คณิต 1 วิชาสามัญ คืออะไร? ออกอะไรบ้าง? ต่างจากคณิต 2 อย่างไร พร้อมแจกแนวข้อสอบ!

สวัสดีคร้าบ วันนี้พี่ปั้นจะมาเขียนบทความวิเคราะห์ข้อสอบ คณิต 1 วิชาสามัญ ปี 2564 ที่จะเล่า “หมดเปลือก” ว่าข้อสอบออกอะไรบ้าง ออกแนวไหน เทคนิคการเตรียมตัวเพื่อจะรับมือกับข้อสอบหลังจากนี้ อาจจะยาวหน่อย เพราะพี่เขียนให้อ่านแบบละเอียดๆเลย แต่รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอน !!

ก่อนอื่น ต้องพามารู้จักกับข้อสอบคณิตศาสตร์ 1 ก่อน (เขียนเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2564)

มาทำความรู้จัก ข้อสอบวิชาสามัญ คณิต 1 กัน!

ข้อสอบมี 30 ข้อ ให้เวลาสอบ 90 นาที เฉลี่ยข้อละ 3 นาที แอบเป็นข้อสอบ Speed Test พอสมควรเลย ทำแปปๆหมดเวลาแล้ว ต้องฝึกมาเข้มข้นพอสมควรถึงจะทำทัน

แต่ถึงทำไม่ทันก็ไม่เป็นไร ขอเพียงทำให้ได้เยอะที่สุดพอ และพยายามเลือกข้อทำในห้องสอบ เลือกข้อที่สู้ไหวก่อน ห้ามทำเรียงข้อนะครับ ทำไม่ทันแต่อยากให้ได้อ่านโจทย์ทันครบทุกข้อ เพราะถ้ามีข้อง่าย ข้อทำได้ แต่เราทำยังไม่ถึงนี่เสียดายมากนะ

ลักษณะข้อสอบ มักจะเป็นข้อสอบที่วัดความเฉลียว และไหวพริบ ใช้นิยามและคอนเซป มาจับเพื่อหาคำตอบ

วิธีทำมักจะไม่ถึก ไม่ยาว (ต่างจาก PAT1 ที่ภาพรวมข้อสอบถึกมากกว่า แต่ก็ให้เวลาทำเฉลี่ยข้อละ 4 นาที) ซึ่งต้องมองให้ออกและแม่นเนื้อหาพอสมควร เรียกว่าเป็นข้อสอบกวนชุดนึงเลย แต่หากไม่แม่นเนื้อหาก็จะงมนานมาก นานพอๆกับรอเธอกลับมา 5555 หรืออ่านแล้วอาจเบลอว่ารักแถบ จนไม่รู้ว่าจะทดอะไรดี แงง

ภาพรวมข้อสอบคณิต 1 วิชาสามัญ “ของเดิม ก่อนปี 64” จะเป็นปรนัย 5 คำตอบ ทั้งหมด 30 ข้อเลย

โดยข้อที่ 1 – 10 ข้อละ 2 คะแนน (ข้อสอบตอนปี 55 – 58 10 ข้อแรกจะเป็นอัตนัย มาเปลี่ยนเป็นปรนัยปีแรกตอนปี 59 ครับ) และข้อที่ 11 – 30 ข้อละ 4 คะแนน

ซึ่ง 10 ข้อแรกจะง่ายหน่อย ส่วน 20 ข้อหลัง จะเพิ่มความยากขึ้นมาหน่อย และข้อสอบจะออกทุกบท ยกเว้น เซต ตรรกศาสตร์ และความสัมพันธ์และฟังก์ชัน คือจะมีเจ้าเนื้อหา 3 บทนี้ปนๆแทรกๆอยู่ แต่จะไม่มีข้อที่ออกเดี่ยวๆใน 3 บทนี้เลย แต่ๆๆๆๆๆข้อสอบปี 64 และ 65 จะออก 3 บทนี้แล้วน้า แปลว่าใครจะเตรียมสอบตอนนี เรียกว่าต้องเก็บทุกบทเลย

