จะซิ่วเป็น Dek67 ต้องทำยังไงบ้าง

“เด็กซิ่วไม่ได้แพ้ แค่ทำตามความฝัน”  น้องๆ ที่ตัดสินใจซิ่วหลายคน คงกำลังประสบปัญหาส่วนตัวหรือมีเหตุผลมากมายที่แตกต่างกันในการตัดสินใจซิ่ว ไม่ว่าจะเป็น สอบไม่ติดคณะที่ใฝ่ฝัน ติดคณะ/สาขาที่ไม่ต้องการ คะแนนสอบไม่ถึงเกณฑ์ รวมถึงไม่สามารถรับมือกับระบบการสอบที่เปลี่ยนแปลงได้  ไม่เป็นไรนะคะ อะไรที่ผ่านมาแล้ว ก็ให้มันผ่านไปเนอะ เรามา
สร้างโอกาสให้กับตัวเองอีกครั้ง โดยการเริ่มต้นใหม่และสู้ไปด้วยกันนะคะ

วันนี้พี่ๆ ทีมงาน SMP NEWS จะมาแนะนำขั้นตอนการเตรียมตัวสอบทั้งหมด หลังจากที่น้องๆ ตัดสินใจซิ่วกันว่า จะต้องทำยังไงบ้าง ควรเริ่มต้นอย่างไร และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ซิ่วเข้ามหาวิทยาลัยเดิมได้ไหม ต้องลาออกก่อนไหม ใช้คะแนนเก่าได้ไหม เป็นต้น พร้อมแจกข้อมูลการสอบ สนามสอบอีกเพียบ พี่รับรองเลยว่า ถ้าน้องๆ ได้อ่านบทความนี้ จะต้องคลายข้อสงสัยทั้งหมดได้อย่างแน่นอนค่ะ ไปดูกันเลย ^_^

น้องๆ คนไหนที่อยู่ในช่วงลังเลว่าจะซิ่วดีมั้ย แนะนำให้อ่านบทความ “เด็กซิ่ว” ก่อน
พี่รวมไว้ให้แล้วทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มแรกเลย ! 

อยาก "ซิ่ว" ต้องทำยังไงบ้าง ?

1. ตั้งสติ และถามตัวเองก่อน

อันดับแรกหลังจากที่เราตัดสินใจก้าวเข้าสู่การเป็นเด็กซิ่วแล้ว น้องๆ ต้องตั้งสติให้ดีก่อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้   เราตัดสินใจดีแล้วใช่ไหม มั่นใจหรือยัง กำลังสับสนอะไรอยู่หรือเปล่า  เพราะมีน้องๆ หลายคนมากที่ตัดสินใจโดยที่ไม่คิดให้รอบคอบก่อน จนเกิดเป็นปัญหาในภายหลังได้

2. พูดคุยกับผู้ปกครองให้เรียบร้อย

สิ่งที่สำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ คือ การพูดคุยกับผู้ปกครองของตนเอง ว่าเรากำลังตัดสินใจที่จะซิ่วนะ และเป้าหมายที่แท้จริงของเราคืออะไร รวมถึงเราจะเลือกเส้นทางไหน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายใหม่ของเรา ผู้ปกครองจะได้รับทราบ และคลายกังวลลงบ้าง เพราะถ้าไม่พูดคุยกันตั้งแต่ต้น แล้วคุณพ่อ คุณแม่ไม่อนุญาตให้ซิ่ว ก็จะเกิดปัญหาตามมาได้นะคะ

3. วิเคราะห์จุดพลาด จุดเด่น ในการเตรียมตัวสอบที่ผ่านมา

เมื่อเรามีประสบการณ์ครั้งที่ผ่านมาแล้ว ให้ลองนำมาวิเคราะห์ตัวเองดูก่อนว่า เราผิดพลาดตรงไหน เพื่อที่จะแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก เช่น วางแผนเวลาไม่ดีตั้งแต่แรกหรือเปล่า จึงทำให้อ่านหนังสือสอบไม่ทัน หรือไม่เคยลองฝึกซ้อมจับเวลาทำข้อสอบเลย จึงทำข้อสอบในห้องไม่ทัน เป็นต้น รวมถึงวิเคราะห์ว่า วิธีไหนที่เราเคยทำแล้วประสบความสำเร็จบ้าง น้องๆ จะได้นำมาเป็นแนวทางและปรับใช้กับตัวเองได้นะคะ

