
อย่างที่เราทุกคนรู้กันว่า ตั้งแต่ Dek66 เป็นต้นไป จะไม่มี GAT PAT วิชาสามัญ อีกแล้ว เพราะมันถูกเปลี่ยนเป็น TGAT / TPAT และ A-Level แทน ซึ่งวันนี้พี่จะมาสรุป “A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์” ทั้งคณิต 1 และคณิต 2 ว่าข้อสอบ
A Level คณิต จะออกประมาณไหน ? ข้อสอบเก่ายังทำได้มั้ย ? ควรฝึกฝนจากไหนดี ? ซึ่งบทความนี้จะช่วยแนะแนวทางให้น้อง ๆ อย่างละเอียดที่สุด อัปเดตครบตาม Test Blueprint 68 เลยน้าาา~
คำเตือน : บทความนี้ยาวนะ แต่ละเอียดหมดเปลือกเลย พี่ใช้เวลาเรียบเรียงและเขียนนานเอาเรื่องเหมือนกัน 555
สนใจหัวข้อไหน ... กดอ่านเลย
ToggleA-Level คณิต 1 กับ A-Level คณิต 2 คืออะไร ?
A Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 คือ เป็นข้อสอบที่วัดความรู้ คณิตพื้นฐาน และ คณิตเพิ่มเติม (โดยจะเน้นเพิ่มเติมมากกว่าน้าา) โดยก่อนที่จะมาเป็น สนาม A Level ก็เคยถูกเรียกว่าเป็น คณิต 1 วิชาสามัญ มาก่อน
A Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 คือ เป็นข้อสอบวัดความรู้คณิตศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งถูกปรับมาจาก O-NET คณิตศาสตร์ และ คณิต 2 วิชาสามัญ
สรุปง่าย ๆ A level คณิตประยุกต์ คือ การรวบสนามสอบเพื่อลดการสอบหลาย ๆ วิชา จากตอนแรกที่เด็กรุ่นก่อน ๆ
จะต้องสอบทั้ง PAT1, คณิต 1 วิชาสามัญ, คณิต 2 วิชาสามัญ และ O-NET ก็จะเหลือแค่สนาม A Level คณิต 1 และ
A Level คณิต 2 เท่านั้นน~ ซึ่งพี่ว่าดีน้า ไม่ต้องปวดหัวสอบหลายสนาม ควรรวมแบบนี้ตั้งนานแล้ว 555+
หมายเหตุ : น้อง ๆ สามารถสอบได้ทั้ง A Level คณิต 1 และ คณิต 2 เลย เพราะสอบคนละวันกัน ต่างจากระบบเดิมที่คณิตศาสตร์ทั้ง 2 ตัว จะต้องเลือกสอบตัวใดตัวหนึ่ง เพราะสอบวันและเวลาเดียวกันน้า
ข้อสอบ A-Level คณิต 1, A-Level คณิต 2 68 ออกสอบยังไง ?
A Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ จะไม่ออกเกินหลักสูตร
เนื้อหาแกนกลางเป็นอย่างไร ข้อสอบก็ต้องออกตามหลักสูตรแกนกลางแบบนั้น ข้อสอบ “ไม่มีออกเกินหลักสูตร” ครับ
จะหลุดโลกแค่ไหนก็ต้องอยู่ในหลักสูตรแกนกลางที่ถูกกำหนดมาแล้ว จำนวนเชิงซ้อนก็ยังเป็นจำนวนเชิงซ้อน ไม่ได้เปลี่ยนเป็นจำนวนเชิงซุ้ย หรือแคลคูลัส มันก็ยังเป็นเนื้อหาเดิม ไม่ได้แปลงร่างเป็น แคลคูล้งจริงมั้ย
A Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ ก็ต้องประยุกต์เนื้อหามาใช้ให้เป็น
พี่ปั้น คำว่าประยุกต์ มันคือ เป็นโจทย์ปัญหาทั้งหมดเลยมั้ย โจทย์ชีวิตประจำวันทั้งหมดหนู / ผม ตายแน่ … คำถามนี้พี่เจอมาจาก Dek68 เยอะมากกกก ใจเย็น ๆ น้า ชื่อประยุกต์มันไม่ได้แปลว่าเป็นโจทย์ปัญหา 100% และเอาจริง ๆ มันไม่ใช่ทุกหัวข้อทุกประเด็น จะสามารถฝืน ยัดให้เป็นโจทย์ปัญหาได้ทั้งหมด มันจะมีทั้งส่วนของโจทย์ปัญหา และโจทย์คณิตศาสตร์ที่เอามาประยุกต์ (โดยทั่วไปโจทย์คณิตศาสตร์ คือ การเอาเนื้อหา หลักการของบทนั้น ๆ มาประยุกต์อยู่แล้ว) ซึ่งก็ฝึกไปทั้งสองแบบแหละ
เอาจริง ๆ จากข้อสอบปี 66 ก็มีโจทย์ปัญหาและโจทย์คณิตศาสตร์เหมือนกับข้อสอบช่วงปี 64-65 (โดยเฉพาะ วิชาสามัญ) เลย ฉะนั้นน้อง ๆ ไม่ต้องกังวลน้า มันอาจจะดูยากในครั้งแรก ๆ ที่ทำ พอเราจับหลักได้ พี่ว่ามันไม่ได้ยากกว่าข้อสอบ
คณิต ม.ปลายปกติเลย ส่วนตัวรู้สึกมันง่ายกว่าด้วยซ้ำ แค่เหนื่อยในช่วงแรก ๆ เพราะต้องตีความ ต้องจับหลัก เอาโจทย์ปัญหามาเชื่อมโยงกับเนื้อหาคณิต ม.ปลาย แต่อย่ากลัว เราฝึกกันได้ !! และเอาจริง ๆ นะ แนวมันวน ๆ ด้วยซ้ำ
เพราะการประยุกต์กับโจทย์ปัญหามันไม่ได้มีแนวทางให้ออกได้เยอะขนาดนั้น
A-Level คณิต 1 68 ออกสอบอะไรบ้าง ?
บทที่ออก : เซต ตรรกศาสตร์ จำนวนจริง ความสัมพันธ์และฟังก์ชัน เรขาคณิตวิเคราะห์และภาคตัดกรวย
เอกซ์โพแนนเชียลและลอการิทึม ตรีโกณมิติ เมทริกซ์ เวกเตอร์ การนับและความน่าจะเป็น จำนวนเชิงซ้อน ลำดับและอนุกรม แคลคูลัสเบื้องต้น สถิติและการแจกแจงความน่าจะเป็น อ่านแล้วจุกมั้ย เยอะเลย แต่ไม่ต้องห่วงนะ น่าจะออกครบทุกบท ไม่เหลือบทไหนไว้เลย 555555555+
สนามนี้เรียกว่าน่าจะเป็นไฮไลต์ของการสอบเลย ข้อสอบเป็น “ลูกผสม” ระหว่างข้อสอบ “PAT1 และ คณิต 1 วิชาสามัญ” ของยุคก่อน ๆ แต่เอาจริง ๆ นะ ข้อสอบ PAT1 และคณิต 1 ก็ไม่ได้ออกแตกต่างกันสุดขั้วขนาดนั้น ทั้งสองสนามมีเนื้อหา สูตร นิยาม หลักการ และบทที่ออกเหมือนกัน
A Level คณิต 1 ออกกี่ข้อ ?

จะฝึกทำโจทย์ A Level คณิต 1 จากไหน ?