ของปี 64 ที่ผ่านมาและอนาคต ปี 65 จะเป็น ข้อที่ 1 – 25 : ปรนัย 5 คำตอบ ข้อละ 3 คะแนน และ ข้อที่ 26 – 30 : อัตนัยเติมคำตอบ ข้อละ 5 คะแนน พอปรับเป็นมีอัตนัยคะแนนเฉลี่ยปีล่าสุด เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าเฉลี่ยภาพรวมลดลงด้วย ลองดูจากตารางกัน

คณิต 1 กับ คณิต 2 ต่างกันอย่างไร

คณิต 1 จะเป็นคณิตพื้นฐาน และคณิตเพิ่มเติม แต่เนื้อหาจะเน้นไปทางคณิตเพิ่มเติมมากกว่า (หรือที่โรงเรียนจะเรียกคณิตเสริม) ข้อสอบจะออกทุกบทในคณิต ม.ปลาย ข้อสอบ 30 ข้อ 90 นาที เน้นวัดความรู้ความเข้าใจของเนื้อหา นิยาม และคอนเสปของแต่ละบท ความยากไม่แพ้ PAT1 แน่นอน

คณิต 2 : เป็นคณิตพื้นฐาน (หรือที่โรงเรียนจะเรียกว่าคณิตหลัก) โดยไม่มีคณิตเสริมเลย ออกทุกบทในคณิตพื้นฐาน ได้แก่ เซต ตรรกศาสตร์ การนับเบื้องต้น ความน่าจะเป็น เลขยกกำลัง ฟังก์ชัน ลำดับและอนุกรม และสถิติ ข้อสอบ 30 ข้อ 90 นาที เป็นคณิตพื้นฐานล้วนๆ แนวข้อสอบจึงคล้ายกับ ONET มากๆ คือวัดแค่ความเข้าใจเบื้องต้น ข้อสอบไม่ซับซ้อน ง่ายกว่าคณิต 1

จะสอบทั้งคณิต 1 และคณิต 2 เตรียมตัวยังไง … จะบอกว่า น้องสอบพร้อมกันไม่ได้ เพราะทั้งคณิต 1 และคณิต 2 จะสอบวันและเวลาเดียวกัน เป๊ะๆเลย ยกเว้นว่าน้องมีคาถาแยกร่าง เอาร่างนึงสอบคณิต 1 และอีกร่างสอบคณิต 2

คะแนนคณิต 1 ใช้ยื่นคณะอะไรได้บ้าง?

ซึ่งข้อสอบคณิต 1 นี้ก็ใช้ยื่นได้ในหลายคณะเลย หลักๆ คือสาย กสพท. แพทย์ฯ เภสัชฯ ทันตะฯ หรือสัตวแพทย์ฯ จะใช้คะแนนส่วนนี้แบบเต็มๆ

คณิต 1 จะมีน้ำหนักเท่ากับ 14% ของคะแนนเต็ม 100% กสพท. และยังมีใช้สอบโควต้า ยื่นรับตรงของคณะอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งอันนี้ต้องดูเกณฑ์ของแต่ละที่ดูน้า

รวมไปถึงบัญชี ธรรมศาสตร์ คณะที่พี่ปั้นจบมาก็ใช้คณิต 1 ในการรับตรงเป็นน้ำหนักถึง 40%

วิเคราะห์ข้อสอบของปี 2564

สำหรับในมุมพี่ แม้ข้อสอบปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีการเปลี่ยนหลักสูตร ที่หลักๆก็คือปรับตัวบทสถิติประมาณหนึ่ง เมทริกซ์มีตัดเนื้อหาบางส่วน และตัดบททฤษฎีจำนวนออกไป (ซึ่งปกติจะออกทุกปี ที่เป็นหา ค.ร.น. ห.ร.ม. อะไรพวกนี้)