4. รวบรวมสิ่งที่มีอยู่เดิม จากการสอบครั้งที่แล้ว

ชีทติว ชีทสรุป แบบฝึกหัดทบทวนต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการสอบครั้งนี้ อยากให้รวบรวมเอาไว้ก่อนนะคะ อย่าเพิ่งรีบทิ้ง เพราะหลายๆ วิชายังสามารถใช้เนื้อหาเดิม แบบฝึกหัดเดิมได้ แถมยังลดระยะเวลาในการเตรียมตัวสอบได้อีกด้วย

5. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบ TCAS67 ให้ครอบคลุมมากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นระบบการสอบ รูปแบบการสอบ เกณฑ์คะแนน เงื่อนไขในการรับสมัครต่างๆ ของ TCAS67 ต้องศึกษาให้ดีเลยนะคะ เพราะมักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเลย

6. ปรึกษาจากรุ่นพี่ ผู้มีประสบการณ์มาก่อน

การที่เราขอคำแนะนำ หรือการชี้แนะแนวทางจากผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน จะช่วยให้น้องๆ สามารถมองเห็นทางออกของปัญหา และมีมุมมองที่กว้างมากยิ่งขึ้นได้ แต่ก็จะต้องกลั่นกรองให้ดีด้วยนะคะ เพราะปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราควรนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง มากกว่าการทำตามแบบเป๊ะๆ เลยทันที

7. ตั้งเป้าหมายใหม่

ตัดสินใจให้ดีว่า เป้าหมายใหม่ในครั้งนี้ จะเป็นมหาวิทยาลัยอะไร คณะไหน สาขาอะไร เมื่อเราตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนได้แล้ว เราก็จะสามารถโฟกัสการเตรียมตัวสอบได้อย่างถูกจุดและไม่เสียเวลากับสิ่งที่ไม่ใช่อีกด้วย

8. วางแผนให้รอบคอบ

เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เราก็จะต้องวางแผนให้ดีและรอบคอบ เพื่อให้เป้าหมายที่เราตั้งไว้นั้นสำเร็จได้ ซึ่งพี่ก็แนะนำให้วางแผนให้เหมาะกับสไตล์การอ่านหนังสือของตัวเรามากที่สุด โดยควรเป็นแผนที่ทำได้จริง และไม่หักโหมจนเสียสุขภาพเพราะเราจะทำตามแผนนั้นได้นาน และไม่เครียดจนเกินไปนั่นเองง

แต่ถ้าใครทำตามแผนไม่ได้จริง ๆ  ก็อย่ากดดันตัวเองกันจนเกินไปน้า เพราะที่จริงการผิดแผนนั้นเป็นเรื่องปกติมากกก
พี่ขอแค่ให้น้อง ๆ ตั้งใจและทำให้เต็มที่ตั้งแต่วันนี้ก็พอแล้วว ส่วนถ้าใครที่อยากทบทวนเนื้อหาหรือว่าอยากได้ตัวช่วยในการเตรียมตัวสอบ A-Level ให้พร้อมที่สุด พี่ก็ขอแนะนำคอร์ส A-Level คณิต 1, A-Level คณิต 2, A-Level ภาษาไทย, และ A-Level สังคม ให้น้าา 

ซึ่งแต่ละคอร์สก็จะสอนเนื้อหาแบบกระชับพร้อมพาตะลุยโจทย์จัดเต็มที่คัดมาแล้วว่าออกข้อสอบบ่อยมากก ช่วยเสริมความมั่นใจให้น้อง ๆ ก่อนลงสนามจริงได้แน่นอน นอกจากนี้พี่ยังแถม Unseen Mock Test ชุดพิเศษให้ไปฝึกทำด้วย !! บอกเลยว่าคุ้มมากกก > < ถ้าใครสนใจดูรายละเอียดก็ คลิก ได้เลยยย