ฝึกทำโจทย์จากข้อสอบเก่า
การเตรียมสอบ ไม่ว่าจะวิชาไหน สนามไหน มันก็จะวนมาที่การเก็บเนื้อหาให้แม่น ให้แน่น และลุยข้อสอบเก่า … ซึ่งสำหรับ A Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 พี่เชียร์ให้ฝึกคณิต 1 วิชาสามัญเลย เน้นปี 64 – 67 เพราะเป็นหลักสูตรปัจจุบัน (ใครทำข้อสอบ Entrance ปี 42 -48 กับ A-NET เก่า ๆ ไหวด้วย ก็เชียร์ให้ลุยด้วยนะ 555+)
ส่วนข้อสอบ PAT1 ก็ยังฝึกทำได้อยู่น้า แต่ข้อที่ยากมาก ๆ โดยเฉพาะข้อสอบช่วงปี 56 – 58 อาจไม่ต้องเน้นมาก ให้เน้นที่ปี 63 – 65 เพราะปี 64 – 65 เป็นหลักสูตรปัจจุบัน ส่วนปี 63 ก็มีความเป็นคณิต 1 สูงมาก ส่วนปีอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ก็ทำได้เหมือนกัน แต่เน้นที่ 3 ปีนี้ก่อนได้เลยย
ถึงจะเป็นการสอบสนามใหม่ แต่การเตรียมวิชาสามัญคณิตประยุกต์เพิ่มเติม ก็คงไม่ต่างกัน เอาจริง ๆ มันแทบจะเป็น “สูตรสำเร็จ” ของการเตรียมสอบทุกสนามเลย ดังนั้นให้เก็บเนื้อหาให้แม่น ๆ เจอข้อสอบเก่าให้เยอะ ๆ แต่ที่สำคัญคือเราต้อง “เข้าใจ” มันจริง ๆ
และการ “เก็บเนื้อหา” คือ การรู้ว่าบทนี้มีอะไรบ้าง มีนิยามอะไร มีหลักการอะไรที่ต้องรู้ แต่น้อง ๆ จะเข้าใจมันจริง ๆ และนำไปใช้ได้คล่อง มันมีแค่การ “เจอข้อสอบเก่า เจอโจทย์” เท่านั้นที่จะทำได้ ได้เห็น Flow ของการนำเนื้อหามา “ประยุกต์”
ให้มากพอ การที่เราทำข้อสอบมันเหมือนการนำประสบการณ์ในอดีต มาประมวลผล เรียกว่ายำรวมเลยก็ได้ เพื่อทำข้อสอบตรงหน้า …
หน้าที่ของทุกคนตอนนี้ก็คือ “สะสมประสบการณ์และทักษะให้มากพอ” และแน่นอนสำหรับคณิตเพิ่มเติม มันซับซ้อน
โหดจัดรัสเซียกว่าคณิตพื้นฐานพอสมควร แต่ไม่ได้แปลว่าน้องจะทำมันไม่ได้นะเว้ย
ฝึกทำจากหนังสือ สสวท.
น้อง ๆ สามารถทำโจทย์ในหนังสือนี้ควบคู่ไปด้วยได้น้า เพราะพวกโจทย์ปัญหาในชีวิตประจำวัน ข้อสอบเก่าไม่ค่อยมี
ดังนั้นควรจะฝึกจากเล่มนี้เนี่ยแหละ และเมื่อเราอ่านหนังสือสสวท. เราจะเห็นแนวว่าข้อสอบจะออกประมาณไหน
รวมถึงน้อง ๆ จะเลือกทำข้อสอบเก่าได้ด้วย แบบแนวไหนต้องเน้น แนวไหนพอเทได้
A Level คณิต 1 มีเรื่องอะไรบ้างที่ถูกตัดออก ?
