TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล คือ ข้อสอบที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์และความเข้าใจ (Critical & Logical Thinking) โดยแบ่งเป็น 4 พาร์ต ซึ่งในวันนี้พี่จะขอพูดถึงพาร์ตความสามารถทางเหตุผลก่อนน้า โดยจะพาทุกคนไปเจาะลึกข้อสอบ TGAT2 พาร์ตความสามารถทางเหตุผลตั้งแต่สิ่งที่น้อง ๆ ควรรู้, โครงสร้างข้อสอบ, การเตรียมตัวสอบ และตัวอย่างข้อสอบ ใครอยากรู้แล้วรีบเลื่อนลงไปดูกันเลยย
สนใจหัวข้อไหน ... กดอ่านเลย
Toggleสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ TGAT2 พาร์ตความสามารถทางเหตุผล
ข้อสอบพาร์ตความสามารถทางเหตุผลนี้ เป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบ TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล โดยลักษณะของโจทย์จะให้เราใช้เหตุผลในการสังเกตข้อมูลหรือรูปแบบเพื่อหาคำตอบ เช่น ใช้เหตุผลในการ
- สังเกตการเปลี่ยนแปลงของรูปภาพ
- พิจารณาความสัมพันธ์ของรูปภาพ
- อ่านข้อความหรือสถานการณ์ เพื่อหาข้อสรุปและตอบคำถามที่โจทย์ต้องการได้
น้อง ๆ หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า ทำไมต้องมีการทดสอบเกี่ยวกับการให้เหตุผลด้วย ? จริง ๆ แล้วข้อสอบ TGAT2 พาร์ตนี้อิงตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน ที่จะเน้นเรื่องการวัดสมรรถนะของผู้เรียนทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่
- ด้านการสื่อสาร
- ด้านการคิด
- ด้านการแก้ปัญหา
- ด้านการใช้ทักษะชีวิต
- ด้านการใช้เทคโนโลยี
ข้อสอบพาร์ตนี้จัดทำขึ้นเพื่อวัดความพร้อมด้านการให้เหตุผลก่อนที่จะเข้าไปเรียน โดยจะประเมินความสามารถทางการให้เหตุผลที่เรามีอยู่ตอนนี้ว่ามีความพร้อมขั้นพื้นฐานในการนำทักษะนี้ไปใช้ในอนาคตมากน้อยแค่ไหน
โครงสร้างข้อสอบ TGAT2 พาร์ตความสามารถทางเหตุผล
ข้อสอบความสามารถทางเหตุผลประกอบด้วย
- อนุกรมภาพ
- อุปมาอุปไมยภาพ
- สรุปความ
- วิเคราะห์ข้อความ
โดยข้อสอบเป็นแบบปรนัย (5 ตัวเลือก) จำนวนทั้งหมด 20 ข้อ โดยแบ่งเป็น 5 ข้อ ข้อละ 1.25 คะแนน รวมทั้งหมด 25 คะแนน
เนื่องจากน้อง ๆ จะมีเวลาในการทำข้อสอบ TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล โดยเฉลี่ยประมาณ 60 นาที แสดงว่าน้องจะมีเวลาในการทำข้อสอบพาร์ตความสามารถทางเหตุผลทั้ง 20 ข้อนี้ประมาณ 15-20 นาทีเท่านั้นน้า
ตัวอย่างข้อสอบ TGAT2 พาร์ตความสามารถทางเหตุผล
อนุกรมภาพ
ลักษณะของข้อสอบ
โจทย์จะกำหนดภาพมา 3 ภาพ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงของรูปภาพอย่างเป็นระบบจากรูปที่ 1 ไปเป็นรูปที่ 2 และจากรูปที่ 2 ไปเป็นรูปที่ 3 เช่น บางชิ้นส่วนในภาพอาจถูกหมุน เปลี่ยนสี เปลี่ยนขนาดหรือย้ายตำแหน่งไปอย่างเป็นระบบ ให้น้อง ๆ สังเกตลักษณะการเปลี่ยนแปลงของภาพทั้ง 3 ตามลำดับ แล้วตอบว่าภาพที่ 4 จะต้องเป็นภาพใดในตัวเลือก
ตัวอย่างข้อสอบ
ให้หาระบบของภาพที่เรียงกันใน 3 ภาพแรก แล้วพิจารณาว่าภาพที่แทนด้วยเครื่องหมาย ? ควรจะเป็นภาพใดในตัวเลือก 1 – 5
เทคนิคในการทำข้อสอบอนุกรมภาพ
ให้น้อง ๆ สังเกตการเปลี่ยนแปลงของภาพแล้วค่อย ๆ วิเคราะห์ไปทีละส่วน เช่น การสลับสีดำ-ขาว ลักษณะการหมุนภายในวงกลมหรือการเปลี่ยนตำแหน่งของจุดดำเล็ก โดยเมื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ 2 อย่างให้เราตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกไปก่อน เพื่อให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงถัดไปได้ง่ายขึ้นและสามารถกรองตัวเลือกที่น่าจะเป็นคำตอบให้เหลือน้อยลง
ตอบ ตัวเลือกที่ 2.