ตัวข้อสอบเองก็ไม่ได้เปลี่ยนพลิกฝ่ามือ มีเพียงการเปลี่ยนเป็นปรนัย 25 ข้อ และอัตนัย 5 ข้อ ที่เป็นของใหม่ และมีบทเซต ตรรกศาสตร์ ความสัมพันธ์และฟังก์ชันที่มาออกเดี่ยวๆในข้อสอบปีนี้แล้ว นอกนั้นพี่ว่าไม่ได้ต่างจากเดิมมาก

ข้อสอบในปีนี้ในหลายข้อจะดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย หลายข้อก็ดูเหมือนยาก แต่ก็ไม่ได้ยากนัก แทบไม่มีข้อไหนวิธีทำถึกๆเลย แต่ข้อสอบรอบนี้ “ซ่อนรูป” คือต้องมองให้ออกจริงๆถึงจะทำได้คล่อง

รอบนี้พี่ก็เข้าสอบด้วยตัวเอง ทำเสร็จก่อนเวลาประมาณนึง ตอนสอบยังแอบคิดว่าเด็กๆน่าจะโดนหลอกไปพอตัว และมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ฮือออ ขนาดพี่ยังโดนหลอกเองไป 2 ข้อ อ๊ากกก (ปล.พี่ได้ 94/100 นะครับผม) เป็นแนวไม่ยาก แต่เด็กส่วนใหญ่น่าจะแพ้ทางพอสมควร ประมาทไม่ได้เลย !!

ลักษณะข้อสอบก็ถือว่าออกในหลักสูตรปกติ ตามตำราสสวท. ไม่ได้ยากหลุดโลกหรือถึกเกินไป และก็ไม่ได้ง่ายจนเกินไป ยังสามารถเอาข้อสอบคณิต 1 วิชาสามัญปีก่อนๆมาดูได้

พี่ยอมรับเลยว่าข้อสอบออกได้ดีเลยครับ ข้อสอบแทบทุกข้อคือต้องคิดตามพอสมควร ไม่ได้มาตรงๆ มีอ้อมบ้างเล็กน้อย และข้อสอบไม่ได้มีแนวประยุทธ์ เอ้ย! ประยุกต์ในชีวิตประจำวันมาแบบมหาศาลเหมือนใน PAT1 (สำหรับ PAT1 ก็จะมาทำบทวิเคราะห์เช่นกันน้า รอติดตามเด้อขรับ)

และอีกส่วนที่ปรับคือ สัดส่วนการออกของบางบทเปลี่ยนไป เดิมในแต่ละปี สัดส่วนการออกจะใกล้เคียงกันมากๆ แต่ปีนี้อาจเพราะต้องเกลี่ยให้กับ 3 บทที่มาเติมเพิ่มในปีนี้ บท Expo&Log ลำดับและอนุกรมออกน้อยลงบทละข้อ และ เมทริกซ์ เดิมออก 2 – 3 ข้อ ปีล่าสุดออกข้อเดียว !!

ซึ่งข้อสอบปี 64 ทั้งหมดออกบทไหนบ้าง ดูจากภาพนี้เลย ! พี่คิดว่าในปีหน้า ก็น่าจะมีสัดส่วนการออกของแต่ละบทประมาณนี้แหละ

คะแนนภาพรวมของข้อสอบคณิต 1

คะแนนแต่ละช่วง มีสัดส่วนคนทำได้ประมาณเท่าไหร่ มาดูกัน นอกเหนือจากค่าเฉลี่ยของคะแนนตามตารางก่อนหน้า