 9. ตั้งเป้าหมายในแต่ละวัน

ถึงแม้ว่าเราจะมีแผนในการเตรียมตัวสอบแล้ว แต่การทำ To-Do List จะช่วยให้น้องๆ รู้ตารางของตัวเองว่า ในแต่ละวันจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เราสามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ และยังช่วยให้น้องๆ ไม่ลืม หรือตกหล่นสิ่งที่สำคัญ เช่น วันนี้จะต้องอ่านวิชาชีวะให้จบ บทที่ 5 และทำแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษหน้าที่ 112 ให้เสร็จ เป็นต้น

10. เรียนพิเศษเพิ่มเติม

ถ้าน้องๆ รู้สึกว่า วิชาไหนที่พยายามอ่านเองก็แล้ว ฝึกฝนด้วยตัวเองก็แล้ว ยังไงก็ไม่สำเร็จซะที พี่ก็อยากแนะนำให้ลองออกไปศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียนเพิ่มเติมดูนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนพิเศษเสริม หรือการเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตอีกมากมายเลย  แต่สิ่งที่สำคัญในการเรียนพิเศษคือ การหาติวเตอร์ที่เข้ากับตัวเอง เช่น สไตล์การสอน วิธีการพูด เนื้อหาการเรียน เป็นต้น ไม่อย่างนั้นจะเสียเงิน และเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ได้เลยนะคะ

11. ทำให้เต็มที่ ตั้งใจให้จริง

“ทุกการเริ่มต้นใหม่ มักยากเสมอ” พี่ก็ขอเป็นหนึ่งในกำลังใจที่จะส่งไปถึงน้องๆ เด็กซิ่วทุกคนนะคะ ถ้าเกิดรู้สึกเหนื่อย ท้อ หมดไฟ ก็พักไปตั้งหลักก่อนเนอะ แล้วค่อยกลับมาสู้ต่ออย่างเต็มที่ เพราะถ้าหากน้องๆ ไม่ตั้งใจให้จริง ความฝันและ
เป้าหมายในครั้งนี้ก็อาจจะหลุดมือไปได้นะคะ พี่เชื่อว่า ความอดทนและพยายามจะทำให้น้องๆ สำเร็จได้อย่างแน่นอนค่ะ

12. คอยเช็กตัวเองอยู่เสมอ

หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญมากและคนส่วนใหญ่มักจะลืมกันเลยก็คือ การเช็กตัวเอง ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันตรงตามแผนที่วางเอาไว้อยู่ไหม เรากำลังออกนอกทางหรือเปล่า ตอนนี้เวลาเหลืออยู่เท่านี้ทันไหม เป็นต้น เพราะถ้าหากเราไม่เคยตรวจสอบสิ่งเหล่านี้เลย กว่าจะรู้ตัวว่าเราพลาด ก็มักจะสายเกินแก้แล้วนั่นเอง

รวมคำถามเกี่ยวกับการซิ่ว 67

ซิ่ว 66 ไป 67 ต้องลาออกไหม ? 

ไม่จำเป็นต้องลาออกก่อนลงทะเบียน mytcas หรือสมัครสอบต่างๆ ของ TCAS67 (แต่ถ้าใครจะสอบรอบ 3 กสพท ต้องลาออกตามวันที่กำหนดน้า) แต่ถ้ายืนยันสิทธิ์แล้วต้องลาออกก่อนขึ้นทะเบียนเป็นนิสิตหรือนักศึกษาของสถาบันใหม่ 

*อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการลาออกไปสอบ กสพท คลิก >> เด็กซิ่วจะสอบ กสพท ต้องทำยังไง ?

ใช้คะแนน TGAT TPAT 66 ได้ไหม ?