- จุดดำนอกวงกลม
ใน 3 ภาพแรก จุดจะเคลื่อนที่แบบทวนเข็มนาฬิกาไป 90 องศา ทำให้จุดเปลี่ยนตำแหน่งจากฝั่งซ้ายของวงกลม มาอยู่ข้างล่างของวงกลม หลังจากนั้นเปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่ฝั่งขวาของวงกลมนั่นเอง ดังนั้นภาพที่ต้องการจุดจะเปลี่ยนตำแหน่งจากฝั่งขวาของวงกลม มาอยู่ข้างบนของวงกลม ทำให้คำตอบที่เป็นไปได้คือตัวเลือกที่ 2 และ 5 - ครึ่งวงกลมสีขาวและครึ่งวงกลมสีดำ
การเปลี่ยนแปลงจากภาพแรกไปยังภาพที่สอง ให้น้อง ๆ ลองขีดหรือจินตนาการ เส้นผ่านศูนย์กลางที่แบ่งระหว่างฝั่งสีขาวและฝั่งสีดำ จะเห็นว่าเส้นผ่านศูนย์กลางวงกลมจะหมุนตามเข็มนาฬิกาไป 45 องศา และเมื่อหมุนเสร็จแล้วจากครึ่งวงกลมสีดำจะเปลี่ยนเป็นสีขาว และจากครึ่งวงกลมสีขาวจะเปลี่ยนเป็นครึ่งวงกลมสีดำ (สลับสีกัน)
ให้น้อง ๆ สังเกตการเปลี่ยนแปลงจากภาพที่สองไปยังภาพที่สามจะได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น จากภาพที่สาม หมุนเส้นผ่านศูนย์กลางวงกลมตามเข็มนาฬิกา 45 องศาแล้วเปลี่ยนสีครึ่งวงกลมจะได้ว่าครึ่งวงกลมสีดำจะอยู่ข้างล่างและครึ่งวงกลมสีขาวอยู่ข้างบนนั่นเอง
อุปมาอุปไมยภาพ
ลักษณะของข้อสอบ
โจทย์จะกำหนดภาพมาคู่หนึ่ง ให้น้อง ๆ สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่กำหนดให้ในคู่แรกว่าเป็นอย่างไร แล้วหาว่าภาพคู่ใดในตัวเลือกมีความสัมพันธ์เช่นเดียวกับภาพคู่ที่โจทย์กำหนดให้
ตัวอย่างข้อสอบ
ให้หาความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่กำหนดให้ในคู่แรก แล้วพิจารณาภาพคู่จากตัวเลือก 1 – 5 ว่าภาพคู่ใดมีความสัมพันธ์เช่นเดียวกับภาพคู่ที่กำหนดให้
เทคนิคในการทำข้อสอบอุปมาอุปไมยภาพ
โจทย์ให้ความสัมพันธ์ระหว่างภาพในคู่แรกมาแล้ว น้อง ๆ ต้องลองสังเกตว่าสองภาพทางด้านซ้าย มีความสัมพันธ์อย่างไรกับด้านขวา อาจจะเกิดความสัมพันธ์ได้หลายแบบในภาพเดียว เช่น การซ้อนกันของสองภาพ การหมุนภาพ การแรเงา เมื่อได้ความสัมพันธ์ระหว่างภาพในคู่แรกมาแล้ว เราจึงมาพิจารณาความสัมพันธ์แบบเดียวกันในแต่ละตัวเลือกนั่นเอง
ตอบ ตัวเลือกที่ 4.
เราสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างภาพในคู่แรกจะเห็นว่านำรูปห้าเหลี่ยมเข้าไปซ้อนในรูปสี่เหลี่ยม นั่นคือนำภาพฝั่งซ้ายไปซ้อนในภาพฝั่งขวา ซึ่งตัวเลือกที่เป็นไปตามความสัมพันธ์ ได้แก่ 1 และ 4 แล้วจากรูปสีดำสลับเป็นสีขาว จากรูปสีขาวสลับเป็นสีดำ ซึ่งตรงกันกับตัวเลือกที่ 4 เพียงข้อเดียว
สรุปความ
ลักษณะของข้อสอบ
โจทย์จะกำหนดสถานการณ์และข้อสรุป (ที่ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก) อาจมีประมาณ 2- 3 เงื่อนไข เพื่อนำไปตรวจสอบว่าข้อสรุป ก. ข. และ ค. ที่โจทย์ให้มามีข้อใดบ้างที่สรุปได้ถูกต้อง
ตัวอย่างข้อสอบ
ให้พิจารณาข้อความและข้อสรุปที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่กำหนดให้ แล้วพิจารณาว่าข้อสรุปทั้งสาม คือ ก. ข. หรือ ค. นั้น ข้อใดบ้างที่ถูกต้องตามเหตุผล แล้วเลือกตอบตามตัวเลือก 1 – 5
ถ้ามีมี่สอบวิชาภาษาอังกฤษผ่าน แล้วคุณแม่จะซื้อไวโอลินให้ แต่คุณแม่ไม่ได้ซื้อไวโอลินให้มีมี่
ให้พิจารณาข้อสรุปต่อไปนี้
- มีมี่สอบวิชาภาษาอังกฤษผ่าน
- มีมี่สอบวิชาภาษาอังกฤษไม่ผ่าน
- มีมี่สอบวิชาภาษาอังกฤษได้ 5 คะแนน จาก 20 คะแนน
ข้อสรุปใดถูกต้อง
- ข้อ ก. ข้อเดียว
- ข้อ ข. ข้อเดียว
- ข้อ ค. ข้อเดียว
- ข้อ ก. และ ข.
- ข้อ ข. และ ค.
เทคนิคในการทำข้อสอบสรุปความ
ในการทำข้อสอบสรุปความ พี่แนะนำให้น้องลองวิเคราะห์สิ่งที่โจทย์กำหนดให้เท่านั้น และเขียนสิ่งที่ได้จากการวิเคราะห์เอาไว้ก่อน ซึ่งความรู้ที่ใช้ในการทำข้อสอบพาร์ตนี้จะเป็นการตีความหรือวิเคราะห์สถานการณ์ และความรู้ทางตัวเลขเบื้องต้น หลังจากนั้นลองดูข้อสรุปที่โจทย์กำหนดให้ว่าตรงกับสิ่งที่ได้จากการวิเคราะห์ของน้อง ๆ หรือไม่ และข้อสำคัญคือไม่ควรสรุปจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ที่น้องอาจพบเจอมาในชีวิตจริง แต่โจทย์ไม่ได้กำหนดมาให้น้า
ตอบ ตัวเลือกที่ 2.