- ทฤษฎีจำนวน (พวกหาครน. หรม.) ไม่ออกแล้ว บทเมทริกซ์เนื้อหาส่วนของ อินเวอร์ส 3 x 3 (เหลือแค่ 2 x 2) ไมเนอร์ โคแฟคเตอร์ adjoint รวมถึงกฎคราเมอร์
- กำหนดการเชิงเส้น ก็หายไปทั้งบทเลย
- ความสัมพันธ์เชิงฟังก์ชัน ที่เป็นสมการพยากรณ์ (ข้อสอบเก่าจะออกแบบให้พยากรณ์เป็นสมการเส้นตรง) ไม่ออกแล้วน้า (หลายคนเข้าใจว่ามัน คือ ความสัมพันธ์และฟังก์ชัน ไม่ใช่นะเฟ้ย คนละบทกัน 555+) (เดิมเคยผสมใน
บทสถิติ) - สถิติ ที่เป็นพาร์ตคำนวณ ได้แก่ การหาค่ากลาง วัดตำแหน่งข้อมูล ในตารางความถี่แบบเป็นช่วง ไม่ออกแล้ว
(แต่ข้อมูลเรียง ๆ ทั่วไปยังออกนะ) ความแปรปรวนรวม ส่วนเบี่ยงเบนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนควอไทล์ สัมประสิทธิ์ส่วนเบี่ยงเบนเฉลี่ย สัมประสิทธิ์พิสัย สัมประสิทธิ์ส่วนเบี่ยงเบนควอไทล์ หายหมดเรียบ สถิตินี่เรียกว่าของเก่าหายไป
ราว ๆ 30 – 40% เลย - ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น
- การให้เหตุผล

A Level คณิต 1 เรื่องที่ถูกเพิ่มเข้ามา
- จำนวนจริง ในส่วนของการหารพหุนาม คูณพหุนาม เศษเหลือ ถูกเน้นเยอะขึ้นมาก ๆ ออกแน่
- ลำดับและอนุกรม มีเรื่องดอกเบี้ย ค่าเงินตามเวลา ค่างวด เน้น ๆ เลย (PAT1 64 ออกตั้ง 2 ข้อ)
- สถิติ จะมีส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น
- เพิ่มบทการแจกแจงความน่าจะเป็น มาเต็ม ๆ ทั้งบท

ถ้าใครอยากเก็บคะแนน A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 เยอะ ๆ แนะนำว่าให้เก็บเนื้อหาแต่ละบทแม่น ๆ ควบคู่ไปกับการทำโจทย์ที่หลากหลายทั้งจากในหนังสือ หนังสือ สสวท. และข้อสอบเก่า ทั้ง PAT1 และ คณิต 1 วิชาสามัญ (แถมข้อสอบ Entrance ก็จะดีมากถ้าไหว) โดยเน้นไปที่ข้อสอบตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป
ดูวิดีโอวิธีเก็บคะแนน A-Level คณิต 1 ให้ได้ 50 Up ++

ตัวอย่างแนวข้อสอบ A-Level คณิต 1
เซตคำตอบของอสมการ katex is not defined เป็นสับเซตของช่วงในข้อใดต่อไปนี้
1. katex is not defined
2. katex is not defined
3. katex is not defined
4. katex is not defined
5. katex is not defined
เฉลย ตัวเลือกที่ 1
ดูคลิปติว A-Level คณิต 1
พี่มีคลิปติว A-Level คณิต 1 รวมถึงคลิปติว / ตะลุยโจทย์สนาม A-Level ให้น้อง ๆ เลือกดูเยอะมากเลยน้าา ถ้าสนใจ
ดูคลิปไหนก็สามารถกดปุ่ม Playlist ที่มุมขวาบนของคลิป แล้วเลือกดูกันได้เลยย
ดูคลิปติววิชาอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube : SmartMathPro
A-Level คณิต 2 68 ออกสอบอะไรบ้าง ?
บทที่ออก : เซต ตรรกศาสตร์เบื้องต้น หลักการนับเบื้องต้นและความน่าจะเป็น เลขยกกำลัง ฟังก์ชัน ลำดับและอนุกรม และสถิติ
เซต : ไม่มีเพาเวอร์เซต
ตรรกศาสตร์ : ไม่มีสัจนิรันดร์และการอ้างเหตุผล, ไม่มีกฎการสมมูลของประพจน์, ไม่มีตัวบ่งปริมาณ