ไม่สามารถใช้คะแนนปี 66 ได้น้า เพราะคะแนน มีอายุแค่ 1 ปี ดังนั้นจะต้องสอบวิชา TGAT TPAT และ A-Level ใหม่ในปีนี้๕

*ใครที่เคยเข้าสอบวิชาต่างๆ ในปีก่อนหน้านี้ แล้วไม่ได้ยื่นคะแนนในการสมัครเข้ามหาลัยฯ ทั้ง 4 รอบของระบบ TCAS จะต้องยื่นคำร้องอธิบายเหตุผลผ่านระบบ mytcas.com ตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 66 และรออนุมัติภายใน 72 ชม. ถึงจะสมัครสอบได้

ประสบการณ์ “ซิ่วไปทันตะ” จากรุ่นพี่

สวัสดีค่ะน้องๆ ทุกคน พี่ชื่อ “ปลา” นะคะ ปัจจุบันเรียนอยู่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 3 และได้ซิ่วมาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ

Q : ทำไมถึงตัดสินใจซิ่ว ?

A : “ทันตแพทย์” เป็นคณะในฝันของพี่ตั้งแต่แรกอยู่แล้วค่ะ แต่พอผลคะแนนสอบออกมาแล้ว ก็อยู่ในเกณฑ์ที่โอเคเลยนะคะ พอจะลุ้นทันตะได้อยู่ ตอนนั้นพี่ก็เลยเลือก อันดับที่ 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ และ อันดับที่ 2 คณะเภสัชศาสตร์ สุดท้ายพี่ก็ติดเภสัชค่ะ

และพอได้เข้าไปเรียนปี 1 ในคณะเภสัชศาสตร์ พี่ก็รู้สึกว่าอยากลองพยายามอีกสักครั้งหนึ่ง ก็เลยลองเปิดใจคุยกับที่บ้านเรื่องซิ่วดูค่ะ ที่บ้านก็โอเคกับการตัดสินใจของเรานะคะ อีกอย่างคือ เพื่อนในคณะก็อยากจะซิ่วกันเยอะมาก ทำให้เราเลือกที่จะสู้เพื่ออนาคตของตัวเองอีกสักครั้งว่า ทันตะ จะใช่ที่ของเราจริงๆ ไหม

Q : ซิ่วอยู่บ้าน หรือ ซิ่วไปเรียนไป ?

A : พี่เลือกซิ่วไปเรียนไปค่ะ เพราะพี่อยากจะนำความรู้จากการเรียนมหาวิทยาลัยไปใช้ในการสอบครั้งใหม่ด้วย แต่มันอาจจะไม่ได้ช่วยโดยตรงนะคะ อย่างเภสัชก็จะมีการเรียนวิชาเคมี ชีวะ ที่เนื้อหาการเรียน ข้อสอบลึกมากกว่าตอนมัธยมเยอะเลย ทำให้เราเข้าใจในเนื้อหาและหลักการของวิชาเหล่านี้ได้ดีมากกว่าตอนมัธยม 

พอเราเข้าใจจริง ไม่ได้จำแบบผิวเผิน ทำให้การสอบครั้งใหม่ของเราใช้ความเข้าใจไม่ใช่การท่องจำเหมือนที่ผ่านมานั่นเอง อย่างตัวพี่ก็ได้คะแนนสอบวิชาเคมีดีขึ้นจากการเรียนในมหาวิทยาลัยนี่แหละค่ะ แต่เพื่อนพี่ที่เลือกซิ่วอยู่บ้าน หรือดรอปเรียนไปเลยก็มีเยอะนะคะ เพราะพวกเขากลัวว่าตัวเองจะเตรียมตัวสอบครั้งใหม่ได้ไม่เต็มที่ ก็เลยตัดสินใจออกมาตั้งใจทุ่มเวลาทั้งหมดให้ไปเลยค่ะ 

ดังนั้น พี่อยากแนะนำน้องๆ ว่า สุดท้ายเราต้องเข้าใจธรรมชาติของตัวเองก่อนว่า เราเป็นคนแบบไหน วิธีไหนที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด อย่างพี่เอง รู้ตัวเลยว่า ตัวเองเป็นคนที่ต้องใช้แรงกดดันถึงจะทำออกมาได้ดี ก็เลยเลือกวิธีซิ่วไปเรียนไป เพื่อกระตุ้นให้ตัวเองกระตือรือร้นในการเรียนอยู่ตลอดเวลานั่นเองค่ะ

Q : เป็นเด็กซิ่ว เตรียมตัวยังไงบ้าง ?