จากสถานการณ์ที่โจทย์กำหนด จะได้ว่าคุณแม่จะซื้อไวโอลินให้มีมี่เมื่อมีมี่สอบวิชาภาษาอังกฤษผ่าน แต่สุดท้ายคุณแม่ไม่ได้ซื้อไวโอลิน แสดงว่ามีมี่สอบวิชาภาษอังกฤษไม่ผ่านนั่นเอง (เพราะถ้ามีมี่สอบผ่าน คุณแม่จำเป็นต้องซื้อไวโอลินให้มีมี่ตามสัญญา) ดังนั้นข้อสรุป ก. จึงผิด ส่วนข้อสรุป ข. ถูก
และเนื่องจากสถานการณ์ปัญหาไม่ได้กำหนดเกณฑ์ในการสอบว่าต้องได้คะแนนเท่าไรจึงจะสอบผ่าน หรือมีข้อความใดที่บอกได้ว่ามีมี่สอบได้คะแนนเท่าไร ใช้ข้อสรุป ค. จึงไม่สามารถใช้ในการสรุปสถานการณ์ปัญหานี้ได้
วิเคราะห์ข้อความ
ลักษณะของข้อสอบ
โจทย์จะกำหนดสถานการณ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน (ประมาณ 3 เงื่อนไขขึ้นไป) และเป็นบทความที่ค่อนข้างยาวมาให้ น้อง ๆ จะต้องอ่านจับใจความ และวิเคราะห์ข้อความเพื่อนำมาตรวจสอบว่าข้อสรุป ก. และ ข. ข้อใดบ้างที่ถูกต้อง โดยหนึ่งสถานการณ์ต้องใช้ตอบคำถามทั้งหมด 5 ข้อย่อยเลยน้า ถ้าน้องเห็นข้อสอบวิเคราะห์ความครั้งแรกอาจจะตกใจ แต่ไม่ต้องกังวัลน้า เพราะพี่จะพาน้อง ๆ ไปดูตัวอย่างและเทคนิคในการทำข้อสอบ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปกันเลยย
ตัวอย่างข้อสอบ
ให้พิจารณาสถานการณ์ที่กำหนด โดยคำถามแต่ละข้อ จะมีข้อสรุปมาให้ 2 ข้อความ คือข้อความ (ก) และ (ข)
ให้พิจารณาว่าข้อสรุปนั้น ถูกหรือผิดหรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิด ตามเงื่อนไขที่กำหนดให้
และตัดสินใจเลือกตอบตามตัวเลือก ดังนี้
ตอบ 1 เมื่อข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ถูก
ตอบ 2 เมื่อข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ผิด
ตอบ 3 เมื่อข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิดตามเงื่อนไข
ตอบ 4 เมื่อข้อสรุป ก. ถูก ส่วนข้อสรุป ข. ผิด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิด
ตอบ 5 เมื่อข้อสรุป ข. ถูก ส่วนข้อสรุป ก. ผิด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิด
สถานการณ์
ชมรมดนตรีไทยมีเครื่องดนตรีให้เล่น 3 ชนิด คือ ซอ ระนาด และตะโพน
อศิร สรุจ ฉัตร และภู อยู่ชมรมดนตรีไทย แต่ละคนเป็นสมาชิกของชมรมมาเป็นระยะเวลา 10, 20, 30 และ 40 ปี
และทุกคนเล่นเครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียว ซึ่งในแต่ละสัปดาห์ชมรมดนตรีไทยเปิดให้สมาชิกเข้าซ้อม 3 วัน คือ วันจันทร์ วันอังคาร และวันพุธ โดยสมาชิกทุกคนจะต้องเข้าซ้อมวันใดวันหนึ่งในสามวันนี้
- อศิรกับสรุจเข้าซ้อมวันเดียวกัน
- ฉัตรเข้าซ้อมในวันก่อนหน้าภูแต่หลังสรุจ
