
อ่านหนังสือไม่ทัน เป็นเรื่องที่ปกติมาก เพราะเนื้อหาที่ออกสอบมันเยอะมากๆ แถมยังจะต้องแบ่งเวลาในการเรียนที่โรงเรียน เรียนพิเศษ และเตรียมตัวสอบอีกมากมาย น้องๆไม่ต้องเครียดไปนะคะ เพราะคนที่สอบติด ก็ไม่ได้อ่านทันทุกคนเหมือนกัน สิ่งที่สำคัญกว่าการอ่านทันหรือไม่ทัน คือ ส่วนที่เราอ่านไปแล้วและกำลังจะอ่าน กับเวลาที่เหลืออยู่นี้ เราเข้าใจจริงไหม จำได้ไหม มีประสิทธิภาพแค่ไหนมากกว่า นี่ต่างหากที่สำคัญ
แต่ในเมื่ออ่านหนังสือไม่ทันแล้ว เราจะต้องทำยังไง เพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด พี่เอิธ SMP NEWS ได้รวบรวมทุกเทคนิคดีๆที่น่าสนใจ มาให้น้องๆทุกคนแล้ว ไปดูกันเลยค่ะ^_^
3 ข้อ ควรทำ! ก่อนเริ่มอ่านหนังสือ เตรียมตัวสอบ
- ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าอยากเข้าคณะ/มหาวิทยาลัยอะไร เราจะได้พุ่งเป้าหมายได้อย่างตรงจุด และไม่เสียเวลาไปกับหนทางที่ไม่ใช่
- ค้นคว้าหาข้อมูล เกี่ยวกับคณะและระบบการสอบในปีนั้นๆว่า มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ใช้เกณฑ์คะแนนอะไรบ้าง เราจะต้องสอบกี่วิชา เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่ถูกต้องมาวางแผนการเตรียมตัวสอบต่อได้
- เช็ก Timeline การสอบ เราจะต้องสอบวันที่เท่าไหร่ และตอนนี้เหลือเวลาเตรียมตัวสอบเท่าไหร่ กี่เดือน กี่วัน
อ่านหนังสือไม่ทัน ต้องทำยังไง?
- ทำ Checklist เนื้อหาที่ออกสอบ ส่วนไหนที่ยังไม่อ่านบ้าง กี่วิชา กี่บท กี่หน้า เราจะได้เห็นภาพรวมมากยิ่งขึ้น
- จัดลำดับความสำคัญ ทุกวิชาจะมีบทน่าเก็บ น่าลุยอยู่นะ น้องๆต้องลองดูว่า การลงทุงลงแรงกับบทไหนคุ้มค่ากว่ากัน เพราะถ้าเราจัดลำดับความสำคัญได้ดี เราก็จะสามารถใช้เวลาที่เท่ากัน แต่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากว่า ได้นะคะ โดยให้แบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้
– สำคัญมาก คุ้มค่าที่จะอ่าน และเป็นส่วนที่เก็บง่าย ใช้เวลาไม่นาน เพราะใช้คะแนนส่วนนี้เยอะสุด
– สำคัญปานกลาง ถ้าเวลาเหลือค่อยกลับมาเก็บเนื้อหาส่วนนี้ ถ้าไม่มีเวลาก็เทไปได้เลย
– สำคัญน้อยมาก เป็นส่วนที่ตัดทิ้งไปได้เลย หรือที่เรียกง่ายๆว่า เท นั่นเอง - ลง Calendar นำเนื้อหาที่แบ่งกลุ่มไว้จัดวางลงตารางปฏิทิน เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพรวมกว้างๆว่า ในระยะเวลาที่เหลืออยู่นี้ เราจะบริหารเวลากับการอ่านหนังสืออย่างไรให้ทัน
- วางตารางอ่านหนังสือ แบบฉบับเร่งด่วนขึ้นมาใหม่ ว่าในแต่ละวันจะอ่านหนังสือตอนไหน กี่ชั่วโมง พักตอนไหนบ้าง โดยแบ่งเวลาในการเตรียมตัวสอบออกเป็น 4 ส่วน คือ 3 ส่วน สำหรับการอ่านหนังสือ และ 1 ส่วน สำหรับทบทวนเนื้อหาและทำแบบฝึกหัด ซึ่งจะต้องเป็นรูปแบบที่พอดีกับตัวเองมากที่สุด และไม่หักโหมจนเกินไป (แจกตารางอ่านหนังสือ Free ที่นี่ เลย)
- เขียน To Do List เพื่อกระตุ้นตัวเอง แถมยังช่วยป้องกันการลืมและควบคุมตัวเองให้สำเร็จตามเป้าหมายได้อีกด้วย โดยจะต้องลิสต์ว่า แต่ละวันมีเป้าหมายที่จะทำอะไรให้สำเร็จบ้าง เช่น อ่านวิชาคณิต 2 บท , ฝึกทำโจทย์ 2 บท เป็นต้น
- จำลองบรรยากาศของสนามสอบจริง ลองจับเวลาทำข้อสอบจริง โดยการฝึกฝนทำข้อสอบเก่าที่ใกล้เคียงกับข้อสอบยุคปัจจุบันที่สุด เพราะตอนสอบน้องๆจะต้องสอบด้วยตัวเอง การซ้อมก่อนสอบจริงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เพื่อแก้ปัญหาการทำข้อสอบไม่ได้ ไม่เข้าใจโจทย์ หาเฉลยที่เข้าใจก็ยาก อ่านเองก็ไม่รู้เรื่อง อยากให้มีคนอธิบายวิธีทำอย่างละเอียดๆให้ฟังว่า แต่ละข้อทำยังไง พี่ปั้นมีคอร์ส Unseen Mock Test คณิต 1 และ คณิต 2 ด้วยนะ ไปดูกันได้เลย!