A : เริ่มจากวิเคราะห์ตัวเองในการสอบปีที่แล้วก่อนว่า เราพลาดตรงไหน วิชาไหนที่ไม่ได้บ้าง ก็จะโฟกัสวิชานั้นๆเป็นพิเศษไปเลย และไปหาคอร์สเรียนพิเศษเพิ่มเติม เช่น คณิตศาสตร์ ตอนนั้นพี่ก็ไปลงเรียนกับ พี่ปั้น SmartMathPro นี่แหละค่ะ เพราะพี่รู้จักอยู่แล้ว เรียนตั้งแต่ม.6 เลย แต่ตอนนั้นพี่ดันมาเรียนตอนที่ใกล้สอบมากๆ แล้ว ทำให้เรียนไม่ทัน บวกกับเลือกเรียนแค่คอร์สสั้นๆ ด้วย ซึ่งพอพี่ซิ่วแล้ว ก็มีเวลากลับมาเรียนอย่างจริงจังมากขึ้นอีกครั้งหนึ่งค่ะ

โดยมีวิธีการแบ่งเวลาคือ เมื่อเลิกเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้ว ก็จะไปเรียนพิเศษทันที หลังจากนั้นก็ไปอ่านหนังสือตามคาเฟ่ต่างๆจนถึงสามทุ่ม แล้วค่อยกลับบ้าน ทำแบบนี้เป็นประจำเลย

ซึ่งพี่คิดว่า วิธีการเตรียมตัวสอบสำหรับเด็กซิ่วที่ดีที่สุดคือ “วิธีที่พอดีกับตัวเอง” เพราะเราต้องเริ่มต้นจากการรู้จักตัวเองให้ดีที่สุดก่อน ดูว่าตัวเองเหมาะกับวิธีไหน รูปแบบไหน ก็จะทำให้เราค้นพบวิธีที่ใช่และดีที่สุดสำหรับตัวเราเองนะคะ ซึ่งตัวพี่เองก็จะเป็นคนที่เน้นการเรียนพิเศษเพิ่มเติม และฝึกฝนทำโจทย์ควบคู่ไปด้วยเรื่อยๆ นั่นเองค่ะ

Q : มีความกลัวหรือกังวลอะไรบ้าง? รับมือยังไง ?

A : กลัวที่สุดคือ กลัวว่าจะสอบไม่ได้ กลัวการจับปลาสองมือค่ะ แต่พี่ก็รับมือกับความรู้สึกนี้ ด้วยวิธีการวางแผนและค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งการที่เราเรียนปี 1 ทางมหาวิทยาลัยก็จะมีการแจกหลักสูตรการเรียนมาให้ว่า แต่ละปีต้องเรียนอะไรบ้าง ต้องลงเรียนกี่วิชา ซึ่งพี่ก็จะเลือกเรียนวิชาที่ได้เกรดเอไม่ยาก เพื่อเป็นการรักษาเกรดเฉลี่ยของปี 1 ไว้ เผื่อในกรณีที่เราซิ่วแล้วสอบไม่ติดจริงๆ ก็จะได้เรียนเภสัชต่อไหว หรือถ้าช่วงไหนมหาวิทยาลัยใกล้สอบ พี่ก็จะพักการอ่านหนังสือเตรียมซิ่วไปก่อนเลย แล้วมาโฟกัสการสอบในมหาวิทยาลัยก่อน