- มีคนเล่นตะโพน 2 คน โดยคนที่เล่นตะโพนคนหนึ่งเข้าซ้อมวันพุธ ส่วนสรุจเล่นระนาด
- ระยะเวลาที่อศิรกับภูเป็นสมาชิกของชมรมรวมกันแล้วเท่ากับระยะเวลาที่สรุจเป็นสมาชิกของชมรม
- คนที่เข้าซ้อมวันจันทร์หรือวันอังคารเล่นซอ และคนที่ซ้อมวันอังคารเป็นสมาชิกของชมรมมานานที่สุด
ตัวอย่างที่ 1 (ก) ฉัตรเข้าซ้อมวันพุธ
(ข) ภูเข้าซ้อมวันอังคาร
ตัวอย่างที่ 2 (ก) อศิรเป็นสมาชิกของชมรมมา 10 ปี
(ข) ฉัตรเป็นสมาชิกของชมรมมา 40 ปี
ตัวอย่างที่ 3 (ก) สรุจเป็นสมาชิกของชมรมมา 30 ปี
(ข) ภูเข้ามาเป็นสมาชิกของชมรมหลังสุด
ตัวอย่างที่ 4 (ก) อศิรเล่นตะโพน
(ข) ฉัตรเล่นซอ
ตัวอย่างที่ 5 (ก) ภูเล่นตะโพน
(ข) ถ้าอศิรเล่นซอ แล้วฉัตรเล่นตะโพน
เทคนิคในการทำข้อสอบวิเคราะห์ข้อความ
จากสถานการณ์ที่กำหนดให้ เราต้องพิจารณาว่าสถานการณ์นี้มีกี่องค์ประกอบ และมีองค์ประกอบใดบ้าง จากนั้นพี่แนะนำให้น้อง ๆ ลองใช้เทคนิคการสร้างตารางมาช่วยจัดเก็บข้อมูลที่ได้ โดยเป็นตารางของแต่ละองค์ประกอบ
ซึ่งทำการระบุจากโจทย์ว่ามีเงื่อนไขที่ใครสามารถทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง อาจจะเป็นเงื่อนไขที่สามารถสรุปได้แน่ชัด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดก็ได้ จากนั้นจึงพิจารณาเงื่อนไขในคำถามแต่ละข้อแล้วหาคำตอบ
จากสถานการณ์ข้างต้น เรารู้ว่าคนมี 4 คน โดยที่แต่ละคนเล่นเครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียว มีวันที่เข้าซ้อม และระยะเวลาที่เป็นสมาชิกของชมรม จากข้อมูลจะได้ว่า
- ฉัตรเข้าซ้อมในวันก่อนหน้าภูแต่หลังสรุจ และอศิรกับสรุจเข้าซ้อมวันเดียวกัน จะเรียงลำดับการเข้าซ้อมแต่ละคนได้ดังนี้ อศิรและสรุจเข้าซ้อมวันจันทร์ ฉัตรเข้าซ้อมวันอังคาร และภูเข้าซ้อมวันพุธ
- สรุจเล่นระนาด และมีคนเล่นตะโพน 2 คน โดยคนที่เล่นตะโพนคนหนึ่งเข้าซ้อมวันพุธ แสดงว่า ภูเล่นตะโพน และคนที่เล่นตะโพนอีกคนอาจจะเป็นอศิรหรือฉัตรก็ได้
- ระยะเวลาที่อศิรกับภูเป็นสมาชิกของชมรมรวมกันแล้วเท่ากับระยะเวลาที่สรุจเป็นสมาชิกของชมรม เนื่องจากมีระยะเวลา 10, 20, 30 และ 40 ปี จะเป็นไปได้ 2 กรณี คือ 10+20=30 หรือ 10+30=40
- จากเงื่อนไขสุดท้ายจะทำให้รู้ว่า ฉัตร เข้าซ้อมวันอังคาร เป็นสมาชิกของชมรมมานานที่สุด คือ 40 ปี จึงทำให้การวิเคราะห์เหลือเพียงกรณีเดียว คือ 10+20=30 แสดงว่าสรุจเป็นสมาชิกมา 30 ปี และอศิรหรือภู คนหนึ่งเป็นสมาชิกมา 10 ปี อีกคนหนึ่งเป็นสมาชิกมา 20 ปี แต่ไม่สามารถระบุแน่ชัดว่าเป็นใคร
ตอบ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้น สามารถสร้างตารางได้ดังนี้