ซึ่งเรียกได้ว่าปีล่าสุดนั้นโหดพอสมควร คือมีคนได้มากกว่า 60 คะแนน ประมาณ 1.75% ของคนสอบทั้งประเทศ ได้มากกว่า 50 คะแนน ประมาณ 3.1% ของคนสอบทั้งประเทศ ส่วนมากกว่า 40 คะแนน ประมาณ 6% ของคนสอบทั้งประเทศ จากสถิตินี้ ทำให้รู้ว่าข้อสอบชุดนี้ ก็ไม่ธรรมดา ประมาทไม่ได้เลย

คณิต 1 ปี 64 แต่ละบทออกแบบไหนบ้าง วิเคราะห์กันรายบทเลย

  • เซต – ออก 1 ข้อ แนวคลาสสิคเลย คือวาดแผนภาพเวนน์ – ออยเลอร์ ตามปกติ พวกอินเตอร์เซค ยูเนียน ซ้อมๆวาดบ่อยๆ รู้จักการดำเนินการระหว่างเซต ทำได้แน่นอน
  • ตรรกศาสตร์ – ออก 2 ข้อ ข้อนึงเป็น การหาค่าความจริงของตัวบ่งปริมาณ For All , For Some และอีกข้อเป็นอัตนัย เอาจริงๆก็เพิ่งเคยเห็นข้อสอบอัตนัยบทตรรกศาสตร์ 555 เป็นตัวเชื่อม หาค่าความจริง หาการสมมูลปกติเลย
  • จำนวนจริง – ออก 2 ข้อ เป็นเรื่องการปลดค่าสัมบูรณ์ข้อนึง ตัวประกอบของพหุนามข้อนึง แนวคลาสสิคมากๆที่ออกประมาณนี้แทบทุกปีเลยครับ
  • ความสัมพันธ์และฟังก์ชัน – ออก 1 ข้อ อัตนัย พี่ว่าข้อนี้ออกได้เจ๋งมาก วัดความเข้าใจเรื่องฟังก์ชันอินเวอร์ส และฟังก์ชันทั่วถึง ให้เป็นตารางแล้วจับคู่เลย
  • เรขาคณิตวิเคราะห์และภาคตัดกรวย – ออก 2 ข้อ เป็นเรขาคณิตวิเคราะห์ข้อนึง เป็นหาจุดที่อยู่ใกล้เส้นตรงที่สุด (ซึ่งลากแล้วต้องตั้งฉากกับเส้นตรง) กับ ภาคตัดกรวย แนวคลาสสิค คือ ผสม 2 รูป (ปีนี้เป็นไฮเพอร์โบลา ผสม พาราโบลา) ถือว่าออกแบบดั้งเดิมเลย
  • Expo & Log – ออก 2 ข้อ ข้อปรนัยออกแก้อสมการ Exponential หาช่วงคำตอบปกติเลย อีกข้อเป็นอัตนัยเป็นสมการ Logarithm แทนตัวแปรเป็น A เหมือนดั้งเดิม แต่มีหลอกตอนท้ายนิดนึง ซึ่งน่าจะโดนหลอกกันไปเยอะ ถือว่าออกแบบเดิมๆเลยครับ ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์
  • ตรีโกณมิติ – ออก 2 ข้อ เอาจริงๆแอบออกแบบปรับจากของเดิมไปพอสมควร ข้อแรกออกเป็นกราฟตรีโกณ ให้เทียบค่าจากสมการที่ให้มา และอีกข้อเป็นวงกลม 2 หน่วย !! ซึ่งต้องเทียบเส้นรอบวงแล้วไปเทียบกับวงกลม 1 หน่วยปกติ เจ่งมาก (แต่จริงๆ แค่เส้นรอบวงของ 2 หน่วย จะใหญ่เป็น 2 เท่า แต่น้องจำนวนมากโดนหลอก)
  • เมทริกซ์ – ออก 1 ข้อ ออกแนวนิยาม det เลย พี่ว่าออกง่ายกว่าเดิมน้า แต่ต้องแม่นนิยาม det หน่อย
  • เวกเตอร์ – ออก 2 ข้อ เป็นวัดความเข้าใจเรื่องการทำมุมของเวกเตอร์ข้อนึง ลองวาดๆก็สามารถตอบได้ ส่วนอีกข้อเป็นให้พิกัดในสามมิติ แล้วให้หาพื้นที่สามเหลี่ยม ถ้าใครลืมนิยาม cross เวกเตอร์ ที่ขนาดจะมีค่าเท่ากับสี่เหลี่ยมด้านขนาน ข้อนี้ก็แอบทำยากพอตัวเลยครับ (ออกเจ๋งเลย) เป็นปรนัยทั้งสองข้อเลย