และในช่วงเทอม 2 ก็เป็นช่วงที่ใกล้กับการสอบครั้งใหม่ของเด็กซิ่ว พี่ก็จะเลือกลงเรียนไม่กี่ตัวเท่านั้น เพื่อเอาเวลาไปเตรียมตัวสอบให้เต็มที่ที่สุด ซึ่งก็มีความกังวลในตอนแรกว่า จะสอบไม่ติด แต่ยิ่งใกล้วันสอบจริง พี่กลับคิดแค่ว่า ถ้าไม่ติดก็ไม่เสียใจมากขนาดนั้นแล้ว เพราะพี่ได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้วจริงๆ ปล่อยใจให้สบายๆดีกว่า ถ้าไม่ติดจริงๆก็เรียนเภสัชต่อไป เพราะเรามีการวางแผนสำรองเอาไว้แล้ว เพียงแค่ทำตามแผนที่วางไว้ให้ดีที่สุดก็พอค่ะ

Q : เคยหมดไฟ หมดกำลังใจ บ้างไหม? จัดการยังไง?

A : มีอยู่แล้วค่ะ พี่เคยคิดว่า เราก็มีที่เรียนอยู่แล้วนะ ไม่ต้องสอบใหม่ดีไหม แต่สุดท้ายพี่ก็มานั่งคิดว่า ถ้าล้มเลิกความตั้งใจตอนนี้ ก็น่าเสียดายมาก เพราะเราได้เริ่มต้นไปแล้ว เสียทั้งเงินทั้งเวลา อีกไม่กี่เดือนก็จะสอบแล้วด้วย เราต้องไปให้สุดและทำตามแผนที่วางไว้ให้เต็มที่ดีกว่า จะได้ไม่ต้องมาเสียดายทีหลัง

Q : แชร์เทคนิค ซิ่วยังไงให้สอบติด ?

A : เอาจริงๆ ตอนนั้นพี่เองก็ไม่รู้หรอกนะคะ ว่าจะสำเร็จจริงไหม แต่พี่ก็ใช้วิธีการหาข้อมูลให้มากที่สุด ปิดจุดอ่อนของตัวเองให้มากที่สุด ศึกษาหาข้อมูลเยอะๆ ทั้งจากอินเทอร์เน็ตและคนรอบตัว เช่น ทำข้อสอบไม่ได้ อ่านหนังสือไม่เข้าใจ ก็ลองไปปรึกษารุ่นพี่หรืออาจารย์ เพิ่มเติมได้

ซึ่งพี่ก็เลือกใช้วิธีการเตรียมตัวสอบที่เหมาะสมกับตัวเอง เต็มที่ในส่วนที่เรามีโอกาสให้มากที่สุด อย่าเครียดมากจนเกินไป ใช้ชีวิตบ้าง อย่างตัวพี่เองก็ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเหมือนกับเด็กทั่วไปเลยนะคะ ส่วนการเตรียมตัวสอบ เราก็ทำตามเป้าหมาย วางแผน และใช้ชีวิตให้มีความสุข เพราะต่อให้เราเสียใจ แต่มันจะเป็นความเสียใจที่เราได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้วค่ะ

 Q : ซิ่วติดคณะในฝันแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง ?

A : ตอนที่พี่รู้ผลว่าสอบติดแล้ว ดีใจมากๆเลยนะ ดีใจกับตัวเองที่ทำสำเร็จแล้ว เพราะฝันอยากเข้าคณะนี้มานานมาก สุดท้ายก็สำเร็จสักที ความพยายามที่ผ่านมาไม่สูญเปล่าเลย แต่พอได้เข้ามาเรียนคณะในฝันจริงๆ แล้ว รู้เลยค่ะว่า สิ่งที่คิดกับความเป็นจริงไม่เหมือนกันเลย เหมือนเราก็รู้นะว่าจะต้องเรียนหนัก ต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่ความจริงแล้วมันหนักกว่าที่คิดอีกนะคะ แต่จะทำยังไงได้เนอะ “มันเป็นความยากที่เราเลือกเอง” เราก็ต้องรับให้ได้ แล้วสู้ให้สุดแรง แค่นั้นเลยค่ะ

Q : อยากฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังตัดสินใจจะซิ่วบ้าง ?