ตัวอย่างที่ 1
จาก (ก) ฉัตรเข้าซ้อมวันพุธ เป็นข้อสรุปที่ผิด
และ (ข) ภูเข้าซ้อมวันอังคาร เป็นข้อสรุปที่ผิด
ดังนั้นจึงตอบตัวเลือกที่ 2. ข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ผิด
ตัวอย่างที่ 2
จาก (ก) อศิรเป็นสมาชิกของชมรมมา 10 ปี
อดิศรอาจจะเป็นสมาชิก 10 หรือ 20 ปีก็ได้ ดังนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อสรุป ก. ถูกหรือผิด
และ (ข) ฉัตรเป็นสมาชิกของชมรมมา 40 ปี เป็นข้อสรุปที่ถูก
ดังนั้นจึงตอบตัวเลือกที่ 5. ข้อสรุป ข. ถูก ส่วนข้อสรุป ก. ผิด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิด
ตัวอย่างที่ 3
จาก (ก) สรุจเป็นสมาชิกของชมรมมา 30 ปี เป็นข้อสรุปที่ถูก
และ (ข) ภูเข้ามาเป็นสมาชิกของชมรมหลังสุด
ภูเป็นสมาชิกของชมรมมา 10 หรือ 20 ปีก็ได้ ดังนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อสรุป ข. ถูกหรือผิด
ดังนั้นจึงตอบตัวเลือกที่ 4. ข้อสรุป ก. ถูก ส่วนข้อสรุป ข. ผิด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิด
ตัวอย่างที่ 4
จาก (ก) อศิรเล่นตะโพน
อศิรอาจจะเล่นตะโพนหรือซอก็ได้ ดังนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อสรุป ก. ถูกหรือผิด
และ (ข) ฉัตรเล่นซอ
ฉัตรอาจจะเล่นตะโพนหรือซอก็ได้ ดังนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อสรุป ข. ถูกหรือผิด
ดังนั้นจึงตอบตัวเลือกที่ 3. ข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิดตามเงื่อนไข
ตัวอย่างที่ 5
จาก (ก) ภูเล่นตะโพน เป็นข้อสรุปที่ถูก
และ (ข) ถ้าอศิรเล่นซอ แล้วฉัตรเล่นตะโพน
ถ้าอศิรเล่นซอ จะได้ว่าต้องมีอีกหนึ่งคนนอกจากภูที่เล่นตะโพน ซึ่งสรุจเล่นระนาด ทำให้ข้อสรุปที่ฉัตรต้องเป็นอีกคนที่เล่นตะโพนถูกต้อง
ดังนั้นจึงตอบ ตัวเลือกที่ 1. ข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ถูก
การเตรียมตัวสอบ TGAT2 พาร์ตความสามารถทางเหตุผล
1. ศึกษาข้อสอบเก่า
ให้น้อง ๆ ลองนำข้อสอบเก่าที่มีการเผยแพร่มาศึกษาดู จะช่วยให้เรารู้ถึงลักษณะต่าง ๆ ของคำถามและคำตอบ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละพาร์ต
2. ฝึกทำโจทย์แนวข้อสอบ
น้อง ๆ สามารถหาโจทย์ที่มีแนวข้อสอบใกล้เคียงกัน รวมถึงข้อสอบเก่านอกจาก TGAT2 ที่เป็นการทดสอบความถนัดทางการเรียนในสนามต่าง ๆ จากคลังข้อสอบ มาฝึกทำเพื่อเพิ่มประสบการณ์หรือมุมมองด้านการคิด การมองภาพ การเชื่อมโยง และการหาเหตุผลต่าง ๆ มากขึ้น และจะยิ่งทำให้เราสามารถทำข้อสอบได้เร็วขึ้นอีกด้วย
3. จับเวลาทำข้อสอบเสมือนสอบจริง