- ลิสต์จุดที่พลาดบ่อย หลังจากที่ทดลองทำ Mock Test แล้ว การลิสต์จุดพลาดก็จะช่วยแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และไม่ผิดจุดเดิมซ้ำๆ เมื่อไปเจอข้อสอบจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าคะแนนจำลองสอบอีกนะ น้องๆอย่าพึ่งยึดติดที่คะแนนสอบจนเกินไปนะคะ
- หมั่นทบทวนอยู่เสมอ การทบทวนหลังเรียนจบภายใน 72 ชั่วโมง จะทำให้เนื้อหาส่วนนั้นถูกเก็บเป็นความทรงจำระยะยาว และเราจะลืมยากมากยิ่งขึ้น
- เก็บได้อีกนิด ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ถึงแม้เวลาจะเหลือน้อยมากแค่ไหน แต่ถ้าน้องๆสู้อีกนิด ฝึกฝนอีกหน่อย ทำได้เพิ่มอีก 1 ข้อ ก็มีความหมายนะ
- พกคลังคำศัพท์หรือสูตร ไว้ท่องจำจนวินาทีสุดท้ายก่อนเข้าห้องสอบ อีกสักนิดก็ยังดี><
รวมเทคนิคช่วยให้ อ่านเร็ว จำแม่น
- จำเนื้อหาจาก Keyword : เหมาะกับบทความยาวๆ หรือวิชาที่เน้นการท่องจำ มีวิธีการดังนี้
– อ่านรอบแรก เน้นอ่านเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาภาพรวมก่อน
– สแกนหา keyword ที่จะช่วยให้จำได้
– อ่านรอบสอง เน้นไปที่การจดจำ โดยเน้นไปที่ การเชื่อมโยงเนื้อหาเข้าด้วยกัน - จำเป็นรูปภาพ : โดยการเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราคุ้นเคย เหมาะกับวิชาที่เน้นความเข้าใจผสมกับการท่องจำ เช่น ชีวะ ฟิสิกส์
- ทำ Mind Mapping : เหมาะกับการทดสอบความเข้าใจของตัวเอง ว่าสามารถเชื่อมโยงและแจกแจงเนื้อหาที่อ่านมาได้หรือไม่ ซึ่งน้องๆสามารถนำ Mind Mapping นี้ มาใช้ทบทวนเนื้อหาก่อนสอบได้อีกด้วย
- เขียนสรุป : ให้เขียนด้วยภาษาของเรา และเขียนตามความเข้าใจของเราเองเลย ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับคนที่จดจำได้ดีผ่านการขีดเขียนบ่อยๆให้คุ้นมือ
- แต่งเพลง หรือ แต่งกลอน : เหมาะกับคนที่ชอบการท่องจำแบบไม่เครียด โดยการใช้ทำนองเข้ามาช่วย และจดจำได้ดีผ่านบทเพลงที่มีความสนุกสนาน
- พูดคุยถึงเนื้อหาที่อ่านมากับคนอื่นๆ : เหมาะกับคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือคนเดียว อยากแลกเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจกับคนอื่น
- อ่านออกเสียงให้ตัวเองฟัง หรืออัดเสียงตัวเองตอนอ่านแล้วเปิดฟัง : เหมาะกับคนที่วิธีการฟังช่วยให้จดจำได้ดีมากกว่าการอ่าน ซึ่งน้องๆก็สามารถเปิดฟังคลิปเสียงที่อัดไว้ได้ทุกเมื่อที่มีเวลาว่าง เพื่อทบทวนเนื้อหา เช่น ตอนอยู่บนรถ ตอนอาบน้ำ เป็นต้น
- ใช้นิ้วลากไปตามตัวหนังสือเวลาอ่าน : เหมาะกับคนสมาธิสั้น หรือสายตาไม่สามารถจดจ่ออะไรเป็นเวลานานๆได้
- ทยอยอ่าน ไม่อ่านรวดเดียว : ใช้ได้ดีกับวิชาที่มีเนื้อหาเยอะ เหมาะกับคนที่เครียดง่าย และไม่สามารถอ่านหนังสือเป็นเวลานานๆได้
ซึ่งเทคนิคต่างๆที่ได้มานำแชร์ในวันนี้ น้องๆสามารถเลือกวิธีที่ชื่นชอบ และนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองได้เลยนะคะ พี่เอิธ SMP NEWS หวังว่าจะช่วยน้องๆได้ไม่มากก็น้อยเนอะ แต่ยังไงก็อย่าลืมรักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ
การหักโหม เพราะอ่านไม่ทันไม่ใช่ทางออกนะ นอกจากจะไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็ยังทำให้เราเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย ขอเพียงแค่น้องๆ……….
“เก็บเนื้อหาเท่าที่ร่างกายเราไหว พักผ่อนให้เพียงพอ และใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าที่สุดก็พอ”
สู้ๆนะคะทุกคน พี่เป็นกำลังใจให้^_^
คอร์สเรียนแนะนำ
สำหรับน้องๆที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Line : @smartmathpronews
รวมถึงข่าวสารต่างๆอัปเดตอย่างเรียลไทม์
IG : pan_smartmathpro
Twitter : @PanSmartMathPro