  • จำนวนเชิงซ้อน – ออก 2 ข้อ ปรนัยทั้งสองข้อเลย ข้อนึงเป็นพหุนาม ที่มีคำตอบเป็นจำนวนเชิงซ้อน และอีกข้อออกในรูปเชิงขั้ว (เจ้าเก่าประจำวิชาสามัญ) ให้หารากต่างๆ และ การนำจำนวนเชิงซ้อนในรูปในรูปเชิงขั้วมายกกำลัง
  • การนับและความน่าจะเป็น – ออก 3 ข้อ เป็นความน่าจะเป็น 2 ข้อ ซึ่งก็เป็นแนวคลาสสิคเช่นเคยที่ใช้การจัดหมู่มาช่วย (Cnr) และอีกข้อเป็นเรื่องการนับ ซึ่งโหดพอตัวเลย ที่เป็นไม่ให้คน 5 คน นั่งติดกัน จากเก้าอี้ 11 ตัว
  • ลำดับและอนุกรม – ออก 3 ข้อ ข้อแรกเป็นราคารถที่ลดปีละ 20% คิดเหมือนลำดับเรขาคณิต กวนๆนี่เอง อีกข้ออนุกรมเรขาคณิตในรูปของ Expo และข้อที่สามเป็นการหาอนุกรมที่ต้องจัดรูปกันสนุกเลย ก่อนจะเป็นในรูปเทเลสโคปิกพอดี ข้อสุดท้ายพี่ว่าแอบโหด
  • แคลคูลัส – ออก 3 ข้อ ข้อแรกให้เป็นฟังก์ชันติดตัวแปร และให้ข้อมูลมาเพื่อแกะทีละตัวแปร อันนี้แนวคลาสสิคออกมานานทั้ง PAT1 และ คณิต 1 ข้อต่อมาเป็นฟังก์ชันที่ดิฟแล้ว ใช้นิยามฟังก์ชันต่อเนื่องมาช่วยแก้ ถือว่าออกไม่ยากมาก และข้อสุดท้ายเป็นอัตนัยเป็นเรื่องเส้นสัมผัสเส้นโค้ง แล้วให้หาพื้นที่ปิดล้อมของเส้นตรงกับแกน x และแกน y ข้อนี้ไม่ได้โหดมาก แต่น้องส่วนมากน่าจะมองไม่ออก พี่ว่ารวมๆบทนี้ออกแนวเดิมๆนะครับ ไม่แหวกแนวแบบ PAT1 ใครที่ยังไม่แม่น ลองดูคอร์สพิชิตแคลคูลัสเสริมดูนะ
  • สถิติและการแจกแจงความน่าจะเป็น – ออก 4 ข้อ ยังคงเป็นบทใหญ่เหมือนเดิม และปรับเนื้อหาเยอะสุด มีการตัดบางส่วน เติมเพิ่มบางส่วน ข้อแรกเป็นพื้นที่ใต้โค้ง การแจกแจงปกติ ซึ่งออกแนวเดิมกับหลักสูตรเก่าเลย มีส่วนต่างแค่การอ่านค่าพื้นที่จากค่า z ที่เปลี่ยนไปอ่านจากด้านซ้ายสุด ข้อที่สองออกเป็นการตัด การเติมข้อมูล แล้วถามว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง อันนี้ออกเหมือนของเดิมเลย คณิต 1 ออกแบบนี้หลายครั้ง ข้อที่สองอยู่ในบทการแจกแจงความน่าจะเป็น ที่ต้องหาค่าคาดหมายว่าเล่นเกมส์แล้วคุ้มมั้ย ซึ่งจริงๆมันคือค่าเฉลี่ยเลขคณิตปกติเลย แต่กวนขึ้น และข้อสุดท้ายเป็นอัตนัย เป็นเกี่ยวกับการหาค่าความแปรปรวน ว่ามีข้อมูลเติมเพิ่มเข้ามาทำให้ค่าความแปรปรวนใหม่ มีค่าเท่าใด ซึ่งจริงๆข้อนี้ในหลักสูตรเดิมก็เคยออกประมาณนี้ และบทนี้ก็ยังคงเป็นบทน่าเก็บเหมือนเดิมครับ

