สำหรับ TCAS69 ยังไม่มีประกาศอะไรเพิ่มเติมในตอนนี้ พี่แนะนำให้น้อง ๆ ติดตามข่าวจากทาง ทปอ. หรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของ SmartMathPro เพื่อที่จะได้ไม่พลาดข่าวสาร TCAS ใหม่ ๆ น้าา
สุดท้ายนี้การทำความเข้าใจระบบ TCAS เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เลยน้า เพราะเป็นระบบที่น้อง ๆ ต้องเจอ หากจะสอบเข้ามหาลัยฯ ที่อยู่ในระบบ TCAS ซึ่งพี่ก็หวังว่าข้อมูลที่พี่รวบรวมมาในบทความนี้จะช่วยตอบคำถามที่ทุกคนสงสัยเกี่ยวกับระบบ TCAS ได้น้า
บทความ แนะนำ
บทความ แนะนำ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่
Line : @smartmathpronews
FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น
IG : pan_smartmathpro
X : @PanSmartMathPro
Tiktok : @pan_smartmathpro
Lemon8 : @pan_smartmathpro