A : พี่อยากให้น้องๆ ลองเปิดมุมมองกว้างๆ ว่า การที่เราพลาดคณะในฝันไปนั้น เราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้บ้าง และสิ่งนี้สามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง อย่าไปโทษตัวเองเลยนะคะ เราสามารถสร้างโอกาสครั้งใหม่ให้ตัวเองได้เสมอ ที่สำคัญคือ ถ้าเลือกจะซิ่วแล้ว สุดท้ายไม่ติด จะเสียใจไหม จะยอมรับได้ไหม ต้องคิดให้ดีๆ ก่อนตัดสินใจนะคะ 

แต่ถ้ามั่นใจว่าคิดดีแล้ว ก็ตั้งใจให้เต็มที่เลย เพราะความเสียใจเป็นสิ่งที่น่ากลัว และไม่มีใครอยากจะสัมผัสความรู้สึกนี้อยู่แล้ว วางแผนให้ดี จัดตารางชีวิตให้ดี ไม่จมอยู่คนเดียว ลองไปปรึกษาหรือขอมุมมองจากคนอื่นบ้าง แล้วพยายามทำทุกอย่างตามที่วางแผนเอาไว้ให้ดีที่สุดก็พอค่ะ ไม่ว่าน้องๆ จะซิ่วหรือเลือกทางเดินไหนก็ตาม พี่ก็ขอให้น้องๆโชคดีกับเส้นทางที่เลือกนะคะ สู้ๆ ค่ะ

สุดท้ายนี้ พี่ทีมๆ งาน SMP NEWS ก็ขอส่งกำลังใจให้กับน้องๆ เด็กซิ่วทุกคนเลยนะคะ พี่เชื่อว่า การเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ จะดีกว่าครั้งก่อนแน่น่อนค่ะ เพียงแค่น้องๆ เชื่อมั่นในตัวเอง และมุ่งมั่นตั้งใจให้เต็มที่ เป้าหมายอยู่แค่เอื้อมแน่นอนเลย สู้ๆนะคะ พี่เป็นกำลังใจให้เสมอ^_^

คอร์สเรียน แนะนำ

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

A-Level คืออะไร ?
A Level คืออะไร ? มีวิชาอะไรบ้าง? สรุปครบพร้อมแนวข้อสอบปี 67
สรุป TPAT1 กสพท67 ฉบับอัปเดตล่าสุด
กสพท คืออะไร? ต้องสอบอะไรบ้าง? อัปเดตล่าสุดเกี่ยวกับ กสพท!!
ปฏิทิน TCAS67 อัปเดตล่าสุด
TCAS67 สอบวันไหน ? สรุปทุกตารางสอบ Dek67 ในที่เดียว !!
สรุป TCAS67 ที่ Dek67 ต้องรู้
สรุป TCAS67 วิชาที่ต้องสอบ เกณฑ์คะแนน กำหนดการ #Dek67 มีอะไรบ้าง?
จะซิ่วเป็น Dek67 ต้องทำยังไงบ้าง
ซิ่ว ต้องทำอะไรบ้าง เด็กซิ่วต้องลาออกไหม 67 เคลียร์ให้จบก่อบคิดซิ่ว
Dek68 จะสอบเข้ามหาลัยฯ ต้องเตรียมตัวยังไง ?
Dek68 จะเข้ามหาลัยฯ ควรเริ่มยังไง? สรุปทุกขั้นตอนควรรู้ของ TCAS68
เตรียมตัวอ่านหนังสือ TCAS68 ยังไงให้สอบติด
TCAS68 อยากสอบติด เตรียมตัวอ่านหนังสือยังไง? Dek68 ควรอ่าน

สำหรับน้องๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Line : @smartmathpronews

รวมถึงข่าวสารต่างๆ อัปเดตอย่างเรียลไทม์

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro

Share