พี่ปั้นบอกทริค เตรียมตัวสอบคณิต 1 วิชาสามัญ

เริ่มต้นก็ต้องทวนเนื้อหาให้แม่น พยายามเก็บให้ได้จำนวนบทมากที่สุดก่อน (ดีที่สุดคือเก็บทุกบท) พวกนิยามต่างๆของแต่ละบท เอาให้เซียนเลย เพราะข้อสอบสามารถมาเล่นจุดเล็กๆน้อยๆได้ตลอด

พยายามหาโจทย์ซ้อมมือของเนื้อหาบทนั้นๆมาลองทำเสริมด้วยก็จะดีมากเลย … จริงๆแอบแนะนำหนังสือ สสวท. นะ พี่ว่าเนื้อหาและโจทย์ดีเลยแหละ ทำควบคู่กับการเตรียมสอบไปด้วย (พี่ชอบทำโซนท้ายบทที่เป็นสีม่วงๆ สนุกดี) ซึ่งจะช่วยให้น้องแม่นเนื้อหาและ concept มากขึ้น

คำถามต่อมาที่เจอเยอะมากก็คือ …. พี่ปั้นนน! ปีล่าสุดข้อสอบมันเปลี่ยนไป เพราะใจเธอเปลี่ยนแปลง แล้วข้อสอบเก่ายังต้องทำมั้ยอะ ทำแล้วมันจะช่วยมั้ย …

พี่อยากจะบอกว่าช่วยมากๆๆๆๆๆๆ น้องต้องทำนะพี่ขอร้องเลย ถ้าน้องไม่ทำข้อสอบเก่า น้องจะเอาอาวุธอะไรไปสู้ข้อสอบละคร้าบบ ต้องทำๆๆๆๆ ข้ามแค่ข้อที่โดนตัดไปแล้ว ไม่มีในหลักสูตรแล้วก็พอ (สำหรับคณิต 1 จะมีบททฤษฎีจำนวน และสถิติพวกหาค่ากลาง ตำแหน่ง ของตารางความถี่แบบเป็นช่วง คือไม่ออกแล้วน้า)

น้องต้อง !!! ดูติวและทำข้อสอบเก่าเยอะๆ ไล่ทำข้อสอบคณิต 1 วิชาสามัญเนี่ยแหละ ซัก 4 – 5 ปีล่าสุดขึ้นไป ซึ่งถ้าน้องทำทุกชุดได้ก็จะดีมากๆ 555 ซึ่งเวลาทำอย่าพยายามทำแค่ให้ได้คำตอบน้า แต่ต้อง “เข้าใจที่มาที่ไป” ทำไมใช้สูตรนี้ ทำไมจับนิยามนี้ ตีความจากโจทย์ได้ (แนะนำเว็บ rathcenter.com เลยน้า คลังข้อสอบครบสุดๆ)