หลักการนับเบื้องต้นและความน่าจะเป็น : ไม่มีทฤษฎีบททวินาม, ไม่มีการเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลม, ไม่มีการเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้นสิ่งของที่ไม่แตกต่างกันทั้งหมด
ฟังก์ชัน : ไม่มีเรื่องความสัมพันธ์, ไม่มีกล่าวถึงฟังก์ชันอินเวอร์ส ฟังก์ชัน 1 ต่อ 1 ฟังก์ชันทั่วถึง และฟังก์ชันประกอบ (fog gof) แต่มีฟังก์ชันเอกซ์โพแนนเชียลเบื้องต้น เพิ่มเข้ามาด้วย
ลำดับและอนุกรม : ไม่มีเรื่องลิมิตของลำดับ, ไม่มีอนุกรมเศษส่วนย่อย, ไม่มีอนุกรมอนันต์, ไม่มีลำดับฮาร์มอนิก
สถิติ : ไม่มีส่วนของบทการแจกแจงความน่าจะเป็น (มีแค่รู้จักนิยามของกราฟเบ้ซ้าย เบ้ขวา และการกระจายตัวปกติ)
เนื้อหาที่อยู่ในคณิตพื้นฐานจะเป็นเนื้อหาที่จะเจอในคณิตเพิ่มเติมทั้งหมดอยู่แล้ว แต่พี่ก็แนะนำว่าควรจะทบทวนและลองเอาข้อสอบเก่าสนามนี้มาทำด้วย (O-NET วิชาคณิตศาสตร์ และ คณิต 2 ในวิชาสามัญ) เพราะจะมีบางจุดที่คณิตเพิ่มเติมไม่ค่อยเน้น (คือ มีในเนื้อหา แต่ข้อสอบเก่าแทบไม่ได้ออก) แต่คณิตพื้นฐานเน้นบ่อย และในบทเดียวกันเมื่อเทียบกับคณิตเพิ่มเติม จะง่ายกว่าพอสมควร และหัวข้อในแต่ละบทเป็นส่วนหนึ่งของคณิตเพิ่มเติมอีกที
A Level คณิต 2 ออกกี่ข้อ ?

จะฝึกทำโจทย์ A Level คณิต 2 จากไหน ?
ฝึกทำโจทย์จากข้อสอบเก่า
สำหรับข้อสอบ A Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 แนะนำให้ฝึกทำข้อสอบ O-NET ปี 64 – 65 ทำไม่ได้ก็ดูเฉลยได้น้า ค่อย ๆ ทำความเข้าใจแล้วลองทำด้วยตัวเองอีกสักรอบ และแนวข้อสอบโจทย์ปัญหาประยุกต์ในชีวิตประจำวัน ในหลักสูตรเดิมก็มีออกผสมอยู่พอสมควรอยู่แล้ว ดังนั้นพี่ว่าเตรียมตัวได้สบาย ๆ
ส่วนข้อสอบ คณิต 2 วิชาสามัญ ก็ทำได้เหมือนกันแต่ต้องคัดข้อสอบอีกทีน้า เพราะบางข้อหรือบางเรื่องฝึกไปแล้วอาจจะไม่ได้ใช้จริง แนะนำว่าให้ฝึกทำของปี 65 และ A-Level คณิต 2 ปี 66 เพราะเป็นหลักสูตรใหม่ แต่ถ้าใครไม่รู้จะเลือกข้อสอบมาทำยังไง ก็เข้าไปดาวน์โหลด ข้อสอบเก่า / แบบฝึกหัด ที่พี่รวบรวมไว้ให้ได้เลยย
ฝึกจากหนังสือสสวท.
คณิตพื้นฐานจะมี 3 เล่ม ก็คือ ม.4 ม.5 และ ม.6 ตามลำดับเลย เก็บเนื้อหาจากในเล่ม และลุยโจทย์จากแบบฝึกหัดในเล่มไว้ก็จะดีมาก ๆ ครับ อ่านควบคู่กับการทำข้อสอบเก่าไปด้วย
ที่จริงน้อง ๆ สามารถหาโจทย์มาฝึกทำได้เยอะกว่านี้น้า อาจจะเป็นแบบฝึกหัด การบ้านที่คุณครูให้ หรือจากหนังสือเก็งข้อสอบก็ได้ พี่ว่าได้ผลเหมือนกันเลยน้า
A Level คณิต 2 เรื่องที่ถูกตัดออก
- จำนวนจริง (พี่แอบช็อกมาก ที่เค้าตัดออกทั้งบทเลยจำนวนจริงในคณิตพื้นฐาน แงง)
- การให้เหตุผล
- อัตราส่วนตรีโกณมิติ
- ฟังก์ชัน ไม่ออกเรื่องความสัมพันธ์
- สถิติ ไม่ออกเรื่องเดไซล์, การสำรวจความคิดเห็น

A Level คณิต 2 เรื่องที่ถูกเพิ่มเข้ามา
- ตรรกศาสตร์เบื้องต้น : ประพจน์และตัวเชื่อม (นิเสธ, และ, หรือ, ถ้า…แล้ว, ก็ต่อเมื่อ) เดิมไม่มีในคณิตพื้นฐาน แต่ตอนนี้มาแล้ว !