ให้น้อง ๆ หาข้อสอบ Mock Test มาลองทำและจัดบรรยากาศรอบตัวให้เหมือนอยู่ในห้องสอบ จับเวลาจริง และวางแผนการใช้เวลาในการทำข้อสอบจริง ๆ เพื่อทำให้เรารู้สึกคุ้นชินในการหาคำตอบในเวลาที่จำกัด อีกทั้งยังเป็นการช่วยจัดการอารมณ์ความรู้สึก ความกดดัน และความเครียดขณะสอบด้วย
4. ศึกษาข้อผิดพลาดจากการทำข้อสอบ
หลังจากที่ฝึกทำข้อสอบแล้ว อย่าสนใจเพียงว่าเราได้คะแนนเท่าไร แต่ควรรู้ด้วยว่าเราผิดพลาดอะไรบ้าง จะได้ปิดจุดอ่อน ลดข้อผิดพลาดก่อนเจอข้อสอบจริง และเพิ่มโอกาสในการทำคะแนนในพาร์ตนี้มากยิ่งขึ้นน้า
คลิปติว TGAT2 ความสามารถทางเหตุผล
ดูคลิปติววิชาอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube : SmartMathPro
เนื่องจากการเรียนหรือการทำงานในอนาคตต้องใช้การคิด การวิเคราะห์ การสื่อสาร การเชื่อมโยงต่าง ๆ ผ่านการใช้เหตุผลมาเกี่ยวข้อง พี่จึงไม่อยากให้น้อง ๆ มองข้ามพาร์ตนี้ไป เพราะนอกจากน้อง ๆ จะสามารถเก็บคะแนนจากพาร์ตนี้ เพื่ออัปคะแนน TGAT2 ให้ปังไ้ด้แล้ว ยังสามารถต่อยอด นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วยย
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ตั้งใจจะเริ่มเตรียมสอบ TGAT2 แล้วแต่ยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มอ่านหนังสือยังไง หรือกังวลว่าจะเตรียมตัวสอบไม่ถูกจุด อยากได้ตัวช่วยในการเตรียมสอบวิชานี้ พี่ขอแนะนำคอร์ส TGAT2,3 ที่สอนโดย พี่ปั้น และ อ.ขลุ่ย ให้เลยน้าา
สำหรับคอร์ส TGAT2 ที่สอนโดยพี่ปั้นและอ.ขลุ่ย จะสอนเนื้อหาตั้งแต่ปูพื้นฐาน อิงตาม Test Blueprint ปีล่าสุด ครบทุกหัวข้อที่ออกสอบ พร้อมพาตะลุยโจทย์ และมีสรุปสูตรคณิตศาสตร์ที่ออกสอบบ่อยใน TGAT2 ให้น้อง ๆ ทุกคนด้วย
และในคอร์ส TGAT3 ที่สอนโดยอ.ขลุ่ย ก็จะสอนเนื้อหาตั้งแต่ปูพื้นฐานครบทุกหัวข้อ อิงตาม Test Blueprint เช่นกัน ซึ่งอ.ขลุ่ย จะพาน้อง ๆ วิเคราะห์และตะลุยโจทย์โดยละเอียด พร้อมบอกแนวคิดในการทำข้อสอบ TGAT3 ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเก็บคะแนนแต่ละข้อให้กับน้อง ๆ
ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะพี่ยังมี Unseen Mock Test TGAT2,3 ชุดพิเศษ แถมไปให้ด้วย 1 ชุดน้า ถ้าใครสนใจคอร์สนี้สามารถ คลิก เข้ามาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยยย
บทความ แนะนำ
บทความ แนะนำ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่
Line : @smartmathpronews
FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น
IG : pan_smartmathpro
Twitter : @PanSmartMathPro
Tiktok : @pan_smartmathpro