ซึ่งน้องต้องลองพยายามทำด้วยตัวเอง … แต่แน่นอนในการทำครั้งแรกๆ แม้จะเก็บเนื้อหามาแล้ว มันก็ยังยากอยู่ดี จะสะดุดบ้าง งงบ้าง ไม่เป็นไร ใช้วิธีดูคนอื่นเฉลย อ่านเฉลยวิธีทำ แล้วทำความเข้าใจเองอีกรอบก็ได้ ส่วนนี้สำคัญสุดเลย

แต่ ! อยากให้เพิ่ม ข้อสอบ Entrance เก่าๆ โดยเฉพาะช่วงปี 42 – 48 อยากให้ทำเก็บไว้ เพราะพี่ว่าข้อสอบคณิต 1 หลายๆข้อที่ออก มีแนวและ concept คล้ายๆข้อสอบ Entrance ในช่วงนี้เลย ซึ่งก็พยายามทำให้ได้เยอะที่สุด แต่เราต้องเข้าใจด้วยน้า อันนี้สำคัญเป็นเบอร์ 2

ส่วนข้อสอบ PAT1 จำเป็นต้องทำมั้ย … พี่เองก็ยังอยากให้ลองทำไว้จำนวนนึงด้วย คือ ข้อสอบคณิตศาสตร์ มันก็ยังมาจากรากฐานเนื้อหาเดียวกัน ข้อสอบมันไม่ได้ต่างกันขนาดฟ้ากับเหว พี่เลยรู้สึกว่า ยิ่งน้องเจอข้อสอบหลากหลาย ก็จะยิ่งได้เปรียบ

ส่วนหนังสือเตรียมสอบที่วางขาย หรือแบบฝึกหัดเพิ่มเติม อันนี้แล้วแต่กำลังของน้องๆเลยว่าอ่านไหวมากแค่ไหน ถ้ายังไหวสามารถหามาฝึกเพิ่มได้ ซึ่งพี่ว่าดีเลย ไม่เสียหาย แต่ส่วนตัวพี่หลักๆจะทำแต่ข้อสอบเก่าๆ ทั้ง PAT1 คณิต 1 และข้อสอบ Entrance ทำส่วนนี้ให้แม่นก่อน

พี่รู้ว่าพออ่านถึงตรงนี้ น้องคงแบบ โอ้โหหห ทำเยอะมากกก จะทำหมด ทำไหวมั้ย อยากบอกน้องว่า ค่อยๆฝึกไป เท่าที่แรง กำลัง และเวลาจะมีน้า ไม่ได้จะต้องเก็บครบเป๊ะหมดถึงจะสอบติด เค้าเอาแค่คนทำได้ประมาณนึง ไม่ใช่เทพเจ้าด้านการศึกษา

สำหรับพี่ทำข้อสอบเยอะๆ แต่ทำแบบไม่มีคุณภาพ ไม่ได้เข้าใจจริงๆ สู้ทำจำนวนข้อไม่ได้ต้องเยอะมาก แต่เราเข้าใจมันจริงๆ และทำด้วยตัวเองได้ มันดีกว่าเยอะเลย …

จริงๆข้อสอบ น้องสามารถทำซ้ำได้น้า บางทำรอบแรกมันไม่ได้เข้าใจเลย อาจต้องย้ำอีกรอบ หรือบางทีทำไปแล้ว ซักพักอาจจะลืม พอมาลองทำอีกรอบก็จะยิ่งย้ำให้เราเข้าใจมากขึ้น และจำได้นานมิรู้ลืม > < พี่นี่สายทำซ้ำเลย ชอบมาก

หนูไม่เก่งเลข เวลาเตรียมตัวน้อย เน้นบทไหนดีพี่ปั้น?