- การนับและความน่าจะเป็น : มีเรื่องของ Factorial และ Cn,r มาแล้ว ต้องฝึกเพิ่มด้วย
- ลำดับและอนุกรม : ดอกเบี้ย ค่าเงินตามเวลา มูลค่าของเงิน
- การใช้ฟังก์ชันในชีวิตจริง
- สถิติ : ค่านอกเกณฑ์
หมายเหตุ : ส่วนพวกนี้จะไม่ค่อยมีข้อสอบเก่าให้เราฝึก ดังนั้นลุยจาก “หนังสือ สสวท. เจ้าเก่าได้เลย” รวมถึงข้อสอบ
O-NET ตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป เพราะเป็นปีที่เป็นหลักสูตรปัจจุบันแล้ว

จะสอบคณิตเพิ่มเติม ทิ้งคณิตพื้นฐานเลยได้มั้ย ?
น้อง ๆ หลายคนอาจจะมีคำถามว่าถ้าจะสอบคณิตเพิ่มเติม ทิ้งคณิตพื้นฐานเลยได้มั้ย ? หรือถ้าทบทวนแค่คณิต 1 แล้วเตรียมสอบได้ทั้งคณิต 1 และคณิต 2 เลยมั้ย ? จริง ๆ พี่ไม่อยากให้ทิ้งคณิต 2 น้า อาจจะเก็บเนื้อหา A-Level คณิต 1 แล้วค่อยไปตะลุยโจทย์ A-Level คณิต 1,2 ไว้ก็ได้ เพราะมีหลายคนเลยที่ทำคณิตเพิ่มเติมแล้วสะดุดหรือหลงลืมจุดง่าย ๆ ซึ่งมันก็อาจมาจากคณิตพื้นฐานยังไม่แข็งแรงนั่นเอง
และอีกอย่างตอนสอบคณิตเพิ่มเติม น้อง ๆ ก็ต้องสอบคณิตพื้นฐานด้วยอยู่ดีจริงมั้ย เช่น ไม่แม่นเลขยกกำลัง ก็จะมีปัญหาตอนทำบท Expo & Log จัดรูปไม่คล่อง ไม่แม่นการนับเบื้องต้นในคณิตพื้นฐาน (หลักการยังไม่ค่อยได้) พอทำคณิตเพิ่มเติมที่ซับซ้อนกว่าก็ย่อมเล่นน้ำลาย (อาบรู้วว 555+) เริ่มไม่ถูก …
ดังนั้น พี่เลยอยากให้แบ่งเวลา และพลังงานส่วนหนึ่งมาเก็บคณิตพื้นฐานด้วย ใช้พลังงานน้อยกว่าทำคณิตเพิ่มเติมด้วย ทำแล้วจะมีกำลังใจมากกว่า แถมได้อุดจุดอ่อน รูรั่วต่าง ๆ มันอาจจะมีจุดที่ “น้องไม่รู้ ว่าน้องไม่รู้” มาอัดพื้นฐานให้แน่นปึ๊ก เพื่อต่อยอดกันด้วยน้า
อย่างที่พี่บอกเลยว่าเนื้อหาทั้งคณิตพื้นฐานและคณิตเพิ่มเติมเนี่ย สำคัญพอ ๆ กันเลย แถมยังเอามาเสริมกันได้
เรียกว่าถ้าฝึกทั้งคณิตพื้นฐานและเพิ่มเติมไปพร้อมกันเราก็จะยิ่งเก่งขึ้นอีก ซึ่งถ้าถามว่าควรเริ่มเตรียมตัวตอนไหนดี พี่ว่าเริ่มได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดีน้า เพราะในการทบทวนทั้ง 2 วิชาอาจจะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง อีกอย่างปีนี้ A Level เลื่อนมาสอบไวขึ้น ถ้าเริ่มเตรียมตัวเร็ว น้อง ๆ จะได้มีเวลาทบทวนเนื้อหาและฝึกทำโจทย์เสริมแกร่งได้นั่นเอง
แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน หรือกังวลว่าจะเตรียมตัวสอบไม่ถูกจุด อยากได้คนช่วยไกด์ พี่ก็ขอแนะนำคอร์ส A Level คณิต จาก SmartMathPro ให้เลยน้าา โดยคอร์สนี้ใครที่พื้นฐานยังไม่แน่นก็สามารถเรียนได้ เพราะพี่จะสอนเนื้อหาทั้งคณิตพื้นฐานและเพิ่มเติมครบทุกบทตั้งแต่ปูพื้นฐาน พร้อมพาตะลุยโจทย์หลายระดับตั้งแต่โจทย์ซ้อมมือไปจนถึงข้อสอบเข้ามหาลัยฯ กันเลยย ที่สำคัญ ถ้าสมัครคอร์สตั้งแต่ตอนนี้พี่มี Unseen Mock Test ชุดพิเศษ แถมฟรีไปให้ทุกคนด้วย ถ้าใครสนใจคอร์สนี้ คลิก ดูรายละเอียดได้เลยน้า
ดูวิดีโอวิธีเก็บคะแนน A-Level คณิต 2 ให้ได้ 70 Up ++

ตัวอย่างแนวข้อสอบ A-Level คณิต 2
จากการสำรวจค่าขนมของนักเรียนชาย 20 คน มีค่าเฉลี่ยของค่าขนมเป็น 200 บาท นักเรียนหญิง 10 คน มีค่าเฉลี่ยของค่าขนมเป็น 185 บาท ภายหลังพบว่ามีการคำนวณที่ผิดพลาด โดยค่าขนมของนักเรียนชาย 1 คนสูงกว่า
ค่าขนมจริงอยู่ 40 บาท และค่าขนมของนักเรียนหญิง 1 คนสูงกว่าค่าขนมจริงอยู่ 20 บาท แล้วค่าเฉลี่ยรวมของค่าขนมของนักเรียนชายและหญิงที่ถูกต้องเท่ากับกี่บาท
เฉลย 193 บาท
ดูคลิปติว A-Level คณิต 2
พี่มีคลิปติว A-Level คณิต 2 รวมถึงคลิปติว / ตะลุยโจทย์สนาม A-Level ให้น้อง ๆ เลือกดูเยอะมากเลยน้าา ถ้าสนใจ
ดูคลิปไหนก็สามารถกดปุ่ม Playlist ที่มุมขวาบนของคลิป แล้วเลือกดูกันได้เลยย
ดูคลิปติววิชาอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube : SmartMathPro
วิเคราะห์ข้อสอบ A-Level คณิต ผ่านแนวโน้มข้อสอบที่ผ่าน ๆ มา
ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ข้อสอบแข่งขันสำหรับมุมพี่รู้สึกว่ามันถึกน้อยลงมาก (โดยเฉพาะ PAT1) เรียกว่ายากในระดับสมเหตุสมผลขึ้น เน้นวัดความเข้าใจ การประยุกต์เนื้อหา นิยาม สูตรเข้ากับโจทย์ มากกว่าที่จะใช้ความถึก
ความซับซ้อนมาก ๆ แบบข้อสอบช่วงก่อน (เช่น ช่วงปี 55 – 58 เป็นต้น ช่วงนั้นข้อสอบโหดมาก) ส่วนข้อสอบวิชาสามัญ ก็เน้นการเข้าใจคอนเซ็ปต์นิยาม ซึ่งไม่ได้มีวิธีทำที่ถูก ถ้ามองออกจริง ๆ ก็จะทำไม่นาน ข้อสอบตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นมา พี่ว่ามันก็ดูง่ายขึ้นประมาณหนึ่งเลยในมุมพี่
สำหรับข้อสอบปี 64 ใน PAT1 จะมีข้อสอบส่วนหนึ่งเป็นโจทย์ปัญหา ที่เอาคณิตศาสตร์มาประยุกต์กับชีวิตประจำวัน
นำข้อมูลที่โจทย์ให้มาเชื่อมโยงกับเนื้อหาในบทต่าง ๆ แล้วแก้ ซึ่งถ้าไม่เคยเจอ อาจจะมองว่ายาก แต่ถ้าได้ซ้อมมาบ้างพี่ว่าทุกคนสู้ไหว !!
ดูตัวอย่างได้จากหนังสือ สสวท. และข้อสอบจริงปี 64 ได้เลย และอีกส่วนหนึ่ง คือ ข้อสอบคณิต ม.ปลาย ปกติที่เจอกัน
แต่ความยาก และความถึกลดดีกรีลงไปเยอะมาก ดังนั้นถ้าน้อง ๆ ไปเจอข้อที่ถึก ๆ แนวข้อสอบสมัยก่อนก็ข้ามได้เลยนะ และสำหรับคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 ก็ยังคงเป็นข้อสอบที่เน้นวัดความเข้าใจเช่นเคย (พี่ว่าคณิต 1 แทบไม่เปลี่ยนเลย) ตีความโจทย์เชื่อมโยงสูตร นิยาม เนื้อหาที่ควรรู้ ซึ่งข้อสอบจะออกแนวซ่อนรูปนิดหน่อย มองออกยาก แต่ไม่ถึกน้าา
และสำหรับข้อสอบวิชาสามัญคณิตประยุกต์พื้นฐาน และเพิ่มเติม พี่คาดว่าข้อสอบไม่น่าจะถึก เน้นวัดความเข้าใจ
ใน “แก่น” ของบทนั้น ๆ (เนื้อหา นิยาม สูตรต่าง ๆ) แต่ว่ามันก็คงไม่ง่ายนัก อ้อมนิด ซ่อนหน่อย ไม่ปล่อยให้มองง่าย ๆ แบบแทนตรง ๆ แล้วตอบ ต้องทำอะไรบางอย่างก่อน ซึ่งก็ต้องฝึกทำโจทย์และข้อสอบเก่า ๆ เยอะพอสมควร และแน่นอนว่าโจทย์ปัญหาในชีวิตประจำวัน ที่มาผสมกับคณิต ม.ปลาย มาแน่นอน
ถ้าให้เก็งเล่น ๆ สมมติข้อสอบ 30 ข้อ อาจจะผสม ๆ แนวโจทย์ปัญหาซัก 6 – 10 ข้อ (ณ วันที่เขียนบทความ ยังไม่ได้สอบของปี 66 เลยยังไม่สามารถฟันธงจำนวนข้อของโจทย์ปัญหาได้ และที่เหลือก็คือ คณิต ม.ปลายที่เราเจอกันเนี่ยแหละ
อยากให้น้อง ๆ ฝึกฝนกันต่อไปน้า ไม่ต้องกังวลจนเกินไป ยังนั่งยัน นอนยัน ยืนยัน ตะแคงยัน ว่าข้อสอบเก่านั้น “ฝึกได้” แถมยังโคตร ๆ สำคัญเลย และควรอ่านและฝึกจากหนังสือ สสวท. ควบไปด้วย แก่นหลักของคณิตศาสตร์ยังเหมือนเดิม แคลคูลัสยังเป็นแคลคูลัส ภาคตัดกรวยยังเป็นภาคตัดกรวย ไม่ต้องกลัวข้อสอบแหวกหลุดโลกหรอกน้า แน่นอนว่ามันคงไม่ได้ตรงกับข้อสอบเก่า ๆ 100% (ข้อสอบสนามเดียวกัน ในแต่ละปี ยังไม่ได้ตรงกัน 100% เลย) แต่มันก็ไม่ได้หนีห่างกันแบบหลุดโลกแน่นอน
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าน้อง ๆ จะอ่านบทความนี้ตอนไหน ทุกวินาทีหลังจากนี้ ใช้มันให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อฝันของทุกคนนะ พี่ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจเล็ก ๆ อีกหนึ่งแรงเล็ก ๆ ที่ช่วยส่งให้น้อง ๆ ถึงฝั่งฝันน้าา ^__^
“If you can dream it. You can do it.”
บทความ แนะนำ
บทความ แนะนำ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่
Line : @smartmathpronews
FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น
IG : pan_smartmathpro
X : @PanSmartMathPro
Tiktok : @pan_smartmathpro
Lemon8 : @pan_smartmathpro