สำหรับคนไม่เก่งเลขนัก หรือมีเวลาเตรียมจำกัด อยากให้เน้นไปที่ 3 บทหลักที่จะทำคะแนนได้ คือ

  • สถิติ แคลคูลัส จำนวนจริง และ Expo&Log เพราะเป็นบทที่ออกค่อนข้างเยอะ และออกค่อนข้างง่าย 4 บทนี้ถ้าทำจนแม่นๆก็เรียกว่ามีลุ้นแตะๆ 40 คะแนนแล้ว ข้อสอบค่อนข้างจับทางได้ง่ายกว่าบทอื่นๆ ขอแถมฟังก์ชันอีกบท ถ้าบทนี้พื้นฐานได้ จะต่อยอดบทอื่นได้พริ้วขึ้นด้วยคร้าบ มันเป็นพื้นฐานที่สำคัญเลย
  • ยังมีอีกคือ บทเซต ตรรกศาสตร์ สองบทนี้เก็บไม่ยากนัก เป็นบทเล็กๆ เนื้อหาไม่เยอะมาก คาดว่าจะออกรวมกันราวๆ 2 – 3 ข้อ เก็บเถอะ คุ้มมม !!
  • และอีกบทที่มาแรงคือ การนับและความน่าจะเป็น ที่หลังๆออกเยอะพอสมควรและออกง่ายขึ้นในสนามต่างๆ (แต่ก็ยังถือว่ายากประมาณนึง) ถ้าใครพอจับทางบทนี้ได้ ก็อยากให้ฝึกบทนี้ไว้ด้วยน้า แต่ว่า … เข้าใจว่าบางคนก็อาจไม่เป็นมิตรกับบทนี้นัก … ซึ่งอันนี้ก็แนะนำสำหรับน้องที่มีเวลาจำกัดน้า

จริงๆดีสุดคือเก็บทุกบทแหละ แต่ถ้าไม่ไหว เอาเบื้องต้นจากกลุ่มเหล่านี้ก่อน

รวมแนวข้อสอบ คณิต 1 วิชาสามัญของจริง พร้อมเฉลยข้อสอบ

พออ่านมาถึงตรงนี้ น้องๆน่าจะเห็นภาพรวมเกี่ยวกับคณิต 1 มากยิ่งขึ้น ขอให้น้องมีพลังในการเตรียมตัวเยอะๆน้า และเอาคะแนนมาอวดพี่ด้วย ตอนแรกๆทำอาจจะสะดุดเยอะหน่อย ทำเองยังไม่ค่อยได้ อย่าเสียใจหรือท้อไปนะ บอกตัวเองเราเก่งขึ้นได้ เราพัฒนาได้ และต้องปังแน่นอน ขอให้ทุกคนสอบติด คณะ และมหาลัยฯในฝันกันหมดเลยน้า

ใครอยากเห็นข้อสอบปีล่าสุด พร้อมเฉลยวิธีทำ โหลดไปอ่านกัน

 

ลงทะเบียนรับเอกสารแนวข้อสอบและเฉลย คณิต 1 สามัญ

 

พี่ปั้นขอขายของหน่อย แฮร่!

คอร์สพิชิตคณิต 1 วิชาสามัญ (เนื้อหา + ตะลุยข้อสอบ)

คอร์สนี้จะสอนเนื้อหาให้ทุกบทของวิชาสามัญ ตัดปัญหาการจำเนื้อหาไม่ได้ หรือบางบทที่ยังไม่เคยเรียน มีโจทย์ซ้อมมือเบื้องต้นทบทวนให้แม่นเนื้อหาขึ้น และพาตะลุยโจทย์ข้อสอบ ตั้งแต่ปีแรกถึงปีล่าสุด ครบทุกข้อ รวมทั้งหมด 9 ชุด

รวมคลิปติว คณิต 1 วิชาสามัญ จัดเต็มจากพี่ปั้น!

ตรงนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งนะ จริงๆ ในช่อง Youtube ของพี่ยังมีคลิปติวคณิต 1 วิชาสามัญอีกเพียบ

เข้าไปดู เข้าไปติวกันได้เลย!